ข่าว
ชาวแคลิฟอร์เนียแห่เปิบ"ฟัวกรา" กม.ห้ามผลิต-ขายมีผล 1 ก.ค.นี้

หลังจากรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ออกกฎหมายการห้ามบริโภคฟัวกรา หรือตับห่าน และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1กรกฎาคมนี้ ส่งผลให้ราคาตับห่านพุ่งขึ้นกว่า 2 เท่า ร้านอาหารต่างสร้างสรรค์เมนูหลากหลายชนิดจากฟัวกราส์ ประชาชนในรัฐแคลิฟอร์เนียยังออกมาบริโภคฟัวกราส์กันอย่างเนืองแน่น

กฎหมายสั่งห้ามผลิตและขายฟัวกรา ซึ่งทำมาจากตับห่านที่ถูกบังคับให้รับประทานอาหารจนอ้วน ได้รับการลงนามเมื่อปี 2004 สมัยที่อาร์โนลด์ ชวาร์เซนเนกเกอร์ ยังเป็นผู้ว่าการรัฐ แต่ได้รับการผ่อนผัน กระทั่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ทั่วรัฐแคลิฟอร์เนีย

ด้านร้านอาหารหลายแห่งต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ฟัวกราหายากขึ้น สวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ในขณะที่กฎหมายบังคับห้ามผลิตและขายฟรัวกรา อาหารสัญชาติฝรั่งเศส กำลังจะมีผลบังใช้เร็วๆ นี้ ชาวแคลิฟอร์เนียที่คลั่งไคล้อาหารดังกล่าว ต่างพากันออกมาบริโภคฟัวกรากันอย่างเนืองแน่นตามภัตตคารชื่อดัง รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเทศกาลฟัวกราส์ขึ้น เพื่อส่งท้ายการบริโภคเมนูดังกล่าว

เมื่อปี 2004 รัฐแคลิฟอร์เนีย ลงนามผ่านร่างกฎหมายสั่งห้ามการผลิตฟัวกราด้วยกลวิธีที่เขาเชื่อว่าผิดศีลธรรมดังกล่าว และห้ามการขายผลผลิตจากกระบวนการดังกล่าวทั้งหมด โดยให้เวลาบริษัท Sonoma Artisan Foie Gras ผู้ผลิตฟัวกราเพียงรายเดียวของรัฐ และผู้ประกอบการร้านอาหารมากกว่า 7 ปีในการหาแนวทางอื่นในการผลิตที่ไม่ทารุณสัตว์ แต่อย่างไรก็ตามไม่มีการคิดค้นวิธีการผลิตฟัวกราแบบใหม่ขึ้น ทำให้กฎหมายการสั่งห้ามยังคงมีผลเช่นเดิม ซึ่งจะส่งผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคมนี้

ฟัวกรา มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า "ตับที่มีไขมันสูง" ผลิตจากการบังคับให้เป็ดและห่านทานอาหารผ่านท่อการยัดลงไปในท่อ เพื่อให้เป็ดและห่านตัวอ้วนเกินขนาด และส่งผลให้ตับมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าขนาดปกติถึง 10 เท่า หลังจากนั้นจึงเชือดและนำตับมาประกอบเป็นเมนูฟัวกรา ก่อให้เกิดการเรียกร้องจากกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องดังกล่าวระบุว่า การกระทำเช่นนี้ อาจก่อให้เกิดภาวะที่มีการสะสมของไขมันในตับมากจนเกินไป จนทำให้ตับทำงานได้ลดลง ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับโรคอ้วนในสัตว์

ทั้งนี้ มีการต่อต้านกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ที่คลั่งใคล้เมนูฟัวกรา อาทิ ประชาชนทั่วไปที่ชื่นชอบเมนูฟัวกรา พ่อครัว และร้านอาหาร ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อต่อต้านพร้อมทั้งจัดกิจกรรมเทศกาลกินฟัวกราอย่างยิ่งใหญ่เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านกฎหมายฉบับดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้คลั่งใคล้ฟัวกราส์ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้ผู้คนเลิกกินฟัวกรา เหมือนกับกรณีของกัญชา ที่การออกกฎหมายห้ามซื้อขาย ไม่สามารถกำจัดออกไปจากตลาดบนท้องถนนของสหรัฐอเมริกาได้

'สมศักดิ์'ถอดระเบิด เลื่อนแก้รธน12 มิ.ย..

"สมศักดิ์" เลื่อนหารือสภา ปมศาลรธน.สั่งชะลอลงมติแก้รธน.วาระ 3 เป็นอังคารที่ 12 มิ.ย. "ส.ว.-ฝ่ายค้าน" จี้ถามความชัดเจน "จรัญ"ยันม.68ใหญ่กว่ารัฐสภา

8 มิ.ย.2555 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมรัฐสภาตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีสมาชิกรัฐสภาอภิปรายในประเด็นคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 โดยออกคำสั่งให้รัฐสภารอการลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ3 ออกไปก่อน จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย โดยการอภิปรายดังกล่าวใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 16.24 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมได้ขอหารือต่อที่ประชุมว่า อยากให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วนซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และได้มีการแสดงความเห็นในประเด็นคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญมาพอสมควรแล้ว โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ( วิปฝ่ายค้าน) ได้ลุกขึ้นขอหารือ หากประธานรัฐสภาเห็นว่าใช้เวลาอภิปรายมาพอสมควรแล้ว และเป็นเพียงแค่การแจ้งให้ทราบเท่านั้น ก็ปิดอภิปรายได้ฝ่ายค้านไม่ติดใจ

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. หารือขอความชัดเจนว่า จะมีการให้ลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 8 มิ.ย.นี้หรือไม่ ซึ่งนายสมศักดิ์ ยืนยันว่า “ผมไม่ยอมให้มีการลักไก่ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามในวันที่ 8 มิ.ย.นี้อย่างแน่นอน หากมีคนเสนอญัตติเป็นอย่างอื่น ผมจะขอให้ถอนหากไม่ยอมถอน ผมก็จะปิดประชุม ส่วนจะลงมติเมื่อใดนั้น ผมขอใคร่ครวญ 2-3 วัน จะให้คำตอบกับตัวเองได้” ประธานรัฐสภา กล่าว

ทั้งนี้นายจุรินทร์ ได้ขอหารือว่า อยากทราบความชัดเจนว่าที่ประชุมรัฐสภาจะชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปจนกว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยหรือไม่ ทำให้นายสมศักดิ์ กล่าวว่า “ให้วิปทั้ง 2 ฝ่ายไปหารือกัน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือต่อประเด็นดังกล่าว ส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน, นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายทักท้วงและขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะยอมรับคำสั่งศาลหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีแนวโน้มว่าจะมีการถกเถียงอย่างรุนแรง ทำให้ นายสมศักดิ์ สั่งพักประชุม 10 นาที เพื่อให้วิป 2 ฝ่ายหารือว่าจะปิดอภิปราย หรือ ลงมติรับคำสั่งศาล รธน.หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้กลับมาเริ่มประชุมอีกครั้ง เมื่อเวลา 17.20 น. แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปใดๆ ได้ จนเมื่อเวลา 18.25 น. นายสมศักดิ์กล่าวกับที่ประชุมว่า ช่วงที่พักให้หารือนั้น ไม่สามารถได้ข้อสรุปใดๆ ได้ เพราะมีส.ส.หลายคนมีส่วนได้ส่วนเสีย และอยากให้มีการเสนอญัตติเพื่อให้มีการลงมติ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาทำได้ โดยตนไม่มีสิทธิ์ห้าม ดังนั้นตนขอเลื่อนการประชุมประเด็นดังกล่าวออกไป และให้มีการประชุมต่อในวันที่ 12 มิ.ย. เวลา 10.00 น. หลังจากนั้นได้สั่งปิดประชุม


"จรัญ"ยันม.68ใหญ่กว่ารัฐสภา

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับตีความร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าขัดกับมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ถ้าไม่มี มาตรา 68 ศาลก็ไม่มีทางเข้าไปทำเรื่องนี้ แต่เมื่อมีเริ่ม ม.68 ซึ่งอดีตคือ ม.63 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ในกรอบที่ให้ประชาชนมีสิทธิหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงใหญ่กว่า ครม. ใหญ่กว่ารัฐสภา ใหญ่กว่าศาล หากไปทำอะไรที่ขัดกับมาตรา 68 ย่อมถูกยับยั้งได้

ส่วนเรื่องการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจนั้น นายจรัญกล่าวว่า ถ้าตุลาการทำตัวไม่ดีก็ยกเลิกศาล หรือลดอำนาจโดยการออกกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติได้ อย่างนั้นก็ไม่ถือว่าแทรกแซง นี่เป็นหลักเช็คแอนด์บาลานซ์ ขณะนี้ตุลาการก็ถูกตรวจสอบ วันนี้ก็กำลังจะถูกถอดถอน นี่แหละคือกระบวนการถูกตรวจสอบ เราไม่นึกเลยว่านี่คือการวุฒิสภาจะแทรกแซงศาลขณะที่กำลังพิจารณาคดีสำคัญอยู่ หลักการแบ่งแยกอำนาจต้องมีการคานกัน ไม่มีอำนาจใดเด็ดขาดจากกัน


"วรินทร์"บอกตามคาดอสส.ไม่ชี้แก้รธน.ล้มล้างปชต.

นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตส.ว.ผู้ร้องหนึ่งใน 5 คำร้อง ให้อัยการสูงสุดดำเนินการตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามมาตรา 68 กรณีการ แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกินความคาดหมาย อยากถามว่าทำไมตนยื่นคำร้องไปตั้งนานแล้ว อัยการถึงพึ่งจะออกมาสรุปตอนนี้ ก่อนหน้านี้ทำไมเงียบ แสดงให้เห็นว่า งานนี้เลือกข้างแล้วใช่หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ศาลก็ต้องเดินหน้าพิจารณาต่อไป คงต้องติดตามดูว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาอย่างไร

"ผมขอภวนาให้พวกเราผ่านวาระ3 ไปเร็วๆ ตอนนี้ต้องประเมินแล้วว่าศาลจะตายพร้อมผม หรือจะตายพร้อมพวกเขา ดังนั้น จึงอยากให้มีสติกันหน่อย เวลานี้เราเห็นแล้วว่าใครอยู่ข้างใคร เพราะเลือกข้างกันชัดเจนแล้ว ทำไมถึงต้องรีบร้อนทำตอนนี้ ที่บอกว่าไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง แล้วเหตุผลคืออะไร มีนัยอะไร ทำไมต้องรีบร้อน ทั้งนี้คงต้องลุ้นกันว่า ผมจะได้ไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อไต่สวนกรณีคำร้องดังกล่าวในวันที่ 5-6 ก.ค. หรือไม่ ถ้าไม่ได้มาชี้แจงผมว่าผมต้องได้มีตำแหน่งใหม่ เพราะดูสานการณ์ค่อนข้างที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และเป็นช่วงเวาลาที่ต้องนับถอยหลังกัน"นายวรินทร์ กล่าว

สื่อจีนห่วงขอใช้อู่ตะเภา แนะยิ่งลักษณ์หารือด่วน

กระบอกเสียงรัฐบาลจีนวิเคราะห์ "มะกัน" ขอใช้อู่ตะเภาสร้างความกังวล "ปณิธาน" ชี้กลยุทธ์ใหม่ตำรวจโลก อ้างเรื่อง "มนุษยธรรม-ชั้นบรรยากาศ" แนะ "ปู" กำหนดขอบเขตให้ชัดแจ้ง ใช้ สมช.เป็นแกนหลัก ผวา! อเมริกาส่งโดรนมาซุ่มเพื่อทำสงครามรูปแบบใหม่ "มาร์ค" แนะจับตาใกล้ชิด

เมื่อวันศุกร์ สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก ทั้งไชน่าเดลี คอมโบเดียไทมส์ ได้นำรายงานของสำนักข่าวซินหัว กระบอกเสียงรัฐบาลจีน เรื่องสหรัฐอเมริกาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของไทยกำลังก่อให้เกิดความกังวล โดยซินหัวระบุว่า มีหลายคนที่มองว่าสนามบินของกองทัพเรืออาจถูกใช้ในทางทหารได้

โดยซินหัวได้รวบรวมรายงานข่าวที่เกิดขึ้นว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐมีแผนจะขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บรรเทาทุกข์ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะที่องค์การนาซาก็มีแผนขอใช้สนามบินแห่งนี้วิจัยเกี่ยวกับบรรยากาศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอู่ตะเภาเคยถูกใช้เป็นศูนย์ส่งความช่วยเหลือในเหตุภัยพิบัติของภูมิภาคนี้หลายครั้ง เช่น เหตุสึนามิเมื่อปี 2547, พายุไซโคลนนาร์กิสถล่มพม่าเมื่อปี 2551 และเหตุน้ำท่วมใหญ่ในไทยเมื่อปี 2554 รวมทั้งเป็นศูนย์การขนส่งของการฝึกร่วมคอบร้าโกลด์

ซินหัวยังอ้างคำสัมภาษณ์ของนายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงระหว่างประเทศว่า แม้การใช้สนามบินอู่ตะเภาของสหรัฐไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การที่สหรัฐมีการปรับย้ายกำลังในภูมิภาคนี้ เป็นเรื่องที่บางคนรู้สึกสงสัยเกี่ยวกับแผนการนี้

นายปณิธานอธิบายเรื่องนี้อีกครั้งว่า การขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของสหรัฐนั้น สอดคล้องกับการที่สหรัฐพยายามยกระดับกิจกรรมด้านการทหารกับไทย ซึ่งสหรัฐได้ดำเนินการใน 2 โครงการ คือ 1.ใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อยกระดับขีดความสามารถเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งไทยต้องระมัดระวัง และกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน เนื่องจากแม้เป็นปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม แต่ก็มีกำลังทหารเข้ามาปฏิบัติการ จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ ปรึกษากับรัฐสภา ทั้งกรรมาธิการการต่างประเทศ กรรมาธิการการทหาร หน่วยงานความมั่นคง และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำหนดกรอบให้ชัดเจน ที่สำคัญต้องชี้แจงให้ภาคสังคมที่กำลังเคลือบแคลงสงสัยเกิดความสบายใจ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องความมั่นคงที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ หากเราไม่ตั้งหลักแบบนี้ เมื่อทหารสหรัฐเข้ามาในพื้นที่เราอาจควบคุมไม่อยู่

นายปณิธานอธิบายว่า 2.โครงการศึกษาวิจัยชั้นบรรยากาศของนาซานั้น แม้เป็นเรื่องของพลเรือน แต่อาจทำให้สหรัฐมีแนวคิดพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างการส่งอาวุธขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ และส่งเครื่องบินไร้คนขับ (โดรน) เพื่อเตรียมพร้อมกับการทำสงครามสมัยใหม่ เพราะสหรัฐจะรับรู้ และมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งเรื่องพวกนี้ไทยเองไม่เคยรับรู้มาก่อนเลย ที่สำคัญจีนและอินเดียไม่พอใจและประท้วงสหรัฐอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แม้ทางทหารไทยและสหรัฐไม่มีปัญหากัน แต่สิ่งที่เราควรต้องทำคือ ตั้งกรอบเพื่อกำหนดขอบเขต เช่น ต้องคิดว่าหากทหารเข้ามาเราจะส่งเจ้าหน้าที่ไปประกบหรือดูแลอย่างไรเพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องความมั่นคง

นักวิชาการผู้นี้กล่าวอีกว่า ในต้นเดือนนี้สหรัฐกำลังมีการปรับกำลังทหารให้เข้ามาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ได้ 60% โดยจะนำเรือบรรทุกเครื่องบินเข้ามา 6 กองเรือ และเครื่องบินสมัยใหม่มาประจำการเพื่อต้องการถ่วงดุลอำนาจของจีน ซึ่งสหรัฐเองรู้ข้อมูลในไทยเยอะ และรู้ว่าควรเข้าไปคุยกับใครเพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ราบรื่น ตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนของเรา ดังนั้น สมช.ในฐานะเป็นแกนหลักในด้านความมั่นคง และมีนายกฯ เป็นประธานควรเรียกประชุมในเรื่องนี้ และนายกฯ ต้องมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการทำกรอบสัญญากับสหรัฐ ตลอดจนต้องดูว่าค่าตอบแทนที่เราจะได้คุ้มค่าหรือไม่ เพราะขณะนี้โครงการศึกษาชั้นบรรยากาศของนาซายังไม่ได้ตกลงอย่างเป็นทางการ แค่มีสัญญาณออกมาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังมีความสับสนกันอยู่ เราจึงมีเวลาทำงาน

“การที่สหรัฐอ้างเรื่องมนุษยธรรมเพื่อศึกษาชั้นบรรยากาศรอบนี้ถือว่าเป็นกลยุทธ์ใหม่ และคิดไว้อยู่แล้วว่าไทยต้องอนุญาต เพราะปัจจุบันไทยประสบเหตุภัยพิบัติเยอะ ดังนั้น เราต้องตั้งรับให้ดี ต้องรวมหน่วยงานให้เป็นหนึ่งเดียวให้ได้ และควรจะกำหนดกรอบและรายละเอียดให้ดี ไม่ใช่พอสหรัฐนำเครื่องบินเข้ามาในไทย แต่เราในฐานะเจ้าของพื้นที่ไม่มีสิทธิ์ตรวจสอบได้ อย่าลืมว่าสหรัฐเป็นประเทศที่ต่อรองยาก นอกจากนี้เรื่องภาคสังคมก็เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวจัดระบบ เพราะเมื่อทหารสหรัฐเข้ามาต้องมีการตั้งค่าย มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีทหารเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ อยู่ตลอด บางอย่างเราไม่เคยเห็น ประชาชนอาจเกิดความวิตกได้” นายปณิธานกล่าว และว่า การเปิดเผยข้อมูลความโปร่งใสและการตัดสินใจแสดงปฏิกิริยาใดๆ ของไทยเป็นสิ่งสำคัญ อย่าลืมว่าเพื่อนบ้านเราหลายประเทศก็อยู่ต่อต้านสหรัฐอยู่ มีทั้งชอบและไม่ชอบ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวในเรื่องนี้ว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและมีความโปร่ง ใส เพราะเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะมีประเด็นที่พูดกันมากในเรื่องผลประโยชน์ของการเข้าสหรัฐของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

"ต้องรอดูรายละเอียด เพราะสหรัฐก็มีการสัมภาษณ์สื่อในประเทศเขา ซึ่งมีการพูดอะไรที่มากกว่าที่รัฐมนตรีของไทยพูด" นายอภิสิทธิ์ระบุ

วันเดียวกัน นายชัยวัฒน์ สุรวิชัย ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและคุณภาพคน และนายเจริญ หมู่ขจรพันธ์ เครือข่ายพลังแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนการอนุญาตให้นาซาเข้ามาใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา โดยระบุว่าไทยไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเข้ามาของมหาอำนาจ และจะเกิดผลเสียต่อความรู้สึกของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนและเอเชีย นอกจากนี้ยังเกรงว่าจะส่งผลเหมือนกับ อ.บ้านดง จ.อุดรธานี ที่คนไทยไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ โดยมีนายสมภาส นิลพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เป็นผู้รับหนังสือแทน

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานภาคีเครือข่ายกลุ่มสามัคคี กล่าวว่า ได้มีการตัวแทนภาคประชาชนยื่นหนังสือไปแล้ว หลังจากนี้จะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป.