ข่าว
อินเดียห้ามร่วมกลุ่ม-ปิดโรงเรียน หลังพบ 2 ศพเซ่น “ไวรัสนิปาห์” แยกกักตัว 700 คน

สเตรตส์ไทมส์ : รายงานวันที่ 15 ก.ย. ว่า ทางการอินเดียประกาศควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะ รวมถึงปิดสถานศึกษาบางแห่งใน รัฐเกรละ ทางตอนใต้ของประเทศ

หลังพบผู้เสียชีวิต 2 รายจาก “โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์” ซึ่งแพร่ระบาดจากค้างคาวหรือสุกรที่มีเชื้อ ส่งผลให้มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน อาจรุนแรงถึงขั้นชัก เป็นไข้สมองอักเสบ และเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ยังพบผู้มีผลตรวจเชื้อเป็นบวกอย่างน้อย 3 คน และมากกว่า 700 คน ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 153 คนที่ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับกลุ่มผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต

เบื้องต้นทั้งหมดถูกแยกกักตัวรอดูอาการ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการติดเชื้อไวรัสนิปาห์มีอัตราการเสียชีวิตสูงระหว่างร้อยละ 40-75 และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ทั้งนี้ ไวรัสนิปาห์เป็นเชื้อไวรัสชนิด RNA ในสกุล Henipaviruses ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบเป็นหลักและอยู่สกุลเดียวกับเฮนดราไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเป็นหลัก ถูกค้นพบครั้งแรกในมาเลเซีย เมื่อปี 2541 และในปี 2542 มีการระบาดในสิงคโปร์ ต่อมาพบการระบาดทางตอนเหนือของอินเดียช่วงปี 2544 ก่อนลุกลามไปยังบังคลาเทศ

สำหรับการระบาดในอินเดียและบังคลาเทศนั้นมีสาเหตุหลักจากการดื่มน้ำผลอินทผลัมที่ปนเปื้อนน้ำ ลายของค้างคาวผลไม้ ต่างจากการระบาดในมาเลเซียซึ่งผู้ป่วยสัมผัสกับหมูที่มีเชื้อ

ส่งเสริม soft power ของไทยในหมู่คู่สมรสคณะทูตอาเซียน

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 คุณชลทิพย์ กำภู แสงรัตน์ ภริยาเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้จัด งาน Thai Delight : A Sweet Journey through a Dessert Making เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี ในหมู่คู่สมรสนักการทูตประเทศสมาชิกอาเซียนประจำกรุงวอชิงตัน โดยได้เผยแพร่ soft power ของไทย ด้านอาหาร และ วัฒนธรรมอีกด้วย มีแขกเข้าร่วมงานกว่า 80 คน โดยมีกิจกรรมในงานประกอบด้วย

1.มีการเปิดสอนทำ ขนมครก โดย เชฟ วัฒนพงษ์ คงวัฒนา และ จัดให้ฝึกลองทำขนมครกจริง เป็นกลุ่มย่อย

2.การแสดงดนตรีไทย ขับร้องเพลงไทยและรำไทยโดยศิลปินจากวงโสมภา

3.การจัดจำหน่ายสินค้า หัตถกรรมไทย เสื้อผ้าไทย ขนม อาหารไทยและเครื่องเทศไทยออร์แกนิค

4.จัดเลี้ยงอาหารสุขภาพไทย สำหรับแขกคู่สมรสของนักการทูตประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดงานได้นำเสนออำนาจละมุนหรือ soft power ของไทยต่อคณะทูตประเทศสมาชิกอาเซียนและต่อยอดการดำรงอยู่ของขนมไทยโบราณ ให้เติบโตขึ้น ส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทย ความสามัคคีของคณะทูตอาเซียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมกับคู่สมรสนักการทูตในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน


‘นาซา’ เผยยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่า UFO-มนุษย์ต่างดาว มาจากนอกโลก แต่ก็ไม่พร้อมปฏิเสธ

เมื่อวันที่ 14 กันยายน คณะนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐฯ นำโดยบิล เนลสัน ผู้อำนวยการนาซา ร่วมแถลงข้อมูลผลการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับ UAP (unidentified anomalous phenomenon) หรือ ปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่สามารถระบุได้ (เดิมเรียก UFO (unidentified flying object) หรือ วัตถุบินที่ไม่สามารถระบุได้) ความยาว 33 หน้า

โดยเนื้อหาหลักนั้น คณะวิจัยบอกว่า ยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าวัตถุเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากนอกโลก อย่างไรก็ตาม วัตถุเหล่านั้นจะต้องเดินทางผ่านระบบสุริยะเพื่อมาที่นี่ ถึงแม้การศึกษานี้จะยังไม่สามารถหาข้อสรุป ว่ามีสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวจริง แต่ความเป็นไปได้เรื่องเทคโนโลยีของมนุษย์ต่างดาวนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่นาซาพร้อมจะปฏิเสธเช่นกัน

เนลสัน ยืนยันว่า นาซาพร้อมให้ข้อมูลอย่างเปิดเผยและโปร่งใส การวิจัยนี้เพื่อทำให้เรื่องเล่าและความเชื่อต่างๆ สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เพราะทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจใน UAP หรือ UFO อย่างมาก ทุกครั้งที่ตนเดินทางไปที่อื่น มักจะถูกถามถึงคำบอกเล่าเรื่องการพบ UFO ในที่ต่างๆ โดยเหตุผลหลักที่คนให้ความสนใจเป็นเพราะความลึกลับในตัวมันเอง

ถ้าถามตน ก็เชื่อเช่นกันว่ามีสิ่งมีชีวิตอื่นในจักรวาลเนื่องจากจักรวาลนั้นกว้างใหญ่เกินกว่าจะทำความเข้าใจได้ ถ้าถามความเห็นส่วนตัว ตนย่อมตอบว่าเชื่อว่ามีสิ่งมีชีวิตนอกโลกแน่นอน

เนลสัน กล่าวด้วยว่า นาซาได้แต่งตั้งหัวหน้าทีมวิจัยเรื่อง UAP คนใหม่ แต่ไม่ได้เปิดเผยชื่อของบุคคลดังกล่าว หลังจากได้รับข้อเสนอแนะจากคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระให้เพิ่มความพยายามในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ UAP และมีบทบาทในการช่วยเหลือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐในการตรวจจับ UFO ด้วย โดยภารกิจของนาซาคือการหาคำอธิบายในเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้ และจากนี้ไม่ว่าจะพบอะไรก็จะเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา

15 กันยายน 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าบิล เนลสัน ผู้บริหารองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (NASA) ประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะวิจัยคนใหม่ที่จะศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่สามารถระบุได้” หรือ ยูเอพี สำหรับยูเอพี เป็นที่รู้จักของสาธารณะชนมากกว่าในชื่อของวัตถุบินที่ไม่สามารถระบุได้ หรือ ยูเอฟโอ

ต่อมามาร์ค แม็คอินเนอร์นี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำหรับการวิจัยยูเอพี ในปี 1996 นายแม็คอินเนอร์นี ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประสานงานของนาซาที่ติดต่อกับกระทรวงกลาโหมในประเด็นเรื่องยูเอพี

ด้านนายเนลสัน กล่าวว่า คณะวิจัยชุดนี้จะได้รับมอบหมาบให้พัฒนาและตรวจสอบการนำวิสัยทัศน์ของนาซาไปปฎิบัติ และจะใช้ความชำนาญของนาซาในการทำงานกับหน่วยงานอื่นเพื่อวิเคราะห์ยูเอพี นอกจากนั้น จะมีการใข้ปัญญาประดิษฐ์ และเครื่องจักรกลด้านการเรียนรู้เพื่อค้นหาในท้องฟ้าเพื่อหาความผิดปกติและให้คำมั่นว่าจะแบ่งปันข้อมูลที่ค้นพบได้อย่างโปร่งใส


ศพเกลื่อนถนน ! 'ลิเบีย'น้ำท่วมใหญ่คร่าแล้ว 7 พันชีวิต คาดยอดตายพุ่งทะลุ 2 หมื่นราย

15 กันยายน 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมกู้ภัยของลิเบียยังคงพบร่างผู้เสียชีวิตจากเหตุพายุแดเนียลพัดถล่มส่งผลให้ เขื่อนเก่าแก่ทั้ง 2 แห่งแตก น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในเมืองเดอร์นา เมืองท่าริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งมีประชากรราว 100,000 คน ได้รับผลกระทบหนักที่สุด กระแสน้ำ พัดทำลายสะพาน ตึกสูง บ้านเรือนตามริมฝั่งแม่น้ำพังทลาย กวาดเอาซากบ้านและรถยนต์ลงไปในทะเล

จากรายงานข่าวพบว่าผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากถูกพบตามท้องถนนในเมืองเดอร์นา ทำให้ตอนนี้พบยอดผู้เสียชีวิตพุ่งแล้วกว่า 7,000 ราย ส่งผลให้ศพล้นห้องเก็บศพในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วเมือง จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งฝังร่างของผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วม ทางนายอับดุลเมนาม อัล-ไกธี นายกเทศมนตรีนครเดอร์นา กล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะมีมากถึง 20,000 ราย มีผู้สูญหายอย่างน้อยหลายหมื่นราย

ขณะที่องค์การผู้อพยพระหว่างประเทศของสหประชาชาติ เปิดเผยว่า ประชาชนในเมืองเดอร์นาของลิเบีย จำนวนกว่า 30,000 ราย ต้องตกอยู่ในสภาพไร้ที่อยู่อาศัย เนื่องจากบ้านเรือนของพวกเขาถูกกระแสน้ำ ที่ท่วมสูง พัดพากวาดลงทะเล พร้อมกันนี้ หน่วยงานของสหประชาชาติข้างต้น ยังแสดงความวิตกกังวลด้วยว่า จากความเสียหายในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้กลายเป็นอุปสรรคต่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย

แผ่นดินไหวโมร็อกโกตายทะลุ 2,900 ราย

มาร์ราเกซ (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส/อัลจาซีรา) -ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในโมร็อกโกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเกินกว่า 2,900 รายแล้ว ขณะที่กษัตริย์โมร็อกโกทรงเยี่ยมผู้ประสบภัยและบริจาคพระโลหิต

ทางการโมร็อกโกรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.8 ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ล่าสุดอยู่ที่อย่างน้อย 2,900 ราย บาดเจ็บกว่า 5,550 คน ขณะที่การค้นหาผู้สูญหายที่ยังติดอยู่ตามกองซากปรักหักพังยังคงเดินหน้าต่อไปโดยมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยจาก 4 ประเทศมาร่วมค้นหาได้แก่ สเปน อังกฤษ กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่โอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตนั้นคงเป็นไปได้ยากเพราะล่วงเลยมาถึง 4 วันแล้ว

เวลานี้ผู้ประสบภัยยังคงรอคอยความช่วยเหลือที่ยังจัดส่งไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลแถบเทือกเขาไฮแอตลาส ที่มีหมู่บ้านหลายแห่งพังทลายราบคาบ หมู่บ้านบางแห่งมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน ขณะที่ถนนซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักก็ถูกก้อนหินและดินถล่มปิดทับเส้นทาง ทำให้ยากต่อการเข้าถึงมากยิ่งขึ้น ส่วนที่เมืองมาร์ราเกซ พบว่าอาคารเก่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเกิดรอยร้าวจากแผ่นดินไหว และยังมีความเสียหายร้ายแรงอื่นๆ อีกด้วย จนถึงขณะนี้ ผู้ประสบภัยในเมืองมาร์ราเกซจำนวนมากยังต้องอาศัยหลับนอนกันกลางแจ้งเพราะกังวลว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา


‘ปูติน’ ตอบรับคำเชิญเยือนเกาหลีเหนือ

วันศุกร์ ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566 เปียงยาง/มอสโก (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส)– สื่อเกาหลีเหนือรายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซียตอบรับคำเชิญของ คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือให้เขาเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ ขณะที่สื่อรัสเซียระบุ ผู้นำทั้งสองฝ่ายหารือถึงความเป็นไปได้ในการส่งชาวเกาหลีเหนือไปอวกาศ

สำนักข่าวกลางเกาหลี หรือ เคซีเอ็นเอ ของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า หลังจากการหารือระหว่าง คิม จอง-อึน กับประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ที่ วอสตอชนี คอสโมโดรม (Vostochny Cosmodrome) ซึ่งเป็นศูนย์อวกาศและฐานปล่อยจรวดของรัสเซียเมื่อวันพุธ นายคิมได้เชิญปูตินให้ไปเยือนเกาหลีเหนือตามเวลาที่สะดวก ซึ่งผู้นำรัสเซียได้ตอบรับคำเชิญด้วยความยินดี และย้ำถึงความตั้งใจของเขาที่จะสานต่อความสัมพันธ์ กับเกาหลีเหนือต่อไป คิม จอง-อึน ยังกล่าวกับปูตินว่า เขามั่นใจว่า รัสเซียจะได้ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่เหนือศัตรูทั้ง หลาย

คิม จอง-อึน ได้ประชุมสุดยอดร่วมกับปูตินเมื่อวันพุธที่ผ่านมาโดยในระหว่างการหารือ ปูตินยังชื่นชมความร่วมมือและมิตรภาพที่แน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างทั้งสองประเทศและเขามองเห็นความเป็นไปได้ในเรื่องความร่วมมือด้านการทหารกับเกาหลีเหนือ ก่อนหน้านี้ปูตินกล่าวว่า รัฐบาลรัสเซียจะช่วยเกาหลีเหนือในการสร้างดาวเทียม เกาหลีเหนือพยายามส่งดาวเทียมจารกรรมทางทหารเข้าสู่วงโคจรมาแล้ว 2 ครั้งเมื่อไม่นานมานี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวทาสส์และอาร์ไอเอ โนวอสติ ของทางการรัสเซียรายงานอ้างคำกล่าวของโฆษกประธานาธิบดีรัสเซียที่ระบุว่า ปูตินและ คิม จอง-อึน หารือเรื่องที่ว่า นักบินอากาศเกาหลีเหนือสามารถเดินทางมาฝึกและส่งขึ้นไปในอวกาศได้ หากฝ่ายเกาหลีเหนือต้องการ ซึ่งหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นนักบินอวกาศชาวเกาหลีเหนือคนแรกที่ได้ออกไปในอวกาศ สื่อรัสเซียรายงานด้วยว่า ระหว่างการหารือของผู้นำทั้งสองฝ่ายที่ศูนย์อวกาศและฐานปล่อยจรวดของรัสเซีย ปูตินได้นำนายคิมเยี่ยมชมโรงงานสร้างจรวดและอุปกรณ์ในการปล่อยจรวดโซยุส-2 และจรวดแองการา ซึ่งนายคิม ได้แสดงความสนใจอย่างมากในเรื่องของเทคโนโลยีจรวด

ส่วนที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ความร่วมมือใดๆระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือจะเป็นการสร้างปัญหาและละเมิดมติหลายข้อของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า รัสเซียกำลังสนใจซื้ออาวุธจากเกาหลีเหนือเพื่อใช้ในการรบในยูเครน

คิมพบปูตินสำคัญอย่างไร ทำไมสหรัฐฯ-ชาติตะวันตกต้องกังวล

คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเดินทางเยือนรัสเซียเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (13 ก.ย. 2566) และมันสร้างความกังวลอย่างยิ่งให้แก่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตกของพวกเขา เนื่องจากทั้งคู่หารือกันเรื่องความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันทางทหาร และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี

ในเบื้องหน้า ข้อตกลงซื้อขายอาวุธระหว่างทั้งเกาหลีเหนือและรัสเซียเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เพราะมอสโกกำลังต้องการอาวุธ โดยเฉพาะเครื่องกระสุนและลูกปืนใหญ่ ไปใช้ในสงครามที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน และเปียงยางมีทั้ง 2 อย่างอยู่มากมาย

ส่วนฝั่งเกาหลีเหนือก็กำลังต้องการเงินทุนและอาหารปริมาณมากเพื่อแก้ปัญหาความอดอยาก หลังจากปิดประเทศมานานกว่า 3 ปี เพราะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แดนโสมแดงโดดเดี่ยวจากประเทศอื่นๆ มากยิ่งขึ้นไปอีก

แต่การเจรจาของทั้งสองจะกลายเป็นการเปิดโอกาศให้เกาหลีเหนือและรัสเซีย เริ่มสานความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และด้วยสถานการณ์เร่งด่วนของรัสเซีย คิมอาจสามารถเรียกร้องจากรัสเซียได้มากขึ้น และอาจสามารถร้องขออาวุธจากมอสโกในอนาคต ซึ่งจะทำให้ความพยายามที่ผ่านมาของสหรัฐฯ ในการโดดเดี่ยวเปียงยางต้องสูญเปล่า

เกาหลีเหนือมิตรในยามยาก

สงครามของรัสเซียในยูเครนลากยาวยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปีครึ่งแล้ว มอสโกกำลังขาดแคลนกระสุนอย่างหนัก และผู้นำโลกที่สนับสนุนการทำสงครามของเขานั้นก็มีไม่มาก แต่ คิม จอง อึน มีให้ทั้ง 2 อย่าง

เป็นที่เชื่อกันมานานแล้วว่า เกาหลีเหนือมีกระสุนปืนใหญ่และจรวดยุคโซเวียตอยู่ในสต๊อกจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจใช้กับระบบอาวุธของรัสเซียได้ พวกเขายังมีกำลังผลิตที่อาจสามารถป้อนกระสุนให้รัสเซียได้ทันกับการใช้งาน ทำให้เปียงยางกลายเป็นฝ่ายมีข้อต่อรอง พลิกกลับบทบาทจากการเป็นฝ่ายต้องพึ่งพาโซเวียต โดยเฉพาะในช่วงสงครามเกาหลี

ในการพบกันเมื่อวันพุธ คิมประกาศกร้าวว่าจะสนับสนุนทุกการตัดสินใจของปูตินกับรัฐบาลของเขา ในการต่อสู้กับฝ่ายจักรวรรดินิยม ซึ่งสื่อถึงสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก

“หากคิมหมายตารางวัลที่ใหญ่กว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองประเทศจะกลายเป็นมาหอกข้างแคร่ของสหรัฐฯ” นาย ซู คิม อดีตนักวิเคราะห์ของ ซีไอเอ กล่าว “เรามองว่านี่เป็นสัญญาณการร้อนรนของคิมและปูติน และใช่ มันอาจเป็นความจริง แต่วิกฤติก็อาจถูกเปลี่ยนเป็นโอกาสสำหรับทั้งคู่ได้”

ขณะที่นาย วี ซอง-ลัค อดีตเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำรัสเซียระบุว่า รัสเซียพร้อมใช้ประโยชน์จากใครหรืออะไรก็ตามที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามของสหรัฐฯ และคิม จอง อึน อาจกลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ของปูติน

คิมกับปูตินยังส่งสัญญาณว่าพวกเขาพร้อมที่จะลอยตัวอยู่เหนือมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ

เพื่อผลประโยชน์ นายวีกล่าว เห็นได้จากเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ 2 คนที่เดินทางมาเยือนรัสเซียครั้งนี้ ถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติบแบนห้ามเดินทาง

สานฝันเทคโนโลยีอวกาศ

ระหว่างการเยือนรัสเซีย คิม จอง อึน ได้ทัวร์ศูนย์อวกาศ ‘วอสตอชนี คอสโมโดรม’ พร้อมกับผู้นำด้านการผลิตอาวุธ, ยุทธศาสตร์กองทัพ และเทคโนโลนีอวกาศ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า คิมสนใจที่คว้าผลประโยชน์ระยะยาวจากการทำข้อตกลงกับปูติน

นายเรียว ฮินาตะ-ยามากุจิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเมินว่า การติดต่อระหว่างมอสโกกับเปียงยางตอนนี้มีความไม่สมส่วนกันอยู่ รัสเซียจะได้ประโยชน์มากกว่าในระยะสั้นจากการซื้อเครื่องกระสุน ขณะที่เกาหลีเหนือจะได้ประโยชน์มากกว่าในระยะยาว หากพวกเขาได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีสำหรับวิจัยด้านอวกาศและพัฒนาอาวุธ

สิ่งที่สหรัฐฯ เป็นกังวลที่สุดในตอนนี้คือการที่รัสเซีย มอบเทคโนโลยีอาวุธขั้นสูงหรือความรู้หรือแก่เกาหลีเหนือ และช่วยให้เปียงยางฝ่าทางตันในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากในปัจจุบันพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาวุธสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่าง ดาวเทียมสอดแนม และเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์

นอกจากจะทัวร์ศูนย์อวกาศกับปูตินแล้ว คิมยังมีแผนเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบินรบและยุทโธปกรณ์ของรัสเซียด้วย บ่งชี้ว่า ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศอาจขยายไปจนถึงพื้นที่เหล่านี้ด้วย

ปูตินยังออกมาทิ้งระเบิด โดยบอกว่ารัสเซียจะช่วยเกาหลีเหนือในการพัฒนาดาวเทียม ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะช่วยเหลือถึงขั้นไหน แต่สหรัฐฯ ออกมาเตือนเรื่องการละเมิดมติสหประชาชาติทันที ขณะที่นายปูตินเองก็ดูจะระวังในเรื่องนี้โดยกล่าวว่า มีข้อจำกัดบางอย่างในการร่วมมือทางทหารกับเกาหลีเหนือ

มอสโกพร้อมแหกมติสหประชาชาติ ?

ปูตินไม่เคยปิดบังเรื่องความต้องการของเขาที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ให้เป็นแบบหลายขั้วอำนาจ แทนที่จะถูกครอบงำโดยชาติตะวันตกเพียงกลุ่มเดียว และความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีเหนือก็อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของเรื่องนั้น

การทำข้อตกลงซื้อขายอาวุธระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ธรรมดา เนื่องจากที่ผ่านมา รัสเซียสนับสนุนมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการคว่ำบาตรเกาหลี เหนือเรื่องโครงการนิวเคลียร์มาตลอด และมติดังกล่าวยังห้ามประเทศใด ซื้อขายอาวุธกับรัฐบาลเปียงยางด้วย

“มอสโกได้ลงนามในมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติไปแล้ว” มอสคอฟสกี คอมโซโมเลตส์ หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของรัสเซีย ระบุในบทความที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ก่อน คล้ายกับจะย้ำเตือนผู้นำ ของประเทศ ก่อนจะเสริมว่า “ช่างมันเถอะ ลายเซ็นน่ะเพิกถอนได้อยู่แล้ว”

แท็บลอยด์เจ้านี้ยังอ้างคำพูดของนายฟีโอดอร์ ลูเคียนอฟ ประธานสภานโยบายกลาโหมและต่างประเทศของรัสเซีย ว่า “ผ่านมานานแล้วและตอนนี้เริ่มมีคำถามว่า ทำไมเราต้องยึดถือการคว่ำบาตรเหล่านั้น? ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งหมด กำลังอยู่ในสภาพสับสนอลหม่านอย่างสิ้นเชิง”

“จริงอยู่ว่า การคว่ำบาตรของสหประชาชาติมีข้อผูกมัดตามกฎหมาย มันยากที่จะปฏิเสธเรื่องนั้น

เราลงคะแนนเสียงให้มติเหล่านี้ แต่สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว ทำไมจึงไม่เพิกถอนการโหวตของเรา ?”

ก้าวต่อไปคือ ?

ล่าสุดประธานาธิบดีปูตินตอบรับคำเชิญไปเยือนเกาหลีเหนือของคิม จอง อึน แล้ว และทั้ง 2 ประเทศน่าจะสานสัมพันธ์ระดับทวิภาคีนี้ไปต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่ารัสเซียจะส่งมอบเทคโนโลยีกองทัพขั้นสูงให้เกาหลีเหนือจริงหรือไม่ และต่อให้ส่งจริง มันก็อาจเกิดขึ้นอย่างลับๆ เพื่อหลบเลี่ยงการคว่ำ บาตรจากชาติตะวันตก

“หากรัสเซียไม่เพลี่ยงพล้ำในสงครามยูเครน ปูตินก็คงไม่ร้อนรนเข้าหาคิม จอง อึนแบบนี้” นายพัค วอน-กอน ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือจากมหาวิทยาลัยสตรี อีฮวา (Ewha) กล่าว “เกาหลีเหนือก็เข้าใจดีว่านี่คือความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน และคิมกำลังหาทางคว้าประโยชน์อย่างรวดเร็วจากรัสเซียรวมถึงเรื่อง อาหาร, พลังงาน และปุ๋ย”

นักวิเคราะห์ระบุด้วยว่า พวกเขากำลังจับตาปฏิกิริยาของประเทศจีน เรื่องการกระชับสัมพันธ์ระหว่างเปียงยางกับมอสโก และดูว่าทั้ง 3 ประเทศจะสามารถทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นได้หรือไม่

จีนเปรียบเหมือนเส้นชีวิตทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือ และมีความกังวลร่วมกันเรื่องอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่าง สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ทว่า การสนับสนุนการซื้อขายอาวุธระหว่างเปียงยางกับมอสโกอย่างเปิดเผย อาจทำลายความพยายามเป็นกลางของจีนในสงครามยูเครน

อย่างไรก็ตาม นายอันเดร โคซีเรฟ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเชื่อว่า มอสโกไม่ได้จนตรอกขนาดนั้น พวกเขาอาจจำเป็นต้องเติมเครื่องกระสุนอย่างรวดเร็ว และเกาหลีเหนือก็เป็นหนึ่งในหนทางเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น แต่ไม่ใช่ว่า ถ้าปราศจากความช่วยเหลือของเปียงยาง เครื่องจักรสงครามของรัสเซียจะหยุดทำงานในทันที

“ปูตินสามารถยื้อไปได้อีกนาน และเขาสามารถปรับตัวได้ เขาเรียนรู้ทุกวันว่าจะหลบเลี่ยงการคว่ำ บาตรอย่างไร ร่วมมือกับจีนและเกาหลีเหนือ รวมถึงรัฐบาลบางประเทศในแอฟริกาอย่างไร นั่นไม่ใช่ทางเลือกทดแทนในอนาคต แต่ตัวเลือกในปัจจุบันและอาจจะอีกหลายปีข้างหน้า”

ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : washingtonpost , bbc