ข่าว
เฟซบุ๊คโดน รบ.สหรัฐฯฟ้องคดีผูกขาดการค้า อาจถูกสั่งขาย IG –WhatsApp

เมื่อ 11 ธ.ค. 63 สื่อต่างประเทศและรอยเตอร์ รายงาน คณะกรรมาธิการการค้ารัฐบาลกลางสหรัฐฯ และอัยการระดับรัฐเกือบทุกรัฐในสหรัฐอเมริกาเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท Facebook (เฟซบุ๊ค) ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใน 2 ข้อหาใหญ่ในคดีผูกขาดทางการค้า เมื่อวันพุธที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากได้มีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้มานานกว่าปี

รอยเตอร์ชี้ว่า เฟซบุ๊คอาจถูกบังคับให้ต้องขายแอปพลิเคชัน Instagram (อินสตาแกรม) หรือIG (ไอจี) และ WhatsApp (วอตส์แอป) แอปพลิเคชั่นรับส่งข้อความ หลังจากถูกคณะกรรมาธิการการค้ารัฐบาลกลางและอัยการรัฐเกือบทุกรัฐในสหรัฐฯยื่นฟ้อง 2 ข้อหาใหญ่ในคดีผูกขาดทางการค้า และทำให้เฟซบุ๊ค กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่บริษัทที่ 2 ที่ต้องเผชิญการความท้าทายทางกฎหมาย หลังจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้อง Google ของบริษัท Alphabet เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ในข้อหาที่เกี่ยวกับคดีผูกขาดทางการค้า โดยใช้อำนาจทางการตลาดของบริษัทกีดกันบริษัทคู่แข่ง

สำหรับข้อกล่าวหา 2 ข้อหาใหญ่ที่เฟซบุ๊คต้องเผชิญคือการซื้อกิจการจากบริษัทคู่แข่ง โดยเฟซบุ๊คได้เข้ามาซื้อกิจการบริษัทอินสตาแกรม ซึ่งให้บริการโปรแกรมแบ่งปันรูปภาพและคลิปวิดีโอสั้นๆ ในราคาประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ราว 30,000 ล้านบาท ในเดือนเมษายน 2555 และได้ซื้อกิจการ WhatsApp ในราคา 19,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.7 แสนล้านบาท ในปี 2557

‘เป็นเวลานานเกือบ 10 ปี ที่เฟซบุ๊8ได้ใช้อิทธิพลและอำนาจการผูกขาดทางการค้าในการบดขยี้บริษัทที่เล็กกว่าซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่ง เพื่อดับการแข่งขัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นค่าใช้จ่ายของยูสเซอร์ (ผู้ใช้งาน) ทุกๆ วัน’ Letitia James อัยการรัฐนิวยอร์ก กล่าวในฐานะเป็นตัวแทนจาก 46 รัฐที่ยื่นฟ้องเฟซบุ๊คในข้อหาผูกขาดการค้า ในขณะที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี., ดินแดนกวมแห่งสหรัฐฯ, รัฐแอละบามา, จอร์เจีย, เซาท์ แคโรไลนา และเซาท์ ดาโกตา ไม่ได้ร่วมในการฟ้องคดีนี่ต่อเฟซบุ๊ค

อย่างไรก็ตาม เจนนิเฟอร์ นิวสเตด ที่ปรึกษาทั่วไปของบริษัทเฟซบุ๊ค ได้ออกมาตอบโต้ โดยเรียกคดีนี้ คือประวัติศาสตร์ของการยึดถือหลักการที่หันเหจากเดิม และกล่าวว่า กฎหมายต่อต้านการผูกขาดทางการค้าไม่ควรนำมาใช้ลงโทษบริษัทต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ พร้อมกับชี้ว่า WhatsApp และอินสตาแกรม ได้ประสบความสำเร็จหลังจากเฟซบุ๊ค ภายใต้การนำของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เข้าซื้อกิจการและทำให้กลายเป็นแอปพลิเคชันที่กำลังเติบโต

พบโควิด-19 กลายพันธุ์แล้วถึง 7 สายพันธุ์ หลังระบาดข้ามปี คร่า 1.5 ล้าน

นักวิทยาศาสตร์ติดตามศึกษาเชื้อโควิด-19 พบกลายพันธุ์แล้วถึง 7 สายพันธุ์ หลังระบาดข้ามปี เสียชีวิตแล้วกว่า 1.5 ล้านศพ ตอนนี้ สายพันธุ์ G กำลังระบาดทั่วโลก

เมื่อ10 ธ.ค. 63 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน พัฒนาการของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ระบาดใหญ่ทั่วโลก หลังจากเริ่มแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนคร่าชีวิตผู้คนแล้วกว่า 1.5 ล้านศพว่า เชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์แล้วถึง 7 กลุ่ม หรือ 7 สายพันธุ์ เพื่อต้องการปรับตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายของมนุษย์

การติดตามและทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ของไวรัส ถือเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนายุทธวิธีเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 ศาสตราจารย์ นิโคลา สเปอร์เรียร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในรัฐเซาท์ ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งติดตามการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในรัฐเซาท์ออสเตรเลียในช่วงต้นเดือนพ.ย.กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องติดตามศึกษากลุ่มยีนของเชื้อโควิด-19 ก็เพื่อพยายามที่จะรู้ว่ามันมาจากไหน และการพยายามทำแผนที่เพื่อจะได้รู้เกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ

รอยเตอร์ได้วิเคราะห์ตัวอย่างของยีนกว่า 185,000 ยีนจาก Global Initiative on Sharing All Influenza Data (GISAID) ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลของยีนเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่องใหญ่ที่สุดในโลก ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่สายพันธ์ุสำคัญของเชื้อโควิด-19 ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

สายพันธุ์ดั้งเดิมของเชื้อโควิด-19 ที่พบการระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น เมื่อ ธ.ค. 62 เป็นสายพันธุ์ L จากนั้น เชื้อโควิด-19 ได้กลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธุ์ S เมื่อต้นปี 2563 ต่อมาได้กลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ V และ G ซึ่งสายพันธุ์ G ยังได้กลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธ์ุ GR, GH และ GV ส่วนการกลายพันธุ์ที่ไม่บ่อยนักอื่นๆ ถูกรวมเข้าด้วยกัน เป็นสายพันธุ์ O

ขณะนี้ เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ G ได้ระบาดทั่วโลก ซึ่งการกลายพันธุ์ที่เฉพาะครั้งหนึ่งที่เรียกว่า D614G ได้กลายเป็นสายพันธุ์แตกต่างที่พบบ่อยที่สุด ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ D614G สามารถระบาดได้ง่ายมากขึ้น เพราะผลจากการศึกษาอื่นๆ ยังมีความขัดแย้งในเรื่องนี้อยู่ ส่วนการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 เมื่อเร็วๆ นี้ คือ สายพันธุ์ GV ซึ่งปัจจุบันได้เป็นสายพันธุ์ที่ถูกแยกไประบาดในยุโรป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยังไม่แน่ชัดว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ GV ได้เข้ามาระบาดในยุโรปได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของเชื้อโควิด-19 จนถึงขณะนี้ ยังไม่ส่งผลให้เกิดสายพันธุ์ที่อาจต้านทานต่อวัคซีนที่กำลังมีการพัฒนา ซึ่งสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการทำคือการพยายามที่จะชะลอการระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้ช้าลง เพราะถ้าเชื้อโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณหนามโปรตีนรอบเซลล์ เมื่อนั้นเชื้อโควิด-19 ก็อาจจะหนีรอดจากวัคซีนไปได้


ไบเดน เสนอชื่อ รมต.กลาโหมผิวดำคนแรก

วันศุกร์ ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2563, (เอพี/รอยเตอร์/บีบีซี นิวส์) - นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ประกาศเสนอชื่ออดีตนายพลผิวดำเป็นรัฐมนตรีกลาโหมอย่างเป็นทางการ แม้มีคุณสมบัติบางประการขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากพ้นจากราชการทหารไม่ถึง 7 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด

นายไบเดนกล่าวว่า นายพลลอยด์ ออสติน เป็นคนที่เหมาะสมที่สุดในช่วงเวลานี้และเรียกร้องให้วุฒิสภารับรองนายพลออสตินอย่างรวดเร็ว หากได้รับการรับรอง นายพลออสตินจะเป็นผู้นำผิวดำคนแรก ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ แต่เขาจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนี้เนื่องจากเขาพ้นจากราชการทหารไม่ถึง 7 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่สื่อหลายสำนักรายงานว่า รัฐสภาสหรัฐต้องการให้พลเรือนขึ้นมานั่งในตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ เมื่อมีการแต่งตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อปี 2490 และได้มีการสั่งห้ามนายทหารซึ่งเพิ่งจากตำแหน่งไม่นาน เข้ามานั่งเก้าอี้นี้

ด้านนายพลออสตินกล่าวว่า เขาทราบดีถึงช่วงเวลาสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ หากเขาได้รับการรับรองจากรัฐสภา และเขาถือว่าตอนนี้ตนเองเป็นพลเรือนไม่ใช่ทหาร นายพลออสติน อดีตนายพล 4 ดาว เชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน วัย 67 ปี เคยเป็นผู้บัญชาการทหารสหรัฐในอิรัก ก่อนเป็นผู้บัญชาการกองกำลังกลางของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปี 2553-2559 ซึ่งเท่ากับว่า เขาพ้นจากราชการทหารเพียง 4 ปี อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้เคยยกเว้นมาแล้ว 2 ครั้ง รวมทั้งเมื่อปี 2560 ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนอชื่อ นายพลเจมส์ แมททิส เป็นรัฐมนตรีกลาโหมนายพลออสตินจะต้องรับหน้าที่บริหารกองทหารประจำการราว 1.2 ล้านคน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 16 ที่เป็นทหารผิวดำ อย่างไรก็ดี ทหารผิวดำส่วนใหญ่มักมียศในระดับชั้นผู้น้อย และมีส่วนน้อยที่ได้รับการเลื่อนยศในระดับสูง รวมถึงอาจต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ หากเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งที่ควรเป็นของพลเรือน และการมีความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เนื่องจากเขาเคยรับตำแหน่งในบริษัทที่ประกอบธุรกิจดังกล่าวหลังเกษียณราชการ

ขณะเดียวกัน นายไบเดน ได้เตรียมเสนอชื่อให้นายทอม วิลแซค อดีตผู้ว่าการรัฐไอโอวา เป็นรัฐมนตรีเกษตรในรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐ โดยนายวิลแซคเคยเป็นรัฐมนตรีเกษตรในรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัคโอบามา ซึ่งระหว่างหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐนั้น นายวิคแซค เป็นกำลังหลักในการสร้างคะแนนเสียงให้กับนายไบเดนในรัฐไอโอวา ซึ่งเป็นรัฐเกษตรกรรมสำคัญของสหรัฐด้วย สำหรับนายวิลแซค เป็นผู้ว่าการรัฐไอโอวาในระหว่างปี 2542-2550

นอกจากนี้ ไบเดนยังเลือกนางมาร์เซียฟัดจ์ วุฒิสมาชิกรัฐโอไฮโอ พรรคเดโมแครตให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการเคหะและพัฒนาเมืองของสหรัฐ หากได้รับการยืนยัน นางฟัดจ์จะเป็นรัฐมนตรีผิวสีคนที่สองที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว อันมีภารกิจหลักคือการสร้างชุมชนที่ยั่งยืนรวมและบ้านราคาประหยัดที่มีคุณภาพสำหรับชาวอเมริกันทุกคน แต่คาดว่าเธอจะต้องรับศึกหนักจากปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยจากผลพวงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เจ้าของบ้านจำนวนมากไม่มีเงินผ่อนค่างวดบ้านเพราะต้องตกงานหรือธุรกิจถูกปิด ทั้งนี้ นางฟัดจ์ เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในท้องที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอโฮโอ มาตั้งแต่ปี 2551 ก่อนได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกในเวลาต่อมา


วันเดียว 3 พันศพ สหรัฐทุบสถิติตั้งแต่โควิดระบาด อังกฤษเตือนภูมิแพ้งดฉีดวัคซีน

วันศุกร์ ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2563 : ยอดผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก พุ่งทะยานเกิน 69 ล้านราย ตายแล้วกว่า 1.57 ล้านราย ด้าน มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ยันสหรัฐฯ ตายกว่า 3 พันรายในวันเดียว ส่วนอังกฤษเตือนผู้ป่วยภูมิแพ้ไม่ควรรับวัคซีนซึ่งทดลองแล้วมีผลข้างเคียง ขณะที่เกาหลีใต้ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ทำรพ.ฉุกเฉินรองรับผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม : สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ว่ามีผู้ติดเชื้อรวม 69,181,155 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 603,366 ราย เสียชีวิต 1,574,418 รายรักษาหายแล้ว 47,941,056 ราย ส่วน 5 อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 15,792,686 ราย, อินเดีย 9,762,326 ราย, บราซิล 6,730,326 ราย, รัสเซีย 2,541,199 ราย และฝรั่งเศส 2,324,216 ราย สำหรับประเทศเมียนมา อยู่ลำดับที่ 68 ของโลก มีผู้ป่วยรายใหม่ 1,308 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 103,166 ราย ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 151 ของโลก

ที่ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่าศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มหาวิทยาลัยจอห์นสฮอปกินส์ เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ รายงานสถานการณ์ของสหรัฐฯ ในรอบ 24 ชั่วโมง ยืนยันผู้ป่วยรายใหม่อย่างน้อย 220,481 ราย เพิ่มสถิติผู้ป่วยโรคดังกล่าวเป็นอย่างน้อย 15,386,564 ราย ขณะที่สถิติผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่อย่างน้อย 289,188 ราย เพิ่มขึ้น 3,071 ราย นับเป็นสถิติรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นจากสถิติผู้เสียชีวิตรายวันตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 2,000ราย

ด้านคณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ) สหรัฐฯ มีกำหนดประชุมในวันเดียวกันนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการอนุมัติให้มีการใช้งานวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ไฟเซอร์ ร่วมกับบริษัท ไบออนเทคของเยอรมนี

ส่วนสำนักงานควบคุมยาและผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพของอังกฤษ ออกคำเตือนถึงผู้มีอาการภูมิแพ้ยาหรืออาหาร ว่าไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์และไบออนเทค ภายหลังมีรายงานผู้ป่วยภูมิแพ้มีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน 2-3 กรณี ทั้งนี้ คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นหลังจากอังกฤษเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุมัติใช้วัคซีนดังกล่าว โดยเริ่มฉีดวัคซีนนี้ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสร้อยละ 95 ให้กับผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา

ขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามินเนทันยาฮู ของอิสราเอล ประกาศว่า อิสราเอลจะฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้ชาวอิสราเอล ในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ และตั้งใจจะเป็นคนแรกที่ฉีดวัคซีนเป็นตัวอย่างให้กับสาธารณชนด้วย

ที่ ประเทศเกาหลีใต้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุด ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนเตียงผู้ป่วย โดยทางการกรุงโซล ได้นำตู้คอนเทนเนอร์ มาสร้างเป็น รพ.ฉุกเฉิน มีเตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งทางสาธารณสุขเกาหลีใต้ เตรียมเพิ่มจุดบริการตรวจเชื้อไวรัสดังกล่าวชั่วคราว อีก 150 แห่งทั่วกรุงโซล และพื้นที่โดยรอบ

นายพัคนึงฮู รัฐมนตรีสาธารณสุขเกาหลีใต้กล่าวว่า ทางการกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกรุงโซลและพื้นที่โดยรอบด้วยการระดมทรัพยากรทั้งหมดที่มี โดยเฉพาะการจัดเตรียมศูนย์รักษาและเตียงผู้ป่วยให้เพียงพอกับผู้ป่วยภาวะวิกฤต ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

ด้านสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้ (เคดีซีเอ) รายงานว่า เกาหลีใต้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 682 คน ลดลงจากวันก่อนที่มี 686 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขผู้ป่วยสูงเป็นอันดับที่ 2 นับตั้งแต่เกาหลีใต้พบผู้ป่วยติดเชื้อรายแรกในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา แม้ว่าทางการเกาหลีใต้ได้ประกาศใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวดขึ้นในสัปดาห์นี้แล้วก็ตาม

‘โจ ไบเดน’ ‘คามาลา แฮร์ริส’ ได้รับเลือกเป็น ‘บุคคลแห่งปี 2020’ ของไทม์

‘ไทม์’ เลือก โจ ไบเดน และคามาลา แฮร์ริส ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ และว่าที่รองประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ เป็นบุคคลแห่งปี 2020

เมื่อ 11 ธ.ค. 63 ในที่สุด นิตยสารข่าว ‘ไทม์’ ในสหรัฐอเมริกาได้เลือก นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ และนางคามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลแห่งปี 2020 ของไทม์ หลังจาก นายไบเดน และนางแฮร์ริสได้สร้างประวัติศาสตร์ สามารถเอาชนะ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 ที่สร้างความขมขื่นให้แก่ทรัมป์ ซึ่งทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแค่เพียงสมัยเดียว

ขณะเดียวกัน นางแฮร์ริส ยังถือเป็นผู้หญิงคนแรก คนผิวสีคนแรก และคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียใต้คนแรก ที่จะได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

‘สำหรับการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวของชาวอเมริกัน สำหรับการแสดงให้เห็นถึงพลังของความรู้สึกร่วมยิ่งใหญ่กว่าความโกรธที่สร้างความแบ่งแยก สำหรับการแบ่งปันความคิดของการเยียวยาในโลกที่โศกเศร้า โจ ไบเดน และคามาลา แฮร์ริส คือบุคคลแห่งปี 2020 ของนิตยสารไทม์’ Edward Felsenthal บรรณาธิการบริหารนิตยสารไทม์เขียนยกย่องโจ ไบเดน และคามาลา แฮร์ริส ที่ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปี 2020 ของไทม์

ส่วนนักธุรกิจแห่งปี 2020 ที่ได้รับเลือกจากไทม์คือ นายอีริค หยวน ซีอีโอชาวจีน เจ้าของ ‘Zoom’ แอปพลิเคชันวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่มาแรงสุดแห่งปี ในยุคโควิด-19 ระบาด ที่ทำให้ผู้คนต้องทำงานกันที่บ้าน และนักเรียนนักศึกษาเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน