ข่าว
SCE เตือนอันตรายจากไฟฟ้า ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว

ขณะที่ครอบครัวต่างๆ ประดับบ้านเรือนสำหรับเทศกาลวันหยุด บริษัท Southern California Edison (SCE) ฝากเตือนให้ลูกค้าระมัดระวังเรื่องสายไฟฟ้าชำรุดหรือการใช้ปลั๊กโหลดไฟเกินขนาด อันเป็นเหตุให้เกิดไฟช๊อตและไฟไหม้

ประชาชนผู้ที่ประดับไฟที่บ้านสำหรับเทศกาลวันหยุด สิ่งที่สำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการปฏิบัติ ความปลอดภัยทางไฟฟ้า เช่นไม่โยนสายไฟหรือสายไฟฟ้าไปบนต้นไม้ใกล้กับสายไฟฟ้าหรือเสาไฟฟ้า ไม่ใช้ไฟประดับที่มีฟิวส์เสียหรือหลอดไฟเสีย และให้ข้อต่อสายไฟอยู่ห่างจากความเปียกชื้น

“ความรื่นเริงในการประดับไฟตามเทศกาลสามารถทำให้คนเรามองข้ามอันตรายได้” Bill Messner ผู้จัดการใหญ่ของฝ่ายสุขภาพและความปลอดภัยที่ SCE กล่าว “สิ่งที่สำคัญคือครอบครัวจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ ตรวจสอบการประดับไฟและหลักการด้านความปลอดภัยเพื่อลดการเสี่ยงด้านไฟฟ้าช๊อต ไฟไหม้หรือการบาดเจ็บ”

กรมการดับเพลิงของสหรัฐฯ ตอบรับการติดต่อเนื่องจากไฟไหม้โดยเฉลี่ยจำนวนปีละ 230 ครัวเรือน ซึ่งไฟเริ่มขึ้นจากต้นคริสมาสต์ เป็นผลให้ถึงตายหกราย บาดเจ็บ 22 รายและทำให้ทรัพย์สินเสียหายเป็นเงินจำนวน 18.3 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลไฟไหม้/สำหรับผู้บริโภค/ต้นคริสมาสต์ สมาคมการป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (National Fire Protection Association) ในแต่ละปีผู้คนจำนวน 5,800 คนได้รับการรักษาพยาบาลในห้องฉุกเฉินเนื่องจากการตกบันไดจากการประดับไฟที่บ้าน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงกล่าว

SCE ขอแนะนำเคล็ดลับเกี่ยวกับความปลอดภัยอื่น ๆ สำหรับเทศกาลวันหยุดดังนี้ :

- ไม่ประดับไฟใกล้กับสายไฟฟ้าเกินกว่า 10 ฟุตและรับรู้ถึงสายไฟฟ้าเสมอ

- ใช้บันไดไม้หรือไฟเบอร์กลาสเมื่อประดับไฟนอกบ้าน บันไดโลหะเป็นตัวนำไฟฟ้า

- ตรวจสอบบันไดของคุณเสมอก่อนใช้เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัย หากบันไดเสียหายให้ซื้อบันไดใหม่ที่ปลอดภัยในการใช้

- ต้องแน่ใจว่าไม่วางสายไฟที่มุมหรือในตำแหน่งที่ถูกกดบีบ เช่นในหน้าต่าง

- ใช้ที่หนีบสายไฟพลาสติกเมื่อแขวนไฟแทนใช้ที่เย็บกระดาษ ขอเกี่ยวหรือตะปู

- ไม่ใช้สายไฟที่ต่อเกินสามสาย โหลดเกินไปสามารถทำให้เกิดไฟไหม้หรือไฟช๊อตได้

- เก็บไฟให้ห่างจากพรม เครื่องเรือน ม่านและวัสดุไวไฟอื่น ๆ

- ใช้เฉพาะเครื่องตกแต่งที่มีตราฉลาก es/offerings/perspectives/consumer/productsafety/extinguishers/" Underwriters Laboratories (UL), Canadian Standards Association (CSA) หรือ Intertek (ETL) เท่านั้น

- ถอดปลั๊กไฟเมื่อออกจากบ้านหรือก่อนเข้านอนเสมอ

สำหรับเคล็ดลับเพิ่มเติมโปรดดูที่ www.sce.com/holidaylighting ติดตามเราได้จาก Twitter และ Facebook

สกญ.แอล.เอ. แจ้งเตือนคนไทย เตรียมเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

เมื่อวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2556 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้ออกประกาศแจ้งเตือนมายังคนไทยในต่างแดนที่อาศัยอยู่ใน 13 รัฐ ให้เตรียมพร้อมสำหรับการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งล่าสุด กกต. ประกาศให้ลงทะเบียนได้ถึงแค่ 2 มกราคม 2557

ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภานอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2556 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะต้องแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดก่อนวันเลือกตั้ง 30 วัน (กำหนดวันเลือกตั้ง คือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557)

ดังนั้น สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอแจ้งว่า ผู้ที่ประสงค์จะลงทะเบียน ถอนชื่อจากการลงทะเบียน หรือแจ้งการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรในฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ต้องส่งคำร้อง สส./สว.42/1 มายังสถานกงสุลใหญ่ฯ ภายในวันพุธที่ 1 มกราคม 2557 (โดยต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทางไทยประกอบการลงทะเบียนด้วย) เพื่อให้ทันการปิดการลงทะเบียนในวันและเวลาของประเทศไทย

ทั้งนี้สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ขอซักซ้อมความเข้าใจและเชิญชวนคนไทยที่มีถิ่นพำนักในเขตอาณาของสถานกงสุลใหญ่ฯ ใน 13 รัฐ (Alaska, Arizona, California, Colorado, Hawaii, Idaho, Montana, Nevada, New Mexico, Oregon, Utah, Washington และ Wyoming) ที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้

1. ผู้ที่เคยลงทะเบียนไว้กับสถานกงสุลใหญ่ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) ยังสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามปกติ

2. ผู้ที่เคยลงทะเบียนไว้กับสถานกงสุลใหญ่ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) แล้ว แต่ย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่ในมลรัฐเดียวกันหรือต่างมลรัฐ ต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ด้วยการลงทะเบียนใหม่

3. ผู้ย้ายถิ่นที่อยู่ไปยังอีกประเทศหนึ่งต้องแจ้งลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศใหม่ที่ตนมีถิ่นพำนัก

4. ในกรณีที่ยังไม่เคยลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมาก่อน หรือเคยลงทะเบียนก่อนปี พ.ศ. 2550 (2007) และประสงค์จะขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรให้ลงทะเบียนกับสถานกงสุลใหญ่ฯ ตามแบบคำร้อง สส/สว. 42/1*

5. ผู้ที่เคยลงทะเบียนเลือกตั้งกับสถานกงสุลใหญ่ฯ แต่ย้ายกลับประเทศไทยต้องขอถอนชื่อจากการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเพื่อกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยผ่านแบบคำร้อง สส/สว. 42/1* ในกรณีที่เดินทางกลับประเทศแล้ว แต่ไม่ได้แจ้งขอถอนชื่อกับสถานกงสุลใหญ่ฯ หากประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้แจ้งถอนชื่อกับนายทะเบียนอำเภอที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน

การลงทะเบียนสามารถดำเนินการได้ ด้วยการกรอกคำร้อง สส./สว.42/1โดยต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทางไทยประกอบการลงทะเบียนด้วย และสามารถดำเนินการได้หลายทาง ดังนี้

1. ดำเนินการด้วยตนเองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ หรือ มอบอำนาจให้บุคคลใดดำเนินการแทน หรือ

2. ส่งไปรษณีย์ไปยังสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่

Royal Thai Consulate-General,
611 N. Larchmont Blvd. 2 nd Floor, Los Angeles, CA 90004 หรือ

3. ส่งทางโทรสารที่หมายเลข (323) 962 2128 หรือ

4. จดหมายอีเล็กทรอนิกส์ info@thaiconsulatela.org

ทั้งนี้ แบบคำร้องขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (แบบคำร้อง สส/สว.42/1 ) ท่านสามารถขอรับได้ ณ ที่ทำการสถานกงสุลใหญ่ฯ หรือ ค้นหาใบคำร้องได้ที่ http://www.thaiconsulatela.org/pdf/elec-regis.pdf

สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ดังนี้

1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 ม.ค. ของปีที่มีการเลือกตั้ง (เกิดในวันที่ 1 ม.ค. 2539 และก่อนหน้านั้น)

3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

4. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

- อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง

- ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

- วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ

ที่มาของข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง http://www.ect.go.th/th/?page_id=711


เจาะลึก “Obama Care” ก่อนถึงกำหนดใช้จริง

หลังจากที่ วาสนา อารยตานนท์ ได้มีโอกาสเข้าไปฟัง Ms.Suzana Choi (Representative Covered California) เจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญจากแคลิฟอร์เนีย ในเรื่องของ Health Care Reform หรือเรียกกันติดปากว่า “Obama Care” ทำให้เธอตัดสินใจที่จะจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเชิญ Ms.Suzana มาให้ความรู้ด้านนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง ที่ หอประชุมหมู่บ้านคนชรา 9530 Alondra Blvd. Bellflower CA 90706 วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2556 ในเวลา 10.30 น. – 13.30 น. โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจาก คิด ฉัตรประภาชัย มาคอยแปลเป็นภาษาไทยให้กับผู้เข้าร่วมรับฟัง

วาสนา อารยตานนท์ กล่าวชม Ms.Suzana ด้วยความประทับใจว่า “ถึงแม้เธอจะไม่ได้พูดภาษาไทย แต่การนำเสนอของเธอ สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยการสไลด์ภาพประกอบในการบรรยาย” พร้อมทั้งยังให้ผู้ร่วมรับฟังได้ทดสอบใช้โปรแกรมผ่านเว็บไซต์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย (www.coveredca.com) และเปิดโอกาสให้สอบถามถึงปัญหาของแต่ละบุคคล ในการเข้าร่วมโครงการ Health Care Reform นี้ ซึ่งมีเพื่อนๆ ของเธออีกหลายๆ คนที่ไม่ทราบรายละเอียด หรือขาดความเข้าใจเกี่ยวกับโปรแกรมดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มใช้จริงในต้นเดือนหน้า เป็นเหตุให้เธอได้ตัดสินใจที่จะจัดการสัมมนานี้ขึ้น สำหรับสถานที่จอดรถค่อนข้างสะดวก ผู้ที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อเธอได้ที่ 818-731-1738

สำหรับ Dead line ที่ต้องลงทะเบียนร่วมโครงการ Health Care Reform ถูกเลื่อนจาก 15 ธันวาคม 2556 ไปเป็น 23 ธันวาคม 2556 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ จึงขอเชิญชวนทุกๆ ท่าน ร่วมรับฟัง และสอบถามปัญหาที่ยังค้างคาใจได้ในวันและเวลาดังกล่าว


กลุ่มผู้ประท้วงคนไทยในแอล.เอ. ยังลุยต่อเพื่อ"ตั้งสภาประชาชน"

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556 นายบุญเรือง เกตุพงศ์สุดา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนไทยในต่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส ได้แสดงจุดยืนที่จะต่อท้านระบบการเมืองผูกขาดของระบอบทักษิณ คู่ขนานไปกับการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนในประเทศไทยต่อไป

นายบุญเรืองกล่าวถึง การแสดงสัญลักษณ์ด้วยการเดินขบวน ในเขตไทยทาวน์ ฮอลลีวูด สหรัฐอเมริกาทุกสัปดาห์ ได้มีการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะมีคนหลายร้อยคน แต่คนไทยก็เคารพกติกาเคร่งครัด มีการรับบริจาคค่าอาหาร ส่งกลับไปประเทศไทย ไปช่วยพี่น้องมวลมหาประชาชน ไม่ทิ้งขยะบนท้องถนน เรายังช่วยเก็บขยะเก่า เพราะต้องการให้ชาวอเมริกันเห็นความมีวัฒนธรรมของเรา แม้แต่ขวดน้ำดื่ม ซึ่งแต่ละครั้งมีมากมาย ถูกเก็บไปบริจาคให้วัด เพื่อนำไปขายเป็นกองทุนในโครงการของวัดที่ช่วยเด็กชนบท

แต่เดิมจะมีตำรวจแอลเอพีดี มาเฝ้าสังเกตการณ์การชุมนุม เพราะเกรงว่าจะเกิดความรุนแรง แต่ระยะหลังแทบจะไม่มีแล้ว เพราะเขาเชื่อว่าพวกเรามาจากประเทศที่มีอารยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนภูมิใจ

เขากล่าวว่า การแสดงสัญลักษณ์ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากชาวอเมริกันที่สนใจการเมือง เขาเข้าใจดีว่าสิ่งที่เราเรียกร้องคืออะไร เขาเข้าใจปัญหาคอรัปชั่นในประเทศเล็ก ที่อาจมีมาร์เฟียที่มีกำลังเงินและเครือข่าย สามารถครอบงำประเทศได้ เราได้ทำให้นักการเมืองในรัฐบาลท้องถิ่นสนใจ และเข้าใจปัญหาของประเทศไทย

"ที่สำคัญ เราได้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยแม้อยู่ไกลแค่ไหน แต่ก็ยังรักชาติไม่เสื่อมคลาย ดังคำที่ว่า แม้ไม่ได้ร่วมสุขในแผ่นดินเกิด แต่ขอร่วมทุกข์ทุกครั้ง กับพี่น้องคนในชาติ เมื่อยามบ้านเมืองประสบปัญหา" นายบุญเรืองกล่าวในที่สุด

"ศูนย์ส่งเสริมชาวไทย"ร่วมอดข้าวประท้วง หวังเร่งงานปฏิรูปกฎหมายอิมมิเกรชั่น

องค์กรพัฒนาชุมชนทั่วสหรัฐ เรียกร้องการปฏิรูประบบอิมมิเกรชั่น ให้ผู้นำชุมชนทำกิจกรรม "Fast for Families" อดอาหาร ประท้วงกฎหมายอิมมิเกรชั่นที่พรากลูกจากพ่อแม่

ศูนย์ส่งเสริมชาวไทย (Thai CDC) ร่วมกิจกรรม "Fast for Families" อดอาหารประท้วงกฎหมายอิมมิเกรชั่นเมื่อวันพุธที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทั้งองค์กรศาสนา องค์กรเพื่อสิทธิแรงงาน และองค์กรพัฒนาชุมชนต่างๆ เพื่อเรียกร้องการปฏิรูประบบอิมมิเกรชั่น เป็นเวลา 24 ชั่วโมง พร้อมกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นแกนนำ "Fast for Families" ที่ได้อดอาหารประท้วงที่ National Mall กรุงวอชิงตันดี.ซี.

โดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์ที่ร่วมการอดอาหารประท้วงในครั้งนี้ได้แก่ ชัญชนิษฐ์ มาร์เทอร์เรล ผู้อำนวยการศูนย์ฯ พนิดา จอนส์สะ ทนายความประจำศูนย์ส่งเสริมชาวไทย เลนนอกซ์ ชัยวีระ ผู้ประสานงานโครงการเพื่อชุมชน

"การอดอาหารประท้วงทำให้เราเข้าใจถึงความเจ็บปวดของผู้อื่น และเป็นการประท้วงแบบสันติวิธี เพื่อให้ผู้มีอำนาจรับทราบถึงปัญหาด้านอิมมิเกรชั่นและความต้องการของพวกเรา" ชัญชนิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าว

โดยหนึ่งในแกนนำของกลุ่มนักเคลื่อนไหวและรณรงค์เพื่อสิทธิคนต่างด้าวที่เริ่มอดอาหารประท้วงเป็นคนแรกคือ Dae Joong Yoon ผู้อำนวยการ National Korean American Service and Education Consortium (NAKASEC) การประท้วงของเขาที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. มีประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า และภรรยา ไปเยี่ยมผู้ประท้วงในช่วงวันหยุดขอบคุณพระเจ้าที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่า Dae Joong Yoon จะหยุดการอดอาหารประท้วงเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาทั้งสิ้น 22 วันนับจากเริ่มการประท้วง แต่ Dae Joong Yoon ก็ได้ส่งหน้าที่นั้นต่อให้กับสมาชิกคณะกรรมการบริหารของ NAKASEC คือบาทหลวง Eun-sang Lee ซึ่งยังคงดำเนินกิจกรรมนี้ต่อ พร้อมกับองค์กรอื่นๆ จากชุมชนเอเชียนและชาวหมู่เกาะแปซิฟิกทั่วสหรัฐ

ชัญชนิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมชาวไทย กล่าวว่า "การอดอาหารประท้วงของ Dae Joong Yoonยาวนานถึง 22 วัน ซึ่งเทียบกับที่ตัวเองอดอาหารประท้วงเพียงแค่ 1 วัน มันเล็กมาก เมื่อเทียบกับความเสียสละของเขา" เธอยังกล่าวอีกว่า น่าเสียดายที่ปัญหาอิมมิเกรชั่นถูกสภาผู้แทนราษฎรหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการแก้ไข มิหนำซ้ำสภาฯยังขัดขวางการปรับปรุงกฎหมายฯอีกด้วย ในช่วงเวลาที่ปัญหาของชุมชนต่างด้าวของพวกเรากำลังถูกรัฐบาลเพิกเฉยเช่นนี้ ศูนย์ส่งเสริมชาวไทยต้องการกระตุ้นให้ทำเนียบขาวคำนึงถึงวิธีแก้ไขปัญหารวมทั้งตัวเลือกที่จะช่วยส่งเสริมโครงการที่มีอยู่แล้วในขณะนี้ เช่นการขยายจำนวนคนต่างด้าวที่มีสิทธิ์ยื่นเรื่องขอใบเขียวตาม Dream Act หรือ Deferred Action เพื่อให้เขาเหล่านั้นหาเลี้ยงชีพได้อย่างถูกกฎหมาย และเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิต

ศูนย์ส่งเสริมชาวไทยจะยังคงดำเนินงานเพื่อรณรงค์การปฏิรูปกฎหมายอิมมิเกรชั่นต่อไปร่วมกับองค์กรพัฒนาชุมชนอื่นๆ จากทั่วประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพลังเสียงของพวกเราจะได้รับการรับฟังและรับทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปกฎหมายระดับประเทศ