ข่าว
ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันอาจต้องกลับประเทศ หากไม่ผ่านคัดกรองจากสหรัฐฯ

วันที่ 19 พ.ย. 2564 : สหรัฐฯ พิจารณาส่งผู้ลี้ภัยบางส่วนกลับอัฟกานิสถานหากไม่ผ่านการตรวจสอบคัดกรองที่เข้มงวด

CNN รายงานว่าความโกลาหลในอัฟกานิสถานเมื่อเดือนส.ค. หลังจากที่กลุ่มตอลิบานเข้ายึดครองประเทศได้สำเร็จ ส่งผลให้มีชาวอัฟกานิสถานหลายหมื่นคนอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศ โดยราว 70,000 คนเดินทางสู่สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาที่จะส่งผู้ลี้ภัยบางส่วนกลับอัฟกานิสถาน หากไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและคัดกรองด้านความมั่นคงเพื่อย้ายเข้าสหรัฐฯ แม้ว่าการส่งกลับประเทศจะเป็นทางเลือกเดียว แต่มันติดอยู่กับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศบ้านเกิด

โดยขณะนี้มีผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยที่ถูกส่งตัวไปยังฐานทัพบอนด์สตีลในโคโซโวเพื่อรับการตรวจสอบเพิ่มเติม ท่ามกลางความหวาดกลัวของบรรดาผู้ลี้ภัย ซึ่งหลายคนไม่ทราบว่าทำไมเขาจึงถูกส่งตัวไปที่นั่น ต้องอยู่ที่นั่นนานแค่ไหน และยังกังวลว่าพวกเขาจะถูกตราหน้าว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

แหล่งข่าวระบุว่ามีผู้ลี้ภัยราว 200 คนที่ถูกส่งตัวมายังฐานทัพแห่งนี้ ซึ่งสหรัฐฯ ตกลงกับรัฐบาลโคโซโวว่าจะให้พวกเขาอยู่ที่นั่นไม่เกิน 1 ปี อย่างไรก็ตามผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งที่ถูกส่งตัวมาได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบคัดกรองและถูกส่งต่อไปยังสหรัฐฯ แล้ว และจนถึงสัปดาห์ที่แล้วยังไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดที่ถูกพิจารณาว่าไม่ผ่าน

แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะดำเนินการอย่างไรหากมีผู้ลี้ภัยที่ไม่ผ่านการคัดกรองสำหรับการลี้ภัยไปยังสหรัฐฯ ขณะที่เจ้าหน้าที่และนักการเมืองสหรัฐฯ บางส่วนกังวลว่าพวกเขาจะถูกลอยแพ

เอมิลี ฮอร์น โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า “ชาวอัฟกันทุกคนที่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสหรัฐฯ ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและคัดกรองด้านความมั่นคงก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสหรัฐฯ บางคนอาจถูกประทับตราจากหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้าย สำนักข่าวกรอง หรือเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ สำหรับการตรวจสอบคัดกรองเพิ่มเติม นั่นหมายความว่าระบบของเรากำลังทำงาน”

Photo by KARIM JAAFAR / AFP

'นิคเคอิ' ปรับขึ้น นักลงทุนตอบรับข่าวรัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มงบพยุงเศรษฐกิจ

'นิคเคอิ' เคลื่อนไหวในแดนบวกนักลงทุนตอบรับข่าวนายกฯ ญี่ปุ่นทุ่มเงินมหาศาลฟื้นฟูประเทศ ส่วน 'ฮั่งเส็ง' ดิ่งแรงติดต่อกัน นักลงทุนเทขายหุ้นเทคโนโลยี บ.อาลีบาบา รายได้ต่ำกว่าคาด

วันที่ 19 พ.ย. 64 ดัชนีนิคเคอิปรับตัวขึ้น 0.5 เมื่อเวลา 13.30 น. หลังจากที่นักลงทุนตอบรับประกาศทุ่มงบประมาณฟื้นฟูประเทศ โดยนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศอัดฉีดงบประมาณ 490,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 15.9 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงจะแจกคูปองเงินสดให้แก่ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่า งบประมาณดังกล่าวจะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวหลังจากนี้

ส่วนดัชนีฮั่งเส็ง ดิ่งลง 1.36 เปอร์เซ็นต์ ปรับตัวลดลงติดต่อกัน 3 วัน สวนทางหุ้นเอเชียแปซิฟิก หลังจากที่มีการเทขายหุ้นเทคโนโลยีไปก่อนหน้านี้ ปัจจัยลบสำคัญคือหุ้นบริษัทอาลีบาบา ที่ปรับลดลงกว่า 9 เปอร์เซ็นต์ หลังรายได้ในเดือนกันยายนต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ โดยรายได้ในเดือนกันยายนอยู่ที่ 200.69 พันล้านหยวน น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 204.93 พันล้านหยวน แต่ยังนับว่าขยายตัว 29 เปอร์เซ็นต์ปีต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่ชะลอตัว

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในวันนี้ (19 พ.ย.) คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้ความเห็นชอบแพ็คเกจการใช้จ่ายเงินมูลค่า 55.7 ล้านล้านเยน หรือ ประมาณ 490,000 ล้านดอลลาร์เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทางของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ที่เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระจายความมั่งคั่งไปสู่ครัวเรือน

สำหรับแพ็คเกจนี้ เป็นการใช้จ่ายตั้งแต่การแจกเงินสดให้กับครัวเรือน อุดหนุนบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเงินสำรองที่เตรียมไว้สำหรับการใช้จ่ายฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการระบาดครั้งใหม่ จำนวนเงินของแพ็ตเกจสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ถึง 30-40 ล้านล้านเยน และเงินส่วนใหญ่ได้มาจากงบประมาณพิเศษ 32 ล้านล้านเยน ที่รวบรวมมาในปีนี้ ส่วนที่เหลือจะนำมาจากงบประมาณประจำปีของปีหน้า

ทั้งนี้ บรรดาผู้วางนโยบายคาดหวังว่า การใช้จ่ายรอบใหม่นี้ จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ในไตรมาสที่ 3 แพ็คเกจขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น 3 รอบที่ใช้รับมือกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้ญี่ปุ่นมีหนี้ระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 2 เท่าของเศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาด 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บริติชโคลัมเบียโกลาหล คนตื่นน้ำท่วมแห่กักตุนของจนเกลี้ยงชั้นวาง

ซุปเปอร์มาร์เก็ตในบริติชโคลัมเบียโกลาหล หลังคนตื่นตระหนกหวั่นภัยน้ำท่วม แห่ไปซื้อของกักตุนของงจนเกลี้ยงชั้นวาง

สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในมณฑลบริติช โคลัมเบียของแคนาดา ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกของงประชาชน โดยล่าสุดในโลกโซเชียลมีเดียต่างพากันแชร์ภาพของชั้นวางสินค้าในแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต ในห้างหลายแห่งที่ถูกกวาดซื้อสินค้าไปจนเกลี้ยงชั้น ไม่เว้นแม้แต่ตู้แช่อาหารที่ว่างเปล่าเกือบทุกตู้ จนแทบจะซ้ำรอย กับช่วงที่เกิดความตื่นตระหนกจากการระบาดของโควิด-19 ที่ประชาชนแห่มากักตุนสินค้าด้วยเช่นกัน

ซึ่งถึงแม้ว่าระดับน้ำจะเริ่มลดลงแล้ว แต่คาดว่าบางพื้นที่ของมณฑลบริติช โคลัมเบียอาจจะเผชิญกับการรขาดแคลนผลิตภัณฑ์นมชั่วคราว เนื่องจากนมยังติดค้างอยู่หลายวันไม่สามารถขนส่งได้ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องจำใจทิ้งนมนับล้านลิตร และยังไม่สามารถจะขนส่งผลิตภัณฑ์นมจากพื้นที่อื่นๆ มาเติมได้ทัน ขณะที่ทางการยืนยันว่าประชาชนจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและขอให้อยู่ในความสงบ

ด้านห้างค้าปลีก เซฟ-ออน-ฟู้ดส์ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ทางตะวันตกของแคนาดา ได้ทวีตข้อความวอนขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกกักตุนสินค้า โดยระบุว่าแม้จะเข้าใจว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดและเป็นความท้าทายของหลายชุมชนที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ แต่อยากขอร้องให้ประชาชนซื้อสินค้าเฉพาะเท่าที่จำเป็นต้องใช้งานในครอบครัวก็พอ

ทั้งนี้ รัฐบริติช โคลัมเบียของแคนาดา ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา หลังจากเผชิญกับปริมาณฝนตกที่มากกว่าปริมาณฝนรวมกันทั้งเดือน ภายในเวลาเพียง 2 วัน ทำให้ถนนและเส้นทางรถไฟหลายสายถูกตัดขาด ส่งผลให้เมืองแวนคูเวอร์และภูมิภาคทางใต้ ถูกตัดขาดจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดคือเมืองแอบบอทสฟอร์ดใน เฟรเซอร์ วัลเลย์ ทางตะวันออกของแวนคูเวอร์ ซึ่งฟาร์มเลี้ยงโคนม 63 แห่งถูกสั่งให้อพยพ โดยพื้นที่นี้ นับเป็นแหล่งผลิตนมวัว ไข่ไก่ และสัตว์ปีก นับเป็นครึ่งหนึ่งของการบริโภคทั้งหมดในบริติช โคลัมเบีย โดยนายกเทศมนตรีแอบบอทสฟอร์ดประเมินว่า เฉพาะมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองนี้น่าจะสูงถึง 793 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 25,800 ล้านบาทเลยทีเดียว

ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย


นิวเดลีเตรียมจำกัดการใช้รถส่วนตัว เร่งคุมมลพิษให้อยู่

มลพิษทางอากาศในกรุงนิวเดลียังวิกฤติ ทำให้ทางการเตรียมพิจารณามาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป

กรุงนิวเดลียังเผชิญกับวิกฤติมลพิษทางอากาศต่อเนื่อง โดยหากสัปดาห์หน้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น นายโกปาล ไร รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้และสัตว์ป่าของกรุงนิวเดลีเตรียมจะใช้มาตรการด้านอื่นๆ เพิ่มเติม รวมถึงการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัวด้วย โดยอาจจะอนุญาตให้นำรถส่วนตัววิ่งได้เฉพาะวันเวลาที่กำหนด ขึ้นอยู่กับเลขท้ายของป้ายทะเบียนรถเป็นหลัก นอกจากนี้ยังพิจารณาไปถึงมาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างการล็อกดาวน์ทั้งเมือง แต่มาตรการดังกล่าวอาจไม่เป็นผลหากไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐที่อยู่ใกล้เคียงด้วย

โดยก่อนหน้านี้ ทางการกรุงนิวเดลีที่มีประชากรอาศัยอยู่ราว 20 ล้านคน เพิ่งใช้มาตรการปิดโรงเรียน สั่งห้ามการก่อสร้าง ห้ามการเผาขยะ สั่งปิดสถานีผลิตกระแสไฟฟ้า 5 แห่ง และอนุญาตให้ประชาชนสามารถทำงานจากบ้านได้ เพื่อหวังจะช่วยลดปริมาณฝุ่นควันในอากาศลง นอกจากนี้ยังมีการใช้รถน้ำฉีดพ่นตามเส้นทางงต่างๆ เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นลงด้วย แต่ดูเหมือนจะยังไม่เป็นผลมากนัก

ทั้งนี้ มีรายงานว่ามีเด็กจำนวนมากที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จากการหายใจติดขัดและโรคระบบทางเดินหายใจจากการสูดดมควันพิษปริมาณสูงในเมือง ขณะที่ผลการศึกษาจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระบุว่ามีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นภายในกรุงนิวเดลี ส่วนมลพิษที่เหลือเป็นมลพิษที่มาจากพื้นที่ข้างเคียงซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดเล็กและขนาดใหญ่นับหมื่นแห่ง

ดังนั้นการจะทำให้มลพิษทางอากาศในกรุงนิวเดลีดีขึ้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากเพื่อนบ้านในการควบคุมมลพิษของตัวเองไปพร้อมๆ กัน โดยรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของนิวเดลี ได้เรียกร้องขอให้รัฐบาลกลาง จัดการประชุมหารือร่วมกันระหว่างกรุงนิวเดลีและรัฐเพื่อนบ้านอื่นๆ อย่างปัญจาบ หรยาณา และอุตตรประเทศเพื่อวางแผนร่วมกันในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในครั้งนี้โดยเร็ว

ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย


โควิด-19 ระบาดหนักในยุโรปอีกระลอก ออสเตรีย สั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ เยอรมนี เล็งเดินตามรอย

รอยเตอร์รายงานว่า ทางการออสเตรียประกาศให้กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบทั่วประเทศอีกครั้ง หลังจากกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในยุโรปตะวันตกเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากร ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างเยอรมนี ที่เพิ่งสั่งใช้มาตรการเข้มงวดในพื้นที่ซึ่งมีการฉีดวัคซีนต่ำ

นายเยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีสาธารณสุข ยอมรับว่าเป็นไปได้ที่จะประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งเช่นกัน

รายงานข่าวระบุว่า แม้ประชากรของออสเตรียจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้วถึง 2 ใน 3 แต่ก็ยังจัดอยู่ในอัตราต่ำสุดเมื่อเทียบกับชาติในยุโรปด้วยกัน ในขณะที่อัตราการติดเชื้อของออสเตรียกลับสูงที่สุดในนยุโรปเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากร โดยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 991 คนในทุกๆ 100,000 คน เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรี อเล็กซานเดอร์ ชัลเลนเบิร์ก ต้องออกประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ และมีคำสั่งบังคับฉีดวัคซีนประชาชนให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

รอยเตอร์ชี้ว่า ทั่วยุโรปพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้รัฐบาลของหลายประเทศต้องหันมาบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดอีกครั้ง ตั้งแต่การล็อกดาวน์ทั้งประเทศในออสเตรีย, การล็อกดาวน์บางพื้นที่ในเนเธอร์แลนด์, การบังคับใช้มาตรการในพื้นที่ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำในเยอรมนี, สาธารณรัฐเชค และสโลวาเกีย ในขณะที่ ฮังการี เพิ่งรายงานพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 11,289 ราย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนเดียวกันนี้

รอยเตอร์ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในยุโรปในขณะนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงให้ซบเซามากขึ้นแล้ว ยังคุกคามต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอีกด้วย


เยี่ยมชม LAX-C

เมื่อวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564 กงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส คนใหม่ ต่อ ศรลัมพ์ พร้อมด้วย กงสุลฝ่ายพิธีการทูต อิทธิกรณ์ ไตรทศาวิทย์ แวะไปเยี่ยมชม LAX-C ตลาดไทยในไชน่าทาวน์ พร้อมทั้งเยี่ยมชมกิจการที่มีทั้งตลาดขายสินค้าครบวงจร ร้านกาแฟ Chimney Coffee House และสำนักงานทนายความ ที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน กสญ.และคณะได้ข้อมูลมากมายจากนักธุรกิจไทยระดับแนวหน้าของเมืองนางฟ้า

กงสุลใหญ่นครลอสแอนเจลิส คนใหม่

กงสุลใหญ่นครลอสแอนเจลิส คนใหม่ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและผู้แทนชุมชนไทยในนครลอสแอนเจลิส เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นายต่อ ศรลัมพ์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและผู้แทนชุมชนไทยในนครลอสแอนเจลิส เกี่ยวกับนโยบายในการทำงาน (Mission Statement) ของสถานกงสุลใหญ่ฯเพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทของกระทรวงการต่างประเทศ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้พบปะพูดคุยกับกงสุลใหญ่ฯ