ข่าว



“คนออฟฟิศรัฐแคลิฟอร์เนีย” ไร้บ้านพุ่ง!! อาศัยรถนอนทุกคืน พบพนง.แอปเปิลกินอยู่ในโรงรถ ใช้ถังน้ำต่างสุขา

เป็นที่น่าตกใจเมื่อพบว่าอัตราคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีนี้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเฉพาะเขตเบย์แอเรียซานฟรานซิสโก พบพนักงานประจำหลังเลิกงานต้องกลับมานอนในรถทุกคืน อาศัยห้องน้ำที่ทำงานหรือห้องสมุดเป็นที่อาบน้ำชำระร่างกาย ในสภาพสุดทนที่ไม่สามารถเปิดเผยให้กับเพื่อนร่วมออฟฟิศหรือเจ้านายรับรู้ ผลสำรวจล่าสุดปี 2017 ของประชากรไร้บ้านในเมืองซานฟรานซิสโกพบว่า มีถึง 13% ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามเป็นพนักงานประจำ ต้นเหตุจากบริษัทไฮเทคทำราคาค่าเช่าพุ่งแต่เงินเดือนยังเหมือนเดิม

NPR สื่อสหรัฐฯรายงานวันอาทิตย์(30 ก.ย)ถึงวิกฤตไร้บ้านในฝั่งตะวันตกสหรัฐฯที่ชาวแคลิฟอร์ทั้งๆมีงานประจำทำแต่กลับไม่มีที่พักอาศัย และเป็นจำนวนมากไม่กล้าเปิดเผยให้เพื่อนร่วมงานรับรู้ ซึ่งความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ในรัฐแคลิฟอร์เนียนับวันจะเพิ่มสูงขึ้นเหตุเพราะบรรดาบริษัทไฮเทคต่างๆทำค่าเช่าและราคาบ้านพุ่งทะยาน

ย่านในถิ่นผู้มีอันจะกิน เมืองซานตาบาบารา พบว่า อัตราราคาเช่าและที่อยู่อาศัยสูงลิ่วขัดกับอัตราเงินเดือนของพนักงานทั่วไปที่ยังคงหยุดนิ่ง ส่งผลทำให้แม้แต่ในกลุ่มคนที่มีเงินเดือนแทบไม่สามารถจะดำรงชีพอยู่ได้ในแต่ละวัน และทำให้มีคนที่มีงานทำเป็นจำนวนมากต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน

CNBC สื่อสหรัฐฯรายงานเมื่อวันที่ 4 ม.ค ต้นปีนี้ ชี้ว่า สภาวะที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า “สภาวะคนชั้นกลางไร้บ้าน” ตามนิยามของสตีฟ โลเปซ(Steve Lopez) ในบทความปัญหาคนไร้บ้านรัฐแคลิฟอร์เนียที่เขาเขียนให้กับหนังสือพิมพ์แอลเอไทม์ส NPR ชี้ไปถึงตัวเลขผลสำรวจในปี 2017ของเมืองซานฟรานซิสโกซึ่งถือเป็นเมืองที่ประสบปัญหาคนไร้บ้านอย่างหนัก เห็นได้จากการมีคนจรนั่งอยู่ตามถนนในย่านดาวน์ทาวน์ตามถนนมาร์เก็ต (Market Street) ที่ตั้งของห้างร้านชั้นนำ

ในการสำรวจชิ้นนี้ NPR รายงานว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 13% ระบุว่ามี “พวกเขามีงานประจำทำ” แต่อยู่ในสภาพไร้บ้าน และมีจำนวน 7,499 คนในเมืองซานฟรานซิสโกยอมรับว่าเคยมีประสบการณ์ไร้บ้านในอดีต สำหรับในปีนี้ NPRกล่าวว่า มีการประมาณว่า 10% ของจำนวนทั้งหมด 4,990 คนซึ่งไม่มีที่อยู่อาศัยเในเมืองซานดิเอโกนั้นกล่าวว่า "พวกเขามีงานทำ"

ในขณะที่ลอสแอนเจลิส เคาน์ตี พบว่ามีประชากรมากกว่า 50,000 คนเป็นบุคคลไร้บ้าน และ 8% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามในปี 2017 กล่าวว่าพวกเขามีงานทำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานพาร์ทไทม์ งานจ้างครั้งคราวเฉพาะฤดูกาล หรืองานชั่วคราว ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีเด็กอยู่ร่วมพบว่า 27% กล่าวว่า พวกเขามีงานทำไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานพาร์ทไทม์

NPR กล่าวว่า พนักงานประจำที่ไร้บ้านเหล่านี้มีความรู้สึกว่าพวกเขาล้วนไม่มีที่ไป เป็นต้นว่า เนเดดา(Nereida ) คุณแม่ชาวสหรัฐฯเลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกถึงสองคน เปิดเผยกับ NPR ว่าทำงานประจำอยู่ที่สำนักงานตรวจวัดสายตาทางการแพทย์ในลอสแอนเจลิส

“ดิฉันทำพรีเทสต์” เนเดดากล่าว และอธิบายถึงลักษณะการทำงานของเธอว่า “ดิฉันทำการตรวจสายตาของคนไข้ทุกคนก่อนเข้าพบคุณหมอ”

ในการให้สัมภาษณ์ เนเดดากล่าวยอมรับว่า เธอไม่กล้าเปิดเผยกับเจ้านายของเธอถึงการไม่มีที่อยู่ เธอยอมรับว่า เธอรู้สึกอับอายที่จะเปิดเผยออกไป และเกรงว่าอาจจะถูกปฎิบัติในทางที่เลวร้ายหากมีคนรับรู้ เนเดดาทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ด้วยค่าแรง 17 ดอลลาร์/ช.มตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐฯ หลังจากเลิกงาน เนเดดาต้องทำการติดต่อคนไข้เพื่อเตือนถึงหมายนัด หลังจากนั้นปิดไฟในตู้แสดงสินค้ากรอบแว่นสายตา ตั้งระบบเตือนภัย ล็อกประตูสำนักงานก่อนที่จะเดินตรงไปที่รถ ซึ่งในบางสัปดาห์นั่นเป็นที่อาศัยหลับนอนของเธอตลอดทั้งคืน

“มีไม่กี่ครั้งที่ดิฉันต้องอาศัยนอนในรถของตัวเอง” เนเดดากล่าว และเสริมว่า “ดิฉันจะจอดรถบริเวณด้านหน้าของโรงยิม เพราะที่นั่นเป็นสถานที่ซึ่งทำให้ดิฉันพร้อมสำหรับการทำงานในวันใหม่”

การมีเงินเดือนแค่ 17 ดอลลาร์/ช.ม นั้นเลวร้ายมากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าเช่าอพาทเมนต์ขนาด 2 ห้องนอนราคาถูกที่ 1,752 ดอลลาร์ที่เธอหาได้ และเทียบกับค่าใช้จ่ายประจำ ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน และค่าเนอร์สเซอรี่สำหรับลูกของตัวเอง ทำให้เนเดดาไม่สามารถมีเงินเพียงพอสำหรับเงินมัดจำประกันภัยและค่าเช่ามัดจำของเดือนแรกและเดือนสุดท้ายในการเช่าอพาทเมาต์ได้ นาเดดากล่าวอย่างอัดอั้นว่า

“คุณต้องมีสมาธิเป็นอย่าวมากเมื่อมีงานอยู่ตรงหน้า และพยายามทำสีหน้าให้ดูเหมือนว่าทุกอย่างดูปกติ” และกล่าวต่อว่า “แต่เมื่อเลิกจากงานแล้ว คุณจะรู้สึกเลวร้ายเป็นอย่างมาก เพราะคุณรู้ดีว่าไม่มีบ้านที่จะกลับ”

ปัญหาการไร้บ้านของชนชั้นกลางได้ถูกตอบสนองโดย "โครงการจอดปลอดภัย" (The Safe Parking ) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2004 ในการจัดหาสถานที่ปลอดภัยสำหรับชาวออฟฟิศไร้บ้านสามารถจอดรถของตัวเองได้ตลอดทั้งคืนโดยที่ไม่ถูกทำร้าย เป็นต้นว่าลานจอดรถของโบสถ์ ออฟฟิศต่างๆ แต่แค่ในช่วง 18 เดือนล่าสุด พบว่าโครงการนี้ได้ขยายตัวออกไปจาก 20 แห่ง เป็น 23 แห่งอ้างอิงจากแอลเอไทม์ส และมีอีกกว่า 40 ครอบครัวอยู่ในรายชื่อรอเข้าร่วมโครงการ

CNBC ระบุจากจำนวน 150 คนที่เข้าร่วมโครงการจอดปลอดภัย พบว่า 40%ของจำนวนทั้งหมดนั้นอยู่ในกลุ่มผู้มีงานทำ รวมไปถึง มาร์วา เอริคสัน(Marva Ericson) ผู้ช่วยพยาบาลที่มีใบประกาศรับรองนั้นอาศัยรถยี่ห้อเกียเป็นที่พักในช่วงกลางคืน พบว่าเอริคสันประสบปัญหาด้านสุขภาพเกิดอาการชักส่งผลทำให้เธอต้องออกจากงานที่ทำ และเธอถูกตรวจพบว่ามีเนื้องอกในสมองระหว่างที่เธอต้องดูแลมารดาที่ใกล้จะเสียชีวิต และถึงแม้ว่าเอริคสันจะสามารถกลับไปทำงานตามปกติได้แล้ว แต่เธอยังมีปัญหาที่จะทำให้มีชีวิตอยู่รอดได้ในแต่ละวันถึงแม้ว่าเธอต้องทำงาน 2 แห่งที่มีค่าจ้างระหว่าง 12 ดอลลาร์- 14 ดอลลาร์ก็ตาม และทำให้เอริคสันต้องออกมาจากอพาทเมนต์ที่เธออาศัยเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้า และอาศัยอยู่ในรถของตัวเองมาตั้งแต่นั้น

“ดิฉันตื่นขึ้นมาและกล่าวกับตัวเองว่า “ขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้ดิฉันปลอดภัยเมื่อคืนนี้ และขอขอบคุณโครงการจอดปลอดภัย” อ้างอิงจากการรายงานของแอลเอไทม์ส

CNBC ได้อ้างไปถึงการรายงานของเดอะการ์เดียนเมื่อต้นปี 2017ว่า พนักงานของบริษัทเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ออกมายอมรับสำนักพิมพ์ว่า พวกเขาแทบจะไม่มีจะกินในแต่ละวัน โดยหนึ่งในพนักงานของบริษัททวิตเตอร์ที่มีรายได้ต่อปีแค่ 160,000 ดอลลาร์ออกมายอมรับว่า เขาแทบไม่สามารถอยู่ได้ในแต่ละวัน พนักงานในวัยราว 40ปีรายนี้อยู่ในตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ต้องเลี้ยงดูภรรยาและลูก 2 คนต้องประสบปัญหากับค่าเช่าตกเดือนละ 3,000 ดอลลาร์ในซานฟรานซิสโก เขาระบุว่า ความตกต่ำเริ่มขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2014 เมื่อบริษัททวิตเตอร์เปลี่ยนแปลงระบบการจ่ายเงินเดือนพนักงานของตัวเอง ส่งผลทำให้เขาต้องกู้ยืมเพื่อที่จะให้สามารถอยู่รอดถึงสิ้นเดือน

ในรายงานของเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษในวันที่ 27 ก.พ 2017ชี้ว่า ชายผู้นี้เป็นหนึ่งในพนักงานบริษัทไฮเทคในเขตเบย์แอเรียซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯที่มีรายได้ต่อปีระหว่าง 100,000 ดอลลาร์ - 700,000 ดอลลาร์เข้ามาหาสำนักพิมพ์เพื่อเปิดเผยเรื่องราวสถานะทางการเงินแต่ขอปกปิดชื่อไว้ และพบว่า มีพนักงานของบริษัทแอปเปิลของสตีฟ จอบส์ต้องอาศัยอยู่ในโรงรถที่เมืองซานตาครูซ ใช้ถังน้ำต่างเป็นสุขา ส่วนพนักงานบริษัทไฮเทคอีกรายระบุว่า ต้องนอนบนเตียง 2 ชั้นในบ้านเช่าขนาด 2 ห้องนอนร่วมกับวิศวกรคนอื่นๆอีกถึง 12 คนในสนนราคาค่าเช่า 1,100 ดอลลาร์

“มันเป็น 1,100 ดอลลาร์สำหรับค่านอนเตียง 2 ชั้นร่วมกับคนอีก 5 คนในห้องนั้น” พนักงานรายนี้ที่เชื่อว่ามีอาชีพเป็นวิศวกรกล่าว และเปิดเผยต่อว่า มีอีกคนต้องเสียพิเศษ 1,400 ดอลลาร์สำหรับอาศัยอยู่ในตู้เสื้อผ้าซึ่งถูกระบุว่า “เป็นพื้นที่พิเศษส่วนบุคคล”

ทั้งนี้มีรายงานเมื่อวันที่ 30 มี.ค ต้นปีนี้ อ้างอิงจากบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์แอลเอไทม์ส ระบุว่า ทางเมืองแอลเอประกาศห้ามให้บุคคลจอดรถเพื่อหลับนอนในชั่วข้ามคืน แต่อนุญาตให้บุคคลสามารถนอนบริเวณทางเท้าได้ สร้างเสียงประณามไปทั่ว