ข่าว
สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส จะมีผลลงเอยอย่างไร ?

1 ธันวาคม 2566 : สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลและกลุ่มนักรบติดอาวุธฮามาส เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2023 โดยขณะนี้ผ่านไป 7 สัปดาห์แล้ว และได้กลายเป็นวิกฤตทางการเมืองอีกจุดหนึ่งของโลกเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2023 ปรากฏว่าสงครามเพิ่งหยุดพักรบไปชั่วคราว ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวลนี้ ควรค่าแก่การวิเคราะห์เป็นอย่างมากในบางประเด็น !!!

ในอดีตปาเลสไตน์มีบทบาทสำคัญในทางประวัติศาสตร์ โดยในศตวรรษที่ 4 จักรวรรดิโรมันได้ตั้งอาณานิคมปาเลสไตน์เป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์ และหากเราดูแผนที่ก่อนปีค.ศ. 1947 จะเห็นว่า พื้นที่ในเขตแดนของอิสราเอลในยุคปัจจุบันนี้เคยเป็นดินแดนของปาเลสไตน์มาก่อน แต่ในขณะนี้พื้นที่ๆ เป็นส่วนของปาเลสไตน์มีเหลือเพียงบริเวณ “ฉนวนกาซา” แค่ 360 ตารางกิโลเมตร ที่ตั้งอยู่ในแถบชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

อนึ่งฉนวนกาซาเคยอยู่ในความครอบงำของอียิปต์ ที่อียิปต์มิได้ผนวกรวมเอาเป็นแผ่นดิน จนกระทั่งอิสราเอลชนะสงคราม 6 วัน อิสราเอลจึงเข้ายึดครอง แต่ในปีค.ศ. 1993 อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ตกลงกันว่า อิสราเอลจะอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจปกครองในเขตฉนวนกาซาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอาณาเขตบริเวณฉนวนกาซาจึงเป็นเขตอิทธิพลของฮามาสตราบกระทั่งทุกวันนี้ โดยขณะนี้มีจำนวนประชากร 2.3 ล้านคน แถมยังเป็นดินแดนแห้งแล้งทุรกันดาร

ส่วนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน หรือที่เรียกว่า “เขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ที่มีพื้นที่ 5,640 ตารางกิโลเมตร ที่ห่างจากฉนวนกาซาเพียง 93 กิโลเมตร และแสนจะพิสดารจริงๆ ที่แผ่นดินของปาเลสไสตน์มิได้ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน

อย่างไรก็ตามในปีค.ศ. 1948 “ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน” แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศ สนับสนุนรับรองการสถาปนาให้อิสราเอลเป็นประเทศเอกราชภายหลังจากที่ชาวยิวได้กระจัดกระจายไปทั่วโลกหลายศตวรรษ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าปาเลสไตน์จะควบคุมดินแดนในแถบฉนวนกาซาแล้วก็ตาม แต่ครอบครองได้แค่เพียงร้อยละ 70 เท่านั้น เพราะพื้นที่ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 เป็นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ของนิคมชาวยิว

ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ชาวปาเลสไตน์ถูกเอารัดเอาเปรียบจากอิสราเอลมาโดยตลอด โดยบ้านของพวกเขาต้องถูกยึดและถูกทำลาย ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามครั้งแล้วครั้งเล่า และที่ผ่านมาชาวปาเลสไตน์ต้องถูกทหารอิสราเอลคร่าชีวิตอย่างมากมาย จึงเป็นที่มาทำให้ชาวปาเลสไตน์ต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อสู้ และเป็นการก่อกำเนิด “กลุ่มนักรบติดอาวุธฮามาส” ที่เกิดสงครามกับอิสราเอลถึงห้าครั้ง !!!

กลุ่มนักรบติดอาวุธฮามาส ของชาวปาเลสไตน์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นขบวนการต่อต้านอิสราเอลโดยตรง

การโจมตีของกลุ่มฮามาสที่มีต่ออิสราเอล ก็มิได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะกลุ่มฮามาสทำการซ้อมรบติดต่อกันมาหลายเดือน ก่อนที่จะเปิดฉากโจมตีอิสราเอลด้วยซ้ำไป

อนึ่งภายหลังที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลสิบวันต่อมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้เดินทางไปพบและกล่าวให้กำลังใจต่อ “นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู” หลังจากกลุ่มฮามาสเข้าโจมตีอิสราเอล

แต่ในทางกลับกันในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ต้องถูกคร่าชีวิตไปกว่า 3,400 คน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ปาเลสไตน์แค่เพียง 100 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากนั้นก็มิได้แสดงบทบาทอะไร แถมตอนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเดินทางกลับไปถึงสหรัฐฯ เขายังออกมากล่าวแถลงในทำนองที่ว่า “อิสราเอลมีสิทธิโดยความชอบธรรมในการปกป้องตนเอง”

และหากดูความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้แก่อิสราเอลนั้น นับว่ามากที่สุดกว่าทุกๆ ประเทศในโลก ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาล ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากอิสราเอลมีกลไกด้านการประชาสัมพันธ์ที่เหนือกว่า อาทิเช่น ระหว่างปีค.ศ. 1951-2022 สหรัฐฯ ช่วยเหลืออิสราเอลเป็นจำนวนเงินถึง 317.9 พันล้านดอลลาร์ และในปีค.ศ. 2022 สหรัฐฯ ก็ช่วยเหลืออิสราเอลอีก 3.3 พันล้านดอลลาร์ 99.7% ซึ่งเป็นการช่วยเหลือด้านการทหาร

อย่างไรก็ตามการที่กลุ่มนักรบติดอาวุธฮามาสจับตัวประกันไปเป็นจำนวนมากนั้น สิ่งที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทำได้ก็แค่เพียงยกหู โทรศัพท์คุยกับ “ชีค ทามีม บิน ฮาหมัด อัลธานี” ประมุขแห่งรัฐกาตาร์ , “นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู” แห่งอิสราเอล และ “ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตอห์ เอล-ซิซี” แห่งประเทศอียิปต์ ติดต่อกันหลายครั้งหลายหน

และจากผลของการหยั่งเสียงที่สำรวจโดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2023 เกี่ยวกับท่าทีของชาวอเมริกันในเรื่องราวที่อิสราเอลสู้รบตอบโต้กับกองกำลังฮามาส ปรากฏว่า 50% เห็นพ้องด้วย และ 75% ของคนอเมริกันเล็งเห็นว่า หากสงครามอิสราเอลและฮามาสดำเนินต่อไป ก็อาจจะส่งผลร้ายที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ

อนึ่งส.ส.ราชิดา ทลายบ์ ซึ่งมีเชื้อสายปาเลสไตน์คนแรกที่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้แทนฯของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้เธอได้ออกมาวางตัวเป็นกระบอกเสียงให้แก่ชาวปาเลสไตน์ แต่เมื่อใดก็ตามที่เธอออกมากล่าววิพากษ์วิจารณ์โจมตีอิสราเอล บรรดาเพื่อนๆ สมาชิกในสภาคองเกรสต่างก็ออกมาแสดงความไม่พอใจ ต่างเรียกร้องให้ขับไล่เธอออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนฯของสหรัฐฯ !!!

ใครบ้างคือตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับไป ?

ตัวประกันทั้ง 240 คนที่ถูกจับเป็นเชลย ส่วนใหญ่อาศัยในเมืองต่างๆ ตามแนวชายแดนของอิสราเอลที่มีอาณาเขตติดกับฉนวนกาซา

จากสำนักข่าวเอพีและสำนักข่าวรอยเตอร์ของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2023 ได้ออกมาเปิดเผยว่า พี่น้องคนไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับไปเป็นตัวประกันมีประมาณ 32 คน

ขณะนี้มีคนไทยที่เดินทางเข้าไปทำงานในอิสราเอลมากกว่า 3,000 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานด้านเกษตรกรรม

และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2023 กองทัพอิสราเอลได้เปิดเผยว่า พบศพผู้หญิงสองคนวัย 69 ปี และวัย 19 ปีใกล้ๆ กับโรงพยาบาลอัล-ชิฟาในเมืองกาซา โดยที่ผ่านมาทั้งคู่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน !!

อนึ่ง ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2023 มีข่าวที่น่ายินดีว่า อิสราเอลและกลุ่มฮามาสตกลงจะขยายเวลาหยุดยิงสงบศึกในฉนวนกาซาเพิ่มไปอีก 2 วัน เพื่อหาหนทางแลกเปลี่ยนตัวประกันที่ยังมีเหลืออยู่

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นถึงแม้ว่ากลุ่มนักรบติดอาวุธฮามาส จะปล่อยตัวเชลยที่จับไปเป็นตัวประกันชุดสุดท้าย ตามมาด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายต่างทำข้อตกลงที่จะขยายเวลาสงบศึกต่อไปอีกสองวันกันแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าอิสราเอลตั้งใจและต้องการจะบีบบังคับให้กลุ่มฮามาสถอนตัวออกไปจากฉนวนกาซา ซึ่งดูๆ ไปแล้วมิใช่เรื่องง่ายๆ เพราะกลุ่มฮามาสครอบครองดินแดนนี้มาอย่างยาวนาน เท่ากับว่าทุกๆ อย่างในสงครามครั้งนี้ ยังไม่มีอะไรแน่นอน และโอกาสที่สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะปะทุจนต้องออกมาต่อสู้กันอีกครั้ง ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ที่อาจจะขยายจนกลายเป็นสงครามในวงกว้างขึ้นไปอีก ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดก็คือ ให้การสงบสงครามชั่วคราวในครั้งนี้ แปรเปลี่ยนเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะหันหน้ามาเจรจายุติสงครามกันแบบถาวร

คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย

อุตุนิยมวิทยาโลกประกาศ ปี 2566 ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประกาศว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิโลกสูงขึ้นประมาณ 1.4 องศาเซลเซียส เหนือระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (30 พ.ย.) ขณะที่อีก 1 เดือนจะสิ้นสุดปี แต่ปี 2566 ภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นประมาณ 1.4 องศาเซลเซียส เหนือระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม

รายงานสถานะสภาพภูมิอากาศโลก ของ ดับเบิลยูเอ็มโอ ยืนยันว่าปี 2566 จะเป็นปีที่อบอุ่นที่สุดเป็นประวัติการณ์ สูงกว่าสถิติเดิมที่บันทึกได้ในปี 2559 ซึ่งโลกมีอุณหภูมิอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 1.2 องศาฯ ที่ทำให้บรรดาผู้นำโลกที่ร่วมการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศประจำปีขององค์การสหประชาชาติ หรือ COP28 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่นครดูไบต้องเผชิญความท้าทายในการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเร็วขึ้น

ปีเตอร์รี ทาลาส เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าวว่า “ระดับก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิโลกสูงเป็นประวัติการณ์ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติก ต่ำเป็นประวัติการณ์”

อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยรายงานดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าโลกกำลังจะเกินขีดจำกัดภาวะโลกร้อนในระยะยาวที่ 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในการหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดหายนะ ภายใต้ข้อตกลงปารีสปี 2558

รายงานระบุว่า ปีนี้น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกในช่วงฤดูหนาว ขยายตัวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดย น้อยกว่าสถิติครั้งก่อนประมาณ 1 ล้านตารางกิโลเมตร รายงานยังระบุว่า ธารน้ำแข็งของสวิตเซอร์แลนด์สูญ เสียปริมาตรที่เหลืออยู่ประมาณ 10% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ขณะที่ไฟป่าได้เผาผลาญพื้นที่ป่าเป็นประวัติการณ์ในแคนาดา ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5% ของพื้นที่ป่าของประเทศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ประกอบกับการปรากฏของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ในแปซิฟิกตะวันออก ยิ่งผลักให้โลกเข้าสู่ขอบเขตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ปีหน้าอาจเลวร้ายกว่านั้น เนื่องจากผลกระทบของเอลนีโญมีแนวโน้มที่จะถึงจุดสูงสุดในฤดูหนาวนี้ และส่งผลให้อุณหภูมิจะสูงขึ้นในปี 2567


บลิงเคนดอดพบยิวอีก ขอยืดเวลาหยุดยิง

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานตามติดการเดินทางเยือนนครเทลอาวีฟ อิสราเอล ของนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศ สหรัฐฯ เพื่อหารือกับนายไอแซค เฮอร์ซอก ประธานาธิบดีอิสราเอล ในการขยายเวลาการยุติการสู้รบชั่วคราวระหว่างกองทัพอิสราเอล (IDF) กับกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับไปคุมขังในฉนวนกาซาตั้งแต่ 7 ต.ค. ที่แม้มีการแลกเปลี่ยนตัวประกันระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ แต่ยังคงมีตัวประกันหลงเหลืออยู่ในฉนวนกาซาราว 150 คน

นายบลิงเคนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการหยุดยิงชั่วคราว รวมถึงหวังว่าจะมีการหยุดโจมตีในฉนวนกาซาเป็นการชั่วคราวต่อไป เพื่อให้พลเรือนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ ด้านมนุษยธรรมได้มากขึ้น ก่อนหน้านี้ กองทัพอิสราเอลขยายเวลาการหยุดยิงชั่วคราวเพิ่มอีก 1 วัน เพื่อเจรจาแลกเปลี่ยนตัวประกันโดยมีกาตาร์เป็นผู้ไกล่เกลี่ย การประกาศต่อเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการสิ้นสุดข้อตกลงพักรบชั่วคราวเดิมที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 พ.ย. ที่มีกำหนดสิ้นสุดในเวลา 07.00 น. ของวันที่ 30 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นเพียง ไม่กี่นาที ทำให้การหยุดโจมตีชั่วคราวในฉนวนกาซา ดำเนินเข้าสู่วันที่ 7

แม้มีการประกาศต่อเวลาพักรบ กระนั้น ก็ไม่ได้คลายความกังวลแก่พลเรือนปาเลสไตน์ที่อยู่ในฉนวนกาซา โดยเฉพาะชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ ในเมืองข่าน ยูนิส ที่ผู้คนต่างหวาดกลัวว่ากองทัพอิสราเอลอาจกลับมาปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเมื่อไรก็ตามที่การพักรบชั่วคราวสิ้นสุดลง โดยสำนักข่าวอัลจาซีราระบุว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 30 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น เรือปืนของอิสราเอลได้เปิดฉากยิงในบริเวณชายฝั่งเมืองข่าน ยูนิส และยังพบเห็นเครื่องบินรบและโดรนของกองทัพบินเหนือเมืองดังกล่าวอีกด้วย

ทั้งนี้ สำนักข่าวไทม์ส ออฟ อิสราเอล รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 07.40 น. ของวันที่ 30 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น มีชายนิรนาม 2 คน ขับรถมาจอดที่ป้ายรถเมล์ บริเวณทางหลวงในกรุงเยรูซาเลม อิสราเอล ก่อนเปิดฉากกราดยิงด้วยปืนไรเฟิลเอ็ม-16 และปืนพกในบริเวณดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ศพ บาดเจ็บ 16 ราย ก่อนทหารอิสราเอลที่ไม่ได้อยู่ในหน้าที่และพลเมืองดีเข้าควบคุมสถานการณ์และสังหารมือปืนทั้ง 2 คน หน่วยรักษาความมั่นคงชินเบต (Shin Bet) ระบุว่า มือปืนทั้ง 2 รายเป็นพี่น้องจากเขตเซอร์ บาเฮอร์ ในเยรูซาเลมตะวันออก และเป็นสมาชิกกลุ่มฮามาส ด้านนายบลิงเคนและนายเฮอร์ซอก ประณามเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเลมเช่นกัน


ทัพอิสราเอล “หวนถล่มกาซ่า” หลังดีลหย่าศึกสิ้นสุด-ตอบโต้จรวดฮามาส ดับกว่าร้อย

เอเอฟพี รายงานวันที่ 1 ธ.ค. ว่า กองทัพอิสราเอลหวนสู้รบในพื้นที่ฉนวนกาซ่าอีกครั้งหลังข้อตกลงหย่าศึกวันที่ 7 ถึงกำหนดสิ้นสุดลงเมื่อช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น

“กลุ่มฮามาสฝ่าฝืนข้อตกลงพักรบชั่วคราวและยิงไปยังดินแดนอิสราเอลด้วย กองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) จึงกลับมาต่อสู้กับองค์กรก่อการร้ายฮามาสในฉนวนกาซ่าอีกครั้ง”

การประกาศดังกล่าวมีขึ้นไม่นานหลังจากอิสราเอลกล่าวว่าได้สกัดกั้นจรวดที่ยิงจากฉนวนกาซ่า ด้านผู้สื่อข่าวภาคสนามระบุว่าเครื่องบินของกองทัพอิสราเอลโจมตีหลายครั้ง รวมถึงมีการยิงปืนใหญ่ในกาซ่าด้วย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขภายใต้การดำเนินการของกองกำลังฮามาสระบุว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 100 รายหลังการหยุดยิงสิ้นสุดลง และการสู้รบหวนกลับมาอีกครั้ง

นายแอนโทนี่ บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวหลังจากประชุมกับผู้นำหลายประเทศที่อิสราเอลเพื่อแก้วิกฤตนองเลือดในกาซ่าว่า

“ต้องการเห็นกระบวนการนี้ดำเนินต่อไป เราต้องการวันที่ 8 และวันต่อๆ ไป อิสราเอลต้องจัดทำแผนคุ้มครองพลเรือนด้านมนุษยธรรมเพื่อลดการบาดเจ็บล้มตายของชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์ให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงกำหนดพื้นที่ทางตอนใต้และตอนกลางของฉนวนกาซ่าอย่างชัดเจนว่าพวกเขาจะปลอดภัยและพ้นจากแนวยิงได้” นายบลิงเคนกล่าวย้ำ

ก่อนหน้านี้อิสราเอลปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์ 30 คนเมื่อค่ำวันที่ 30 พ.ย. ในจำนวนนี้เป็นผู้เยาว์ 23 คน และผู้หญิง 7 คน ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกองกำลังฮามาสปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอล 8 คน โดย 2 คนเป็นบุคคลสองสัญชาติ ฝรั่งเศส-อิสราเอล

แม้จะน้อยกว่าตัวประกัน 10 คนตามข้อตกลง แต่ทางการกาตาร์ซึ่งเป็นคนกลางประสานการเจรจาระบุว่าผู้ถือสองสัญชาติ รัสเซีย-อิสราเอล จำนวน 2 คนที่ฮามาสปล่อยเพิ่มเมื่อค่ำวันพุธที่ 29 พ.ย. รวมอยู่ในกลุ่มตัวประกันที่ได้รับอิสระในวันที่ 30 พ.ย. และทำให้ตัวเลขครบ 10 คนตามข้อตกลง

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มข้อตกลงหย่าศึกฮามาสปล่อยตัวประกันแล้ว 110 คน เป็นชาวอิสราเอล 80 คน และมีชาวต่างชาติที่ได้รับการปล่อยตัวแยกจากข้อตกลงอีก 30 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวไทย ขณะที่นักโทษชาวปาเลสไตน์ได้รับอิสระแล้ว 240 คน


COP28 เห็นพ้องบรรจุความสำคัญด้านอาหารและเกษตรกรรมไว้ในแผนสภาพภูมิอากาศ

1 ธันวาคม 2566 : ประเทศต่างๆ กว่า 130 ประเทศเห็นพ้องร่วมกันในการจัดลำดับความสำคัญด้านอาหารและการเกษตรไว้ในแผนสภาพภูมิอากาศระดับสากลในการประชุม COP28 ที่ดูไบ เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP 28 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค.2566 ได้บทสรุปสำคัญบางประการในวันแรกของการประชุม กว่า 130 ประเทศเห็นพ้องร่วมกันว่าจะบรรจุความสำคัญด้านอาหารและการเกษตรไว้ในแผนสภาพภูมิอากาศระดับสากล ที่ประชุมเล็งเห็นว่า ระบบการผลิตอาหารซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณหนึ่งในสามที่มนุษย์สร้างขึ้น กำลังถูกคุกคามมากขึ้นจากภาวะโลกร้อนและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเป็นที่มาให้ 134 ประเทศที่ผลิตอาหารได้กว่า 70% ของปริมาณบริโภคทั่วโลก ได้ร่วมลงนามในปฎิญญาที่ระบุว่าประเทศต่างๆ จะเพิ่มความพยายามในการบูรณาการระบบอาหารเข้ากับแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศปารีสได้ โดยไม่กล่าวถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบอาหาร, เกษตรกรรม และสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน” มาเรียม อัลเฮรี รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวในฐานะเจ้าภาพการประชุม

นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ จะพยายามสนับสนุนเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารที่มีความเสี่ยงในปัจจัยต่างๆ รวมถึงการระดมทุนเพิ่มขึ้น, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า

ที่ประชุมยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการฟื้นฟูที่ดิน, การเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดความสูญเสียด้านอาหาร

ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, จีน และบราซิล ต่างเห็นพ้องร่วมลงนามด้วยเช่นกัน

แถลงการณ์ของที่ประชุม COP28 ระบุว่า 134 ประเทศเป็นที่อยู่อาศัยของประชากร 5.7 พันล้านคน และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 3 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากระบบอาหารทั่วโลก หรือคิดเป็น 25% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้บรรดาผู้สังเกตการณ์ต่างยกย่องปฎิญญาดังกล่าวของที่ประชุมฯ แต่ก็ยังมีความกังวลต่อประเด็นบทบาทของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นปัจจัยหลักของปัญหาสภาพอากาศ เนื่องจากไม่มีการกล่าวถึงประเด็นนี้โดยตรง ซึ่งถือเป็นการละเลยอย่างเห็นได้ชัด

คิม จองอึน สั่งกองทัพ “เตรียมความพร้อม” ตอบสนองต่อการยั่วยุของศัตรู

รอยเตอร์ และ สเตรตส์ไทมส์ รายงานวันที่ 1 ธ.ค. ว่า นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ สั่งการให้กองทัพเตรียมพร้อมตอบสนองต่อการยั่วยุของศัตรู

สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือระบุว่า นายคิมเดินทางเยือนกองทัพอากาศเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรำลึกถึงวันทหารอากาศของประเทศ พร้อมทั้งเยี่ยมชมหน่วยต่อสู้อากาศยาน และดูการแสดงทางอากาศของนักบิน

“นายคิมประเมินถึงความพร้อมของนักบินในการปฏิบัติภารกิจสู้รบทางอากาศโดยไม่มีข้อผิดพลาดและไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยใดๆ”

ถือเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องหลังจากเกาหลีเหนือปล่อยดาวเทียมสอดแนมทางทหารมัลลิกยอง-1 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ก่อนประกาศกร้าวว่าจะส่งกองกำลังติดอาวุธที่แข็งแกร่งกว่าและอาวุธใหม่กว่าไปประจำการบริเวณชายแดนติดเกาหลีใต้

นอกจากนี้นายคิมยังดูภาพถ่ายจากดาวเทียมสอดแนม โดยพุ่งเป้าไปที่หลายเมืองทั่วเกาหลีใต้ รวมถึงฐานทัพสหรัฐอเมริกา และทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ก่อนหน้านี้น.ส.คิม โยจอง น้องสาวผู้ทรงอิทธิพลของนายคิม ออกแถลงประณามนานาชาติที่ตำหนิการปล่อยดาวเทียมมัลลิกยอง-1 ว่าเป็นการกระทำที่ไร้สาระ พร้อมย้ำว่าเกาหลีเหนือจะไม่มีวันละทิ้งโครงการอวกาศ

ภายหลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) จัดการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ 27 พ.ย. เพื่อหารือเกี่ยวกับการปล่อยดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนือซึ่งเข้าข่ายละเมิดมติคว่ำบาตรของยูเอ็นเอสซี

น.ส.คิม โยจอง กล่าวว่าการวิพากษ์วิจารณ์โครงการดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนือนั้นเป็นเท็จ และปฏิเสธสิทธิในอธิปไตยของเกาหลีเหนือ “เกาหลีเหนือจะไม่มีวันเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาเพื่อให้อำนาจอธิปไตยของตนเป็นวาระในการเจรจา เกาหลีเหนือมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาดาวเทียม และจะใช้สิทธิในอำนาจอธิปไตยโดยไม่ถูกจำกัดต่อไปในอนาคต” น.ส.คิม โยจองกล่าวปัดข้อเสนอหารือของทางการสหรัฐฯ