ข่าว
'ไนจีเรีย'สุดเถื่อน โจรบุกลักพาตัว'นักเรียน'หลายร้อยคนจากวิทยาลัย

18 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน เกิดเหตุแก๊งโจรบุกลักพาตัวนักเรียนชายหลายร้อยคนที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์ รัฐบาล ในเมืองคาการา รัฐไนเจอร์ ประเทศไนจีเรีย เมื่อคืนวันอังคารที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา มีหนึ่งในเด็กที่ถูกลักพาตัวพยายามหลบหนี ทำให้ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต 1 ราย

แก๊งโจรซึ่งแต่งกายในชุดทหาร ได้บุกเข้าไปลักพาตัวนักเรียนชายที่หอพักในวิทยาลัยแห่งนี้ ก่อนจะบังคับให้เด็กชายเดินเข้าไปในป่าใกล้วิทยาลัย ซึ่งเบื้องต้น ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีเด็กนักเรียนถูกลักพาตัวไปจำนวนกี่คน ด้านกองทัพอากาศได้ดำเนินการส่งเฮลิคอปเตอร์บินค้นหากลุ่มมือปืนที่ลักพาตัวเด็กชายไปจำนวนมากเพื่อพยายามหาทางช่วยเหลือ

แผลงฤทธิ์!!‘ศรีสุวรรณ’จ่อร้อง ป.ป.ช.สอบจริยธรรมร้ายแรง ‘สิระ’ซ้ำรอย‘ปารีณา’

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ได้จัดทำเหรียญทองคำรุ่น “หลวงพ่อป้อม” และรุ่น “ป่ารอยต่อ” ที่นำมาโชว์แสดงต่อสื่อมวลชนเมื่อเช้าของวันที่ 17 ก.พ.64 ที่ผ่านมา จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันของสาธารณชนเป็นจำนวนมากนั้น

กระทั่งช่วงบ่ายโมง นายสิระได้ออกมาแถลงอีกว่าการจัดทำเหรียญดังกล่าวที่เป็นใบหน้ารูป พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้รับอนุญาตจาก พล.อ.ประวิตรเรียบร้อย และท่านไม่ได้ว่าอะไร และตนได้นำเหรียญไปให้ พล.อ.ประวิตรดู ซึ่งท่านได้เป่าพร้อมให้พรเพื่อความเป็นสิริมงคล ขอให้คุ้มครองแคล้วคลาดจากศัตรูและคู่อริ

แต่ทว่าเมื่อเย็นของวันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กล่าวถึงกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ จัดทำเหรียญทองคำรุ่น"หลวงพ่อป้อม" และรุ่น"วัดป่ารอยต่อ"ว่า ตนไม่รู้เรื่องและไม่เคยให้คำแนะนำการจัดทำเหรียญดังกล่าว และนายสิระไม่เคยมาปรึกษา และก็ไม่ได้เห็นด้วยที่จะให้ทำเหรียญดังกล่าว และอย่าเอาตนไปเกี่ยวข้อง ไม่สนับสนุน

กรณีดังกล่าว เป็นการชี้ให้เห็นว่า การนำเหรียญทองดังกล่าวมาแถลงข่าวในบริเวณรัฐสภาของนายสิระ ถือว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตน มิได้เป็นประโยชน์ใดๆแก่ประเทศชาติ อีกทั้งเป็นการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณชน เพียงเพราะต้องการสร้างข่าวให้เกิดความหวือหวาหรือเพื่อการเป็นข่าวเท่านั้น ซึ่งมิได้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสาธารณชนหรือประเทศชาติแต่อย่างใด และการแกะชื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในเหรียญดังกล่าวก็ทำผิดทั้งชื่อและนามสกุล กลายเป็นที่ตลกขบขันของสื่อมวลชนและสาธารณชนทั่วไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 7 ข้อ 15 และข้อ 17 ที่ว่า “ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน” “ต้องให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบของตน ถูกต้องครบถ้วนและไม่บิดเบือน” และ “ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง” เป็นต้น

ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ในวันศุกร์ที่ 19 ก.พ.64 เวลา 13.00 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. นนทบุรี เพื่อให้ดำเนินการไต่สวน สอบสวนกรณีดังกล่าวว่าเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ อย่างไร หาก ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าฝ่าฝืนจักได้ดำเนินการส่งให้ศาลฎีกาพิพากษาในลักษณะเดียวกับปารีณาต่อไป


'พี่สาวจอห์น'ประกาศขอความร่วมมือ call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัย 'เอา'หรือ'ไม่เอา'ม.112

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่สาวของ จอห์น วิญญู พิธีกรชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า ประกาศ: ขอความร่วมมือในการ call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ด้วยเหตุที่นับวันก็ยิ่งมีนิสิตนักศึกษาถูกหมายเรียก หมายจับ หมายศาล สารพัดหมายเรียกไม่ถูกอันเนื่องมาจากประมวลกฎหมายอาญา ม.112 มากขึ้น และเกิดความสงสัยไม่แน่ใจในจุดยืนของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยควรเดินเรื่องประกันตัวหรือไม่ หรือเป็นหน้าที่ของคณะ หรือองค์กรเห็นด้วยกับ ม.112 จึงปล่อยให้อาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยไปประกันในฐานะปัจเจกและค่อนข้างตามมีตามเกิด อิฉันจึงเห็นสมควรต้อง call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย และทุกคณะให้ออกมาให้คำตอบกับสังคมว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา” ม.112

คำถามนี้มีคำตอบให้เลือกแค่ 2 อย่างคือ “เอา” หรือ “ไม่เอา” ไม่ต้องมาบอกว่าองค์กรมีความหลากหลาย เพราะเราอยากรู้ว่าตัวอธิการบดีแต่ละมหาวิทยาลัย และคณบดีแต่ละคณะ “เอา” หรือ “ไม่เอา” แค่นั้น และถ้าจะบอกว่า “เอา แต่ไม่อยากให้ใช้พร่ำเพรื่อ” สิ่งนี้ก็มีความหมายแค่เท่ากับ “เอา” หรือถ้าบอกว่า “ไม่เอาแต่ไม่ได้แปลว่าไม่รักเจ้า” ก็แค่แปลว่า “ไม่เอา” อยู่ดี เอาแค่นี้เบสิคมากไม่ต้องการคำอธิบาย แก้ตัว disclaimer เหยียดยาว เป็นถึงระดับผู้บริหารแล้วคำถามเบสิคแค่นี้ต้องตอบได้

เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะต้องเลือกเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายเขามีสิทธิที่จะรู้ เขาจะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ ถ้าเขาชอบ ม.112 เขาจะได้ไม่ไปเข้าที่ที่ผู้บริหารบอกว่า “ไม่เอา” ม.112 หรือถ้าเข้าไปแล้วผู้บริหารเกิดจะไปประกันนักศึกษาทีโดนคดี ม.112 เขาก็จะได้ไม่ต้องมาประท้วงโวยวายให้มันมากความเพราะได้บอกจุดยืนไว้อย่างชัดเจนแล้ว ในทางกลับกันเด็กที่ “ไม่เอา” ม.112 และรู้สึกว่าในระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยอาจจะมีเหตุให้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ก็จะได้เลือกเข้าได้ถูกคณะ หรือถ้าจำเป็นต้องเข้าคณะที่ผู้บริหาร “เอา” ม.112 ก็จะได้เตรียมหาลู่ทางที่จะไม่ต้องรบกวนผู้บริหารมาประกันตัวเวลาที่เขาเกิดมีคดีขึ้นมา เราคิดว่ามันแฟร์สำหรับทุกฝ่าย

และที่สำคัญ สำหรับเราซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ เราอยากได้หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่บ่งชี้จุดยืนต่อกฎหมายนี้จากปัญญาชนชั้นนำระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในประเทศ ณ เวลานี้ เพราะมันจะเป็นข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคนี้ สำหรับนักประวัติศาสตร์ในอนาคตชั่วลูกสืบหลานแน่นอน

แน่นอนว่าสิ่งนี้เราทำเองไม่ได้ แต่เราคิดว่ามันเป็นแคมเปญที่จะมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เราจึงอยากชี้ชวนให้นิสิตนักศึกษา ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ตลอดจนน้องๆ นักเรียนชั้นประถมมัธยมที่จะกลายเป็นนิสิตนักศึกษาในอนาคตทั่วประเทศช่วยกันออกมาผลักดัน call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ท่านรักหรือสนใจโดยพร้อมเพรียงกัน จักเป็นพระคุณยิ่ง.


สุดเศร้า! หมอติดโควิดจากคนไข้'คลัสเตอร์'โต๊ะแชร์มหาสารคาม เสียชีวิตแล้ว

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เฟซบุ๊กชื่อ คุณวีโร เอ็งเต็กตึ้ง (มูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์) ได้โพสต์ข้อความไว้อาลัย นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ ซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จากการระบาดระลอกใหม่รายที่ 18 ของ จ.มหาสารคาม ซึ่งติดเชื้อภายหลังจากตรวจผู้ป่วยโควิด-19 คลัสเตอร์กลุ่มงานเลี้ยงสังสรรค์โต๊ะแชร์

โดยระบุว่า “คณะกรรมการบริหารมูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์ (เอ็ง เต็ก ตึ๊ง) อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ขอแสดงความเสียใจ ไว้อาลัยอย่างยิ่ง แก่ นายแพทย์ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ ที่ปรึกษา และ ผู้ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์ (เอ็ง เต็ก ตึ๊ง), ที่ปรึกษา และ ผู้ร่วมก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสา มูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์, ที่ปรึกษาหน่วยกู้ชีพ-กู้ภัยมูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์(เอ็ง เต็ก ตึ๊ง)”

จากนั้นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Natthawarot Hanphanitphan ซึ่งเป็นบุตรชายของนายแพทย์ผู้เสียชีวิต ได้กล่าวไว้อาลัยต่อบิดา โดยมีข้อความว่า “คุณพ่อผมเสียแล้วครับช่วงตี 1 กว่า ๆ ผมรักป๊านะ ผมรู้สึกมหัศจรรย์ที่ได้อยู่ใกล้ ๆ คุณพ่อ ทุกคนรักและเคารพคุณพ่อ ป๊าเป็นคนที่น่าทึ่ง ป๊าคือฮีโร่ของผม ผมโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นลูกป๊า ขอบคุณที่ดูแลผมมาตลอด สอนผมให้เป็นคนที่ดี น้ำตาผมไหลจนได้ ขอให้ป๊าไปสู่สวรรค์นะครับ ทุก ๆ คนรักป๊านะครับ”

ทั้งนี้ ตามไทม์ไลน์ นพ.ปัญญา เคยมีประวัติตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19

13 ม.ค. ผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่รายที่ 11 มาตรวจรักษาอาการไข้ ที่คลินิก

19 ม.ค. ผู้ป่วยติดเชื้อรายที่ 9 มาตรวจรักษาอาการไอ ไม่มีไข้ ที่คลินิก

25 ม.ค. ผู้ป่วยติดเชื้อรายที่ 2 มาตรวจรักษาอาการไข้สูง

27 ม.ค. นมัสการหลวงพ่อที่วัด ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

28 ม.ค. อยู่ที่คลินิก ช่วงเย็นทราบว่าผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายที่ 2 มารับการตรวจรักษาที่คลินิก จึงปิดคลินิกกลับบ้านพักทันที ไม่ได้ออกไปไหน แยกห้องนอน และเริ่มกักตัวเอง

29 ม.ค. ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 1 ที่โรงพยาบาลสุทธาเวส ผลไม่พบเชื้อ

31 ม.ค. อยู่บ้าน มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะเป็นไข้

1 ก.พ. เข้ารับการตรวจหาเชื้อ โควิด-19 ครั้งที่ 2 ผลยืนยันติดเชื้อโควิด-19

‘ฮุนเซน’ตั้ง'อินเทอร์เน็ตเกตเวย์กัมพูชา’ คุมการเชื่อมต่อใน-นอกประเทศแบบ'จีน'

18 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน รัฐบาลกัมพูชาเข้าควบคุมชีวิตออนไลน์ของประชาชนในประเทศเกือบเบ็ดเสร็จด้วยการจัดตั้งเกตเวย์อินเทอร์เน็ตแห่งชาติแบบเดียวกับ "เกรตไฟร์วอลล์" ของจีน ซึ่งนักเคลื่อนไหวชี้ว่าจะสกัดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและปิดกั้นเนื้อหาทางออนไลน์

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาออกพระราชกฤษฎีกาย่อยที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ระบุว่า เกตเวย์อินเทอร์เน็ตแห่งชาติ (เอ็นไอจี) จะควบคุมการเชื่อมต่อเว็บไซต์เพื่อปรับปรุง "การจัดเก็บรายได้ของประเทศ, เพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ และรักษาความเป็นระเบียบของสังคม"

กฎหมายย่อยฉบับนี้สั่งการให้ผู้ดำเนินการเกตเวย์ทำงานร่วมกับทางการกัมพูชา เพื่อดำเนินการปิดกั้นและตัดการเชื่อมต่อเครือข่ายใดๆ ที่เห็นว่าขัดต่อเป้าหมายเหล่านี้ หรือละเมิด "ศีลธรรม, วัฒนธรรม, ประเพณี และขนบธรรมเนียม" ผู้ดำเนินการเกตเวย์จะต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการจราจรทางอินเทอร์เน็ตต่อเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ

ช่วงหลายปีนี้กัมพูชามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมาก สถิติของรัฐบาลเผยว่า จากที่เคยมีผู้ใช้งาน 5 ล้านรายในปี 2557 เพิ่มเป็น 20.3 ล้านรายในปีที่แล้ว เฟซบุ๊กเป็นแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด เกือบ 11 ล้านราย ในกัมพูชา

มีความวิตกว่า รัฐบาลกัมพูชาซึ่งปราบปรามผู้เห็นผ่านทางออนไลน์มากขึ้น จะใช้ระบบเอ็นไอจีนี้ในการสอดแนมและป้องกันพลเมืองจากการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านประตูทางผ่านทางเดียว ในแบบเดียวกับระบบ "เกรตไฟร์วอลล์" ของรัฐบาลจีน แต่พาย สีพัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชา ปฏิเสธข้อกังวลนี้ โดยอ้างว่าเอ็นไอจีจะป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ และส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ

อย่างไรก็ดี เขาบอกกับเอเอฟพีด้วยว่า เจ้าหน้าที่ "จะทำลายผู้ใช้งาน (อินเทอร์เน็ต) ที่ต้องการก่อกบฏ" ต่อต้านรัฐบาล

ด้านจัก สุภาพ ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชา กล่าวว่า เอ็นไอจีจะทำให้การสอดแนมมวลชนทำได้ง่ายขึ้น ผ่านการสกัดกั้นและเซ็นเซอร์การสื่อสารดิจิทัล และการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล

"การจัดตั้งเอ็นไอจีเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในกัมพูชา" เธอกล่าว และว่า เอ็นไอจีจะกลายเป็นเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งสำหรับรัฐบาลกัมพูชาในการควบคุมและเฝ้าตรวจการไหลเวียนของข้อมูลในกัมพูชา.