ข่าว
ฮีโร่นักดำน้ำช่วยชีวิต13หมูป่าอะคาเดมี ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าการรัฐเซาท์ออสเตรเลีย

วันที่ 25 มกราคม 2567 สำนักข่าว ABC ของออสเตรเลีย เสนอข่าว Thai cave rescue hero Dr Richard Harris appointed South Australia's Lieutenant Governor ระบุว่า ริชาร์ด แฮร์ริส (Richard Harris) แพทย์และนักดำน้ำชาวออสเตรเลีย หนึ่งในทีมประดาน้ำที่เข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยครั้งประวัติศาสตร์ของโลก ในเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี รวม 13 ชีวิต ที่เข้าไปติดอยู่ในอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประเทศไทย เมื่อปี 2561 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าการรัฐเซาท์ออสเตรเลีย

แฮร์ริส ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รางวัลชาวออสเตรเลียแห่งปี (Australian of the Year) ประจำปี 2562 อันเป็นรางวับทรงเกียรติที่มอบให้พลเมืองออสเตรเลียที่ประกอบคุณงามความดีมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จะเข้ารับตำแหน่งต่อจาก เจมส์ มูเค (James Muecke) ที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการรัฐเซาท์ออสเตรเลียมาตั้งแต่ปี 2565 โดยในปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี แฮร์ริส เป็นผู้ประเมินสภาพร่างกายผู้ประสบภัยที่เป็นเด็กจำนวน 12 คน และแนะนำวิธีที่ดีที่สุดในการนำทั้งหมดออกมาจากถ้ำ รวมถึงเป็นคนสุดท้ายที่ออกจากถ้ำหลังปฏิบัติการลุล่วง

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างแท้จริงที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ และขอบคุณ มูเค สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะที่เป็นชาวออสเตรเลียใต้ที่มีความภาคภูมิใจ ผมรอคอยที่จะได้เป็นตัวแทนของรัฐที่ยิ่งใหญ่ของเราในบทบาทที่สำคัญนี้” แฮรริส กล่าว

‘ซาอุฯ’จ่ออนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกครั้ง หลังห้ามมานานกว่า70ปี

26 ม.ค. 2567 สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ เสนอข่าว Saudi Arabia to get first alcohol shop in more than 70 years ระบุว่า ประเทศซาอุดิอาระเบีย อาจกลับมาอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อีกครั้งในรอบกว่า 7 ทศวรรษ หลังสั่งห้ามไปเมื่อปี 2495 เนื่องจากโอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์อับดุลอาซิซ (King Abdulaziz) ซึ่งอยู่ในอาการเมาสุรา ก่อเหตุยิงนักการทูตอังกฤษเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะเปิดใหม่นี้จะตั้งอยู่ใน “ย่านการทูต (Diplomatic Quarter)” ของกรุงริยาด ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตะวันตกของใจกลางเมือง และจะขายให้เฉพาะชาวต่างชาติที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น และขายให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ทางการทูต ไม่รวมถึงชาวต่างชาติทั่วๆ ไปที่เดินทางเข้าไปในซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทูตจากต่างประเทศจะนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาโดยห่อหุ้มในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท เรียกว่า “ถุงทางการทูต (Diplomatic Pouches)” โดยระเบียบใหม่ที่ออกมา จะมีข้อปฏิบัติดังนี้

1.เจ้าหน้าที่ทูตที่ต้องการดื่มจะต้องลงทะเบียนล่วงหน้าและได้รับอนุมัติจากรัฐบาล 2.ไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปีเข้าไปในร้าน และต้องแต่งกายให้เหมาะสมตลอดเวลาที่อยู่ในร้าน 3.การซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่อนุญาตให้ใช้หรือไหว้วานผู้อื่น (เช่น คนขับรถ) มาซื้อแทนได้ และ 4.มีข้อจำกัดในการซื้อในแต่ละเดือน กล่าวคือ จะถูกจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ที่ 240 คะแนนต่อเดือน สุราหนึ่งลิตรมีค่าหกแต้ม ไวน์หนึ่งลิตรสามแต้ม และเบียร์หนึ่งลิตรหนึ่งแต้ม แต่แนวปฏิบัติเรื่องข้อจำกัดนี้จะไม่เข้มงวดมากนัก

ทางการซาอุดิอาระเบีย ยังกำลังวางกรอบการกำกับดูแลใหม่ ที่จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทางการทูตนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเฉพาะ เพื่อยุติการแลกเปลี่ยนสินค้าดังกล่าวโดยไม่มีการควบคุม ทั้งนี้ เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่เจ้าหน้าที่การทูตต้องใช้กระเป๋า ซึ่งเจ้าหน้าที่ในประเทศเจ้าบ้านไม่สามารถดัดแปลงได้ เพื่อนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณจำกัด

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ภายใต้กฎหมายซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน บทลงโทษสำหรับการบริโภคหรือครอบครองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจรวมถึงค่าปรับ จำคุก เฆี่ยนในที่สาธารณะ และเนรเทศชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับอนุญาต แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นโครงการริเริ่มล่าสุดที่เรียกว่า "วิสัยทัศน์ 2030" เพื่อเปิดเสรีสังคมซาอุดีอาระเบียภายใต้มกุฎราชกุมารและผู้ปกครองโดยพฤตินัยของประเทศ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) ซึ่งประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอ่าว ก็มีแนวปฏิบัติคล้ายกัน

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และกาตาร์ อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป เฉพาะในโรงแรม คลับ และบาร์ ซึ่งตามข้อมูลล่าสุด ซาอุดิอาระเบียยังไม่มีแนวคิดที่ทำเช่นนั้น


'พีระพันธุ์'ลั่นคดีรวบ'เจ๋ง ดอกจิก'ไม่เกี่ยวกับพรรค พร้อม'เฉดหัว'ถ้าพบผิดจริง

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 26 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตำรวจนอกเครื่องแบบรวบตัว นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋งดอกจิก สมาชิกพรรค รทสช. ภายในทำเนียบรัฐบาล กรณีมีการกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการข่มขู่เรียกเงินอธิบดีกรมการข้าว 3 ล้านบาท ว่า นายยศวริศ เป็นสมาชิกพรรค รทสช. ต้องไปดูก่อนหากเขามีความผิดต้องให้เขาออก เราไม่เอาอยู่แล้วถ้ามีพฤติการณ์ลักษณะที่ทำให้เสื่อมเสีย เรามีสิทธิ์ให้เขาออก หรือเขาอาจจะมาลาออกก็ได้เป็นสิทธิ์ของเขา และต้องดูผลการตรวจสอบของตำรวจเป็นอย่างไร ถ้าดูแล้วไม่เหมาะสมก็คงต้องให้ออก

"แต่อะไรก็แล้วแต่ไม่เกี่ยวกับผม ไม่เกี่ยวกับพรรค และเขาไม่ได้เป็นคณะทำงานเขตตรวจราชการที่ 11 แล้ว ผมปรับเปลี่ยนไปตั้งแต่เดือนธ.ค.66 แล้ว แต่วันเดียวกันนี้มีการประชุมมอบนโยบายเขตตรวจราชการที่ 4 ,9 และ 11 ที่ทำเนียบฯ เขารู้ก็แวะเวียนมา"นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เขาไปทำอะไร และทำจริงแค่ไหนเราไม่ทราบ เขาไปเกี่ยวกับนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ตนไม่รู้เลย ก็ต้องให้เขาไปว่ากันเอง แต่ตนไม่รู้เรื่อง ไปลงข่าวว่าตนประสานตำรวจเข้ามาจับกุมนายยศวริศ ที่ทำเนียบฯ ตนไม่รู้เรื่องเอาข่าวที่ไหนมา ตนไม่รู้จักตำรวจ ให้ไปถามตำรวจว่าใครติดต่อมา

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรรมการบริหารพรรคจะมีการพูดคุยกันเรื่องนี้หรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ถ้ามีคนเสนอเรื่องในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค และข้อมูลข้อเท็จจริงเข้าลักษณะที่เป็นไปตามข้อบังคับพรรคก็คงต้องให้ออก ก็อาจต้องให้เขามาชี้แจงในที่ประชุม ทั้งนี้เราให้ความเป็นธรรมกับทุกคน เรายังไม่รู้ข้อเท็จจริงเลยว่าเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า ส่วนตัวได้คุยกับ นายยศวริศหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ได้คุย เขามาหรือใครมาตนก็มีห้องให้นั่งต่างหาก ตนก็เพิ่งรู้เรื่องดังกล่าว


สภา‘รัสเซีย’ผ่านร่างกฎหมาย ให้ยึดทรัพย์ผู้วิพากษ์วิจารณ์กองทัพ

วันที่ 25 มกราคม 2567 นสพ.The Moscow Times ของรัสเซีย เสนอข่าว Russia's State Duma Moves to Seize Property of Army Critics ระบุว่า รัฐสภาของรัสเซีย ผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้การวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ มีความผิดถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ โดยร่างกฎหมายถูกเสนอเข้าสู่สภาในวันที่ 22 ม.ค. 2567 และผ่านการลงมติด้วยจำนวนเสียงเห็นชอบ 395 ต่อ 3 ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา

สำหรับพฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิด ประกอบด้วย การเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ การทำให้กองทัพเสื่อมเสียชื่อเสียง รวมไปถึงการยุยงปลุกปั่นและเรียกร้องให้คว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่ง วยาเชสลาฟ โวโลดิน (Vyacheslav Volodin) โฆษกรัฐสภารัสเซีย กล่าวกับสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติว่า คะแนนเสียงของพวกเขาอาจส่งผลกระทบต่อโอกาสในการได้รับการเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นเพียงวาระแรกของสภาล่าง ยังเหลืออีก 2 วาระ จากนั้นก็จะต้องส่งต่อไปให้สภาสูงพิจารณา และขั้นตอนสุดท้ายคือการลงนามโดยประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) จึงจะออกมามีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ คาดว่าการพิจารณาวาระ 2 จะมีขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า อนึ่ง นับตั้งแต่รัสเซียยกทัพบุกยูเครนในเดือน ก.พ. 2565 ได้มีการออกกฎหมายห้ามวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ โดยผู้ฝ่าฝืนอาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่ส่งผลกระทบต่อกองทัพ ซึ่งที่ผ่านมา ข้อหานี้ถูกใช้เพื่อจัดการกับผู้เห็นต่าง

ศาลญี่ปุ่นตัดสินประหารชีวิต คนร้ายวางเพลิงสตูดิโอแอนิเมชั่นดับ 36 ศพ

25 ม.ค.67 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศาลแขวงเกียวโต มีคำพิพากษาให้นายชินจิ อาโอบะ วัย 45 ปี รับโทษประหารชีวิต เนื่องจากจำเลยมีความผิดจริงตามคำฟ้องของอัยการ ในข้อหาฆาตกรรมและวางเพลิง สตูดิโอของบริษัทเกียวโต แอนิเมชั่น จำกัด ในเมืองเกียวโต เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2562 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 36 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 33 คน ถือเป็นหนึ่งในเหตุเพลิงไหม้ครั้งร้ายแรงที่สุด ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของญี่ปุ่น

ผู้พิพากษาชี้ให้เห็นว่านายอาโอบะลังเลที่จะก่อเหตุก่อนที่มันจะเกิดขึ้น และยังแสดงท่าทีราวกับว่าเขากำลังหลบสายตาผู้คน เขากล่าวว่าอาโอบะก่ออาชญากรรมจากความประสงค์ของเขาเอง ด้วยความแค้นใจต่อเกียวโตแอนิเมชัน มาสุดะกล่าวว่า เป็นเรื่องร้ายแรงและน่าเศร้าเกินไปที่มีผู้เสียชีวิต 36 ศพ และความหวาดกลัวและความเจ็บปวดของเหยื่อเกินกว่าจะบรรยายได้

แม้ทนายความของฝ่ายจำเลยพยายามแก้ต่าง ว่าอาโอบะ ไม่อยู่ในสถานะที่สามารถแยกแยะความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้ ในระหว่างก่อเหตุ เนื่องจากเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิต อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษากล่าวว่า อาโอบะ ไม่ได้อยู่ในภาวะเสียสติ หรือมีสมรรถภาพของจิตใจในระดับต่ำระหว่างการลงมือ ที่เป็นการใช้น้ำมันเบนซินมากถึง 40 ลิตร สาดเข้าไปภายในอาคาร แล้วจุดไฟเผาบริเวณประตู ส่งผลให้ผู้ที่ติดอยู่ภายในส่วนใหญ่ ไม่สามารถหลบหนีออกมาได้ทันเวลา

เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี 2544 เมื่อเกิดเพลิงไหม้ในย่านบันเทิงคาบูกิโจของกรุงโตเกียว คร่าชีวิตผู้คนไป 44 ราย และนี่เป็นเหตุวางเพลิงที่เลวร้ายที่สุดของประเทศในยุคปัจจุบัน