ข่าว
นิวยอร์กเกิด 'อาชญากรรมชังเอเชีย' มากเป็นสถิติ

11 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานอัยการนิวยอร์กระบุว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีคดีที่เกิดจากความเกลียดชังต่อต้านชาวเอเชียจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่หน่วยต่อต้านอาชญากรรมจากความเกลียดชังก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 อีกด้านกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้เผยว่า นักการทูตรายหนึ่งเพิ่งโดนทำร้ายบาดเจ็บอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

เอเอฟพี รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าความรุนแรงต่อต้านคนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อปี 2563 นักเคลื่อนไหวเชื่อกันว่า อาชญากรรมจากความเกลียดชังถูกกระตุ้นจากการพูดถึง "ไวรัสจีน" ทั้งจากปากของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเจ้าหน้าที่หลายคนในรัฐบาลของเขา ในช่วงเริ่มแรกของการระบาด

เจ้าหน้าที่รัฐนิวยอร์กยังอ้างถึงประวัติอาการป่วยทางจิตของผู้ก่อเหตุหลายคน ซึ่งสภาพแย่ลงเพราะการหยุดชะงักของบริการสังคมระหว่างโรคระบาดด้วยเช่นกัน

อัลวิน แบร็กก์ อัยการเขตแมนฮัตตัน กล่าวที่นิวยอร์กเมื่อวันพฤหัสบดีว่า น่าเศร้าที่ขณะนี้สำนักงานของเราต้องดำเนินคดีอาชญากรรมจากความเกลียดชัง 33 คดี ที่ขับเคลื่อนจากอคติต่อต้านชาวเอเชีย และโชคร้ายที่เป็นจำนวนคดีมากที่สุดนับตั้งแต่หน่วยอาชญากรรมจากความเกลียดชังของเราก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553

สำนักงานอัยการแมนฮัตตันกล่าวในแถลงการณ์ว่า สำนักงานดำเนินคดีอาชญากรรมต้านเอเชียในปี 2564 มากกว่าปีก่อนหน้านั้นเกือบ 4 เท่า

อัยการแบร็กก์ ให้ทัศนะเรื่องนี้ระหว่างการประกาศข่าวว่า จาร์ร็อด พาวเวลล์ ชายอายุ 50 ปี ถูกตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนและก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง หลังจากเหยา ปัน หม่า ชาวจีนวัย 61 ปีที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่อเมริกา ซึ่งโดนพาวเวลล์ทำร้ายที่อีสต์ฮาร์เลม เมืองแมนฮัตตัน เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เสียชีวิตลงเมื่อเดือนธันวาคม ทำให้อัยการเปลี่ยนข้อหาเขาจากพยายามฆ่าเป็นฆ่าคนตาย

คำประกาศเปลี่ยนคำฟ้องร้องดำเนินคดีชายอเมริกันรายนี้เกิดในวันเดียวกับที่กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้แถลงว่า นักการทูตเกาหลีใต้ประจำองค์การสหประชาชาติรายหนึ่งโดน "ชายนิรนาม" ทำร้ายร่างกายที่แมนฮัตตันเมื่อวันพุธที่ผ่านมา คำแถลงไม่ได้เปิดเผยเพศและอายุของเจ้าหน้าที่ทูตผู้นี้ แต่บอกว่าเขาได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลและออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นแล้ว กระทรวงจะเรียกร้องให้ตำรวจพื้นที่สอบสวนอย่างรอบคอบโดยเร็ว

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยที่เขาไม่ทันตั้งตัวและไม่รู้จักกับผู้ก่อเหตุมาก่อน นิวยอร์กโพสต์กล่าวว่า เขาโดนฟาดหน้าทำให้จมูกหัก ส่วนคนร้ายเดินหนีไปและยังจับตัวไม่ได้

จับตา 'โอมิครอนล่องหน' กลายเป็นสายพันธุ์หลัก ระบาดในแอฟริกาใต้แล้ว

แอฟริกาใต้ เผย เชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ฉายา โอมิครอนล่องหน กลายเป็นสายพันธุ์หลักระบาดแทนที่สายพันธุ์ดั้งเดิม นักวิทยาศาสตร์เชื่อติดเชื้อง่ายกว่าสายพันธุ์แม่

เมื่อ 11 ก.พ. 65 เว็บไซต์เมโทรรายงาน ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้เผย เชื้อโควิดโอมิ ครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ฉายา โอมิครอนล่องหน กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ แทนโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 ไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่มีรายงานเชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงฤดูหนาวของปีนี้ ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดกันว่าเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อง่ายกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม

สหราชอาณาจักร พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ ย่อย BA.2 มากขึ้น ในขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเชื้อโควิดโอมิครอนกลายพันธุ์ สายพันธุ์ BA.2 นี้อาจกลายเป็นเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก

ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่รายงานต่อองค์กาารอนามัยโลกว่าพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเกิดการกลายพันธุ์ที่รหัสพันธุกรรมมากถึง 50 ตำแหน่งเมื่อพ.ย.ปี 64 ระบุว่า เชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ ชี้ว่า ทางสำนักงานได้รับข้อมูลว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อย กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในประเทศแอฟริกาใต้แทนที่โอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งคาดว่ามีต้นกำเนิดในประเทศฟิลิปปินส์ มีการกลายพันธุ์ที่รหัสพันธุกรรมต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 ถึง 20 ตำแหน่ง จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะทำให้มันสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่ายกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม ทว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการป่วยหนักมากขึ้นหรือไม่

กองทัพบกสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดฝึกกระโดดร่มผสม-ปฏิบัติการยุทธศาสตร์ทางอากาศสหรัฐฯ-ไทย

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 รอยเตอร์ : พลร่มสังกัดกองทัพบกสหรัฐฯ และกองทัพบกไทยจะร่วมกันฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ (Strategic Airborne Operation: SAO) ณ ค่ายธนะรัชต์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังการฝึกกระโดดร่ม ณ ฐานทัพ Joint Base Lewis McChord (JBLM) รัฐวอชิงตันที่กองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกเป็นผู้จัดและสนับสนุนทุน ทั้งนี้ การฝึกดังกล่าวจะจัดขึ้นภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เคร่งครัดเพื่อป้องกันโรคโควิด-19

กองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก จะต้อนรับกำลังพลกองทัพบกไทย 120 นาย ณ ฐานทัพ Joint Base Lewis McChord รัฐวอชิงตัน ระหว่างวันที่ 11-23 กุมภาพันธ์ การฝึกผสมนี้จะเสริมสร้างศักยภาพของพลร่มไทยและอเมริกัน ฝึกอบรมการใช้ร่มชูชีพ T-11 ตลอดจนพัฒนาความพร้อมปฏิบัติการของกำลังพลทั้งสองฝ่าย

ในตอนท้ายของการฝึก พลร่มไทยจะฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ ณ สนามกระโดดร่ม ค่ายธนะรัชต์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ร่วมกับพลร่มสหรัฐฯ 115 นายจากกองพลน้อยที่ 4 กองทหารราบที่ 25 ฐานทัพ Joint Base Elmendorf Richardson รัฐอะแลสกา พลร่มไทยและอเมริกันจะเดินทางตรงจากรัฐวอชิงตันมายังประเทศไทยด้วยเครื่องบินลำเลียง C-17 Globemaster ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ โดยทั้งหมดจะเข้ารับการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 7 วัน รวมถึงผ่านการตรวจคัดกรองตามขั้นตอนเมื่อถึงที่หมายในไทย พลร่มทุกนายจะพักอยู่ภายในพื้นที่ควบคุม ณ ค่ายธนะรัชต์ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลไทย และจะไม่พบปะกับประชาชนในพื้นที่หรือบุคคลอื่นใดนอกบริเวณที่กำหนดไว้ตลอดระยะเวลา 7 วันดังกล่าว

การฝึกผสมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกที่ต่อเนื่องเป็นประจำระหว่างกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และกองทัพไทย ความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกำลังพลของเราเป็นหัวใจของพันธไมตรีด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับไทย อันมีรากฐานอยู่บนความทุ่มเทร่วมกันในการธำรงไว้ซึ่งภูมิภาคที่สันติ มั่งคั่ง และมั่นคง ด้วยการร่วมมือร่วมใจ สหรัฐฯ และไทยจะสามารถรับมือความท้าทายที่ซับซ้อนในอนาคต ซึ่งไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถกระทำได้โดยลำพัง


สหรัฐฯเผยความมุ่งมั่น เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคปี 2566

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565: คำแถลงโดยโฆษกทำเนียบขาว เจน ซากี เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปี 2566 ของสหรัฐอเมริกา

เราภูมิใจที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความทุ่มเทของเราในการยกระดับการค้าและการลงทุน ที่เป็นธรรมและเปิดกว้าง ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของอเมริกา และธำรงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส เสนอเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า เพราะเรามุ่งมั่นขยายและสร้างเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ และเราขอขอบคุณมิตรสหายสมาชิกเอเปคที่สนับสนุนสหรัฐฯ ในบทบาทดังกล่าว

เป้าหมายสูงสุดประการหนึ่งของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน และรองประธานาธิบดีแฮร์ริส คือ การเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งและพึ่งพาได้ของสมาชิกเอเปค ตลอดจนกำหนดวิถีทางสู่โอกาส ความมั่งคั่ง และการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับเราร่วมกันทุกฝ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เรมอนโด พร้อมด้วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เอกอัครราชทูตไทย และคณะทำงานของเรากำลังพัฒนากรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ร่วมกับหุ้นส่วนของสหรัฐฯ

เอกสารดังกล่าวจะระบุถึงวัตถุประสงค์ที่เรามีร่วมกันในด้านต่างๆ ซึ่งสำคัญต่ออนาคตของเรา อาทิ การอำนวยความสะดวกเชิงพาณิชย์ มาตรฐานสำหรับเศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิทัล ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การลดการปล่อยคาร์บอนและพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน และมาตรฐานแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บลิงเคน ยังได้เดินทางเยือนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในสัปดาห์นี้ เพื่อสานต่อพันธไมตรีทางการทูตที่สำคัญและผลักดันประเด็นที่เราให้ความสนใจอย่างสูงร่วมกันต่อไป

สหรัฐฯ มุ่งมั่นร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิด ในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี 2565 รวมถึงเปรู ในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี 2567 ตลอดจนบรรดาสมาชิกเอเปคในประเด็นที่เป็นประโยชน์กับประชาชนของเราทั้งหลาย


ไบเดน เรียกร้องให้พลเมืองสหรัฐฯ ควรออกจาก ยูเครน ทันที

วันที่ 11 ก.พ. เอเอฟพี และ บีบีซี รายงานสถานการณ์ความตึงเครียดที่พรมแดนยูเครนว่า นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้พลเมืองสหรัฐฯ ทั้งหมดในยูเครนเดินทางออกไปทันที โดยอ้างถึงภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นของการดำเนินกิจกรรมทางทหารของรัสเซีย

หลังรัสเซียระดมกำลังทหารมากกว่า 100,000 นาย ใกล้พรมแดนยูเครน แม้จะปฏิเสธแผนการรุกรานยูเครนมาตลอด และเพิ่งเริ่มการซ้อมรบขนาดใหญ่เป็นเวลา 10 วัน กับเบลารุส ชาติเพื่อนบ้านพันธมิตรรัสเซียที่มีพรมแดนติดกับยูเครนและสหภาพยุโรป (อียู)

นาย ไบเดน ให้สัมภาษณ์เอ็นบีซีนิวส์ว่า สหรัฐฯ กำลังจัดการกับกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกันมาก และหลายสิ่งอาจบ้าคลั่งได้อย่างรวดเร็ว และย้ำจะไม่มีการส่งกองกำลัง ทหารสหรัฐฯ ไปยูเครนไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นใด รวมถึงช่วยเหลือพลเมืองอเมริกันในกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครน

“นั่นเป็นสงครามโลก เราอยู่ในโลกแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก เมื่อชาวอเมริกันและชาวรัสเซียเริ่มยิงกัน” นาย ไบเดน กล่าว

คำสัมภาษณ์ของนายไบเดนเผยแพร่ไม่กี่ชั่วโมงหลังรัสเซียเคลื่อนรถถังข้ามพรมแดนเบลารุสเพื่อซ้อมรบด้วยกระสุนจริง ซึ่งสหรัฐฯ ระบุจำนวนกำลังทหารรัสเซียที่ซ้อมรบราว 30,000 นาย วันเดียวกัน กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า กำลังทหารรัสเซีย 400 นาย เข้าร่วมการซ้อมรบทางยุทธวิธีในแคว้นรอสตอฟ ทางใต้ที่มีพรมแดนติดกับยูเครน โดยทหารจะจัดฉากปฏิบัติการรบ ด้วยยานพาหนะทางทหาร รถถัง เครื่องยิงลูกระเบิด และอุปกรณ์ทางอากาศไร้คนขับ ทั้งหมด 70 อัตรา

นอกจากนี้ รัสเซียส่งเรือรบ 6 ลำ ผ่านช่องแคบบอสพอรัส เพื่อซ้อมรบในทะเลดำและทะเลอาซอฟที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนกองเรือทะเลดำจัดการซ้อมรบ รวมถึงฝึกการค้นหาและทำลายเรือศัตรูจำลอง เป็นส่วนหนึ่งของแผนการฝึกรบ ซึ่งยูเครนกล่าวหาว่าปิดกั้นการเข้าถึงทะเลทั้งสอง ขณะที่รัสเซียระบุว่าต้องการตี “เส้นแดง” เพื่อให้แน่ใจว่า ยูเครนจะไม่เข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แต่สหรัฐฯ และนาโตปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวของรัสเซียอย่างเป็นทางการไปแล้ว

วันเดียวกัน นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวหลังการประชุมของรมว.ต่างประเทศจากกลุ่มควอด ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น ในนครเมลเบิร์นของออสเตรเลีย ว่า รัสเซียกำลังรวบรวมกำลังทหารที่พรมแดนยูเครนเพิ่มขึ้น และเตือนว่าการบุกรุกอาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ รวมถึงระหว่างมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวด้วยที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.พ.

“พูดง่ายๆ คือว่า เรายังเห็นสัญญาณน่าหนักใจของการยกระดับความตึงเครียดของรัสเซีย” นายบลิงเคนกล่าว และยืนยันว่า สหรัฐฯ ต้องการแก้ปัญหาความเห็นต่างกับรัสเซียผ่านวิธีการทูต แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ มีความชัดเจนมากในการสร้างการป้องปรามและการป้องกัน และแสดงให้รัสเซียเห็นอย่างชัดเจนว่า หากรัสเซียเลือกหนทางแห่งการรุกรานครั้งใหม่จะเผชิญกับผลพวงมหาศาล

ทั้งนี้ บรรดาผู้นำโลกยังดำเนินการเจรจาอย่างจริงจังเพื่อพยายามคลี่คลายวิกฤตการณ์ยูเครน แต่รัสเซียและยูเครนประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ก.พ. ว่า ทั้งสองไม่สามารถแก้ปัญหาใดได้ด้วยการเจรจาเพียง 1 วันกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่หวังจะยุติความขัดแย้งการแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก

ภูเขาไฟ “เอตนา” ปะทุใหญ่ครั้งใหม่ ลาวาพวยพุ่ง กลุ่มควันปกคลุมทั่วท้องฟ้า

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ว่า สำนักงานธรณีฟิสิกส์และวิทยาภูเขาไฟแห่งชาติของอิตาลี รายงานว่า ภูเขาไฟเอตนา ซึ่งมีความสูงที่สุดและทรงพลังงสูงสุดในทวีปยุโรป คือ มากกว่า 3,330 เมตร ตั้งอยู่บนเกาะซิซิลี นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศ ปะทุใหญ่ครั้งใหม่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หลังปะทุเป็นระยะตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว...

เบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตจากการปะทุของภูเขาไฟเอตนาในครั้งนี้ ซึ่งส่งผลให้มีลาวา กลุ่มควันและเถ้าถ่านลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า เป็นระยะทางไกลถึง 8 กิโลเมตร

อนึ่ง ภูเขาไฟเอตนาตังอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลกแอฟริกันกับแผ่นยูเรเซียน ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่แล้ว ภูเขาไฟเอตนาเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง บริเวณปล่องทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนสูงที่สุดของภูเขาไฟเอตนา