ข่าว
ค้านรื้อ “กฎหมายคุมประมง” นักวิชาการหวั่น ไทยโดนใบแดงค้ามนุษย์ถาวร

นักวิชาการประมงเตือนพรรคการเมือง หยุดหาเสียงรื้อกฎหมายคุมการทำประมงผิดกฎหมาย หวั่นอาจทำให้ไทยโดนใบแดงค้ามนุษย์ถาวร ด้านรองประธานแอลพีเอ็น หนุนเปิดเสรีให้แรงงานข้ามชาติตั้งสหภาพแรงงานในไทยได้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จับมือกรมประมง ตรวจสอบสินค้าประมงที่ตลาดทะเล ไทย มั่นใจปลอดไอยูยู ย้ำไม่พบลักลอบนำเข้าจากเพื่อนบ้านมาจำหน่าย จนกระทบราคาในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความโปร่งใสในอุตสาหกรรมประมง และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเชิงวิชาการ สถานการณ์ปัญหาค้ามนุษย์เทียร์ 2 และใบเขียวอียู กับการยกระดับการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของประเทศไทยและองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อหามาตรการยกระดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ในรายงานประจำปี เรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา

นายธนพร ศรียากุล ที่ปรึกษากรมประมงด้านการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม กล่าวว่า จากการทำงานอย่างหนักของรัฐบาลไทย ร่วมกับอียู และองค์กรภาคเอกชนตั้งแต่ปี 57 ทำให้เราถูกถอดจากใบเหลือง และได้รับการปรับสถานะจากเทียร์ 3 มาเป็นเทียร์ 2 ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศและคนไทยอย่างมาก แต่มาวันนี้ประเทศเริ่มเป็นประชาธิปไตยกำลังจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรากำลังจะถอยหลังในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในเรือประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

เนื่องจากทุกพรรคการเมือง ทั้งพรรคอนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทย ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลต่างหาเสียงไว้ว่า จะรื้อ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 โดยเฉพาะการตัดมาตรา 81 ซึ่งเป็นหัวใจในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและค้ามนุษย์ เพราะกำหนดให้เรือประมงทุกลำที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไปต้องติดอุปกรณ์ติดตามเรือวีเอ็มเอส และต้องแจ้งศูนย์ควบคุมทุกครั้งที่เข้า-ออกจากท่า รวมทั้งต้องทำสมุดบันทึกการจับสัตว์น้ำอย่างเป็นระบบเพื่อพิสูจน์แหล่งที่ของสินค้าประมง

“หากมีการแก้ไข พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 โดยตัดมาตรา 81 ออกจริง จะส่งผลให้ประเทศไทยโดนใบแดงถาวรจากทั้งอียูและสหรัฐอเมริกา ทำให้ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ตนจึงต้องเตือนนักการเมืองทุกพรรคให้คิดถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนมากกว่าคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาการดำเนินตามมาตรา 81 ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเจ้าของเรือที่ปฏิบัติตามกฎหมาย สิ่งที่ทุกพรรคควรทำตอนนี้ คือ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ออกกฎหมายเปิดให้มีการตั้งสหภาพแรงงานเสรีคือ ให้ภาคแรงงานประมง แรงงานข้ามชาติ และแรงงานกลุ่มเสี่ยงค้ามนุษย์มีสิทธิตั้งสหภาพแรงงานได้ เพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และแก้ปัญหาการขาดแรงงานประมง”

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานมูลนิธิแอลพีเอ็น กล่าวว่า การที่ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นเทียร์ 2 ไม่ได้หมายความว่า ประเทศพ้นจากการถูกจับตามอง เพียงแค่สถานการณ์ดีขึ้นระดับหนึ่งเท่านั้น ปัญหาค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงและในสังคมไทยโดยรวมยังมีอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไข ใน 4 ปัญหาใหญ่ คือ 1.ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ผลักดันร่างกฎหมายต้านการอุ้มหายและการทรมานให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว 2.รณรงค์ช่วยเหลือชดเชยเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างเป็นธรรม 3.ช่วยกันคุ้มครองพยานและผู้แจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์ให้ปลอดภัยจากการถูกคุกคามทุกรูปแบบ 4.ช่วยกันส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะเปิดเสรีให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานของตนได้

ด้าน น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการ จ.สมุทร-สาคร กรมการค้าภายใน และกรมประมง ติดตามสถานการณ์สินค้าประมง ณ ตลาดทะเลไทยสมุทรสาคร เพราะเป็นตลาดที่มีการขายส่งสินค้าประมงที่ใหญ่ที่สุด มีสินค้าของไทยและที่นำเข้า คิดเป็นสัดส่วน 70% ของการค้าทั้งประเทศว่า ไม่พบปัญหาลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามที่มีข่าวว่าการแก้ไขปัญหาทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าประมงไทยสูงขึ้น และทำให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงจากเพื่อนบ้านมาจำหน่าย จนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าประมงในประเทศ

นอกจากนั้น จากการตรวจสอบผู้ค้าในตลาดทะเลไทย (แพปลา) พบว่ามีระบบซื้อขาย ที่ตรวจสอบความถูกต้องและแหล่งที่มาของสินค้าก่อนจำหน่าย โดยกรมประมงจะมีหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (เอ็มซีพีดี) ณ ท่าเทียบเรือ หนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำนำเข้า (ไอเอ็มดี) ณ ด่านที่มีการนำเข้าสัตว์น้ำ ก่อนที่จะกระจายต่อที่ตลาดทะเลไทย และผู้ประกอบการมีมาตรการควบคุมที่ใช้ในระหว่างขนถ่ายมาตลาด ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการนำสินค้าประมงลักลอบผิดกฎหมายมาจำหน่ายแน่นอน

สำหรับสินค้าประมงจากเพื่อนบ้านที่ยังไม่ได้แก้ปัญหาไอยูยูนั้น หากไทยจะนำเข้า รัฐบาลต้องหารือและรับฟังจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงอันดับต้นๆของโลก จะต้องนำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกต้องตามหลักสากล โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ไทยผลิตได้ไม่เพียงพอ หรือไม่มีในไทย เพราะไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าประมงปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านเหรียญฯ หรือ 62,000 ล้านบาท.

“บิ๊กตู่” ยืนยันทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อ ครม.สิ้นเดือนนี้ กลางเดือนหน้าได้รัฐบาลใหม่แน่นอน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการนำรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายว่า เรื่องโผ ครม.ถามแล้วถามอีก เช้า กลางวัน เย็น เดี๋ยวจะเรียกบุคคลที่มีรายชื่อเข้ามากรอกประวัติอย่างเป็นทางการ เพราะที่ผ่านมาก็มีการตรวจสอบ โดยเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้นก็ตอบได้เพียงกว้างๆ หากไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง หน่วยงานก็จะบอกว่า ไม่มีความขัดข้อง ไม่มีปัญหา

แต่หากคนใดมีคดีความด้วย หน่วยงานก็ชี้แจงว่า อยู่ในขั้นตอนใด กฎหมายว่าอย่างไร โดยต้องมีข้อชี้แจงทั้งหมด ซึ่งท้ายที่สุด ก็จะต้องเชิญบุคคลเหล่านั้น มาเซ็นต์รับรองตัวเอง หากในวันข้างหน้าไม่เป็นไปตามที่รับรองไว้ ก็จะต้องโดนคดี ดังนั้น ขอให้ใจเย็นๆ เพราะยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ เดี๋ยวก็รู้

เมื่อถามว่าหลังการประชุม G20 ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน จะนำรายชื่อ ครม.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทันหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบทันทีว่า ทันสิ จะไม่ทันได้อย่างไร

ถามว่ารายชื่อที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายนั้นเป็นไปตามที่พรรคการเมืองได้เสนอมาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ ยังไม่บอก บอกไม่ได้ ถ้าผมบอกว่าใครได้หรือไม่ได้ ก็จะเอากันอีก ไม่จบสักที

เมื่อถามว่าไม่มีใครหลุดโผที่แต่ละพรรคเสนอมาใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า “โผอะไร มันก็คงมีบ้างมั้ง ซึ่ง ครม.มีทั้งหมด 36 ตำแหน่ง ไม่ว่าจะได้เพิ่มหรือไม่ ต้องอยู่ใน 36 ตำแหน่งนี้ หากรัฐมนตรีหลักควบตำแหน่ง ก็ต้องมาเป็นรัฐมนตรีช่วย แต่ยอดมีทั้งหมด 36 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม อาจจะมีคนมากหรือน้อย แต่ทั้งหมดต้องไม่เกิน 36 คน และอาจจะมีคนที่ซ้ำ 3 คนหรือเปล่า ก็ต้องดูตรงนั้น"

เมื่อถามว่าจะให้ว่าที่ ครม.ใหม่มาเซ็นต์รับรองตัวเองที่ทำเนียบรัฐบาลหรือที่ทำการพรรค พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของเลขาธิการ ครม. ซึ่งบางเรื่องไม่ต้องมาถามตนก็ได้ เพราะเป็นเรื่องของระเบียบ วันนี้ตอบได้อย่างเดียวว่า ทำทันเวลาแน่นอน กลางเดือนหน้าจะได้รัฐบาลอย่างแน่นอน

เมื่อถามย้ำว่าสามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ก่อนหรือหลังกลับจากประเทศญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ประมาณนี้แหละ อย่าทำทุกอย่างให้เป็นราชภาระของพระองค์ เพราะเป็นหน้าที่ของตนที่ต้องรับผิดชอบ จึงต้องทำให้ทันตามเวลา จากนั้นก็รอถวายสัตย์ปฏิญาณ ยืนยันว่ากลางเดือนหน้าทุกอย่างจะเรียบร้อย วันนี้ยังไม่ตั้งรัฐบาลก็มีคนจ้องล้มรัฐบาลแล้ว ตนคิดว่าคงไม่ค่อยดี ทั้งนี้ อยากให้ทุกคนช่วยกันบอกต่างประเทศว่า อย่าได้กังวลเพราะเดี๋ยวเราก็ไปกันได้ และนี่คือไทยทอล์ค ซึ่งปกติจะเป็นอาเซียนทอล์ค ตรงนี้ถือเป็นอัตลักษณ์ของพวกเรา คือการมีความคิดเห็นที่แตกต่าง

“วันนี้เราต้องยืนหยัดด้วยความอดทนอดกลั้น มีสมาธิ สติสัมปชัญญะ แก้ไขปัญหาด้วยอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ขันติโสรัจจะ รู้แล้วก็ต้องปฏิบัติ เข้าวัดไหว้พระ สวดมนต์ อ่านธรรมจักรกัปปวัฒนสูตรบ้างหรือเปล่า พุทธเป็นศาสนาแห่งความปรองดองสมานฉันท์ พระพุทธเจ้าสอนให้เดินสายกลาง ไม่ซ้าย ไม่ขวา และไม่หนักจนเกินไป ถือเป็นหลักและแก่นแท้ของศาสนา แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงตีกันนักหนา พุทธเป็นศาสนาแห่งความสงบสุขร่มเย็น อยู่มากับทุกคน 2,500 กว่าปี แต่ไม่รู้วันนี้เป็นอะไร บางเรื่องไม่ใช่เรื่องของตัวเอง แต่เข้าร่วมกับเขาไปด้วย ใช้ความเห็นส่วนตัวเติมลงไป ทั้งที่ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น อะไรเข้ามาก็เห็นด้วย สนุกดี และด่ากับเขาไปด้วย โดยคิดว่าเผื่อจะถึงนายกฯ เพราะนายกฯ จะได้อ่านบ้าง ซึ่งผมก็อ่าน แต่ไม่ได้ติดโซเชียลอย่างที่คนวิจารณ์” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


นายกฯ ไปแล้ว! ถกจี20 โอซาก้า เมิน 4 ว่าที่ รัฐมนตรี โดนสอบ ถือหุ้นสื่อ

นายกรัฐมนตรี ควงว่าที่ เลขาฯคนใหม่ บินถก จี 20 ที่โอซาก้า ปัดตอบทบทวนชื่อว่าที่ 4 รมต. โดนสอบ กรณีถือหุ้นสื่อ

วันที่ 27 มิถุนายน 2562 เมื่อเวลา 10.35 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศและนายดิสทัต โหตระกิตย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ว่าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ออกเดินทาง ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่ม 20 ประจำปี 2562 (G20 Osaka Summit) ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน นี้

สำหรับเวที จี 20 เป็นเวทีอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำเศรษฐกิจลำดับต้นเพื่อหารือและเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญของโลก ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินโลก การเพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างทางการเงิน และการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

โดยสมาชิกของกลุ่ม G20 ประกอบด้วย ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 11 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี และสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 มี GDP เท่ากับร้อยละ 90 ของโลก และ มีจำนวนประชากรเป็นร้อยละ 60 ของโลก

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ไทยเข้าร่วมประชุมในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งหัวข้อหลักในการประชุมครั้งนี้ มี 4 หัวข้อประกอบด้วย 1.เรื่อง “เศรษฐกิจโลก การค้า และการลงทุน” 2.นวัตกรรม (เศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์) 3.การแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม และการสร้างโลกที่ยั่งยืนและทุกคนมีส่วนร่วม และ 4.การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 32 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถือครองหุ้นและเป็นเจ้าของกิจการสื่อ ซึ่งมี 4 รายชื่อ ที่ติดโผ ครม. ประกอบด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีชื่อนั่ง รมว.ศึกษาธิการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่มีชื่อ นั่ง รมว.แรงงาน นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีชื่อนั่งรมช.สาธารณสุข และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีชื่อนั่งรมว.ต่างประเทศ โดยนายกฯ เพียงแต่ยิ้มโดยไม่ตอบอะไรใดๆ


ปิยบุตร วัดใจคดี ถือหุ้นสื่อ ลั่นหากส.ส.รัฐบาลรอด เชื่ออนาคตใหม่ต้องรอดด้วย

วันที่ 27 มิ.ย. ที่หอประชุมใหญ่ทีโอที นาย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) แถลงถึงกรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นหนังสือถึงประธานสภาฯ เพื่อให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส.ส.ฝ่ายค้าน 33 คน เข้าข่ายการถือครองหุ้นสื่อมวลชน ว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นสิทธิ์ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ให้อำนาจ ส.ส.ในการเข้าชื่อ

แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงเช้าทราบมาว่าจะใช้วิธีการร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่คงเปลี่ยนการตัดสินใจ เพราะเปิดรัฐธรรมนูญแล้วพบว่าไม่มีช่อง จึงหันมาใช้ช่องนี้ ซึ่งพวกท่านมีวาสนากว่าตน เพราะได้ยื่นถึงมือนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ โดยตรง ขณะที่ตนต้องยื่นผ่านเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็ต้องติดตามดูต่อไปว่าจะใช้เวลาเท่าไร

นายปิยบุตร กล่าวว่า สำหรับกรณี ส.ส.พรรค อนค. 21 รายที่ปรากฏรายชื่อในคำร้องของ ส.ส.พรรคพปชร.นั้น เรายืนยันว่าหลายกรณีมีการโอนหุ้นไปแล้ว และหลายกรณีก็เป็นบริษัทที่ไม่ได้ประกออบกิจการสื่อ และหลักใหญ่ใจความที่ตนย้ำมาตลอด คือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้นักการเมืองไปครอบงำสื่อเพื่อใช้เอาเปรียบกันทางการเมือง

แต่จากกรณีนายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรค อนค. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พิจารณาจากหนังสือบริคณห์สนธิ เจอวงเล็บใดเกี่ยวกับสื่อก็ตัดสิทธิ์ทันที จึงเกิดปัญหาซ้ำซ้อนกันแบบนี้

ดังนั้น สิ่งที่พรรค อนค.ยืนยัน คือเราเห็นว่าการตีความกฎหมายเช่นนี้มีปัญหา ความจริงควรดูเรื่องการครอบงำสื่อเป็นหลัก แต่ท้ายที่สุดเรื่องนี้จะอยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราหวังว่าศาลจะมีมาตรฐานในการตัดสินที่เท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ

เมื่อถามว่าพรรค อนค.ย้ำเรื่องเจตนารมณ์ แต่ในคำร้องของพรรค อนค.ก็ร้องส.ส.ฝ่ายรัฐบาลโดยระบุถึงหนังสือบริคณห์สนธิเท่านั้นเช่นกัน นายปิยบุตรกล่าวว่า การที่เราร้อง เพราะต้องการเรียกร้องมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามเรื่องถือหุ้นสื่อ ในเมื่อตัดสินคดีนายภูเบศวร์ และนายคมสัน ศรีวนิชย์ อดีตผู้สมัครส.ส.อ่างทอง พรรคประชาชาติ มาแล้ว ทำให้เกิดมาตรฐานขึ้นมา

เราจึงต้องถามว่ามาตรฐานเรื่องนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ อย่างน้อยที่สุด ครั้งนี้เป็นโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน หากกรณีที่ถือหุ้นในบริษัทที่ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อจริงๆ แต่หนังสือบริคณห์สนธิมีเรื่องสื่อ ถ้าแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เหมือนศาลฎีกา หากเขารอด เราก็ต้องรอด

เมื่อถามว่าเคยมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยบรรทัดฐานของศาลฎีกาในการตัดสินหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า เท่าที่ได้ตรวจสอบ พบว่ามีโอกาสที่จะตัดสินไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินสอดคล้องหรือวางแนวแบบใหม่ ก็ขอให้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับ ส.ส.ทุกคนทุกพรรคการเมือง


ศาลสั่งบริษัทเหมือง จ่ายให้รัฐค่าฟื้นฟู ห้วยคลิตี้ คดีแรกในไทย “ผู้ก่อมลพิษ…จ่าย”

วันที่ 27 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงาน กกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วใน ห้วยคลิตี้ เนื่องจากการทำเหมืองแร่ จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วย ตลอดจนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การฟ้องคดีโดยชาวบ้านคลิตี้ 8 คน ฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับผู้บริหารบริษัทเป็นจำเลย รวม 2 ราย

ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 15219/2558 ให้จำเลยร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ และให้จำเลยแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง จนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการ

ในคดีนี้หลังจากบริษัทตะกั่วฯ จำเลยกับพวกชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว จำเลยละเลยไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนของการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีขอให้เรียกจำเลยมาไต่สวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูตามคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ศาลยกคำร้องเนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยไม่ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษา

ต่อมาวันที่ 21 ก.พ.62 ทนายความจากสภาทนายความ ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี ขอให้กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในคดีนี้ และอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ปี 2561-2563 ในวงเงิน 454,762,865.73 บาทตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เข้ามาดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้แทนจำเลย

โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายที่กรมควบคุมมลพิษดำเนินการไป ตามนัยของมาตรา 358 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขใหม่ ซึ่งศาลจังหวัดกาญจนบุรี มีคำสั่งนัดไต่สวนโจทก์ จำเลยและกรมควบคุมมลพิษ วันที่ 22 เม.ย.62

ศาลได้เลื่อนนัดไต่สวนโจทก์ จำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ พ.106/2546 และคดีหมายเลขแดงที่ 1565/2549 ระหว่าง นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ที่ 1 กับพวกรวม 8 คน (โจทก์) กับ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คนในวันที่ 11 มิ.ย.62 ที่ผ่านมา ซึ่งในวันดังกล่าวนั้น ศาลไต่สวนพยาน 3 ปาก ซึ่งเป็นตัวแทนโจทก์ 2 ปาก ตัวแทนกรมควบคุมมลพิษ 1 ปาก

ล่าสุดเมื่อเวลา 13.30 น. นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา (โจทก์) นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ น.ส.ชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วย นายสุรสีห์ พลไชยวงศ์ ทนายความ สภาทนายความจังหวัดกาญจนบุรี นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากสภาทนายความ นางภินันทน์ โชติรสเศรนีย์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์

ได้เดินทางมาตามที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี นัดให้มาฟังคำสั่ง โดยมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตัวแทนจำเลยที่ 1 เดินทางมารับฟังด้วย โดยศาลใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ

คดีแรกในไทย

จากนั้นนายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากสภาทนายความ เปิดเผยว่า ตามที่เราร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษเข้าไปฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยให้เรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาทางแพ่ง มาตรา 358

ซึ่งวันนี้ศาลพิจารณาไต่สวนไปแล้ว โดยมีคำสั่งอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษ เข้ามากระทำการฟื้นฟูแทนผู้ประกอบการได้

ศาลให้กรมควบคุมมลพิษ ทำรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูมาเสนอต่อศาล เพื่อที่จะนำไปสู่การบังคับคดีกับผู้ประกอบการที่ไม่ยอมมาฟื้นฟู โดยกรณีนี้ถือว่าเป็นคดีแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ศาลมีคำสั่งแบบนี้

ส่วนตัวมองว่าจะเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการฟื้นฟู หากมีคำพิพากษาว่าให้ผู้ประกอบการดำเนินการฟื้นฟู้แก้ไขมลพิษ แต่ผู้ประกอบการยังเพิกเฉย ก็จะเป็นช่องทางนำไปสู่การบังคับคดีได้ โดยอาจจะประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจ เช่น กรมควบคุมมลพิษ หรือกรมต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่เข้ามาดำเนินการแก้ไข

จากนั้นให้กรมดังกล่าวไปเรียกเอาค่าใช้จ่ายจากผู้ก่อมลพิษ สิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางนำไปแก้ไขปัญหามลพิษในชุมชนได้

เมื่อถามว่าแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ปี 2561-2563 ในวงเงิน 454,762,865.73 บาทตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่กรมควบคุมพลพิษกำลังดำเนินการฟื้นฟูอยู่ในขณะนี้ งบประมาณจำนวนดังกล่าวถือว่าสูงมาก เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ผู้ก่อมลพิษจะนำเงินจำนวนนี้มาใช้คืนหรือไม่

นายสุรชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องต้องถามทางจำเลย เนื่องจากทางจำเลยเพิกเฉยไม่ยอมติดต่อมา แต่ขอเรียนว่าการนำงบฯ มาฟื้นฟูเข้าใจว่าไม่ใช่แค่ 400 กว่าล้านบาท แต่น่าจะมากกว่า 500 ล้านบาท โดยงบ 400 กว่าล้านบาท เป็นเพียงแค่งบฯ ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เท่านั้น

แต่อันที่จริงแล้วจะต้องประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับการที่กรมควบคุมมลพิษที่จะเข้าไปตรวจ วิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การตรวจน้ำ ตรวจสัตว์น้ำ ตรวจดิน ตรวจพืช ตรวจผัก เป็นต้น ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะต้องใช้งบประมาณมากกว่า 500 ล้านบาท

ด้านนางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ กล่าวว่าจากการที่กลุ่มอนุรักษ์ได้ร่วมต่อสู้คดีนี้มากว่า 20 ปี ถึงตรงนี้เรารู้สึกดีใจที่ศาลท่านได้ตัดสินออกมาแบบนี้ เพราะทำให้ชุมชนได้รับความยุติธรรม และได้ให้โทษกับคนที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายด้วย คือผู้กระทำต้องรับผิดชอบ โดยปกติเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา เงินที่ได้มาเป็นเพียงแค่ตัวหนังสือ ไม่สามารถนำออกมาใช้จ่ายอย่างเป็นรูปธรรมได้ แต่วันนี้

ส่วนนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ในฐานะโจทก์ที่ยื่นร้อง เปิดเผยว่าถึงตรงนี้แล้วตนก็รู้สึกดีใจที่ศาลท่านได้มีคำพิพากษาออกมาในวันนี้ สำหรับงบประมาณในการนำมาฟื้นฟู อันที่จริงแล้วจะต้องไม่นำเงินภาษีของประชาชนมาเป็นค่าฟื้นฟู แต่จะต้องเป็นเงินที่ได้มาจากผู้ก่อมลพิษ เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผู้ก่อมลพิษ กอบโกยรายได้จากการทำเหมืองแร่ดังกล่าวไปหลายหมื่นๆล้านบาท

ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เปิดเผยว่า วันนี้ศาลจังหวัดกาญจนบุรี มีคำสั่งอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

อันเกิดจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ให้กลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการแทนจำเลยทั้งสอง ตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยให้ถือว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองต่อไป โดยให้กรมควบคุมมลพิษจัดทำหลักฐานการใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีในส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่าเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง จนกว่าลำห้วยคิลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยต่อคำบังคับที่ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกา

กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย ในการคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานเพื่อให้มีการดำเนินการฟื้นฟู ระงับเหตุที่อาจเป็นอันตรายจากมลพิษในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมลพิษ

กรมควบคุมมลพิษได้มีหนังสือถึงศาลในคดีนี้ แจ้งว่าสามารถเข้าดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้มีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการแทนจำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้ แต่จะต้องไม่รับภาระเพิ่มนอกเหนือไปจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

ดังนั้น โจทก์ทั้งแปดในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกา จึงมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษในฐานะบุคคลภายนอกคดี กระทำการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการแทนจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 358 วรรคหนึ่ง

ให้ถือว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 358 วรรคสอง


เอาแล้ว! “ศรีสวุรรณ” จ่อยื่นสอบ “บิ๊กป้อม” ปมถูกแฉ จัดฉากปราบหนี้นอกระบบ!

ศรีสุวรรณ บุก ผู้ตรวจการแผ่นดิน จี้สอบ บิ๊กป้อม-บิ๊กตำรวจ ปม จัดฉากปราบหนี้นอกระบบ คืนโฉนดให้ชาวบ้าน จริงหรือไม่

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่ามีหน่วยงานแก้ปัญหากู้ยืมเงินผิดกฎหมายด้วยการคิดดอกเบี้ยสูงและยึดโฉนดไว้เป็นประกัน มีการไล่จับนายทุนเงินกู้ และสร้างภาพยึดโฉนดได้คราวละมากๆ

และให้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเป็นประธานมอบโฉนดคืนให้ชาวบ้าน โดยมีหลายกรณีสร้างภาพว่าเป็นการกู้ยืมจำนวนมาก และยึดโฉนดไว้มาก จากนั้นเชิญนายมาเป็นประธานมอบโฉนดคืนให้ชาวบ้าน บางครั้งคนระดับรองนายกฯ ได้รับเชิญไปบ่อยๆ โดนแหกตาไปด้วย นายตำรวจที่ทำเรื่องนี้ก็โตเอาโตเอา จนท้องแตกนั้น

กรณีดังกล่าว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า เป็นการแหกตาประชาชนจริงหรือไม่ เพราะเป็นเรื่อเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากเรื่องดังกล่าวที่รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีออกมาโพสต์เป็นจริง ก็ถือเป็นความเลวร้ายที่สุดของระบบราชการไทยและการเมืองเลยทีเดียว

ข้าราชการอาจเข้าข่ายความผิดทางวินัย ทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ป.ป.ช. และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษถึงขั้นจำคุก และไล่ออกจากราชการ ส่วนนักการเมืองอาจต้องรับโทษร่วมด้วยในฐานะเป็นตัวการร่วม หรือผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ตามป.อ.มาตรา 83,84, 86 และ 87 และไม่ควรกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก

จากเหตุดังกล่าว สังคมไทยไม่ควรให้เรื่องเงียบหายไปหรือปล่อยให้ข้าราชการ-นักการเมืองจูบปากหรือเกี้ยเซียะกันแล้วจบไป ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์สังคมไทย ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมฯจึงจะนำความไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

เพื่อให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.230 (1) (2) ประกอบ ม.231 (2) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 ม.22 (1) (2) ประกอบ ม.23 (2) เพื่อดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและหากพบว่ามีมูลจะได้เสนอเอาผิดข้าราชการ-นักการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อ ป.ป.ช.ต่อไป โดยสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในวันศุกร์ที่ 28 มิ.ย. เวลา 13.00 น.ที่ศูนย์ราชการฯ อาคาร B ห้อง 903

เสี่ยงท่วมฉับพลัน! กรมอุตุฯ เตือนระวังอันตราย มรสุมซัด 28จว. ถล่มกทม.ร้อยละ60

กรมอุตุฯ เตือน 28 จังหวัดรับมือฝนถล่มวันนี้ ตกหนักร้อยละ 60 กรุงเทพฯก็ไม่รอด เผยภาคใต้อ่วม ทะเลมีคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ระวังอันตราย เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

กรมอุตุฯ / วันที่ 26 มิ.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 29 มิ.ย. 62

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06.00 น.ของวันนี้ ถึงเวลา 06.00 น.ของวันที่ 27 มิ.ย.นี้ ภาคเหนือ มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน ตาก และกำแพงเพชร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคกลาง มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี นครปฐม และสุพรรณบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม/ชม ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม/ชม ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.