ข่าว
บัวแก้วแจงการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ และการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติในไทย

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 : นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ และการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติในไทยว่า ในประเด็นการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ ตามมติของที่ประชุมคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 กรณีวัคซีนไฟเซอร์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ได้ระบุแผนการจัดสรรวัคซีนดังกล่าวแก่กลุ่มบุคคล 5 กลุ่มนั้น

จากการหารือและประสานงานภายในกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการแจกจ่ายวัคซีนไปยังบุคคลในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ข้างต้น ได้แก่ การจัดการลงทะเบียน และการจัดสถานที่และวิธีการฉีดวัคซีนให้แก่บุคคลกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาไทยที่กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศที่จำเป็นต้องรับวัคซีนด้วย ทั้งนี้ขอให้รอการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขในส่วนของรายละเอียดต่อไป

นายธานีกล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติในประเทศไทย ในขณะนี้ได้ให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มชาวต่างชาติผู้สูงอายุที่อาศัยในกรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑลในเขตควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วยนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ที่ศูนย์ฉีดสถานีกลางบางซื่อ

สำหรับ 2 กลุ่มชาวต่างชาติ ได้แก่ 1.ชาวต่างชาติที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถรับการฉีดวัคซีนแบบ Walk-in โดยขอให้เตรียมหนังสือเดินทางและหลักฐานการมีถิ่นพำนัก เช่น วีซ่า ใบยืนยันการมีถิ่นที่อยู่ ใบอนุญาตทำงาน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป จะยกเลิกระบบ walk-in และ 2. ชาวต่างชาติที่มีอายุ 60-74 ปี ซึ่งจะต้องลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านระบบลงทะเบียนของกรมการกงสุลทาง google form https://forms.gle/ULAqvx8eiDoX3v5Q9 จากนั้น จะได้รับการนัดหมายผ่านอีเมล หรือ SMS เข้ารับการฉีดต่อไป โดยสามารถนัดหมายชาวต่างชาติในกลุ่มนี้มารับการฉีดได้ประมาณวันละ 200-300 คน

นายธานีกล่าวว่า ภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเปิดให้ชาวต่างชาติทั่วประเทศลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ของกรมการกงสุล แบบไม่จำกัดอายุ แต่ยังเน้นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นหลัก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งรายละเอียดในโอกาสแรก ในส่วนของการฉีดวัคซีนแก่แรงงานต่างด้าวนั้น ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

กต.เผยไทยช่วยเมียนมารับมือโควิดต่อเนื่อง

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 : นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือเมียนมาในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ไทยได้เริ่มให้ความช่วยเหลือเมียนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เริ่มจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดฝึกอบรม และการให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบออนไลน์ ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพทางการแพทย์ โดยการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และบุคลากรและห้องปฏิบัติการ

นายธานีกล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งมอบเครื่องตรวจ RT-PCR และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้แก่ National Health Laboratory (NHL) ที่กรุงย่างกุ้ง และก่อนหน้านี้ ก็ได้ส่งเครื่องตรวจดังกล่าวให้แก่โรงพยาบาลเมียนมาที่เมียวดี และสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่ ชุด PPE ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการและการตรวจรักษาโรคแบบ Coverall และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ ให้แก่โรงพยาบาลของเมียนมาตามแนวชายแดนไทย ทั้งที่เมียวดี เกาะสอง ท่าขี้เหล็ก รวมทั้งมีแผนงานที่ให้การสนับสนุนเพิ่มเติมในพื้นที่ใหม่ เช่นที่พญาตองซู เพื่อช่วยในป้องกันการระบาดในบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย ที่มีการเคลื่อนย้ายของประชาชนและแรงงานจำนวนมาก

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศยังมีแผนที่จะจัดส่งเครื่องตรวจ RT-PCR ให้แก่โรงพยาบาลที่ท่าขี้เหล็กและทวาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของห้องปฏิบัติการในเมียนมา ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยบริเวณชายแดนด้วย ทั้งนี้รวมมูลค่าการให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศประมาณ 24 ล้านบาท

นายธานีกล่าวอีกว่า นอกจากกรอบทวิภาคีแล้วยังมีการดำเนินการในกรอบอาเซียนผ่าน ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management (AHA) และศูนย์ Disaster Emergency Logistics System for ASEAN (DELSA) โดยไทยพร้อมจะสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เมียนมาต้องการในวงเงิน 5 ล้านบาทด้วย

“ไทยกำลังพิจารณาต่อไปว่าจะสนับสนุนประการใดได้อีกในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน เพราะโรคระบาดที่แพร่ระบาดในกลุ่มชุมชนและเขตแดนที่ต่อเนื่องกัน จะทำให้ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัยทั้งภายในและนอกประเทศ” นายธานีกล่าว

โควิดลามนานกิงหนักสุด นับจากอู่ฮั่น พบต้นตอเดลต้ามาจากเที่ยวบินรัสเซีย

เมื่อ 30 ก.ค. บีบีซี รายงานว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เมืองหนานจิง หรือ นานกิง ลามต่อไปยัง 5 มณฑล และกรุงปักกิ่ง มีผู้ติดเชื้อเกือบ 200 คนแล้ว สำนักข่าวของจีนถึงกับระบุว่า เป็นการแพร่กระจายของเชื้อที่ขยายวงกว้างที่สุด นับจากกรณีเมืองอู่ฮั่น เมื่อปีก่อน

ทางการสั่งระงับเกี่ยวบินทั้งหมดจากสนามบินหนานจิง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการระบาด ถึงวันที่ 11 ส.ค. และเริ่มตรวจหาเชื้อขนานใหญ่ในกลุ่มประชาชนทั้งเมือง รวมถึงผู้ที่มาอยู่ในเมือง 9.3 ล้านคน

ซินหัวรายงาน หนานจิงรายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันผลรวม 184 ราย และผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ 1 ราย นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค. ทั้งยังมีรายงานการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องในมณฑลและเทศบาลนครอื่นๆ ของประเทศ อาทิ กรุงปักกิ่ง

มณฑลเสฉวน มณฑลหูหนาน และมณฑลเหลียวหนิง

นายติง เจี่ย รองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเทศบาลนครหนานจิง มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน ประกาศว่าการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดของโรคโควิด-19 ในหนานจิง มีต้นกำเนิดมาจากเที่ยวบินจากรัสเซีย

การจัดลำดับจีโนมของไวรัสจากผู้ป่วย 52 รายแสดงให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ซึ่งบ่งชี้ว่ามีห่วงโซ่การติดเชื้อเดียวกันและล้วนเป็นโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตาที่ติดเชื้อได้ง่าย

เมื่อลำดับพันธุกรรมของไวรัสในกลุ่มผู้ป่วยส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นพนักงานทำความสะอาดห้องโดยสารที่รายงานไปก่อนหน้านี้ มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยจากต่างประเทศบนเที่ยวบินซีเอ 910 (CA910) ที่เดินทางจากรัสเซียมายังหนานจิง เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564

สันนิษฐานว่ากลุ่มพนักงานทำความสะอาดไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดหลังทำความสะอาดเที่ยวบินซีเอ 910 จนติดเชื้อไวรัส ก่อนจะแพร่เชื้อไปยังเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ซึ่งมีหน้าที่ทำความสะอาดและขนส่งขยะของเที่ยวบินทั้งในและระหว่างประเทศ


โควิดลามนานกิงหนักสุด นับจากอู่ฮั่น พบต้นตอเดลต้ามาจากเที่ยวบินรัสเซีย

เมื่อ 30 ก.ค. บีบีซี รายงานว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เมืองหนานจิง หรือ นานกิง ลามต่อไปยัง 5 มณฑล และกรุงปักกิ่ง มีผู้ติดเชื้อเกือบ 200 คนแล้ว สำนักข่าวของจีนถึงกับระบุว่า เป็นการแพร่กระจายของเชื้อที่ขยายวงกว้างที่สุด นับจากกรณีเมืองอู่ฮั่น เมื่อปีก่อน

ทางการสั่งระงับเกี่ยวบินทั้งหมดจากสนามบินหนานจิง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการระบาด ถึงวันที่ 11 ส.ค. และเริ่มตรวจหาเชื้อขนานใหญ่ในกลุ่มประชาชนทั้งเมือง รวมถึงผู้ที่มาอยู่ในเมือง 9.3 ล้านคน

ซินหัวรายงาน หนานจิงรายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันผลรวม 184 ราย และผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ 1 ราย นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค. ทั้งยังมีรายงานการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องในมณฑลและเทศบาลนครอื่นๆ ของประเทศ อาทิ กรุงปักกิ่ง

มณฑลเสฉวน มณฑลหูหนาน และมณฑลเหลียวหนิง

นายติง เจี่ย รองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเทศบาลนครหนานจิง มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน ประกาศว่าการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดของโรคโควิด-19 ในหนานจิง มีต้นกำเนิดมาจากเที่ยวบินจากรัสเซีย

การจัดลำดับจีโนมของไวรัสจากผู้ป่วย 52 รายแสดงให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ซึ่งบ่งชี้ว่ามีห่วงโซ่การติดเชื้อเดียวกันและล้วนเป็นโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตาที่ติดเชื้อได้ง่าย

เมื่อลำดับพันธุกรรมของไวรัสในกลุ่มผู้ป่วยส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นพนักงานทำความสะอาดห้องโดยสารที่รายงานไปก่อนหน้านี้ มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยจากต่างประเทศบนเที่ยวบินซีเอ 910 (CA910) ที่เดินทางจากรัสเซียมายังหนานจิง เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564

สันนิษฐานว่ากลุ่มพนักงานทำความสะอาดไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดหลังทำความสะอาดเที่ยวบินซีเอ 910 จนติดเชื้อไวรัส ก่อนจะแพร่เชื้อไปยังเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ซึ่งมีหน้าที่ทำความสะอาดและขนส่งขยะของเที่ยวบินทั้งในและระหว่างประเทศ


แผ่นดินไหวขนาด 8.2 นอกฝั่งอลาสก้า เตือนภัยสึนามิ

เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งของคาบสมุทรอลาสก้าของสหรัฐฯ เมื่อช่วงดึกวันพุธตามเวลาท้องถิ่น สำนักสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ ระบุมีแรงสั่นไหวขนาด 8.2 และเกิดในระดับตื้น พร้อมออกคำเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิ

คำประกาศของสำนักสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐ (ยูเอสจีเอส) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม เผยว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองเพอร์รีวิลล์ของมลรัฐอลาสก้า ทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 91 กิโลเมตร พร้อมกับเตือนภัยคลื่นยักษ์บริเวณชายฝั่งภาคใต้ของอลาสก้าและคาบสมุทรอลาสก้า ขณะรัฐบาลสหรัฐฯ เตือนภัยสึนามิตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอลาสก้า

“มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นสึนามิที่อันตรายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้กับชายฝั่งบางแห่งภายใน 3 ชั่วโมงถัดจากนี้” ระบบเตือนภัยสึนามิของสหรัฐฯ เตือนในแถลงการณ์

รายงานเอเอฟพี กล่าวว่า แผ่นดินไหวเกิดเมื่อเวลา 22.15 น.ของวันพุธตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับ 13.15 น. วันพฤหัสบดีของไทย ที่เมืองโคดิแอค ที่เป็นเกาะนอกชายฝั่งอลาสก้ามีประชากรราว 6,000 คน เสียงไซเรนเตือนภัยคลื่นยักษ์ดังขึ้น สถานีวิทยุท้องถิ่นช่องเคเอ็มเอ็กซ์ที กล่าวว่า หากเกิดสึนามิ คลื่นจะเดินทางถึงเมืองนี้ในเวลา 23.55 น.ตามเวลาท้องถิ่น มีวิดีโอที่นักข่าวและชาวเมืองโพสต์ทางโซเชียลมีเดีย เผยให้เห็นประชาชนขับรถออกห่างจากชายฝั่งโดยมีเสียงไซเรนเตือนภัยดัง

เกาะฮาวายก็ออกคำเตือนเฝ้าระวังคลื่นยักษ์เช่นกัน โดยประชาชนถูกขอให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง

ยูเอสจีเอสกล่าวด้วยว่า เกิดอาฟเตอร์ช็อก 5 ครั้งภายใน 90 นาทีนับแต่แผ่นดินไหว ครั้งรุนแรงสุดวัดแรงสั่นสะเทือนได้ขนาด 6.2 เวลา 3 ชั่วโมงหลังคำเตือน ศูนย์เตือนภัยสึนามิแห่งชาติประกาศยกเลิกคำเตือนภัยคลื่นยักษ์ทั้งหมดบริเวณชายฝั่งตอนใต้ของอลาสก้าและคาบสมุทรอลาสก้า โดยตรวจพบสึนามิขนาดเล็กซัดเข้าชายฝั่งอลาสก้า อย่างน้อย 6 จุด คลื่นสูงสุดวัดระดับความสูงได้ 21 เซนติเมตรเหนือความสูงคลื่นปกติ

อลาสก้าซึ่งตั้งอยู่บนวงแหวนอัคคี เคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 9.2 เมื่อเดือนมีนาคม 2507 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกของภูมิภาคอเมริกาเหนือ ครั้งนั้นเกิดคลื่นยักษ์รอบชายฝั่งอ่าวอลาสก้าชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ และฮาวาย มีรายงานคนเสียชีวิตมากกว่า 250 คนทั้งจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์

เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ที่ก่อสึนามิซัดชายฝั่งตอนใต้ของอลาสก้า แต่ไม่มีรายงานความสูญเสียต่อชีวิต


'กรุงวอชิงตัน' ออกคำสั่งให้สวมแมสอีกครั้ง หลังยอดโควิดพุ่ง

30 ก.ค. 64 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นางมูเรียล บาวเซอร์ นายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตัน ดีซี ออกคำสั่งให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ภายในอาคารอีกครั้ง แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ประชาชนในกรุงวอชิงตัน ดีซี ที่มีอายุเกิน 2 ปี จะต้องสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะเมื่ออยู่ภายในอาคารอีกครั้ง โดยไม่คำนึงถึงสถานะการฉีดวัคซีน และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเวลา 05:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันเสาร์

นางบาวเซอร์ แถลงต่อสื่อมวลชนว่า “หลายสิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงระหว่างการแพร่ระบาด และเราต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน”

“ฉันคิดว่าคงไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคนจำนวนมาก” เธอกล่าวเสริม พร้อมระบุว่าประชาชนบางรายในเมืองไม่เคยเลิกสวมหน้ากากอนามัยภายในอาคาร โดยกรุงวอชิงตัน ดีซี ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีกฎบังคับสวมหน้ากากอนามัยที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งสร้างข้อกำหนดสำหรับการฉีดวัคซีนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ขณะเดียวกัน ลาควนดร้า เนสบิตต์ ผู้อำนวยการกระทรวงสาธารณสุขประจำวอชิงตันเปิดเผยว่า พบอัตราผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น 5 เท่าในเดือน ก.ค.

รายงานระบุว่า อัตราผู้ติดเชื้อดังกล่าวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี และในกลุ่มผู้ใหญ่วัย 20-34 ปี พร้อมเสริมว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากมีความเชื่อมโยงกับการเดินทาง การรับประทานอาหารนอกบ้าน และกิจกรรมทางสังคมเป็นกลุ่ม

ทั้งนี้ คำสั่งบังคับสวมหน้ากากอนามัยมีขึ้นหนึ่งวัน หลังจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) จัดให้กรุงวอชิงตันอยู่ในกลุ่มพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ “สำคัญ” เพิ่มขึ้นจากหมวดหมู่ “ปานกลาง”


วัคซีนโควิด‘ชนิดสูดดม’ ของจีน มีผล ‘ปลอดภัย’ การทดลองในมนุษย์ระยะแรก

30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564: สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดสูดดมหรือฉีดพ่นทางจมูก แบบใช้อะดิโนไวรัสเป็นตัวนำพา (Adenovirus vector) ที่ผลิตในจีน แสดงผลปลอดภัยในการทดลองทางคลินิก ระยะที่ 1

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบใช้อะดิโนไวรัส ไทป์ 5 เป็นตัวนำพา หรือแอดไฟว์ เอ็นโควี (Ad5-nCoV) ร่วมพัฒนาโดยสถาบันการแพทย์ทหาร โรงพยาบาลจงหนานแห่งมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น และสถาบันอื่นๆ ของจีน

การทดลองในสัตว์ก่อนหน้านี้ชี้ว่าวัคซีนแอดไฟว์ เอ็นโควี โดสเดียว สามารถป้องกันการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่กลายพันธุ์ในทางเดินหายใจส่วนบน โดยภูมิคุ้มกันเยื่อเมือกมีส่วนช่วยกระตุ้นเยื่อเมือกและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อไวรัสฯ บุกโจมตีผิวเยื่อเมือกได้

รายงานที่เผยแพร่ในวารสารเดอะ แลนเซต อินเฟกเชียส ดีซีสเซส (The Lancet Infectious Diseases) ทางออนไลน์เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน ระบุว่ามีอาสาสมัคร 130 คน เข้าร่วมการทดลองโดยสุ่มแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อรับวัคซีนด้วยวิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ วิธีสูดดม หรือทั้งสองวิธี

กลุ่มผู้เข้าร่วมทดลองด้วยวิธีสูดดม จำนวน 2 กลุ่ม ได้รับวัคซีนแอดไฟว์ เอ็นโควี ในปริมาณสูงหรือต่ำในนวันแรก ตามด้วยวัคซีนโดสกระตุ้นชนิดเดิมในวันที่ 28 ของการทดลอง ขณะกลุ่มที่รับวัคซีนแบบผสมได้รับวัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อในวันแรก ตามด้วยวัคซีนโดสกระตุ้นชนิดสูดดมในวันที่ 28 ของการทดลอง ส่วนกลุ่มที่รับวัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้ออย่างเดียวได้รับวัคซีนแอดไฟว์ เอ็นโควี จำนวน 1 หรือ 2 โดสในวันแรก

ผลการทดลองพบว่าวัคซีนชนิดสูดดมนั้นมีความทนทานดี ใช้ปริมาณเพียง 1 ใน 5 ของวัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองที่แข็งแกร่ง ด้านวัคซีนโดสกระตุ้นชนิดสูดดมในวันที่ 28 ของการทดลอง หลังรับวัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อเป็นโดสแรก สามารถกระตุ้นการตอบสนองของแอนติบอดีได้อย่างแข็งแกร่ง

โฮ่วลี่หัว นักวิจัยจากสถาบันฯ กล่าวว่าแอดไฟว์ เอ็นโควี เป็นวัคซีนแบบไม่ต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จึงไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงใดๆ อาทิ ปวดแขนและบวม ซึ่งอาจช่วยให้ประชาชนเต็มใจเข้ารับวัคซีนกันมากขึ้น

ขณะเดียวกันปริมาณยาที่ใช้ในวัคซีนชนิดสูดดมอยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งเทียบเท่ากับว่าช่วยเพิ่มการผลิตวัคซีนและะแก้ปัญหาขยะทางการแพทย์ อาทิ เข็มฉีดวัคซีน

ปัจจุบันวัคซีนแอดไฟว์ เอ็นโควี กำลังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิก ระยะที่ 2

ผู้นำตาลิบัน โผล่จีนพบรัฐมนตรีต่างประเทศ ขณะสหรัฐฯ ถอนทหารพ้นอัฟกานิสถาน

30 ก.ค. 64 : นายมุลลาห์ อับดุล กานี บาราดาร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธตาลิบัน ซึ่งเป็นผู้นำด้านการเมืองของกลุ่ม เดินทางเข้าพบนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่เมืองเทียนจิน เมื่อวันพุธ (28 ก.ค.)

การพบปะดังกล่าวส่งสัญญาณได้ว่ากลุ่มตาลิบัน ที่เป็นกลุ่มการเมืองและกลุ่มติดอาวุธในอัฟกานิสถาน กำลังมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนที่แน่นแฟ้นขึ้น และเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ซึ่งมีกำหนดถอนทหารโดยสมบูรณ์ในวันที่ 31 ส.ค. นี้

กระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า นายหวัง อี้ มองกลุ่มตาลิบันว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองและการทหารของอัฟกานิสถาน ทั้งยังหวังว่ากลุ่มตาลิบันจะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติภาพ ปรองดอง และฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำจากสงคราม

กลุ่มตาลิบัน ที่ครั้งหนึ่งถูกสหรัฐฯ ปราบปรามอย่างหนัก กำลังขยายอิทธิพลอย่างมากในอัฟกานิสถาน และขณะนี้กำลังควบคุมพื้นที่หลายส่วนของประเทศ ขณะเดียวกันก็ยึดพื้นที่ของกองทัพอัฟกานิสถานได้อย่างรวดเร็ว จนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจเข้าควบคุมกรุงคาบูลได้ในไม่ช้า

ที่ผ่านมา จีนลงทุนอย่างหนักในภูมิภาคเอเชียกลางเพื่อให้โครงการแถบและเส้นทาง (เบลต์แอนด์โรด) ประสบความสำเร็จ ทั้งยังเคยพูดว่าอาจขยายระเบียงความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างจีนและปากีสถานเข้าไปยังอัฟกานิสถานด้วย

นายหวัง อี้ กล่าวถึงการที่สหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานว่า เป็นความล้มเหลวของสหรัฐฯ ด้านนโยบายต่างประเทศต่ออัฟกานิสถาน แต่ก็เป็นโอกาสดีที่จะทำให้อัฟกานิสถานมีเสถียรภาพและพัฒนา

“จีนเคารพอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของอัฟกานิสถาน และจะช่วยเหลือกิจการภายในของอัฟกานิสถานโดยไม่เข้าไปแทรกแซงเสมอ” นายหวัง อี้ กล่าว

ถึงอย่างนั้น นายหวัง อี้ ก็กล่าวในเชิงเตือนกลุ่มตาลิบันว่าควรตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามเตอร์กิสสถานตะวันออก ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวในเขตปกครองตนเองซินเจียง ทางตะวันตกของจีน