ข่าว
อยู่ต่อเลยได้ไหม! นทท.ต่างชาติไม่อยากกลับประเทศ เผยไทยปลอดภัยที่สุด

29 เมษายน 2563 นายชัยวุฒิ บัวทอง นายอำเภอเมืองกระบี่ พร้อมด้วย จนท.สาธารณสุขอำเภอเมืองกระบี่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลอ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวหาดไร่เลย์ เพื่อสำรวจ และติดตามปัญหาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ จำนวน กว่า 100 คน พร้อมกับค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนที่ทางจังหวัดจะมีการพิจารณาประกาศคลายล็อกดาวน์ หลังวันที่ 30 เม.ย.นี้ เบื้องต้นพบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่ พักอาศัยตามโรงแรม รีสอร์ท บนหาดไร่เลย์และอ่าวต้นไทร มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบของคณะกรรการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ อย่างเคร่งครัด มีการสวมหน้ากากอนามัย ขณะอยู่นอกที่พัก พร้อมกับบอกว่าเมืองไทยปลอดภัยคนไทยใจดี นายชัยวุฒิ บัวทอง นายอำเภอเมืองกระบี่ กล่าวว่า การลงพื้นที่อ่าวไร่เลย์ และอ่าวต้นไทร เพื่อต้องการสำรวจ จำนวนนักท่องเที่ยว และติดตามปัญหาของนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเบื้องต้นพบว่า นักท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่ในอยู่ในพื้นที่อ่าวไร่เลย์ มีจำนวน 130 คน และอ่าวต้นไทรจำนวน 60 คน ซึ่งแต่ละคน เข้ามาอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 2 เดือน นอภ.เมืองกระบี่ กล่าวด้วยว่า จากการพูดคุยกับนักท่องเที่ยวทราบว่า สาเหตุที่นักท่องเที่ยวไม่อยากกลับประเทศ ในช่วงนี้ เนื่องจากการเดินทางยุ่งยากและจะต้องเสียค่าใช้จ่ายแพง จึงเลือกที่จะอยู่อ่าวไร่เลย์ และอ่าวต้นไทร ต่อไป นอกจากนี้ยังบอกว่าผู้คนใจดี ส่วนทางผู้ประกอบการก็ยังคิดค่าเช่าในราคาพิเศษ และมีอาหารแจกให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ จึงเลือกที่จะอยู่ต่อ ดีกว่ากลับไปเสี่ยงติดโรค นายอำเภอเมืองกระบี่ ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนการคัดกรองค้นหาผู้ป่วย ในพื้นที่ ทางชมรมธุรกิจท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์และผู้ประกอบการได้มีการคัดกรองมาตั้งแต่เริ่มการมีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เบื้องต้นยังไม่พบผู้ป่วยในพื้นที่และทาง ผู้ประกอบการเองก็ไม่มีการรับนักท่องเที่ยวใหม่ ยกเว้นผู้ที่เคยอาศัยอยู่เก่า และไม่มีการเคลื่อนย้ายไปต่างพื้นที่ให้อยู่ต่อ ส่วนนักท่องเที่ยวใหม่ไม่รับอย่างเด็ดขาด

ราชกิจจาฯเผยแพร่ข้อกำหนด 'นายก'สกัดผู้ว่าฯทั่วประเทศยังไม่ให้คลาย'ล็อกดาวน์'

29 เมษายน 25693 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 4) โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน 2563 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 แล้วนั้น

โดยที่รัฐบาลได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง และมอบหมายให้ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ร่วมกันประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาผ่อนคลาย หรือเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้บางมาตรการ โดยมุ่งจะให้การควบคุมและการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติลงได้โดยเร็วและไม่ย้อนกลับมาอีก

ขณะเดียวกันประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ภายใต้มาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการ โดยจะพิจารณาผ่อนคลายเป็นลำดับขั้นตอนตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และคำนึงถึงประเภทของกิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อย สถานที่ซึ่งสามารถจัดระบบควบคุมดูแลได้ และผู้เกี่ยวข้องซึ่งสามารถนำมาตรการป้องกันโรคมาบังคับใช้ได้เป็นลำดับแรก โดยใช้ช่วงเวลาระยะแรกนี้ เตรียมการเพื่อรองรับการจัดระบบตามมาตรการและคำแนะนำของทางราชการไปพลางก่อน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังนี้

ให้บรรดาประกาศหรือคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ว่าด้วยการเดินอากาศ และกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ได้ประกาศ หรือสั่งไว้ก่อนวันที่ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับไม่ว่าจะเป็นการห้าม การให้กระทำการ หรือการผ่อนคลายใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่งตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะได้มีข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 29 เมษายน 2563


‘หมอธีระวัฒน์’เผยวงจร‘ใบหน้า-มือ’ โอกาส‘แพร่-ติดเชื้อโควิด-19’

30 เมษายน 2563 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก หัวข้อ “ใบหน้าและมือ” กับโควิด-19 มีเนื้อหาดังนี้

“ใบหน้าและมือ” กับโควิด-19 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา #สำหรับบุคคลทั่วไป

ใบหน้า ได้แก่ จมูกและปาก คือ ช่องทางออกของไวรัส โดยแพร่ทางละอองฝอย ในขณะเดียวกัน ตา จมูก และปาก ตามเยื่อบุ คือ ช่องทางเข้าของไวรัส จากละอองฝอยที่ออกจากตัวของผู้ติดเชื้อ

เมื่ออยู่ในที่อับ อากาศไม่ถ่ายเท ละอองจะลอยอยู่ในอากาศได้นาน ไปเกาะที่ใบหน้า ตามเนื้อ ตามตัวเสื้อผ้า แขนขาของผู้ที่แพร่เชื้อเอง และคนอื่น

มือของผู้แพร่เชื้อ ยังสัมผัสกับเสื้อผ้า แขนขา ตนเอง และเอามือไปสัมผัสพื้นผิว โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดเป็นต้น

ผู้ที่ไม่ติดเชื้อ มีโอกาสได้รับเชื้อจากละอองเหล่านี้โดยตรงเข้าปะทะที่ใบหน้า หรือติดตามเสื้อผ้า ตามแขนขาและมือตนเองไปสัมผัสเสื้อผ้าตนเองสัมผัสพื้นผิวของเครื่องใช้ต่างๆในสถานที่นั้นๆ และมาสัมผัสใบหน้าตนเองอีกต่อ

ลักษณะดังกล่าวเป็นวงจรของ “ใบหน้าและมือ”

และเป็นที่มาของการที่ต้องล้างมือบ่อยที่สุดด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% และความสำคัญของการใส่หน้ากาก ปิดปากและจมูก และการที่ต้องระวังดวงตา ไม่เผลอเอามือไปลูบหน้า ตา จับปาก


สู้ภัยโควิด-19! นายกฯรับมอบหน้ากากอนามัย-อุปกรณ์ทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับมอบหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ จากภาคเอกชนทั้งไทยและจีน เพื่อร่วมกับรัฐบาลช่วยเหลือประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย 3 คณะ ได้แก่ คณะผู้บริหารบริษัทมิตรผลและบ้านปู บริจาคหน้ากากอนามัยผ้ามัสลิน จำนวน 200,000 ชิ้น , บริษัท คีนน์ จำกัด บริจาคผลิตภัณฑ์ คีนน์ เจิม คิลเลอร์ จำนวน 100 ถัง , สภาธุรกิจไทย-จีน บริจาคหน้ากากอนามัย 470,500 ชิ้น แก่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีขอบคุณภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการสู้ภัยโควิด-19 ซึ่งสิ่งของที่ได้รับในวันนี้ ก็จะได้นำไปมอบต่อให้กับแพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ แม้เข้าใจดีว่าภาคเอกชนอาจจะได้รับผลกระทบบ้างในขณะนี้ แต่สุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนจะต้องเรียนรู้และปรับตัว หลังจากนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) จะทยอยผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ โดยก็ขอให้ภาคธุรกิจร่วมอดทนและสู้ไปด้วยกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังให้กำลังใจคณะผู้บริหารมิตรผลและบางปู ในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสภาวะตลาดน้ำมันและพลังงานของโลกผันผวน ซึ่งยังต้องขอความร่วมมือบริษัทได้ช่วยกับรัฐบาลในการดูแลเกษตรกรไร่อ้อยต่อไป ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและพลังงานชีวมวล ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้อีกทางหนึ่ง

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้รับมอบผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาด จากคณะผู้บริหารบริษัท คีนน์ จำกัด เพื่อทำความสะอาดพื้นผิววัตถุ สามารถกำจัดเชื้อโรค แบคทีเรีย ราและเชื้อไวรัส และย่อยสลายเองตามธรรมชาติไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือว่าเป็นชีวนวัตกรรม ที่ผลิตในไทยซึ่งจะมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ต่อไป

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยังเป็นสักขีพยานรับมอบหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ชุดป้องกันไวรัส (PPE) เครื่องวัดอุณหภูมิ เป็นต้น จากคณะผู้บริหารสภาธุรกิจไทย-จีน ประกอบด้วยนางหยาง ชิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน และประธานกรรมการบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ประธานบริษัท Talesun technologies (Thailand) Co., Ltd. ผู้จัดการบริษัท Futong Group (Thailand) Co., Ltd. มอบแด่ ศาตราจารย์นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และคณะด้วย


'อินโดนีเซีย'พบผู้ป่วย'โควิด-19' เพิ่ม 260 ราย-เสียชีวิตอีก 11 ราย

30 เม.ย.63 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศการตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ได้รับการยืนยันผลเพิ่ม 260 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยในประเทศรวมอยู่ที่ 9,771 ราย

อาหะหมาด ยูรีแอนโต (Achmad Yurianto) โฆษกรัฐบาลด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ระบุว่าอินโดนีเซียยังพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 11 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตรวมอยู่ที่ 784 ราย

ยูรีแอนโตเสริมว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายดีและออกจากโรงพยาบาลเพิ่ม 137 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยหายดีรวมอยู่ที่ 1,391 ราย ขณะที่จำนวนผู้ป่วยต้องสงสัยทั่วประเทศรวมอยู่ที่ 21,653 คน

ยอดผู้ป่วย'โควิด-19'ในรัสเซีย ใกล้แตะ 100,000 ราย

30 เม.ย.63 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า แถลงการณ์จากศูนย์รับมือโรคโควิด-19 ของรัสเซีย เปิดเผยว่ารัสเซียตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพิ่มขึ้น 5,841 ราย ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยในประเทศสะสมอยู่ที่ 99,399 ราย เมื่อนับถึงวันพุธ (29 เม.ย.)

จำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตพุ่งขึ้นจาก 108 เป็น 972 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยหายดีรวมอยู่ที่ 10,286 ราย โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่หายดีในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาจำนวน 1,830 ราย

มอสโก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 หนักที่สุดในรัสเซีย ตรวจพบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผลรายใหม่ 2,220 ราย ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่งผลให้มอสโกมียอดผู้ป่วยรวม 50,646 ราย

แถลงการณ์จากเซอร์เก ซอบยานิน (Sergei Sobyanin) นายกเทศมนตรีกรุงมอสโก ระบุว่าหอผู้ป่วยชั่วคราวหลายแห่ง ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 10,000 เตียง จะเปิดใช้งานในเร็ววันตามโรงพยาบาลสำคัญทั่วเมือง

ด้านหน่วยงานดูแลสิทธิผู้บริโภคและความเป็นอยู่ของประชาชนของรัสเซียระบุว่าจำนวนผู้อยู่ระหว่างการสังเกตการณ์ทางการแพทย์ในรัสเซียรวมอยู่ที่ 199,834 ราย เมื่อนับถึงวันอังคาร (28 เม.ย.)

ทั้งนี้ เมื่อวันอังคาร (28 เม.ย.) วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ประกาศขยายระยะเวลาของการหยุดงานโดยได้รับค่าจ้าง รวมถึงการกักกันตัวที่บ้าน จนถึงวันที่ 11 พ.ค. จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย. และสั่งการให้รัฐบาลเตรียมแผนสำหรับการเริ่มยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับโรคโควิด-19 อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. เป็นต้นไป