ข่าว
คอนเสิร์ตมรณะ ดับเพิ่มรายที่ 9 นศ.สาวเท็กซัส เพิ่งไปสนุกครั้งแรก

เอพี รายงานวันที่ 12 พ.ย. ว่า ยอดผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สะเทือนขวัญคนเบียดทับกันในงานเทศกาลดนตรี แอสโทรเวิลด์ เมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เพิ่มเป็น 9 รายแล้ว เมื่อนักศึกษาสาววัย 22 ปี สิ้นใจ หลังจากอยู่ในภาวะสมองตายนับจากวันเกิดเหตุ

น.ส.พารตี ชาฮานี นักศึกษาเชื้อสายอินเดีย กำลังจะจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้านี้ ไปร่วมชมคอนเสิร์ตของ ทราวิส สกอตต์ ในงานแอสโทรเวิลด์ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. พร้อมพี่สาวและลูกพี่ลูกน้อง ท่ามกลางผู้ชมกว่า 50,000 คน

นายเจมส์ ลาสซิเทอร์ ทนายของครอบครัวผู้ตายเผยว่า น.ส.พารตี เสียชีวิตเมื่อค่ำวันพุธที่ 10 พ.ย. ต่อเนื่องจากผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ ก่อนหน้านี้ 8 คน อายุระหว่าง 14-27 ปี และมีผู้บาดเจ็บนับร้อย

“เป็นครั้งแรกในชีวิตของเธอ ที่เธออยากจะไปสนุก และนั่นเอาชีวิตของเธอไป” นัมราตา ชาฮานี พี่สาวกล่าว และว่าคำสุดท้ายที่น้องพูดคือ “พี่โอเคมั้ย” ระหว่างทั้งสองก็พลัดหลงกัน เนื่องจากผู้ชมเบียดแน่นมาก กระทั่งมาเจอน้องอีกครั้งคือใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ในห้องฉุกเฉิน

นอกจากหญิงสาวรายนี้แล้ว ยังมีเด็กชายอายุ 9 ขวบที่ยังอาการโคม่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว

บรรดาผู้รอดชีวิตเหล่าว่า จำนวนคนที่แออัดเข้าไปอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่ทราวิส สก็อตต์จะขึ้นเวที และเมื่อสกอตต์เริ่มการแสดงตอนสามทุ่ม ก็เห็นคนเริ่มเป็นลมสลบล้มลง

ทนายความของนักร้องดังเผยว่า ทราวิส สก็อตต์ไม่รู้ว่ามีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บ หลังจากแสดงไปแล้วและเสียใจมากที่เกิดสถานการณ์นี้ เขาพยายามที่จะติดต่อครอบครัวผู้สูญเสีย เพื่อแสดงความเสียใจและให้ความช่วยเหลือ

เหตุการณ์ดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการสอบสวนคดีอาญา เบื้องต้นพบว่า ตำรวจฮูสตันนายหนึ่งใช้วิทยุสื่อสารแจ้งว่า เวทีหลักเริ่มมีปัญหาคลื่นฝูงชน หลังจากทราวิส สก็อตต์เริ่มแสดงไปไม่นาน

“ดูเหมือนว่าฝูงชนจะบ่นว่าหายใจไม่ค่อยออก และมีการบาดเจ็บเพราะเบียดกัน” ข้อความที่ตำรวจสื่อสารทางวิทยุเวลา 21.21 น. จากนั้น ทราวิส สก็อตต์ ยังแสดงต่อไปอีกราวหนึ่งชั่วโมง

ลุ้นร่างสมบูรณ์ COP26-สหรัฐฯ จีนกอดคอ

เข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ซึ่งมีกำหนดวันปิดประชุม 12 พ.ย. ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดว่าข้อตกลงฉบับเต็มจะเป็นเช่นไร หลังเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ได้มีการเผยแพร่ฉบับร่างความยาว 7 หน้ากระดาษ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทบทวน และเพิ่มความเข้มข้นของแผนการลดการปล่อยก๊าซมลพิษในปี 2565 กำหนดกลยุทธ์ระยะยาวในสิ้นปี 2565 เพื่อให้บรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 หวังควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สิ่งที่ทุกคนกำลังจับตา คือร่างข้อตกลง COP26 ว่าจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือลดความเข้มข้นลงหรือไม่ เพราะเนื้อหาสาระของข้อตกลงต้องได้รับความเห็นชอบและลงนามรับรองจากชาติภาคีเกือบ 200 ประเทศ และข้อตกลงฉบับร่างได้มีรายละเอียดเรื่องการลดพลังงานถ่านหินอย่างเข้มข้นชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อชาติยักษ์ใหญ่ ที่ยังคงพึ่งพาและสร้างรายได้จากพลังงานถ่านหิน

ขณะที่อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องเงินทุน ที่ชาติร่ำรวยต้องจ่ายช่วยเหลือชาติกำลังพัฒนา หลังมีเสียงงเรียกร้องว่าควรจะต้องเพิ่มวงเงินและจ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อให้การเปลี่ยนถ่ายด้านพลังงานของบรรดาชาติที่ขาดเงินทุนเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว และนำไปสู่เป้าลดคาร์บอนอย่างสมบูรณ์ จากเดิมที่เคยให้คำมั่นกันไว้ที่ปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังทำกันไม่สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 พ.ย. ตัวแทนสหรัฐฯ และจีน ที่ผลัดกันแลกวิวาทะมาตั้งแต่เริ่มการประชุม 31 ต.ค. ได้สร้างความประหลาดใจแก่เวทีโลก หลังประกาศจุดยืนร่วมมือสหรัฐฯ-จีน ว่าจะร่วมทำงานกันอย่างใกล้ชิด ในเรื่องการลดปล่อยก๊าซมลพิษภายในทศวรรษ หรือ 10 ปีข้างหน้า เพื่อทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงกรุงปารีส 2558 ขณะที่นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ร่วมแสดงความยินดีต่อแถลงการณ์ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่มาถูกทาง ทั้งนี้ จีนและสหรัฐฯปล่อยคาร์บอนมากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก

ส่วนสำนักข่าวบีบีซี อังกฤษ รายงานด้วยว่า การประชุมในวันที่ 11 พ.ย. ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันแห่งเมือง” เพื่อเรียกร้องให้มหานคร เมืองใหญ่ในประเทศต่างๆ ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยึดมั่นต่อเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพราะอย่างอังกฤษเองก็พบว่าอาคารบ้านเรือนตามเมืองต่างๆ มีการปล่อยก๊าซมลพิษคิดเป็นสัดส่วนถึง 16 เปอร์เซ็นต์

‘เยอรมนี’ สาหัส ป่วยโควิด-19 รายวันทะลุ 50,000 ราย ครั้งแรก

วันศุกร์ ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564: สำนักข่าวซินหัวรายงาน สถาบันโรแบร์ตค็อก (RKI) ของเยอรมนี เปิดเผยว่ายอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) รายวันในเยอรมนี พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50,196 ราย ในวันพฤหัสบดี (11 พ.ย.)

หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคของรัฐบาลกลางแห่งนี้ชี้ว่าอัตราการอุบัติของโรคโควิด-19 ในรอบ 7 วัน เพิ่มขึ้นเป็น 249.1 ราย ต่อประชากร 100,000 คน แตะระดับสูงสุดติดต่อกันเป็นวันที่ 4 โดยอัตราดังกล่าวในสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 154.5 ราย

“ไวรัสยังคงแพร่กระจายและคุกคามสุขภาพของพลเมือง” โอลาฟ โชลซ์ รองนายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวระหว่างปราศรัยในสภาสหพันธ์ เมื่อวันพฤหัสบดี (11 พ.ย.) พร้อมประกาศว่าจะมีการจัดประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ของนายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์รัฐในสัปดาห์หน้า

ด้านสมาคมสหวิทยาการเพื่อการดูแลผู้ป่วยวิกฤตและเวชศาสตร์ฉุกเฉินเยอรมัน (DIVI) เผยว่ายอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาตัวในแผนกผู้ป่วยหนักยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะที่ 2,828 ราย ในวันพฤหัสบดี (11 พ.ย.)

“เยอรมนีจะเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และวางเป้าหมายให้ประชาชนหลายล้านคนได้รับวัคซีนโดสกระตุ้นก่อนฤดูหนาวจะมาถึง” โชลซ์กล่าว “เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูหนาวให้ได้เหมือนที่พูดไว้”

ทั้งนี้ ประชาชนในเยอรมนีได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสราว 56 ล้านคนแล้ว เมื่อนับถึงวันพุธ (10 พ.ย.) ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 67.3

เยอรมนีอ่วมโควิดระลอก 4 นักวิทย์เตือน อาจตายเพิ่มอีก 100,000 คน

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่าเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 64 : ดร.คริสเตียน ดรอสเทิน หนึ่งในนักวิทยาไวรัสชั้นนำของประเทศเยอรมนี ออกโรงเตือนในวันพุธที่ 10 พ.ย. 2564 ว่าประชาชนอีกกว่า 100,000 คนในประเทศอาจต้องเสียชีวิต หากรัฐบาลไม่ลงมือทำอะไรเพื่อหยุดยั้งการระบาดระลอกที่ 4 ของไวรัสโควิด-19

คำเตือนของ ดร.ดรอสเทิน เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เกือบ 40,000 รายในวันพุธ มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มการระบาด ขณะที่ในรัฐซัคเซิน มีอัตราการติดเชื้อรอบ 7 วันสูงที่สุดในประเทศ ที่ 459 รายต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 232 ราย

ซัคเซินยังเป็นรัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุด เพียง 57% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น โดยแพทย์จากแผนกผู้ป่วยโควิด-19 ขั้นวิกฤติ ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไลป์ซิก ระบุว่า ในบรรดาผู้ป่วย 18 รายในวอร์ด มีเพียง 4 รายเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนแล้ว ศ.เซบาสเตียน ชเตียร์ หัวหน้าแผนกผู้ป่วยโควิด ระบุว่า เป็นเรื่องยากมากที่เจ้าหน้าที่จะมีแรงบันดาลใจในการรักษาคนไข้ในการระบาดระลอก 4 นี้ เพราะประชากรจำนวนมากยังประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นต่ำเกินไป ตอนนี้คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และควรรู้ถึงความเสี่ยง แต่เราก็ยังเห็นคนไข้มากมายที่ไม่ได้รับวัคซีน

รัฐบาลรัฐซัคเซินเริ่มบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อรับมือการระบาดแล้ว โดยตั้งแต่สัปดาห์นี้ ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะถูกห้ามเข้าบาร์, ร้านอาหาร, งานสาธารณะต่างๆ และสนามกีฬากับสถานที่พักผ่อนต่างๆ โดยคาดว่าหลายรัฐจะเจริญรอยตามด้วย อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้ต่อต้านการฉีดวัคซีนไม่พอใจ และออกมาชุมนุมประท้วงในเมืองไลป์ซิกกันหลายพันคนเมื่อช่วงสุปดาห์ที่ผ่านมา โดยประณามว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

อนึ่ง รัฐบาลเยอรมนียอมรับว่า จนถึงตอนนี้ยังมีชาวเยอรมนีที่อายุเกิน 12 ปีอีกกว่า 16 ล้านคนที่ยังรับวัคซีนไม่ครบ 2 โดส และพวกเขาไม่น่าจะสามารถเกลี้ยกล่อมคนเหล่านั้นได้แล้ว ในขณะที่บรรดานักการเมืองกังวลว่าความแตกแยกในสังคมจะเพิ่มมากขึ้น


เปิดปมปัญหาชายแดนเบลารุส-โปแลนด์ เมื่อผู้อพยพกลายเป็นเครื่องมือการเมือง

วิกฤติผู้อพยพของยุโรปเลวร้ายลงไปอีก เมื่อในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยจำนวนหลายพันคนซึ่งต้องการหลบหนีภยันตรายในตะวันออกกลาง เดินทางไปรวมตัวกันที่ชายแดนเบลารุสที่เชื่อมต่อกับประเทศโปแลนด์ โดยหวังว่าจะได้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสหภาพยุโรป แต่พวกเขากลับติดอยู่ที่นั่น ไปไหนไม่ได้ท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้าย

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มีแรงผลักดันทางการเมืองอยู่เบื้องหลังซึ่งดำเนินมานานหลายเดือนแล้ว สหภาพยุโรปรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของเบลารุส โทษประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ว่าเป็นผู้จัดแจงให้วิกฤติเลวร้ายลง เพื่อตอบโต้ EU ที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัฐบาลของเขาเมื่อสิงหาคม แต่ผู้นำเบลาารุสปฏิเสธ พร้อมโจมตีกลับว่า การที่ฝั่งยุโรปไม่ยอมรับผู้ประท้วงต่างหาก ที่ทำให้เหตุการณ์บานปลาย

ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า เบลารุสต้องการกดดัน EU ให้ยอมอ่อนข้อให้ แต่ในระหว่างที่ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังงัดข้อกันอยู่ ผู้รับเคราะห์ที่แท้จริงอย่างผู้อพยพ กำลังต้องทนทุกข์กับสภาพความเป็นอยู่อันเลวร้าย มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายราย จนหน่วยงานสหประชาชาติต้องออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดใช้คนกลุ่มนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่า ความขัดแย้งครั้งนี้จะจบลงเมื่อใด

เกิดอะไรขึ้นที่ชายแดนเบลารุส-โปแลนด์

ผู้อพยพจำนวนหลายพันคนเดินทางมาถึงชายแดนเบลารุสที่เชื่อมต่อกับโปแลนด์ โดยที่ผู้นำสหภาพยุโรปกล่าวหาเบลารุสว่า เป็นผู้พาคนกลุ่มนี้มา โดยช่วยทั้งเรื่องการขนส่ง และให้คำมั่นสัญญาที่ไม่เป็นความจริง พวกเขาจะสามารถเดินทางเข้าสู่ยุโรปได้โดยง่าย

จนถึงตอนนี้ ผู้อพยพราว 2,000-4,000 คน ยังติดค้างอยู่ที่ชายแดน โดยเฉพาะที่หน้ารั้วกั้นฝั่งตรงข้ามของหมู่บ้าน คุซนิกา ของโปแลนด์ ซึ่งตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้อพยพพยายามฝ่ารั้วกั้นเข้าไปในโปแลนด์ไม่ต่ำากว่า 4,300 ครั้ง แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ของโปแลนด์ขัดขวางอย่างหนักและผลักดันออกไป

สถานการณ์ของผู้อพยพยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เพราะนอกจากต้องค้างแรมภายในเต็นท์กลางแจ้ง ท่ามกลางอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียสในยามกลางคืนแล้ว พวกเขายังต้องเผชิญกับมาตรการแข็งกร้าวของงรัฐบาลโปแลนด์ ที่มีจุดยืนต่อต้านการรับผู้อพยพมาตลอด โดยพวกเขาส่งทหารและตำรวจปราบจลาจลไปควบคุมสถานการณ์บริเวณชายแดนกว่า 15,000 นาย และบังคับใช้คำสั่งภาวะฉุกเฉิน ปิดกั้นพื้นที่ทำให้ความช่วยเหลือไปไม่ถึงเหล่าผู้อพยพ

หน่วยงานเอ็นจีโอทั้งในและต่างประเทศ ออกมาเรียกร้องให้โปแลนด์ยอมให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เข้าสู่พื้นที่ เพื่อมอบเสบียงอาหารและยาแก่ผู้อพยพ ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติมนุษยธรรม แต่ยังไม่เป็นผล

ปมการเมืองเบื้องหลัง

วิกฤติผู้อพยพที่ชายแดนเบลารุสกับโปแลนด์ เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอันคุกรุ่นระหว่างเบลารุสกับสหภาพยุโรป หลังเกิดการประท้วงใหญ่ในเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อต่อต้านผลการเลือกตั้งที่นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีเบลารุสสมัยที่ 6 แต่ทั้งฝ่ายค้านและชาติตะวันตกต่างไม่ยอมรับผล อ้างว่ามีการทุจริตอย่างกว้างขวาง

ในครั้งนั้น รัฐบาลเบลารุสปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 35,000 คน แกนนำฝ่ายค้านต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และหนึ่งในประเทศที่ให้การตอบรับพวกเขาคือโปแลนด์ ขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้สหภาพยุโรปตัดสินใจใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัฐบาลของลูคาเชนโก

แต่ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ กลับเกิดเหตุการณ์สุดอื้อฉาว เมื่อเครื่องบินโดยสารซึ่งกำลังเดินทางจากประเทศกรีซไปลิทัวเนียถูกเครื่องบินรบเบลารุสสกัดกลางอากาศ และบังคับให้ลงจอดในกรุงมินสก์ เพื่อที่พวกเขาจะได้จับกุมตัวนายรามัน ปราตาเซวิช นักข่าวหัวขบถ ทำให้ EU สั่งห้ามเครื่องบินเบลารุสบินผ่านน่านฟ้าของพวกเขา และลดการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญอย่างผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมด้วย

นายลูคาเชนโกที่โกรธมากกับการกระทำของสหภาพยุโรป ก็ตอบโต้ด้วยการประกาศว่า จะไม่ทำตามข้อตกลงหยุดยั้งผู้อพยพผิดกฎหมายอีกต่อไป อ้างว่าการคว่ำบาตรของ EU ทำให้พวกเขามีงบประมาณไม่พอ หลังจากนั้นไม่นาน เครื่องบินขนผู้อพยพจากอิรัก, ซีเรีย และประเทศอื่นๆ ก็เริ่มเดินทางเข้าสู่เบลารุส ก่อนที่พวกเขาจะมุ่งหน้าสู่ชายแดนที่เชื่อมกับประเทศโปแลนด์, ลิทัวเนีย และลัตเวีย

ยอมหักไม่ยอมงอ

สหภาพยุโรปแสดงความสนับสนุนชาติสมาชิกของพวกเขาอย่างเต็มที่ โดยนายชาร์ลส์ มิเชล ถึงขั้นออกมายอมรับว่า EU กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะออกงบประมาณสร้างรั้วกั้นชายแดนระหว่างโปแลนด์กับเบลารุส นอกจากนั้นเมื่อวันพุธ (10 พ.ย.) พวกเขายังตัดสินใจเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการคว่ำบาตรต่ออรัฐบาลเบลารุสด้วย

ด้านลูคาเชนโกก็ไม่น้อยหน้า เขาประกาศในวันพฤหัสบดีว่า จะตอบโต้การคว่ำบาตรของยุโรป ด้วยการดตัดการสั่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่ยุโรป เนื่องจากเบลารุสเป็นทางผ่านของท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสู่ EU ที่มีความสำคัญมากถึง 2 ท่อ ซึ่งอาจทำให้วิกฤติก๊าซธรรมชาติขาดแคลนในยุโรปเลวร้ายลง และทำให้ราคาแก๊สเพิ่มสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนรวมถึง พาเวล อูเซา หัวหน้าศูนย์เพื่อการคาดการณ์และวิเคราะห์การเมืองในโปแลนด์ เชื่อว่า ลูคาเชนโกคิดผิดอย่างมหันต์ หากเขาเชื่อว่าการใช้มาตรการกดดันจะทำให้ EU ยอมอ่อนข้อได้ เพราะ EU รู้ว่า หากยอมอ่อนข้อ ลูคาเชนโกจะมีสถานะเป็นผู้ชนะ ทำให้เขากล้าที่จะใช้มาตรการกดดันอื่นๆ เพิ่มอีก

ผู้รับเคราะห์ที่แท้จริง

แต่ในระหว่างที่ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังงัดข้อกันอยู่นั้น ผู้รับเคราะห์ตัวจริงของเหตุการณ์นี้กลับเป็นผู้อพยพ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 8 รายตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือก็ยังไม่รู้ว่า ชะตากรรมของตัวเองหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ปัจจุบันในเบลารุสมีผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริกาประมาณ 5,000 คนถึง 20,000 คน ซึ่งหลายคนในนี้ไม่มีเงินเหลือแล้วและเริ่มตกที่นั่งลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากฤดูหนาวกำลังใกล้เข้ามา ขณะที่ชาวเบลารุสก็รู้สึกไม่สบายใจกับคนกลุ่มนี้ ทำให้รัฐบาลถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าต้องทำอะไรสักอย่าง

นายวาเลรี คาร์บาเลวิช นักวิเคราะห์อิสระ เชื่อว่า ตอนนี้ผู้อพยพกลายเป็นเพียงเครื่องมือในการโจมตียุโรปของรัฐบาลลูคาเชนโกเท่านั้น โดยเป้าหมายของเขาอย่างน้อยที่สุดคือ การเอาคืน EU และอย่างมากที่สุดคือการทำให้ยุโรปผ่อนคลายการคว่ำบาตรที่กำลังกระทบอุตสาหกรรมของประเทศอย่างหนัก หลังจากพยายามขออเจรจาแต่ไม่เป็นผล

“ลูคาเชนโกไม่มีอะไรจะเสีย” นายคาร์บาเลวิชกล่าว “เขาไม่ห่วงเรื่องชื่อเสียงของตัวเองอีกต่อไปแล้ว”

ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : WSP, the guardian, globalnews


พรรคคอมมิวนิสต์จีน : “มติครั้งประวัติศาสตร์” เลื่อนสถานะ สี จิ้นผิง เทียบเท่าเหมา เจ๋อตุง และ เติ้ง เสี่ยวผิง

พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้อนุมัติ “มติครั้งประวัติศาสตร์” ที่จะเสริมสร้างสถานะของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในประวัติศาสตร์การเมืองจีน และทำให้เขากระชับอำนาจได้เข้มแข็งขึ้น

เอกสารดังกล่าว ซึ่งสรุปประวัติศาสตร์ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์ มีเนื้อหาบอกเล่าความสำเร็จที่สำคัญ และทิศทางในอนาคตของพรรค

การอนุมัติมตินี้มีขึ้นในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของจีน

การอนุมัติ “มติครั้งประวัติศาสตร์” นี้เคยเกิดขึ้นเพียง 3 ครั้งนับแต่มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยครั้งแรกมีขึ้นในยุคของประธานเหมา เจ๋อตุง ในปี 1945 และครั้งที่ 2 มีขึ้นในยุคของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ในปี 1981

เป้าหมายสำคัญของการอนุมัติมตินี้คือการยกสถานะของประธานาธิบดีสีให้เทียบเท่ากับอดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองคน

เหล่าผู้สันทัดกรณีต่างมองการออกมตินี้ว่าเป็นความพยายามของนายสี ที่จะลบล้างแก้ไขความพยายามหลายทศวรรษในการกระจายอำนาจของเหล่าผู้นำจีน ที่เริ่มต้นขึ้นในสมัยของนายเติ้ง เสี่ยวผิง และดำเนินเรื่อยมาในยุคของผู้นำจีนคนอื่นๆ เช่น ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าจีนอาจจะกลับเข้าสู่การปกครองแบบ “ลัทธิบูชาบุคคล” (cult of personality)

การประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 นี้มีขึ้นเป็นการลับ ต่อเนื่องเวลา 4 วัน โดยมีสมาชิกสูงสุดของพรรคเข้าร่วมการประชุมกว่า 370 คน และถือเป็นการประชุมใหญ่ครั้งสุดท้ายของคณะผู้นำพรรคก่อนจะถึงการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในปีหน้า ซึ่งคาดว่านายสีจะพยายามดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3

เมื่อปี 2018 สภาประชาชนแห่งชาติจีนได้ลงมติผ่านความเห็นชอบให้แก้ไขธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์ ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากที่จำกัดไว้สูงสุดเพียง 2 สมัย ให้เป็นการดำรงตำแหน่งอย่างไม่มีกำหนดได้ ซึ่งช่วยเปิดทางให้ประธานาธิบดีสี สามารถครองเก้าอี้ผู้นำได้ตลอดชีพ

มติครั้งนี้สำคัญอย่างไร

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า นี่จะช่วยให้นายสีกุมอำนาจไว้ได้อย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้น

อดัม นี บรรณาธิการ China Neican ซึ่งให้บริการบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศจีน ระบุว่า “เขา (สี จิ้นผิง) พยายามสร้างให้ตัวเองเป็นวีรบุรุษในเส้นทางของประเทศ”

นายนีอธิบายว่า การผลักดันมติครั้งประวัติศาสตร์ซึ่งมีนายสีเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราวในยุคปัจจุบันของพรรคคอมมิวนิสต์และของประเทศจีนนั้น คือการแสดงอำนาจของนายสี แต่ขณะเดียวกันเอกสารฉบับนี้ก็เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เขาได้กุมอำนาจต่อไป

ดร.ชง จา เอียน จากมหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้ทำให้นายสีแตกต่างไปจากอดีตผู้นำจีนคนอื่น ๆ

เขากล่าวว่า “อดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา และเจียง เจ๋อหมิน ไม่เคยรวบอำนาจไว้อย่างแข็งแกร่งเท่ากับนายสี” แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนว่าผู้นำทั้งสองจะพยายามทำแบบเดียวกับนายสีหรือไม่หากมีโอกาสแบบเดียวกัน

ที่ผ่านมา ทั้งประธานเหมา เจ๋อตุง และนายเติ้ง เสี่ยวผิง ใช้การผ่านมติครั้งประวัติศาสตร์ในการตัดขาดจากอดีต

มติครั้งแรก ซึ่งผ่านการอนุมัติในการประชุมเต็มคณะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปี 1945 ช่วยให้นายเหมา รวบอำนาจเข้าไว้กับตัวเอง เพื่อให้มีอำนาจเต็มในการประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1949

ตอนที่นายเติ้ง ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในปี 1978 เขาได้เสนอมติครั้งที่ 2 ในปี 1981 ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ “ความผิดพลาด” ของประธานเหมา ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 1966 – 1976 ซึ่งทำให้ผู้คนล้มตายไปหลายล้านคน นายเติ้งยังได้วางรากฐานการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนด้วย

นายนี บรรณาธิการ China Neican ระบุว่า สิ่งที่แตกต่างไปจากมติในอดีตทั้งสองคือ การที่นายสีพยายามเน้นย้ำเรื่องความต่อเนื่องในมติของเขา

มติของประธานาธิบดีสียังมีขึ้นในยุคที่จีนได้ก้าวขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะจินตนาการได้เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน

ดร.ชง จากมหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า จีนยืนอยู่ในจุดที่สามารถมองย้อนกลับไปเห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การทหาร และการได้รับการยอมรับสถานะในฐานะชาติมหาอำนาจของโลก โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และบรรดาผู้นำต่างอยู่ในอำนาจโดยที่ไม่มีฝ่ายค้านในประเทศ

“อาจพูดได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีนายสีเป็นผู้นำได้ก้าวมาถึงจุดสูงสุดของความสำเร็จสำหรับตัวพรรคและสำหรับประเทศจีน”

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การเมืองเป็นเรื่องที่อาจพลิกผันได้ และแม้จะมีหลักฐานมากมายว่านายสีได้กุมอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในอนาคต

“การเมืองระดับชนชั้นนำของจีนเต็มไปด้วยความลับ และมีเรื่องราวอีกมากที่เรายังไม่รู้” นายนีกล่าว

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว


พบผู้ประกอบการไทย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2564 : CA State Treasurer , Hon. Fiona Ma เหรัญญิกของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับเลือกจากการเลือกตั้งโดยประชาชนของรัฐแคลิฟอร์เนีย พบกับผู้ประกอบการไทย เพื่อรับฟังปัญหาจากผลกระทบของโควิค-19 ที่ตลาด LAX-C ซึ่งเป็นตลาดขายปลีก /ส่งของชุมชนไทยมาช้านาน ร่วมด้วยสมจิตร เบอดิ (CEO Advanced Process Services, Inc) ผอ.ขวัญนภา ผิวนิล (ผอ.ไทยเทรด ลอสแอนเจลิส) รอสลิน ปัทมคันธิน ประธานสภาหอการค้าไทยฯ และทีมงาน

ได้นำเสนอข้อมูลให้กับ เหรัญญิก Ma เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎระเบียบของซิตี้ที่มากมายในการขอปรับปรุงขยายพื้นที่ธุรกิจ, ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน, ข้อกำหนดของ Health Department, ต้นทุนในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ, สินค้าค้างที่ท่าเรือ, ความด้อยโอกาสในการยื่นซองประมูลงานรัฐบาล

เหรัญญิก Ma เป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเหรัญญิก Ma ได้รับไว้พิจารณาหลายประเด็นในปัญหาต่างๆ พร้อมกับรับปากที่จะช่วยดำเนินการประสานงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย นี่คงเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ผู้บริหารรัฐระดับสูง เล็งเห็นถึงความสำคัญของชุมชมไทย ขอบคุณ Daniel Sieu , CEO William & Stephanie และทีมงาน ซึ่งเป็นผู้ประสานงานให้การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้น

กฐินพระราชทาน

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 เวลา 12.30 น. นายต่อ ศรลัมพ์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส และภริยา ได้เข้าร่วมงานกฐินพระราชทาน ณ วัดไทยลอสแองเจลิส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้นางสุนีย์ และนายธนวัฒน์ หอสุวรรณ ตามที่ขอรับพระราชทานน้อมนำไปถวายพระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดไทยลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีพระเทพมงคลวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยลอสแองเจลิส เป็นประธานฝ่ายสงฆ์