ข่าว
'สมาคมทนาย' ยื่นศาล รธน. 'เทือก-มาร์ค' ล้มปกครองปชต.

"นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์'' นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยฉุกเฉินกรณีการชุมนุม "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เข้าข่ายล้มล้างการปกครองผิดตามมาตรา 68 หรือไม่

วันที่ 6 ธ.ค. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการเข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยฉุกเฉินกรณีการชุมนุมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ว่าผิดมาตรา 68 กรณีผู้ถูกร้องทั้งสาม คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ กระทำการใช้สิทธิและเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่

โดยสมาคมทนายความฯ ได้ขอให้ศาลพิจารณาฉุกเฉิน 3 หัวข้อ คือ ขอให้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยุติการชุมนุมที่มีลักษณะการปิดล้อม เข้ายึดและบุกรุกสถานที่ราชการ และขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทุกคนเป็นเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ นายกสมาคมทนายความฯ กล่าวอีกว่า หากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องจะมีการประชุมหารือกับคณะกรรมการสมาคมต่อไป แต่คาดว่าศาลจะรับพิจารณาเรื่องนี้อย่างแน่นอน

นัก ก.ม.สวดขอ "นายกฯ" ม.7 แฉมีอำนาจมืดดันอยู่เบื้องหลัง

อดีตประธานศาล รธน.ชี้ทางออกเดียวประเทศไทย แก้ ม.291 นักกฎหมายอิสระสวดพวกขอ "นายกฯ" ม.7 เป็นมนุษย์ต่างดาว แฉมีอำนาจมืดอยู่เบื้องหลัง

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในงานเสวนา “มาตรา 7 ทางออกวิกฤติสังคมไทยหรือไม่ ?” ว่า กรณีสภาประชาชนตนได้ยินคำนี้แล้วตกใจ เพราะเป็นคำต้องห้ามสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร มีเพียงประเทศเดียวประสบความสำเร็จคือประเทศจีน สำหรับประเทศไทยเป็นคำใหม่มาก ไม่รู้อำนาจเป็นอย่างไรจะเหมือนคอมมิวนิสต์จีนหรือไม่ ตราบใดมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอยู่จะมีสภาประชาชนได้อย่างไร ส่วนมาตรา 7 ได้ยินบ่อยมาก แต่ไม่เคยเห็นเอามาใช้เพราะค่อนข้างจะผิดรัฐธรรมนูญ และไม่รู้ว่าใช้อย่างไรให้ได้ผล นายกฯมาตรา 7 ตั้งไม่ได้อยู่แล้ว

ดร.กระมล กล่าวต่อว่า การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 เป็นการใช้พระราชอำนาจ โดยมีประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติรับสนองพระบรมราชโองการ อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่าหากต้องการหาทางออกทางการเมืองก็ควรใช้รัฐธรรมนูญมาตราอื่น ๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เชื่อว่าจะเดินหน้าได้ เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นทางออกเดียวที่เห็นอยู่ในตอนนี้ การยุบสภาทำได้แต่วงจรเดิมก็กลับมาอีก ดังนั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนดีกว่า

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่า ถ้าจะมีสภาประชาชนต้องล้มรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อน ข้อเสนอนี้เป็นการมองข้ามช็อต เป็นการเสนอนอกเหนือรัฐธรรมนูญ หรือคนเสนอคิดว่ายึดอำนาจประเทศนี้ไปแล้ว มาตรา 7 ไม่ใช่ทางออกแต่เป็นทางตัน สิ่งที่เสนออยู่นอกรัฐธรรมนูญ การขอนายกฯพระราชทานถือว่าอันตรายมาก หากต้องการหาทางออกควรให้รัฐสภาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ค้างอยู่ให้มี ส.ส.ร. แล้วมาตกลงกัน ก่อนให้นายกฯยุบสภา กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็จะเดินหน้าต่อไป แล้วให้มวลมหาประชาชนทั่วประเทศออกเสียงลงประชามติ

ขณะที่ รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า มาตรา 7 ถูกออกแบบเป็นกลไกอุดช่องว่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาไม่เคยถูกใช้เลย ถามว่าวันนี้จะนำมาใช้ได้หรือไม่ ตนคิดว่าใช้ไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลา ตามที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต้องให้มีการยุบสภา แล้วนายกฯรักษาการณ์ลาออกทำให้เกิดสุญญากาศ แต่การยุบสภาจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายบริหารขัดแย้งกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งสภาพความขัดแย้งตอนนี้ไม่มี ดังนั้นจึงไม่เข้าเงื่อนไขยุบสภา ตอนนี้ 2 ฝ่ายขัดแย้งกันอยู่ การรณรงค์หาเสียงอาจปะทะกัน นำไปสู่ความรุนแรงได้

“คำถามคือมวลมหาประชาชนคือคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่ วันนี้ผมขอเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า มวลชนาธิปไตย สำหรับข้อเสนอเรื่องสภาประชาชนตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน ไม่รู้บทบาทหน้าที่ ท้ายที่สุดคงหนีไม่พ้นข้าราชการประจำ นักวิชาการ ทางออก คือ การพูดคุย เจรจาเดินสาย แต่ถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องทางออก คือ การแก้ไขมาตรา 291 ที่ค้างอยู่ ”

ส่วนนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า มาตรา 7 และสภาประชาชน คนอยู่เบื้องหลังคือนักวิชาการ ที่ใช้คำว่านักวิชาการเป็นข้ออ้างให้ตัวเองเป็นอภิสิทธิชน ตรงนี้เป็นอำนาจมืด เพราะไม่กล้าออกมายืนในที่สว่าง ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาต่อสู้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อำนาจนี้มีทั้งในกองทัพ ภาคธุรกิจ กลุ่มทุน การอ้างมาตรา 7 เป็นการเอาแต่ใจนึกอะไรก็เอามาตรา 7 ดังนั้นเลิกอ้างได้แล้ว คนนำมาตรา 7 มาอ้างเป็นมนุษย์ต่างดาว เพราะเป็นการอ้างสิ่งที่ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญ วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ต้องตอบว่าอยากจะถอยหลังเข้าคลองให้ทหารออกมาใช่หรือไม่

นายวีรพัฒน์ กล่าวต่อว่า ทางออกในเวลานี้ อยากให้นายกฯเปิดเวทีพูดคุย ถ้าต้องการให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ก็นำความคิดดี ๆ ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเชิญแล้วนายสุเทพไม่มา เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าถูกเชิดโดยอำนาจมืด ก็จะต่อเวลาไปเรื่อย ๆ.

จ่อดำเนินคดี "บลูสกาย" ฐานสนับสนุน "เทพเทือก"

"ปึ้ง" แจงยิบข้อหาสนับสนุนผู้ต้องหาเป็นกบฏ ฮึ่มผู้ว่าฯ กทม.มีสิทธิติดร่างแห เผยตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด แก้ปัญหาม็อบ ยืนยันจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อคืนความสงบให้บ้านเมือง พร้อมวอนยุติการชุมนุมได้แล้วเพื่อเห็นแก่ประเทศชาติ

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ในฐานะกำกับดูแล ศอ.รส. กล่าวว่า ได้นัดประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ หลังจากนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์จัดทำแผนและประสานงาน มีตนเป็นประธาน โดยให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรณ รมว.มหาดไทย เป็นรองประธาน

นอกจากนี้ จะมีคณะกรรมการด้านกฎหมาย โดยให้นายชัยเกษม นิติสิริรมว.ยุติธรรม เป็นประธาน คณะกรรมการดูแลประชาชน มีนายจารุพงศ์ เป็นประธาน และคณะกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศ มี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นประธาน ซึ่งการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ได้มีข้อสรุปหลายประเด็น คือ 1.การดำเนินการของคณะทำงานที่ปฏิบัติงานตั้งแต่ในตอนนี้ ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก อย่างกรณีนายสุเทพเป็นผู้ต้องหากบฏ ดังนั้นผู้สนับสนุนนายสุเทพจะถือว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนผู้ที่เป็นกบฏ ต้อมีความผิดแน่นอนตาม มาตรา 114 ต้องมีการใช้ข้อกฎมายให้ชัดเจน ซึ่งได้กำชับ พล.ต.อ.อดุลย์ให้ออกหมายจับผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งทางกรมสอบสวนคดีพิเศศ (ดีเอสไอ)และ ผบ.ตร.จะทยอยออกหมายจับ

เมื่อถามว่า จะมีการออกหมายจับเพิ่มเติมผู้สนับสนุนรายใดบ้าง นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากการหารือรายแรก คือ สถานีบลูสกาย แต่ไม่ใช่เป็นการปิดสถานี เพียงแต่ผู้บริหารบลูสกายนั้นชัดเจน ว่า ให้ความสนับสนุน นายสุเทพ ซึ่งผิดตาม มาตรา 114 ดังนั้นบลูสกายจะต้องเจอหมายศาลอย่างแน่นอน ส่วนจะมีรายอื่นเข้ามาด้วยหรือไม่ คงต้อรอ สำหรับผู้ชุมนุมจะยังไม่พิจารณา ว่า ผิดหรือไม่ผิด แต่จะเริ่มทยอยออกหมายจับ และถ้าไม่มามอบตัวเมื่อทุกอย่างจบก็ต้องติดคุก ซึ่งมีโทษจำคุก 3 – 15 ปี ต่างกรรมต่างวาระกันไป ทั้งนี้นอกจากบลูสกาย ยังมีหน่วยงานอื่น เพราะได้กำชับดีเอสไอไปแล้ว ซึ่งเป็นเลขาฯ ของทีมกฎหมายรับไปดำเนินการ และไม่คิดว่าจะเติมเชื้อไฟให้เกิดความรุนแรง เพราะรัฐไม่ได้สั่งให้ปิดสถานี เพียงแต่เป็นการแจ้งความและมีหมายศาลไว้ก่อน

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ กทม.ที่ให้การสนับสนุนด้วย อย่างเช่น นำส้วมไปให้ใช้ หรือรถน้ำไปให้ ก็มีความผิด กทม.ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย วันนี้ได้กำชับกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแจ้งเตือนไปก่อน เพราะหลักการที่มีอยู่ชัดเจนว่า ให้ความช่วยเหลือต้องถูกจับกุมทั้งหมด แม้แต่ตัวผู้ว่าฯ กทม. ถ้ามีความผิดชัดเจนว่ากระทำผิดก็ต้องถูกดำเนินการเช่นกัน เราจะต้องปฏิบัติตามกฎมายอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นกฎหมายคงไม่มีความหมาย ใครทำผิดก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) คงไม่มีการหารืออีกแล้ว เพราะหากนายกรัฐมนตรีไปหารือ ก็จะกลายเป็นว่ามีความผิดไปสมรู้ร่วมคิด ดังนั้นนายสุเทพต้องมอบตัวตามที่มีหมายจับ แม้แต่ตนหรือใครก็ไปเจรจาด้วยไม่ได้ เพราะจะมีความผิดทั้งหมด

ส่วนกรณีมีข่าวว่า ตำรวจใช้น้ำผสมสารเคมีกลายเป็นน้ำกรด ตามที่แพทย์ชนบทออกมากล่าวหา นายสุรพงษ์ กล่าวว่า โชคดีที่โรงพยาบาลสามารถชี้แจงได้ว่า น้ำดังกล่าวเป็นสีผสมธรรมดา เรื่องแบบนี้ต้องรีบชี้แจงต่อสังคมให้เข้าใจ และที่สำคัญตอนนี้ได้รับข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะกลับมาสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมและต้องประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าในช่วงนี้เป็นงานพระราชพิธี คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์จะต้องรีบแจ้งให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ในการหารือวันนี้จึงรีบแบ่งงานเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในส่วนของของคณะทำงานดูแลเยียวยาประชาชน ทาง รมว.มหาดไทยจะต้องเร่งหารือเพื่อหาวิธีการช่วยเหลือ อาทิเช่น การที่เด็กไปเรียนหนังสือไม่ได้ ตรงนี้เราจะไม่ยอม จากนี้ไปเด็กนักเรียนจะต้องได้เรียนหนังสือ โดยคณะทำงานทั้งสี่ชุดจะทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกัน เน้นนำข้อเท็จจริงชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ

“รัฐบาลอยากเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมน่าจะยุติได้แล้ว เพราะสังคมส่วนหนึ่งไม่อยากเห็นความวุ่นวาย และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า ประเทศไทยเราอยู่กันอย่างเป็นปึกแผ่นมาช้านาน ความสงบสุขของประชาชน เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านอยากเห็น ผมคิดว่าวันนี้ราต้องทำทุกอย่างให้บ้านเมืองสงบ เพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน สิ่งใดที่ทำให้พระองค์ท่านสบายใจ นั่นก็คือความสงบสุขของประชาชน ถ้าคุณสุเทพอยู่ที่ไหนที่เราสามารถจับตัวได้ จะจับกุมตัวอย่างแน่นอน เพราะถือว่าเขาเป็นคนที่โดนหมายศาล เมื่อมีโอกาสต้องจับกุม ”นายสุรพงษ์ กล่าว

เมื่อถามถึงการประเมินความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่จะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง นายสุรพงษ์ กล่าวว่า คิดว่าผู้ชุมนุมจะเริ่มทยอยเอาคนเข้ามาอีก ซึ่งการข่าวของรัฐบาลพอจะทราบว่า จะมีการระดมคนเข้ามา ซึ่งรูปแบบการเคลื่อนไหว คิดว่าผู้ชุมนุมจะทำให้รุนแรงมากขึ้น เพื่อที่จะปรักปรำและผลักความรับผิดชอบมาที่รัฐบาล เป็นวิธีการเดียวที่คิดและเชื่อว่าจะสำเร็จ แต่ตนอยากจะบอกว่าอย่าทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือสถานที่ราชการ โดยเฉพาะการไปปิดกั้นให้ข้าราชการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สังคมโลกก็ไม่ยอมรับ สิ่งที่นายสุเทพเรียกร้องไม่มีใครรับได้ และขอให้นายสุเทพไปหาหมอเสียดีกว่า

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นฝ่ายให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่อ่อนไหว ซึ่งขณะนี้มีแผนทั้งหมดไว้แล้วในการดูแลสถานที่ต่างๆ เพื่อรอบรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพียงแต่วันนี้ได้มีมาตรการที่มั่นคงแข็งแรงมากขึ้น ส่วนผู้ชุมนุมจะดาวกระจายไปจุดไหนบ้างยังไม่ทราบ แต่ได้ข่าวว่าจะไปยึดสถานที่เดิมๆ ที่เคยยึดมาแล้ว.