ข่าว
ทรัมป์ตะลุยฟ้องนับใหม่-ไบเดนเดินหน้าทำงาน

13 พ.ย. 2563 08:05 น. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ได้ยื่นฟ้องต่อรัฐบาลกลางในมิชิแกนเพื่อพยายามพลิกผลการเลือกตั้งในรัฐสำคัญ โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง ขณะที่นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จากเดโมแครต ได้รับคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งเกิน 270 เสียง และยังมีคะแนนดิบจากประชาชน 77 ล้านเสียง ส่วนทรัมป์ 72 ล้านเสียง ขณะที่โฆษกจากรัฐมิชิแกนกล่าวว่าความพยายามของทรัมป์เป็นการส่งเสริมการกล่าวอ้างเท็จเพื่อทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนในการเลือกตั้ง และยืนยันว่าการเลือกตั้งของมิชิแกนเป็นไปอย่างยุติธรรมปลอดภัยโปร่งใส และผลลัพธ์ที่ได้คือการสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างถูกต้อง

ด้านนายไบเดนเดินหน้าเตรียมงานในรัฐบาลใหม่ที่เตรียมเข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค. 2564 โดยได้เสนอชื่อนายรอน เคลน เป็นหัวหน้าคณะทำงานเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 11 พ.ย. เป็นตำแหน่งสำคัญตำแหน่งแรกในคณะรัฐบาลใหม่โดยไม่คำนึงว่าทรัมป์จะยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม นายเคลน วัย 59 ปี เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ไบเดนดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี สมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นผู้มีประสบการณ์ในการต่อสู้กับไวรัสอีโบลา ซาร์ ในปี 2557 และยังเคยวิจารณ์การรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลทรัมป์อย่างดุเดือดมาก่อน คาดว่าจะเป็นบุคคลสำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติการรับมือวิกฤติโควิด-19

ก่อนหน้านี้เคลนยังเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยระดับสูงของรองประธานาธิบดีอัล กอร์ ในสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน ในการหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ 59 นี้เคลนยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโดยทั้งสองรู้จักและทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ไบเดนเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐเดลาแวร์ การตัดสินใจของไบเดนครั้งนี้ได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวางจากสมาชิกเดโมแครตและแม้แต่รีพับลิกันก็ตาม เอลิซาเบธ วอร์เรน ส.ว.จากเดโมแครต กล่าวว่าเคลนเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมและเป็นผู้มีประสบการณ์ที่จะช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปได้

ขณะที่ทรัมป์ได้เดินทางไปวางพวงมาลาที่หลุมฝังศพทหารนิรนามที่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน เนื่องในวันทหารผ่านศึกสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. นับเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกนอกเหนือจากการไปตีกอล์ฟ 2 ครั้ง และทวีตอย่างเกรี้ยวกราดภายในทำเนียบขาว หลังจากมีการคาดว่าไบเดนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ขณะที่ผลการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ในอีกไม่กี่รัฐ ทรัมป์เป็นผู้นำในนอร์ทแคโรไลนา ส่วนไบเดนมีคะแนนนำในอริโซนาและจอร์เจีย การนับคะแนนใหม่จึงไม่น่าจะเปลี่ยนผลลัพธ์ใดๆ ได้ การจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปทรัมป์จะต้องชนะทั้ง 3 รัฐที่ยังไม่ประกาศผลอย่างเป็นทางการ รวมทั้งต้องพลิกชนะใน 1 รัฐ หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้อย่างสูง

เวียดนามผวา ‘หว่ามก๋อ’ มุ่งหน้ามาแล้ว หลังถล่มฟิลิปปินส์ยับ

เมื่อ 12 พ.ย. 63 สำนักอุตุนิยมวิทยาเวียดนามติดตามพายุ ‘หว่ามก๋อ’ เคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน ทางภาคเหนือของฟิลิปปินส์สู่ทะเลจีนใต้แล้วเมื่อเช้าวันพฤหัสฯ ที่ 12 พ.ย. ด้วยความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุ 135 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มุ่งหน้ามายังเวียดนามเป็นประเทศต่อไป หลังอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นหว่ามก๋อ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงในฟิลิปปินส์ จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดบนเกาะลูซอน รวมทั้งหลายยพื้นที่ในกรุงมะนิลา เมืองหลวง และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1 ศพ

ด้านสำนักอุตุนิยมวิทยาในต่างประเทศ คาดการณ์ว่าพายุหว่ามก๋อจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งจังหวัดห่าติ๋ญ ทางชายฝั่งตอนกลางค่อนไปทางเหนือของเวียดนามกับจังหวัดกว่างบินห์ ในวันจันทร์ที่ 16 พ.ย.

พายุหว่ามก๋อ นับเป็นพายุลูกที่ 3 ที่ถล่มเวียดนามในเดือน พ.ย. และเป็นพายุลูกที่ 13 ที่ถล่มเวียดนามในปีนี้ จนมีผู้เสียชีวิต หรือสูญหายจากการประสบภาวะอุทกภัยแล้วอย่างน้อย 235 ศพ

ส่วนพายุโซนร้อน เอตาว ที่ขึ้นฝั่งเวียดนาม เมื่อเช้าวันอังคารที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักทั่วภาคกลางค่อนไปทางใต้ของประเทศเวียดนาม รวมทั้งหลายจังหวัดทางภาคกลางของเวียดนาม ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 2 ศพ อีกทั้งหลายจังหวัดทางภาคกลาง ยังเกิดเหตุดินสไลด์ในหลายจุด และน้ำท่วมฉับพลันจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก

ที่มา : e.vnexpress


นายกฯบาห์เรนสิ้นพระชนม์แล้ว กษัตริย์แต่งตั้งมกุฎราชกุมารเป็นนายกฯใหม่

กษัตริย์บาห์เรนทรงแต่งตั้งเจ้าชายซัลมาน มกุฎราชกุมารขึ้นเป็นนายกฯใหม่ หลังเจ้าชายเคาะลิฟะฮ์ สิ้นพระชนม์ ปิดตำนานนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก

เมื่อ 12 พ.ย. 63 เว็บไซต์อัลจาซีรา รายงานว่า เจ้าชายเคาะลิฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลิฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรน สิ้นพระชนม์แล้ว ด้วยวัย 84 ชันษา เมื่อเช้าวันพุธที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมายาวนานถึง 49 ปี จนนับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก

สำนักข่าวของทางการบาห์เรน ‘Bahrain News Agency’ ซึ่งได้แจ้งข่าวการจากไปของนายกรัฐมนตรีบาห์เรนในครั้งนี้ ระบุด้วยว่า เจ้าชายเคาะลิฟะฮ์ ได้สิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลเมโย คลินิก ในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม

ต่อมา สมเด็จพระราชาธิบดีฮาห์หมัด บิน อีซา อัล เคาะลิฟะฮ์ แห่งราชอาณาจักรบาห์เรนทรงแต่งตั้งเจ้าชายซัลมาน บินฮะหมัด อัลเคาะลีฟะฮ์ มกุฎราชกุมาร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของบาห์เรน เมื่อ 11 พ.ย. 63 นอกจากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีฮาห์หมัด ทรงประกาศไว้อาลัยอย่างเป็นทางการต่อการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเคาะลิฟะฮ์ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ พร้อมกับมีการลดธงชาติลงครึ่งเสาเพื่อแสดงความไว้อาลัย ส่วนพิธีฝังพระศพจะมีขึ้นหลังจากมีการนำพระศพกลับจากสหรัฐอเมริกามาถึงบาห์เรน

ทั้งนี้ เจ้าชายเคาะลิฟะฮ์ ทรงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 จนถึง 11 พ.ย.2563 โดยทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกือบ 2 ปี ก่อนที่บาห์เรนจะได้รับเอกราชในวันที่ 15 สิงหาคม 2514 และทรงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก ก่อนจะสิ้นพระชนม์เมื่อ 11 พ.ย. 63


ไบเดน ทาบ “รอน เคลน” ที่ปรึกษาคนสนิท เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว

ระหว่างรอประกาศผลเลือกตั้งยืนยันชัยชนะอย่างเป็นทางการ นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมที่จะตั้ง “รอน เคลน” ที่ปรึกษาคนสนิทและไว้วางใจที่สุด ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. สำนักข่าว CNN รายงานอ้างคำเปิดเผยของทีมถ่ายโอนอำนาจรัฐบาลของ นายโจ ไบเดน ที่ระบุว่า นายไบเดน ได้เลือก นายรอน เคลน ที่ปรึกษาคนสนิทของเขา มารับตำแหน่งหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว

นายไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่า นายรอน เคลน เป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองในวอชิงตันมานานอย่างลึกซึ้ง หลากหลายและยาวนาน ทำให้พร้อมที่จะมาทำหน้าที่อันท้าทายนี้ โดยเชื่อมั่นว่า นายรอน เคลน สามารถทำงานร่วมกับผู้คนจากฝ่ายต่างๆ ทางการเมือง ยิ่งในขณะนี้ทำเนียบขาวกำลังเผชิญวิกฤติท้าทาย อย่างเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกำลังต้องการรวมใจชาวอเมริกันเป็นหนึ่งเดียว

นายเคลน เคยทำงานกับ นายไบเดน ในพรรคเดโมแครต ตั้งแต่ปี 2530 เขาเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสำนักงานรองประธานาธิบดี ในช่วงที่ นายไบเดน ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา สมัยแรก และก่อนหน้านั้นเขาเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสำนักงานรองประธานาธิบดี ในช่วงที่ นายอัล กอร์ ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ในรัฐบาลของประธานาธิบดีบิล คลินตัน

นอกจากนี้ เขายังเป็นที่ปรึกษาแคมเปญหาเสียงของนายไบเดน มีหน้าที่คอยช่วยเตรียมการดีเบต และท่าทีการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ที่มา: CNN


สลด เรือล่มนอกชายฝั่งลิเบีย ผู้อพยพจมน้ำดับ 74 ศพ

เรือขนผู้อพยพอับปางในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกชายฝั่งของประเทศลิเบีย เมื่อวันพฤหัสบดี ทำให้มีผู้จมน้ำเสียชีวิตอย่างน้อย 74 ศพ

สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดีที่ 12 พ.ย. 2563 ว่า เรือขนผู้อพยพซึ่งบรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 120 คน รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก อับปางในทะเลนอกชายฝั่งเมืองคุมส์ ทางเหนือของประเทศลิเบีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 74 ศพ

IOM เผยด้วยว่า เจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งและนักประมงท้องถิ่นสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตกลับเข้าฝั่งแล้ว 47 คน และเก็บกู้ศพผู้เสียชีวิตได้แล้ว 31 ศพ ขณะที่การค้นหาผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ ยังดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ ตามรายงานของ IOM ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือล่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้วอย่างน้อย 900 ศพ ขณะที่พวกเขาพยายามเดินทางไปยังยุโรป โดยเหตุเรือล่มที่มีผู้เสียชีวิตในคราวเดียวมากที่สุดเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้เคราะห์ร้ายถึง 140 ศพ

มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ผู้นำเอธิโอเปียประกาศสงครามกับภูมิภาคไทเกรย์

นายกรัฐมนตรี อาบีย์ อาห์เหม็ด แห่งเอธิโอเปีย ประกาศสงครามกับภูมิภาค ไทเกรย์ ทางตอนเหนือของประเทศ จนเกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงกับกลุ่ม TPLF ที่ปกครองดินแดนแห่งนี้อยู่

ชนวนของสงครามครั้งนี้เริ่มขึ้นมานานหลายปี และค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ จนถึงขีดสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และลุกลามกลายเป็นหนึ่งในวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ

การต่อสู้ในภูมิภาคไทเกรย์อาจบานปลาย ทำให้ความขัดแย้งลุกลามไปทั่วประเทศ และอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วภูมิภาคแหลมแอฟริกา กลายเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เมื่อนายกรัฐมนตรี อาบีย์ อาห์เหม็ด ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปเมื่อปีที่แล้ว ประกาศสงครามกับภูมิภาคไทเกรย์ ดินแดนกึ่งปกครองตนเองในภาคเหนือของประเทศ อย่างไม่มีใครคาดคิด เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563

สงครามครั้งนี้มีชนวนเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ‘แนวหน้าปลดปล่อยประชาชนไทเกรย์’ (TPLF) ซึ่งปกครองไทเกรย์ และเคยเป็นสมาชิกสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาลเอธิโอเปียมานานหลายทศวรรษ กับรัฐบาลของนายกฯ อาบีย์ ที่คุกรุ่นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก่อนจะปะทุขึ้นเมื่อไทเกรย์ขัดคำสั่งรัฐบาลกลางและจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น

นายกรัฐมนตรี อาบีย์ สั่งให้กองทัพออกปฏิบัติการโจมตีในภูมิภาคไทเกรย์ หลังจากเกิดเหตุโจมตีที่ฐานทัพแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย รวมทั้งทรัพย์สินของกองทัพได้รับความเสียหาย โดยเขาโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม TPLF

เอธิโอเปียมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ย้อนกลับไปในปี 2561 รัฐบาลร่วมของเอธิโอเปียแต่งตั้งนายอาบีย์ เป็นนายกรัฐมนตรี และช่วยทำให้การประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ดำเนินมานานหลายเดือนสงบลง ทำให้เขาได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2562 จากผลงานการฟื้นฟูสันติภาพกับประเทศเอริเทรีย ซึ่งเป็นศัตรูกันมานาน และมีพรมแดนติดกับภูมิภาคไทเกรย์

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม TPLF ซึ่งปกครองภูมิภาคไทเกรย์มาหลายทศวรรษและต่อสู้กับเอริเทรียมาตลอดไม่ชอบที่นายอาบีย์ผูกมิตรกับเอริเทรีย และรู้สึกว่าพวกตนเองถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ เมื่อนายกฯ อาบีย์ ซึ่งถูกยกให้เป็นผู้นำนักปฏิรูป กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ว่าทุจริตคอรัปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปลดสมาชิกกลุ่ม TPLF หลายคนออกจากตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลกลาง

ความตึงเครียดระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายรุนแรงขึ้นอีกเมื่อนายอาบีย์ ตัดสินใจรวมพรรคของกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ ที่ประกอบเป็นรัฐบาลร่วม EPRDF เข้าด้วยกัน แล้วจัดตั้งพรรครุ่งโรจน์ (Prosperity Party: PP) ขึ้นมา ซึ่ง TPLF คัดค้าน ระบุว่าการทำเช่นนี้จะยิ่งทำให้ประเทศแตกแยก และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพรรค PP ขณะที่การเลื่อนจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อช่วงต้นปี 2563 เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้รอยร้าวกว้างขึ้นอีก

ในที่สุด กลุ่ม TPLF ก็ประกาศจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในภูมิภาคไทเกรย์เมื่อเดือนกันยายน ทำให้รัฐบาลกลางออกมาประณามว่าเป็นการเลือกตั้งที่ผิดกฎหมาย และตอบโต้ด้วยการตัดความสัมพันธ์กับภูมิภาคไทเกรย์ และระงับการให้เงินช่วยเหลือ หลังจากนั้น รัฐบาลทั้งสองก็กล่าวหากันไปมาว่า เป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยฎหมายและผิดรัฐธรรมนูญ

กระทั่งในวันที่ 4 พ.ย. นายกรัฐมนตรีอาบีย์ก็ประกาศสงครามกับภูมิภาคไทเกรย์ โดยกล่าวหากลุ่ม TPLF ว่าแต่งกายด้วยชุดทหารเอริเทรีย โจมตีค่ายทหารรัฐบาลกลางในภูมิภาคไทเกรย์กลางดึก ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ขณะที่ฝ่าย TPLF กล่าวหารัฐบาลกลางว่า แต่งเรื่องหลอกลวงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการบุกโจมตีไทเกรย์

ทันทีหลังจากประกาศสงคราม รัฐบาลกลางเอธิโอเปียก็ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์ในภูมิภาคไทเกรย์ทันที ก่อนที่นายอาบีย์จะสั่งเคลื่อนกำลังพลเข้าสู่ไทเกรย์เพื่อตอบโต้การโจมตีที่ค่ายทหาร

ทั้งนี้ เอธิโอเปียเป็นหนึ่งในชาติแอฟริกาที่มีการติดอาวุธมากที่สุด และ TPLF นับว่ามีกำลังทหารพร้อมที่สุดในประเทศ เนื่องจากพวกเขามีประสบการณ์ต่อสู้บริเวณชายแดนกับประเทศเอริเทรียมานานหลายปี โดยองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (International Crisis Group) ประเมินว่า TPLF มีกำลังรบกึ่งทหารและนักรบติดอาวุธท้องถิ่นราว 250,000 คนทีเดียว

จนถึงตอนนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วหลายร้อยราย นายอาบีย์ ออกแถลงการณ์เมื่อ 12 พ.ย. อ้างว่า ดินแดนทางตะวันตกของไทเกรย์ได้รับการปลดปล่อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวของ บีบีซี ในกรุงแอดดิส อาบาบา ระบุว่า มีสัญญาณชี้ว่า รัฐบาลกลางกับทางการไทเกรย์กำลังยกระดับความพยายามในการเคลื่อนย้ายทรัพยากร ซึ่งหมายความว่าการต่อสู้อาจจะดำเนินต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง

องค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ระบุว่า เกิดการสังหารหมู่ขึ้นที่เมือง ไม-คาดรา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของภูมิภาคไทเกรย์เมื่อคืนวันที่ 9 พ.ย. มีประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบหลายร้อยคนถูกแทงหรือถูกทำร้ายจนตาย โดยผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่าเป็นฝีมือกองกำลังที่ภักดีกับกลุ่ม TPLF ที่เพิ่งพ่ายแพ้ให้กับกองทัพรัฐบาลกลางในการต่อสู้ที่เขต ลุกดี แต่กลุ่ม TPLF ปฏิเสธความเกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน นายซาจจาด โมฮัมหมัด ซาจิด ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำเอธิโอเปีย เตือนว่า ประชาชนราว 2 ล้านคนในไทเกรย์ ซึ่งตอนนี้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกไปแล้ว กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก มีหลายคนที่ขาดแคลนอาหาร, เชื้อเพลิง หรือทั้ง 2 อย่าง

ด้านเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในซูดานเปิดเผยว่า มีพลเรือนเอธิโอเปียอย่างน้อย 7,000 คนรวมทั้งทหารจำนวนหนึ่ง อพยพข้ามพรมแดนเข้ามา บางคนต้องเดินเท้านาน 2-3 วันเพื่อหลบหนีการปูพรมทิ้งระเบิด แม้ซูดานจะตัดสินใจปิดพรมแดนรัฐคาสซาลาแล้วก็ตาม

หวั่นความขัดแย้งลุกลามไปพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ

สงครามระหว่างรัฐบาลกลางกับภูมิภาคไทเกรย์ ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าความขัดแย้งจะลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศด้วย โดยเฉพาะในบางภูมิภาคที่เรียกร้องขออำนาจปกครองตนเองมากขึ้น แม้ว่านายบีร์ฮานู จูลา รองเสนาธิการกองทัพเอธิโอเปียจะออกมายืนยันว่า สงครามจะจบลงแค่ที่นี่ (ไทเกรย์) ก็ตาม

ขณะที่เสียงเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจากันก็ดูท่าจะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้กัน โดยทูตตะวันตกในกรุงแอดดิส อาบาบา ระบุว่า “สารจากชาวเอธิโอเปียก็คือ หากคุณพูดถึงการเจรจา คือการคุยระหว่างฝ่ายที่เท่าเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่นี่คือรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนอีกฝ่ายคือผู้ทรยศ”

ส่วน TPLF ประกาศก่อนที่การต่อสู้จะเริ่มขึ้นว่า พวกเขาไม่สนใจที่จะเจรจากับรัฐบาลกลาง จนกว่าจะมีการปล่อยตัวผู้นำที่ถูกจับกุมตัวเสียก่อน

การต่อสู้กับ TPLF ทำให้รัฐบาลกลางต้องเรียกทหารที่ประจำการในโซมาเลียเพื่อรักษาสันติภาพ กลับประเทศ ขณะที่มีผู้อพยพกำลังเดินทางเข้าสู่ซูดานที่กำลังเผชิญกับวิกฤติการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองครั้งใหญ่ของตัวเอง นอกจากนี้ คู่อริอย่างเอริเทรียก็ไม่ได้เปิดใจยอมรับเอธิโอเปียมากนัก แม้จะประกาศยุติสงครามต่อกันอย่างเป็นทางการในปี 2561 และอาจกระโจนเข้ามามีส่วนร่วมสงครามภายในครั้งนี้

สหประชาชาติก็กังวลในเรื่องนี้เช่นกัน โดยนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่ UN ทวีตข้อความเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “เสถียรภาพของเอธิโอเปียสำคัญต่อภูมิภาคแหลมแอฟริกาทั้งหมด ผมขอเรียกร้องให้มีการลดความตึงเครียดในทันที และหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ”

ผู้เขียน: H2O

ที่มา: BBC, aljazeera, highsnobiety