ข่าว
‘โฮเซ มูฮิกา’อดีตปธน.'อุรุกวัย'ผู้สมถะ ถึงแก่อสัญกรรมในวัย89ปี

14 พ.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Jose Mujica, Uruguay's former leader, rebel icon and cannabis reformer, dead at 89 ระบุว่า โฮเซ มูฮิกา (Jose Mujica) อดีตประธานาธิบดีอุรุกวัย ซึ่งดำรงตำแหน่งช่วงปี 2553 – 2558 ถึงแก่อสัญกรรมแล้วเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2568 ในวัย 89 ปี โดยในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง มูฮิกา มีนโยบายสนับสนุนเสรีภาพของประชาชน อาทิ รับรองการแต่งงานของคู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน อนุญาตให้สตรีทำแท้งได้ในช่วงระยะต้นของการตั้งครรภ์ และสนับสนุนให้กัญชาไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ยามันดู ออร์ซี (Yamandu Orsi) ประธานาธิบดีอุรุกวัยคนปัจจุบันโพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ระบุว่า ขอแจ้งข่าวการเสียชีวิตของเปเป้ (ชื่อเล่นของอดีตผู้นำอุรุกวัย) มูฮิกา สหายของเรา เรารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสียชีวิตของเปเป้ มูฮิกา ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่คุณมอบให้เรา และสำหรับความรักที่คุณมีต่อประชาชนของคุณ ขณะที่ผู้นำในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายในบราซิล ชิลี และเม็กซิโก ต่างแสดงความอาลัยต่อการจากไปของมูฮิกา และยกย่องในแบบอย่างของเขา

ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inacio Lula da Silva) ประธานาธิบดีบราซิล กล่าวว่า มูฮิกาปกป้องประชาธิปไตย และไม่เคยหยุดส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและการยุติความเหลื่อมล้ำในทุกรูปแบบ ความยิ่งใหญ่ของมูฮิกาได้ข้ามพรมแดนของอุรุกวัยและวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา

นอกจากผลงานในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง มูฮิกายังเป็นที่จดจำในฐานะ “ผู้นำประเทศที่ใช้ชีวิตอย่างสมถะ” โดยปฏิเสธที่จะย้ายไปอยู่บ้านพักประธานาธิบดี แต่เลือกที่จะอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ของตนซึ่งเขามีฟาร์มดอกไม้เล็กๆ ย่านชานกรุงมอนเตวิเดโอ มูฮิกายังหลีกเลี่ยงการสวมสูทและผูกเน็คไทแบบเป็นทางการ และผู้คนมักเห็นเขาขับรถเก๋งยี่ห้อโฟล์คสวาเกน รุ่นบีเทิล ในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ หรือรับประทานอาหารในร้านอาหารธรรมดาๆ ทั่วไปที่พนักงานออฟฟิศในเมืองนิยมไปฝากท้อง

สำนักข่าวรอยเตอร์เคยได้สัมภาษณ์อดีต ปธน.มูฮิกา เมื่อเดือน พ.ค. 2567 ในบ้านหลังคาสังกะสีที่มูฮิกาใช้ชีวิตร่วมกับ ลูเซีย โตโปแลนสกี (Lucía Topolansky) อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผู้เป็นภรรยา ในเวลานั้น มูจิกายังเล่าด้วยว่า ตนยังเก็บพาหนะคู่ชีพอย่างรถเก๋งบีเทิลคันเก่าไว้ในสภาพที่ยังน่าทึ่ง อย่างไรก็ตาม อดีตผู้นำอุรุกวัย กล่าวว่า ตนชอบขับรถแทรกเตอร์มากกว่ารถยนต์ เพราะน่าสนุกกว่าและมีเวลาได้คิด

'หมอวรงค์' พาทัวร์ห้อง VVIP ชั้น 14 หรูหราอลังการ-ไม่ได้สะท้อนภาพของผู้ป่วยวิกฤติ

14 พ.ค. 68 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุแคปชั่นว่า "#พาชมห้องVVIPชั้น14โรงพยาบาลตำรวจ เป็นห้องvvipสุดหรู ที่ไม่ได้บ่งบอกว่า จะใช้ดูแลผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยวิกฤติ แต่ใช้ดูแลผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองได้ และไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต ไม่แปลกใจที่ใครๆ ก็อยากอยู่ที่นี่นานๆ"

โดยในคลิปหมอวรงค์ถ่ายคลิปให้เห็นบรรยากาศภายในห้อง VVIP ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ที่เคยใช้เป็นที่รักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นระยะเวลาถึง 180 วัน โดยอ้างว่ามีอาการป่วยในระดับวิกฤติ หรือ ผู้ป่วยวิกฤติ เมื่อบรรยากาศภายในห้องของผู้ป่วยวิกฤติหรูหราอลังการ ภายในห้องมีทั้งโต๊ะรับแขก โซฟา ห้องเยี่ยม ห้องพักรับรอง อุปกรณ์ทางการแพทย์น้อยนักที่จะได้เห็น เช่น เครื่องช่วยหายใจ หรือเครื่องติดตามสัญญาณชีพ ที่บ่งชี้ไว้ใช้สำหรับผู้ป่วยวิกฤติแต่อย่างใด


'จี-โทเคน' กำไรต่ำ-ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม นักวิชาการ มธ. ถามหาเงินค้ำประกัน ปชช.

ศ. ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโททางการเงิน และอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลยังให้ข้อมูลเรื่องการออกสินทรัพย์ดิจิทัลโทเคน (Token) หรือ G Token (จี-โทเคน) ที่รัฐบาลคาดหวังให้เป็นเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ทดแทนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการหนุนหลังจี-โทเคนด้วยสินทรัพย์ (ABS) ซึ่งก็คือเงินบาทในจำนวนที่เท่ากับมูลค่าของโทเคน เพื่อสร้างหลักประกันให้ประชาชนมั่นใจว่า เมื่อใดที่ผู้ถือครองจี-โทเคนต้องการขาย เขาก็จะได้รับเงินบาทกลับคืนมาในทันที

ศ. ดร.อาณัติ กล่าวว่า ตามข้อมูลที่รัฐบาลให้มาคือ จี-โทเคนถูกสำรองหรือแบ็คอัพหรือ ABS โดยเงินบาท โดยจะนำร่องด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าก็จะต้องมีเงินบาทจำนวน 5,000 ล้านบาทหนุนหลังเอาไว้ ซึ่งตามหลักการที่ควรจะเป็นจะต้องมีหน่วยงานกลาง คือบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (Custodian) ที่รับฝากเงินบาทเหล่านั้นไว้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าตราบใดที่ประชาชนยังถือจี-โทเคนอยู่จะยังคงมีเงินบาทในสัดส่วนที่เท่ากันเป็นหลักประกันอยู่เสมอ

“ประเด็นคือรัฐบาลยังไม่เคยพูดถึงเรื่อง Custodian เลย ทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญที่การันตีว่าเงินของประชาชนจะมีความมั่นคงปลอดภัย มากไปกว่านั้นก็คือ ตามเจตจำนงของรัฐบาลคือต้องการนำเงินจี-โทเคนไปใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือไปลงทุนภาครัฐในมิติอื่นๆ นั่นสะท้อนว่าจะไม่มีการสำรองเงินหรือแบ็คอัพจี-โทเคน ด้วยเงินบาทหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ยังเป็นคำถามและต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมจากรัฐบาล” ศ. ดร.อาณัติ กล่าว

นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า การที่รัฐบาลระบุว่าจะนำจี-โทเคนเข้าไปอยู่ในลิสต์ของศูนย์ Exchange นั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารัฐบาลทำแบบนั้นด้วยเหตุผลใด ส่วนตัวมองไม่ออกว่าจี-โทเคนจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร เพราะนี่เป็นการนำเงินไปฝากเพื่อให้รัฐบาลนำเงินไปลงทุนต่างๆ ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนหรือผู้ถือครองจี-โทเคนได้รับในกรณีที่ถือครองครบเวลากำหนด อาจเป็นเพียงกำไรจากดอกเบี้ย 1 – 2 % เท่านั้น

“ผลกำไรจากจี-โทเคนเป็นสิ่งที่ตายตัวและคาดการณ์ได้ ไม่ใช่การลงทุนในธุรกิจภาคเอกชนที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือสร้างผลกำไรจากการลงทุนได้ ดังนั้นจึงมองว่าการกระทำเช่นนี้คือการขายฝันประชาชนให้รู้สึกว่านี่เป็นของใหม่ ให้ผู้ลงทุนที่ไม่มีความรู้นำมาเก็งกำไร-ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งรัฐบาลไม่ควรฝึกให้ประชาชนทำเช่นนี้” ศ. ดร.อาณัติ กล่าว

ศ. ดร.อาณัติ กล่าวว่า หากยึดตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 การที่รัฐบาลออกจี-โทเคนในลักษณะเช่นนี้ จะถือว่าเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เพราะเป็นโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิในการร่วมลงทุนในโครงการและได้รับผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะดำเนินการได้อย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และจะต้องนำเสนอผ่านผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ (ICO Portal) เสียก่อน ทว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นรายละเอียดเหล่านี้จากรัฐบาล แต่กลับมีการทำโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์ออกไปมากมายว่าเป็นเหรียญที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ตรงนี้รัฐบาลต้องให้ข้อมูลเพิ่ม

“ตอนแรกที่เห็นการโฆษณาก็เข้าใจว่าจะมีใครมาหลอกลวงประชาชนอีกหรือไม่ เพราะปกติแล้วเหรียญที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. จะต้องมีรายละเอียดว่าจะกระจายหรือขายอย่างไร จะเอาเงินไปทำอะไร และผู้ลงทุนจะได้อะไรบ้าง แต่ตอนนี้เรายังมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เลย เข้าใจรัฐบาลอยู่ว่า ในเเง่มุมดีของโครงการนี้ เขาก็พยายามที่จะผลักดันให้มันกลายเป็นนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งอันนี้ส่วนตัวรู้สึกเห็นด้วย เเต่ว่ามันจะได้คุ้มเสียหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับรายละเอียดต่างๆที่ได้อธิบายไปข้างต้น ยังเป็นสิ่งที่อยากให้รัฐบาลพิจารณา“ ศ. ดร.อาณัติ กล่าว


ครอบครัวเหยื่อ'เจจูแอร์'ยื่นฟ้องสายการบิน-รมว.คมนาคม หลังเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่

14 พฤษภาคม 2568 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า จากกรณีที่ เครื่องบินโบอิ้ง 737 - 800 ของสายการบินเจจูแอร์ ซึ่งออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ประสบเหตุไถลออกนอกรันเวย์หลังลงจอดแบบล้อไม่กางและพุ่งชนกับกำแพงคอนกรีตที่ปลายรันเวย์ของสนามบินนานาชาติมูอัน ของเกาหลีใต้ ก่อนจะเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 179 ศพ

ความคืบหน้าล่าสุดรอบครัวของผู้เสียชีวิตได้รวมตัวกันยื่นฟ้องอาญาต่อบุคคล 15 ราย รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้ และซีอีโอของสายการบินเจจูแอร์ ในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต โดยญาติของผู้เสียชีวิต 72 ราย เรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเครื่องบินครั้งนี้ โดยพวกเขาอ้างว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ "ไม่ใช่เป็นอุบัติเหตุธรรมดา" แต่เป็น "ภัยพิบัติทางแพ่งครั้งใหญ่ที่เกิดจากความบกพร่องในการจัดการความเสี่ยงที่ควรจะป้องกันได้"

ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มดำเนินการสอบสวนทางอาญาอยู่แล้วก่อนที่จะมีการร้องเรียนล่าสุด โดยห้ามไม่ให้ 'คิม อีแบ' ซีอีโอของสายการบินเจจูแอร์เดินทางออกนอกประเทศ แต่ยังไม่มีใครถูกตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้

ญาติคนหนึ่งของผู้เสียชีวิต กล่าวประณามการสอบสวนที่ไม่มีความคืบหน้าเสียที "พวกเราโกรธและสิ้นหวังอย่างมาก หลังจากที่ได้ยื่นฟ้องอาญานี้ เราจะไม่ยอมแพ้และจะแสวงหาความจริงต่อไป" ใน 15 คนที่ถูกระบุชื่อในคำฟ้อง มีเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่สายการบิน และเจ้าหน้าที่สนามบินที่รับผิดชอบการก่อสร้าง การควบคุมดูแล การจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกและการควบคุมความเสี่ยงจากนก

เอกสารคำฟ้องตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ของอุบัติเหตุ รวมทั้งการควบคุมการจราจรทางอากาศตอบสนองอย่างเหมาะสมหรือไม่ และการเสริมเนินที่ปลายรันเวย์ละเมิดกฎระเบียบหรือไม่ เจ้าหน้าที่สอบสวนระบุว่าพบขนนกในเครื่องยนต์ทั้งสองเครื่องของเครื่องบินลำที่เกิดเหตุ แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่านกชนเครื่องบินเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุหรือไม่

ติดคุกฟรี38ปี! ศาลอังกฤษยกฟ้องคดีฆาตกรรม หลังหลักฐานใหม่ชี้DNAไม่ตรงกัน

14 พ.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Man in jail for nearly four decades for murder acquitted by London court ระบุว่า ปีเตอร์ ซัลลิแวน (Peter Sullivan) ชายซึ่งถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อปี 2530 ในคดีฆาตกรรม ไดแอน ซินดอลล์ (Diane Sindall) หญิงวัย 21 ปี ในปี 2529 โดยเวลานั้น ผู้ตายเสียชีวิตหลังจากออกจากที่ทำงานในเมืองเบบิงตัน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2568 ศาลอุทธรณ์กรุงลอนดอน ตัดสินยกฟ้องชายคนดังกล่าว หลังพบหลักฐานใหม่ที่ชี้ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ

สืบเนื่องจากในปี 2564 ซัลลิแวนได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่ทำการสอบสวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ของตำรวจ หลักฐานรอยกัดที่นำเสนอในการพิจารณาคดี และสิ่งที่กล่าวว่าเป็นอาวุธสังหาร และเมื่อคณะกรรมการได้ข้อมูล DNA จากตัวอย่างที่เก็บในช่วงเวลาที่ก่ออาชญากรรม ก็พบว่าไม่ตรงกับของซัลลิแวน

หลังศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ทนายความที่รับทำคดีนี้ กล่าวว่า นี่เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปีเตอร์ ซัลลิแวน ลูกความของตนเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดยาวนานที่สุดในสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ซัลลิแวนเคยยื่นเรื่องของตรวจสอบ DNA เมื่อปี 2551 แต่แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชในขณะนั้นแนะนำว่าการทดสอบเพิ่มเติมใดๆ ก็ตามไม่น่าจะได้ผล โดยคณะกรรมการตรวจสอบ DNA ชี้แจงว่า เวลานั้นยังไม่มีเทคนิคการตรวจสอบ DNA อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน ที่สามารถนำไปสู่การยื่นเรื่องให้พิจารณาคดีใหม่ได้

ขณะที่ ตำรวจเมอร์ซีย์ไซด์ ซึ่งรื้อคดีกลับมาตรวจสอบใหม่อีกครั้งในปี 2566 กล่าวว่า ไม่มีคู่เทียบของ DNA ที่ระบุในฐานข้อมูล DNA แห่งชาติ และเสริมว่าพวกเขามุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างที่อยู่ในอำนาจหน้าที่เพื่อค้นหาว่า DNA นั้นเป็นของใคร และหลังศาลตัดสินให้ซัลลิแวนพ้นผิด ทนายความได้อ่านข้อความของลูกความของตนต่อหน้าสื่อ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนนั้นผิดมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรื่องทั้งหมดนี้ลดน้อยลง เพราะการสูญเสียชีวิตที่เลวร้ายและเลวร้ายที่สุด ความจริงจะทำให้เป็นอิสระ ในขณะที่เดินหน้าไปสู่การแก้ไขความผิดที่เกิดขึ้น ตนไม่ได้โกรธหรือขมขื่น