ข่าว
สาวอเมริกันตัดสินใจทิ้งแผนท่องเที่ยว มาเป็นอาสาสมัครเข้าครัวช่วย'หมูป่า'

วันที่ 12 กรกฎาคม กลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กได้พากันแชร์เรื่องราวของนักท่องเที่ยวหญิงสาวต่างชาติคนหนึ่ง ซึ่งเดิมตั้งใจจะเดินทงมาท่องเที่ยวที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย แต่ทันทีที่ลงเครื่องบินเมื่อเธอทราบข่าวเหตุการณ์ 13 สมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี่ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนมาเป็นอาสาสมัครช่วยแม่ครัวทำอาหารให้กับทีมกู้ภัยจากนานาชาติทันที

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก “เสกสม แจ้งจิต” ซึ่งเป็นต้นทางการเผยแพร่เรื่องดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม ได้เล่าว่า “น้ำใจงาม !! .. Anne marie trenholm วัย 23 ปี ชาวอเมริกัน บอก ตั้งใจมาเที่ยวแม่สาย จ.เชียงราย แต่ทันทีที่ลงเครื่อง จ.เชียงราย เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา และทราบข่าวเหตุที่เกิดขึ้นที่ถ้ำหลวง แม่สาย จึงเปลี่ยนแผนมาช่วยแม่ครัวอาชีวศึกษาเชียงราย ทำกับข้าว

เธอบอกว่า มาที่อบต.โป่งผา 2 วันแล้ว ช่วยทำกับข้าว และพรุ่งนี้จะมาช่วยงานที่ อบต.โป่งผา อีก 1 วัน เพราะใกล้กลับ เธอบอกว่า ดีใจเห็นคนไทยร่วมมือกันในยามเกิดปัญหา หาภาพแบบนี้ค่อนข้างยาก ในต่างประเทศ”

“ประยุทธ์”หนุนสร้าง 'พิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง' บันทึกประวัติศาสตร์กู้ภัย-ผุดอนุสาวรีย์'จ่าแซม'

13 ก.ค.61 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ถึงเหตุการณ์กู้ภัยและช่วยเหลือ 13 เยาวชนและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ ที่ติดอยู่ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นเวลา 17 วัน ว่า ภารกิจครั้งนี้ นับเป็นการกู้ภัยครั้งประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ที่ไม่มีเส้นแบ่งทางเผ่าพันธุ์ ชนชาติ หรือศาสนา โดยจิตอาสาจากทั่วโลกได้ทำงานร่วมกันเพื่อเป้า คือ การรักษา 13 ชีวิตในถ้ำ จนประสบความสำเร็จด้วยดี วันนี้จึงอยากชี้ชวนให้คนไทยช่วยกันคิดไปข้างหน้า เพื่อขยายผลประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

ประเด็นแรก การจัดทำแผนบทเรียน อาทิ การบันทึกสิ่งที่ได้ดำเนินการไประหว่างภารกิจ ที่อธิบายถึงกระบวนการคิด การบริหารจัดการ แผนงาน แผนเผชิญเหตุ การถ่ายทอดประสบการณ์ ข้อมูลทางสถิติต่างๆ ของบุคคล และหน่วยงานตามบทบาทหน้าที่ของตน หรือที่ต้องปฏิบัติร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งองค์ความรู้ใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติในทุกๆ สาขาวิชาชีพที่ได้มารวมกันในครั้งนี้ ทั้งธรณีวิทยา ถ้ำวิทยา อุทกวิทยา การดำน้ำ การดำน้ำในถ้ำ การเจาะน้ำบาดาล การบริหารการไหลเวียนของน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ จนถึงกิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ ทั้งเรื่องอาหาร การพยาบาล สุขาภิบาล ที่พักผ่อน พักแรม เป็นต้น

"ทั้งหมด ทั้งปวง ต้องถูกบันทึกอย่างเป็นระบบ ตามแนวทาง KM หรือ การจัดการความรู้สำหรับเป็นบทเรียน และให้การศึกษาแก่เยาวชน และประชาชนเจ้าของพื้นที่ สามารถนำมาฝึกฝนทักษะ เพิ่มพูนความรู้ ความ สามารถ แก่เจ้าหน้าที่และประชาชนของเรา ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการทำงานของเราสู่สากลต่อไป"

ประเด็นที่ 2 การพัฒนาเป็นห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เพื่อให้ถ้ำหลวงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์การกู้ภัยของโลก ที่มีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นถ้ำที่มีน้ำท่วมจนเต็มในฤดูฝน เพื่อให้เหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกที่ถ้ำหลวง ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของคนไทย และของมนุษยชาติ ที่จะบังเกิดประโยชน์ต่อคนในสังคมต่อไปอีกนานแสนนาน

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายในอดีตที่เหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ที่กวาดชายหาดภาคใต้ของไทย ครั้งนั้น ก็มีเรื่องราวยิ่งใหญ่ มีการสูญเสียจำนวนมาก แล้วเกิดน้ำใจของคนไทยเขึ้นมากมาย แต่หลักฐานและบันทึกเรื่องราวต่างๆ สูญหายไปกับกาลเวลาไม่ถูกนำไปส่งเสริมการศึกษา แม้จะมีอนุสรณ์สถานสึนามิ แต่ถ้าไปถามไกด์ท้องถิ่นก็จะได้คำตอบว่า ไม่มีอะไรจะให้ชมหรือศึกษา

ดังนั้น "พิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง" จะต้องทำได้มากกว่านั้น เป็นบทพิสูจน์ถึงความยากลำบากในการช่วยชีวิต เป็นสถานการณ์ที่ท้าทายความสามารถ ทั้งทีมงานไทย และผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เพราะฉะนั้นเราก็สมควรบันทึกไว้ในความทรงจำตลอดไป และให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เราจะทำให้ร่องรอยที่เกิดจากการปฏิบัติภารกิจห้วงที่ผ่านมาให้กลมกลืนอยู่กับธรรมชาติเช่นเดิมต่อไป เพื่อเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำที่สัมผัสได้ และได้เห็น "ของจริง" แทนการได้เห็นเพียงภาพถ่าย ที่ไม่สมจริง ไม่น่าสนใจ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้ว ก็อย่าให้เหลือแต่ถ้ำหลวง ควรเก็บเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ท่อระบายน้ำ ชุดมนุษย์กบ ชุดปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ชาวไทย และชาวต่างชาติบางส่วนที่สามารถจะนำให้เป็นประวัติศาสตร์

"อุปกรณ์สิ่งของต่างๆ เช่น กล่องอาหารที่ลอยเอาไปให้เด็กๆในถ้ำ จดหมายที่เด็กๆ เขียน อุปกรณ์ที่ใช้ขุดเจาะ ถังออกซิเจน ผ้าห่มฟลอยที่นำไปให้เด็ก รถจักรยาน รองเท้าของเด็กๆ และสิ่งของอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการครั้งนี้ พยายามเก็บไว้ให้ครบสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ ไม่เว้นแม้แต่เครื่องครัว กระทะ ที่ใช้ในโรงครัว อาคารศูนย์อำนวยการ เอกสารที่ใช้ในการวางแผน ฐานข้อมูล บอร์ด แผนที่ ภาพถ่ายต่างๆ รวมทั้งภาพไฮไลท์ในการช่วยชีวิตก็สามารถจะใส่ไว้ทั้งในพิพิธภัณฑ์ หรือไม่ก็ก็ใส่ไว้ในเว็บไซท์ เฟสบุ๊ค ต่างๆ เพื่อจะเก็บเรื่องราวสำคัญเหล่านี้ไว้ทั้งหมด เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ผู้ที่ไปเข้าชมจะได้เห็นภาพ ตั้งแต่นอกถ้ำ และก็ในถ้ำ และมีประวัติศาสตร์ของถ้ำหลวงแห่งนี้"

ส่วน จ.อ.สมาน กุนัน ที่เราให้เขาเป็น "วีรบุรุษถ้ำหลวง" เพราะเขาสละชีพเพื่อภารกิจ แล้วก็เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ ในส่วนนี้ขอชื่นชมและยกย่อง อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ที่ประกาศจะนำลูกศิษย์พร้อมทั้งาศิลปินชาวเชียงรายประมาณ 300 คน จัดทำอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่านี้ และสร้างอนุสาวรีย์ให้กับ "จ่าแซม" บริเวณปากถ้ำหลวง ซึ่งมั่นใจว่าท่านจะทำให้เกิดผลสำเร็จ เหมือนกับที่ท่านเคยสร้างวัดร่องขุ่นจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก

นอกจากนั้นภาพของเกษตรกรที่ประสบความยากลำบาก ในการเพาะปลูกพืช แล้วต้องระบายน้ำลงไปนะครับ แล้วยินดี สละพื้นที่เพื่อรองรับน้ำ เกิดความเสียหายจากภารกิจนี้ อันนี้รัฐบาลก็ให้ไปดูแลแล้วนะครับ ภาพของ “จิตอาสา” จำนวนมาก ที่แบ่งกันทำหน้าที่ ภาพเหล่านี้จะทำให้คนที่ไปชมถ้ำหลวงในอนาคต ได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของน้ำใจ และ ความเสียสละของมวลมนุษยชาติที่อุทิศเพื่อภารกิจนี้

สิ่งที่ต้องคิดต่อมา คือ จะจัดโครงการอย่างไร ในการที่จะดึงดูดเยาวชนให้เข้าไปชมเพื่อการเรียนรู้ และอยู่กับธรรมชาติ อย่างสร้างสรรค์ และปลอดภัยนะครับ เน้นว่าต้องปลอดภัยนะครับ แล้วต้องไม่ลืมที่จะตระเตรียมแผนต่างๆ เส้นทาง หรือจุเยี่ยมชมที่ปลอดภัย ให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องดัดแปลงธรรมชาตินะครับ

รวมทั้ง มีการบริหารมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นไปในระดับสากล ผมคาดหวังว่าสถานที่แห่งนี้ จะเป็นความทรงจำ ที่สอนลูกหลาน และบอกกับนักท่องเที่ยวว่า คนไทยรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในยามคับขันรวมทั้ง ยิ่งกว่านั้น "ภัยพิบัติ" ครั้งนี้ ช่วยดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก มาช่วยกันในการจะรักษา 13 ชีวิต เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนะครับ


ผบ.ซีล เผยเบื้องหลังช่วยหมูป่า สุดยากลำบาก ต้องขอขมาสิ่งลี้ลับ

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล เปิดเผยไทยรัฐทีวี ถึงเสร็จภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง ว่า อยากอาบน้ำนอน ไม่อยากเจอนักข่าว โดยที่ผ่านมาหน่วยซีลมีส่วนช่วยเหลือหลายภารกิจในการช่วยเหลือประชาชน ส่วนใหญ่ในทะเล ส่วนงานถ้ำหลวงตอนแรกคิดว่าจะไม่นานขนาดนี้ หลังผบ.ทร.สั่งการให้มาช่วยที่เชียงราย และไม่ได้คิดจะยากขนาดนี้ ซึ่งตอนรับรายงานก็ไม่เข้าใจ และเห็นสภาพถ้ำแล้ว จึงเข้าไปดูสภาพถ้ำ จนเห็นความยากลำบาก ซึ่งการจะเอาน้องๆ ออกมาคงไม่ง่าย

สำหรับเรื่องสิ่งลี้ลับในถ้ำ รู้สึกสัมผัสได้เล็กน้อย จึงต้องทำให้ถูกต้อง อีกอย่างมนุษย์เข้าไปรบกวนต้องมีการขอขมาสิ่งที่มองไม่เห็น และเพื่อต้องการนำ 13 ชีวิตออกมาให้ได้ ไม่มีเจตนาลบหลู่ โดยวันแรกนำน้องๆ ออกมาประมาณตี 1 ทยอยนำร่างออกมา จนถึงช่วงเช้า

ส่วนกรณีจ่าเอกสมาน กุนัน หรือจ่าแซม เสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจ ตนรู้สึกเสียใจ และได้คุยกับหน่วยซีล ว่าเราทำงานอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลาในทุกวินาที การผิดพลาดนิดเดียว อาจถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะงานของเราเผชิญความเสี่ยงตลอดเวลา การเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต เราต้องเผชิญอยู่แล้ว จะไม่ยอมให้จ่าแซม ต้องเสียชีวิตสูญเปล่า และย้ำว่าที่ผ่านมาการทำงานไม่กดดัน โดยจ่าแซมถือเป็นวีรบุรุษ ดังนั้นต้องมีการพัฒนากำลังพล นำอุปกรณ์มาสร้างเสริมกล้ามเนื้อ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายถึงบุคลิกส่วนตัวว่า เป็นคนหลายบุคลิก แต่เป็นคนใจดี ยืนยันเป็นคนไม่ดุ.


แม่กัปตันทีมหมูป่า เผยวินาที 13 ชีวิต หนีน้ำติดถ้ำหลวง 10 วันกินแต่น้ำหยด

(12 ก.ค.) นายบรรพต ก้อนคำ อายุ 45 ปี และครอบครัว ได้นำสินค้าชายแดนสารพัดออกมาวางจำหน่ายที่ร้านค้าภายในตลาดสายลมจอย เลขที่ 776/1 หมู่ 1 ต.เวียงพางคำ ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สาย จ.เชียงราย ด้วยสีหน้าที่สดใส หลังจากลูกชาย คือ ด.ช.ดวงเทพ หรือดอม พรมเทพ อายุ 13 ปี นักเรียนโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ กัปตันทีมหมูป่า อะคาเดมี แม่สาย และเพื่อนๆ ในทีมพร้อมโค้ชเอก รวม 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.แล้วได้รับการช่วยเหลือออกจากถ้ำไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลครบทั้งหมดเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา

นายบรรพตกล่าวว่า หลังจากแพทย์อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมดูอาการของเด็กๆ ที่ชั้น 8 อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน 14 ชั้น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ทางนางธนพร พรมมา ภรรยาของตนก็ได้เข้าไปเยี่ยมดูอาการของน้องดอมแล้ว ภรรยาตนได้มีโอกาสพูดคุยกับลูกในช่วงสั้นๆ ก็ได้รับทราบเหตุการณ์ว่าในวันเกิดเหตุ (23 มิ.ย.) ทั้ง 13 คนได้เข้าไปในถ้ำ โดยตั้งใจว่าจะเข้าไปสัก 1 ชั่วโมงก็จะกลับออกมา จึงไม่ได้เตรียมอาหาร หรือขนมไปด้วยตามที่ปรากฏเป็นข่าว และเมื่อไปถึงบริเวณสามแยก ห่างจากปากถ้ำประมาณ 3 กิโลเมตรแล้ว ปรากฏว่าได้มีน้ำหลากมาอย่างแรงและจำนวนมาก ทำให้ต้องทิ้งกระเป๋ากับรองเท้าเอาไว้ที่ปากโพรงถ้ำเพื่อหนีน้ำ ทำให้เป็นหลักฐานที่ทำให้ผู้ติดตามได้พบเห็นและติดตามไปถูกในเวลาต่อมา

นายบรรพตกล่าวอีกว่า เมื่อหนีน้ำไปในโพรงตรงสามแยกก็มีเนินทรายที่ปิดกั้นด้านหน้า จึงพากันใช้มือตะกุยทรายเพื่อเปิดทางจนเกิดร่องรอยการตะกุยให้ผู้ติดตามได้พบเห็นเพิ่มเติม ก่อนจะพากันหนีลึกเข้าไปจนถึงเนินนมสาวแล้วรอการช่วยเหลือดังกล่าว

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาร่วม 10 วัน ก่อนที่ทีมนักประดาน้ำทั้งไทยและต่างประเทศจะเข้าไปค้นหาจนพบ น้องดอมบอกว่า ไม่ได้มีอาหารรับประทานเลย เพราะหนีน้ำเข้าไปได้แต่ตัวกับไฟฉาย แม้แต่กระเป๋าที่นำไปด้วย ก็ต้องทิ้งเอาไว้ที่ปากโพรงถ้ำ ทำให้ทุกคนต้องอาศัยน้ำหยดในถ้ำประทังชีวิต โดยนายเอกพล จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก คอยช่วยเหลือให้ทุกคนอยู่รวมตัวกัน และหากใครหิวก็ให้เปิดไฟฉายแล้วไปกินน้ำที่หยดลงมาจากหินงอกหินย้อยที่อยู่บริเวณใกล้เคียงแทน

ด้านนางคำเอ้ย พรมเทพ อายุ 64 ปี ย่าของน้องดอม กล่าวว่า แม่ของน้องดอมมาเล่าให้ฟังว่าพื้นที่ที่เด็กๆ ไปอยู่เป็นเนินสูงที่คอยหลบหนีน้ำ และน้ำจะขึ้นๆ ลงๆ เมื่อน้ำลงเด็กๆ ก็จะพากันมาอยู่ริมน้ำ พอน้ำขึ้นก็จะพากันหนีขึ้นไปอยู่บนเนินอีกเพราะบนเนินสูงพื้นไม่เรียบ จึงทำให้ทั้งหมดพากันใช้มือตะกุยให้พื้นเรียบสำหรับให้สามารถอาศัยหลับนอนอยู่ได้ในที่สุด กระทั่งเมื่อมีนักประดาน้ำชาวต่างประเทศไปพบจึงพากันวิ่งลงมาแล้วตะโกนว่าหิว ตอนนั้นก็มีคนตกน้ำไป 2 คนด้วย

“น้องดอมชอบกีฬา เขาจะมีจักรยานภูเขา 1 คัน และจักรยานทางเรียบ 1 คัน รวมทั้งชอบเล่นฟุตบอล เดาะบอลมาตั้งแต่อนุบาล ช่วงที่หลานหายไปในถ้ำก็ตกใจเป็นลมล้มพับไปหลายรอบ เพราะเราเลี้ยงเขามาตั้งแต่แรกเกิด แต่ก็เชื่อว่าโค้ชเอกจะดูแลเขาได้ และหน่วยซีลที่ตามหาได้ ดังนั้น ถ้าหลานออกจากโรงพยาบาลแล้วอยากบวชก็ให้ไปบวช เพราะบุญคุณที่คนทั้งประเทศและทั่วโลก โดยเฉพาะจ่าแซม มาช่วยเรา ขอให้น้องเป็นคนดีเหมือนเดิม”

นางคำเอ้ยกล่าวอีกว่า แต่อันดับแรกที่ย่าจะให้ทำก่อน คือ ไปประกอบพิธีสืบชะตาที่วัดถ้ำผาจม หรือเกาะทราย ที่ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านของพวกเราก่อน ส่วนตัวก็จะพร่ำสอนให้เป็นคนดี และไม่ให้คิดมาก เพราะกลัวว่าหลานจะไขว้เขวคิดมากที่ต้องมาประสบเหตุและทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วย


ช่วย “จ่าแซม” จากภาครัฐ-เอกชน ถึงคนข้างหลัง “วีรบุรุษถ้ำหลวง”

จ่าเอก สมาน กุนัน อายุ 38 ปี อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ระหว่างปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย

แม้การสูญเสียครั้งนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ในเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วยากที่จะย้อนกลับคืน การช่วยเหลือเยียวยาเป็นสิ่งหนึ่งที่หลายภาคส่วนได้ดำเนินการเพื่อคนข้างหลังดำเนินชีวิตต่อไปได้

จ่าเอก สมาน เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว แม้ว่าจะไม่มีบุตร แต่ก็ยังมีบิดา มารดา และภรรยา MGR Online รวบรวมเงินชดเชยที่หน่วยงานรัฐและเอกชนจะมอบให้แก่ครอบครัว “จ่าแซม” จำแนกได้ดังนี้

1. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่ทำงานของ “จ่าแซม” ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 4 ส่วนตระเวนระงับเหตุ ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ล่าสุด นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เปิดเผยว่า ได้ช่วยเหลือเงินชดเชยในฐานะพนักงานแก่ครอบครัวจ่าเอก สมาน ได้แก่ เงินที่ฝ่ายบริหารอนุมัติ 1.8 ล้านบาท เงินสมทบจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ทอท. 2.5 แสนบาท ไม่นับรวมเงินช่วยเหลือสโมสร ทอท. และเพื่อนพนักงานอีกจำนวนหนึ่ง

จ่าเอก สมาน เคยทำประกันชีวิตไว้กับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) แต่ขาดส่งเบี้ยประกันมาระยะหนึ่ง ผู้บริหาร ทอท.จึงส่งเบี้ยประกันที่ขาดส่งให้เพื่อให้มีสิทธิในการเคลมประกันชีวิต ทุนประกันอยู่ที่ 1.1-1.2 ล้านบาทอีกด้วย

นอกจากเงินชดเชยแล้ว ทอท.ยังดำเนินการยกหนี้ให้จ่าเอก สมาน ทั้งหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ ทอท.1.6 ล้านบาท ธนาคารออมสินยกหนี้ให้อีก 7 แสนบาท เบ็ดเสร็จรวม 4 ล้านบาท

“ทอท.จะต้องมั่นใจได้ว่าเงินช่วยเหลือ และเงินชดเชยที่ครอบครัวจ่าเอก สมานได้รับ จะทำให้ครอบครัวสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้” นายนิตินัยกล่าว

2. กรมบัญชีกลาง คณะกรรมการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย มีมติอนุมัติจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ทายาท แบ่งเป็นเงินชดเชย 450,000 บาท ค่าจัดการศพ 45,000 บาท รวมเป็นเงิน 495,000 บาท ทั้งนี้ เงินดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543

3. เงินช่วยเหลือจากภาคส่วนอื่นๆ อาทิ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มอบเงิน 1 แสนบาท เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ครอบครัวของจ่าเอก สมาน เป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานที่เสียสละเพื่อส่วนรวม

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มอบค่าสินไหมให้กับทายาทของจ่าเอก สมาน 5 หมื่นบาท เพราะจ่าเอก สมานได้ทำบัตรเดบิตพ่วงประกันอุบัติเหตุ KTB Shop Smart Crystal Xtra ธนาคารกรุงไทย ค่าธรรมเนียมรายปี 399 บาท พร้อมสมทบเงินช่วยเหลือในฐานะผู้เสียสละอีก 5 หมื่นบาท รวมเป็น 1 แสนบาท

ส่วนสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย จัดกิจกรรม “Run for Sman” 060718 เดิน-วิ่งเพื่อระดมเงิน หารายได้เพื่อช่วยเหลือจ่าแซม หลังกิจกรรมยอดบริจาครวมทั้งสิ้น 3.56 ล้านบาท

สำหรับผู้สนใจ สามารถบริจาคช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียสละเพิ่มเติมได้ที่ บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี จ่าเอก สมาน กุนัน (จ่าแซม วีรบุรุษถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน) โดยนางวลีพร กุนัน และนายวิชัย กุนัน เลขบัญชี 670-0-40100-3 สาขาโรบินสัน ร้อยเอ็ด


เสก โลโซ ให้ “อีฟ” โอนเงิน ช่วยเหลือครอบครัว”จ่าแซม”

แม้หลายคนอาจจะมองว่านักร้องร็อกเกอร์ชื่อดัง เสก โลโซ เสกสรรค์ ศุขพิมาย อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ไปบ้าง หลังเคยออกมาโพสต์ด่านั่นนี่อยู่บ่อยๆ ในเฟซบุ๊ก แต่ลึกๆ แล้วตัวเสกเองมีความใจบุญอย่างมาก หมั่นบริจาคเงิน สร้างวัด หรือแม้กระทั่งช่วยเหลือคนอื่นบ่อยๆ โดยไม่หวังผลตอบแทน

อย่างล่าสุด เสก กับ อีฟ อภิสร์ญา ก็ได้กลับมามุ้งมิ้งกันอีกครั้ง หลังเคยพลาดโพสต์เฟซบุ๊กแบบหัวร้อนพูดถึงแฟนสาวในแง่ลบ ซึ่งทำเอาคนฮือฮาอย่างมาก แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็กลับมาคืนดีกันเหมือนเดิม และเสกก็ยังได้โพสต์ภาพให้อีฟเป็นผู้ช่วยตนเองไปโอนเงินช่วยเหลือครอบครัวของจ่าเอกสมาน กุนัน จากกรณีที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติการช่วยเหลือน้องๆ และโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีที่ติดถ้ำหลวง เป็นจำนวนเงินถึง 64,999 บาท

ซึ่งเงินก้อนนี้เป็นเงินที่ได้จากการไลฟ์สดของเสกถึงแฟนคลับ และแฟนคลับก็ได้โอนเงินเข้ามาช่วยเหลือกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งแฟนคลับของเสกเอง ก็ได้เข้ามาคอมเมนต์ชื่นชมการกระทำครั้งนี้ ซึ่งเป็นอีกมุมหนึ่งที่ดีๆ ของพี่เสก ที่แฟนคลับน่าจะเห็นกันมาตลอด

งานนี้แฟนๆ ก็ได้เห็นความหวานผ่านแคปชั่นของ เสก อีกครั้ง แม้ว่าโพสต์ก่อนหน้านี้เหมือนจะเลิกกันไปแล้วก็ตามที.

ระเบิดตายเกลื่อนถึง128ศพ รับอดีตนายกฯกลับประเทศ

รอยเตอร์ - มือระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีขบวนหาเสียงเลือกตั้งหนึ่งทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถานเมื่อวันศุกร์(13ก.ค.) คร่าชีวิตผู้คนมากถึง 128 ศพ นับเป็นเหตุโจมตีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ท่ามกลางความตึงเครียดที่โหมกระพือขึ้น เนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ เดินทางกลับประเทศ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 25 กรกฎาคม

เหตุระเบิดครั้งนี้นับเป็นเหตุโจมตีครั้งนองเลือดที่สุดในปากีสถานในรอบกว่า 1 ปีและเป็นสถานการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องศึกเลือกตั้งครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์นี้

นอกจากนี้มันยังเกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลรักษาการณ์ปากีสถานลงมือปราบปรามการชุมนุมทางการเมืองต้อนรับการกลับมาของ ซารีป ที่ถูกศาลฏีกาโค่นอำนาจเมื่อเดือนกรกฏาคมปีก่อนและพิพากษาลับหลังจำเลย ตัดสินว่าอดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้มีความผิดฐานคอรัปชันในสัปดาห์ที่แล้ว

อย่างไรก็ตามหลัง ชารีฟและมาร์ยาม ลูกสาวบินกลับสู่มาตุภูมิเพื่อต่อสู้กับโทษจำคุกที่ยาวนาน ทั้งสองก็ถูกรวบตัวในทันที โดยรายงานข่าวระบุว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบขึ้นไปประกบพาตัวสองพ่อลูกซารีฟลงจากเครื่องบิน หลังจากที่มันลงแตะพื้นของท่าอากาศยานในเมืองลาฮอร์ ตอน 20.45น.

ย้อนกลับมาที่เหตุระเบิด ฟาอิซ คาคาร์ รักษาการณ์รัฐมนตรีสาธารณสุขรัฐบาลูชิสถาน บอกกับรอยเตอร์ว่ายอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 128 คนและบาดเจ็บกว่า 150 คน

กาอิม ลาชารี เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงบอกก่อนหน้านี้ว่ามีชาวบ้านมากกว่า 1,000 คนเข้าร่วมขบวนหาเสียงดังกล่าวในเมืองมาสตัง ในบาลูชิสถาน จังหวัดที่เสื่อมโทรมไปด้วยสถานการณ์ความรุนแรง

พวกนักรบอิสลามิสต์ที่เกี่ยวข้องกับตอลิบาน, อัลกออิดะห์และรัฐอิสลาม(ไอเอส) ต่างก็เคลื่อนไหวในจังหวัดแห่งนี้ ซึ่งมีชายแดนติดกับอิหร่านและอัฟกานิสถาน และต่อมาสำนักข่าวอามัก สื่อของกลุ่มไอเอสได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบ แต่ไอเอสก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือหลักฐานที่ยืนยันว่าสมุนของพวกเขาเป็นคนลงมือ

ในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้น รวมถึงสิราช ไรซานี ผู้สมัครชิงเก้าอี้สมาชิกสมัชชาจังหวัดบาลูชิสถาน ซึ่งเป็นน้องของ นาวัล อัสลาม ไรซานี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งมุขมนตรีของจังหวัดระหว่างปี 2008 ถึง 2013

ไรซานี กลายเป็นผู้สมัครลงเลือกตั้งคนที่ 2 ที่เสียชีวิตในความรุนแรงก่อนถึงศึกเลือกตั้งในสัปดาห์นี้ โดยก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นกลางขบวนหาเสียงของ อัคราม ข่าน ดูร์รานี จากพรรค MMA พรรคการเมืองพันธมิตรของซารีฟ คร่าชีวิตผู้คน 4 ศพ

เมื่อวันอังคาร(10ก.ค.) มือระเบิดฆ่าตัวตายรายหนึ่งจุดชนวนระเบิดกลางขบวนหาเสียงของพรรคการเมืองต่อต้านตอลิบาน ในเมืองเปชาวาร์ ทางภาคเหนือของประเทศ คร่าชีวิตชาวบ้าน 20 ศพ ในนั้นรวมถึง ฮารูน ไบลัวร์ ซึ่งหวังคว้าเก้าอี้สมาชิกสมัชาจังหวัดในเดือนกรกฏาคม โดยเหตุการณ์คราวนี้ พวกตอลิบานออกมาอ้างความรับผิดชอบ