ข่าว
“วันนอร์” มีคำสั่งนัดประชุมร่วมรัฐสภา 13 ก.ค. เตรียมโหวตนายกรัฐมนตรี

“วันมูหะมัดนอร์ มะทา” มีคำสั่งนัดประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 1 เตรียมโหวตนายกรัฐมนตรี 13 ก.ค. 2566

วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการรัฐสภา ได้ออกหนังสือ ด่วนมากที่ สผ 0014/ร1 ถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เรื่องการประชุมร่วมรัฐสภา

เนื่องด้วยประธานรัฐสภา (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) ได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 13 กรกฎาคม พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วม จะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว. โหวตในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งต้องได้ 376 เสียง จึงจะได้ผ่านมติที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ปูตินข่มขวัญนาโต ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ เร็วเหนือเสียง ซ้อมรบ

ปูตินส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ความเร็วเหนือเสียงรัสเซีย 2 ลำ ซ้อมรบ บินไกลกว่า 9 พันกม.ข่มขวัญนาโตที่เตรียมซ้อมรบในลิทัวเนีย

เมื่อ 7 ก.ค. 2566 เดลี่เมลรายงาน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียส่งเครื่องบินซุปเปอร์โซนิก หรือความเร็วเหนือเสียง 'White Swan Tu-160' สามารถติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์ จำนวน 2 ลำ ร่วมภารกิจซ้อมรบ 12 ชั่วโมง ข่มขวัญ ชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่เตรียมจะซ้อมรบที่ลิทัวเนีย ประเทศเพื่อนบ้าน

เครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ความเร็วเหนือเสียง 'White Swan Tu-160' ทั้งสองลำของรัสเซียได้บินเป็นระยะทางไกลกว่า 5,600 ไมล์ หรือราว 9,326 กิโลเมตร ก่อนจะไปลงจอดที่ฐานทัพรัสเซียในเขตอาร์กติก ในขณะที่การซ้อมรบในครั้งนี้ ยังมีปฏิบัติการเติมน้ำมันกลางให้กับเครื่องบินทั้งสองลำโดยเครื่องบินอิลยูซิน อิล IL-78 ด้วย

สำหรับเส้นทางบินของเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ความเร็วเหนือเสียงของรัสเซียขณะซ้อมรบนั้นไม่มีการเปิดเผย แต่โดยปกติแล้วจะใช้เส้นทางบินในทะเลนอร์วีเจียน ทางเหนือของอังกฤษและทะเลแบเรนต์

เจ้าหน้าที่รัสเซียกล่าวว่า ยุทธวิธีโจมตีระยะไกลโดยเครื่องบินของรัสเซียมาจากฐานทัพอากาศ ซาราตอฟ ดินแดนของรัสเซียในยุโรป และฐานทัพอากาศ Amur ในตะวันออกไกล การส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดความเร็วเหนือเสียงสองลำมาร่วมซ้อมรบในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนนาโตอย่างชัดเจน ขณะที่รัสเซียทำสงครามในยูเครนมาตั้งแต่ ก.พ. 2565


‘สหรัฐฯ’ จ่อส่ง‘ระเบิดลูกปราย’ให้ ‘ยูเครน’ใช้รบกับ‘รัสเซีย’ แม้โลกชี้เป็น‘อาวุธต้องห้าม’

วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 สำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา เสนอรายงานพิเศษ What are the cluster munitions the US is expected to supply Ukraine and why are they so controversial? ว่าด้วย “ระเบิดลูกปราย (Cluster Bombs หรือ Cluster Munitions)” อาวุธที่คาดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจส่งไปให้ยูเครนใช้ต่อสู้กับรัสเซีย โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว CNN ได้รายงานว่า คณะผู้บริหารของสหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) กำลังพิจารณาในเรื่องนี้ และเมื่อเป็นข่าวก็ได้กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง

ระเบิดลูกปรายเป็นกระป๋องบรรจุลูกระเบิดขนาดเล็กหลายสิบถึงหลายร้อยลูก หรือที่เรียกว่ากระสุนย่อย กระป๋องสามารถทิ้งจากเครื่องบิน ยิงจากขีปนาวุธ หรือยิงจากปืนใหญ่ ปืนใหญ่เรือ หรือเครื่องยิงจรวด กระป๋องจะแตกออกตามความสูงที่กำหนด ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของเป้าหมายที่ต้องการ และลูกระเบิดข้างในจะกระจายออกไปทั่วบริเวณนั้น พวกมันถูกหลอมรวมโดยตัวจับเวลาเพื่อระเบิดเข้าใกล้หรือบนพื้น กระจายกระสุนที่ออกแบบมาเพื่อสังหารทหารหรือทำลายยานเกราะ เช่น รถถัง

สหรัฐฯ มีระเบิดลูกปรายแบบที่เรียกว่า DPICM หรือระเบิดแบบสองวัตถุประสงค์ที่ได้รับการปรับปรุง (Dual-Purpose Improved Conventional Munitions) ซึ่งไม่ได้ใช้งานแล้วหลังจากเลิกใช้ในปี 2559 ตามบทความในเว็บไซต์ eArmor ของกองทัพสหรัฐฯ DPICM ที่สหรัฐฯ จะส่งมอบให้ยูเครนนั้นถูกยิงจากปืนครกขนาด 155 มม. โดยแต่ละกระบอกบรรจุลูกระเบิดได้ 88 ลูก ลูกระเบิดแต่ละลูกมีระยะการสังหารประมาณ 10 ตารางเมตร

ดังนั้นกระป๋องเดียวจึงสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้ถึง 30,000 ตารางเมตร (ประมาณ 7.5 เอเคอร์ หรือราว 19 ไร่) ขึ้นอยู่กับความสูงที่ปล่อยลูกระเบิดออกมา ลูกระเบิดใน DPICM มีรูปร่างเป็นประจุที่เมื่อโจมตีรถถังหรือรถหุ้มเกราะ สามารถสร้างไอพ่นโลหะที่เจาะเกราะโลหะ และแม้จะต้องใช้ลูกระเบิด 10 ลูกขึ้นไปเพื่อทำลายรถหุ้มเกราะ แต่การใช้เพียงลูกเดียวก็เพียงพอสำหรับหยุดการใช้งานอาวุธของรถหุ้มเกราะหรือทำให้พาหนะนั้นไม่สามารถเคลื่อนที่ได้

รายงานของ CNN กล่าวต่อไปว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 กองทัพของทั้ง 2 ฝ่ายมีการใช้ระเบิดลูกปรายในการสู้รบ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ยูเครนเพิ่งใช้ระเบิดลูกปรายที่ตุรกีเป็นผู้จัดหาให้ ถึงกระนั้น ทางการยูเครนก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งอาวุธดังกล่าวมาสนับสนุน โดยให้เหตุผลว่ายูเครนจะจัดหากระสุนให้มากขึ้นสำหรับระบบปืนใหญ่และจรวดของตะวันตก และช่วยลดความเหนือกว่าเชิงจำนวนของรัสเซียในด้านปืนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาระเบิดลูกปรายเป็นอาวุธที่มีข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าสมควรนำมาใช้หรือไม่ เมื่อลูกระเบิดตกลงมาเป็นบริเวณกว้าง พวกมันอาจทำอันตรายต่อผู้ที่ไม่ได้ต่อสู้ได้ ขณะที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ระบุว่า ร้อยละ 10-40 ของอาวุธเหล่านี้เมื่อถูกปล่อยออกไปแล้วไม่ได้ทำงานในทันที แต่ไปตกค้างอยู่ในพื้นที่ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้คนที่เข้าไปทำกิจกรรมบริเวณนั้นในภายหลังได้

ในปี 2565 กิลเลส คาร์บอนเนียร์ (Gilles Carbonnier) รองประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกล่าวในการประชุมเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ในสวิตเซอร์แลนด์ ว่า ระเบิดลูกปรายยังคงเป็นหนึ่งในอาวุธที่อันตรายที่สุดในโลก ทำให้มนุษย์ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างกว้างขวางเพราะคร่าชีวิตและทำให้พิการอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ดังนั้นการใช้ไม่ว่าโดยฝ่ายไหนหรือที่ใดล้วนสมควรถูกประณาม

ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้ระเบิดลูกปราย อ้างถึงลาวและเวียดนาม ซึ่งแม้จะผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีอาวุธดังกล่าวตกค้างอยู่ รวมไปถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง ฮิวแมน ไรท์ วอทซ์ ออกรายงานในวันที่ 7 ก.ค. 2566 ระบุว่า รัสเซียและยูเครนยังคงใช้ระเบิดลูกปรายในการสู้รบซึ่งทำให้มีพลเรือนถูกสังหาร โดยการใช้อาวุธเพื่อโจมตีกองทหารหรือยานพาหนะของข้าศึกนั้นไม่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่การโจมตีพลเรือนด้วยอาวุธอาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม

ทั้งนี้ มี 123 ประเทศ ที่เข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยกลุ่มอาวุธยุทโธปกรณ์ (CCM) ซึ่งห้ามการกักตุน ผลิตและถ่ายโอนอาวุธประเภทระเบิดลูกปรายด้วย แต่ทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย ยูเครน และชาติอื่นๆ อีก 71 ประเทศ ไม่ได้เข้าร่วม โดยระเบิดลูกปรายนั้นเริ่มใช้งานมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และในความขัดแย้งมากกว่า 30 ครั้งตั้งแต่นั้นมา สำหรับสหรัฐฯ มีการใช้ล่าสุดในสงครามที่อิรัก ช่วงปี 2546-2549 กระทั่งในปี 2560 กองทัพสหรัฐฯ แถลงว่า ได้ทยอยเลิกใช้อาวุธดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากเป็นอันตรายต่อพลเรือน

ขอบคุณเรื่องจาก https://edition.cnn.com/2023/07/07/europe/cluster-munitions-us


เวียดนามสั่งตรวจสอบผู้จัดคอนเสิร์ต "แบล็กพิงก์" กรณีแผนที่ทะเลจีนใต้

เวียดนามได้ดำเนินการตรวจสอบเว็บไซต์ของผู้จัดคอนเสิร์ตวงแบล็กพิงก์ (Blackpink) หลังมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า พบภาพแผนที่ของพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ดังกล่าว

ทางการเวียดนามสั่งตรวจสอบเว็บไซต์ของทีมผู้จัดทัวร์คอนเสิร์ตของวงแบล็กพิงก์ (Blackpink) เกิร์ลกรุ๊ปเค-ป๊อปชั้นนำ ก่อนการจัดคอนเสิร์ตในกรุงฮานอยในเร็วๆ นี้ หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากแฟนเพลง ว่าผู้จัดนำเสนอแผนที่ทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทกับจีน

กระทรวงวัฒนธรรมเวียดนามประกาศเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมาว่า ได้สั่งให้มีการตรวจสอบเว็บไซต์ของบริษัท "ไอเอ็มอี" (iME) เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยที่ว่า บริษัทผู้จัดงานการแสดงของแบล็กพิงก์นั้น ทำการโปรโมต "เส้นประ 9 เส้น" จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ยังคงไม่แสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการประกาศผลการตรวจสอบเมื่อใด ขณะเดียวกัน บริษัท "วายจี เอนเตอร์เทนเมนต์" (YG Entertainment) ซึ่งเป็นต้นสังกัดของแบล็กพิงก์ ยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน

ในช่วงค่ำวานนี้ (6 ก.ค.) นายไบรอัน เชา ซีอีโอของไอเอ็มอี ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นความเข้าใจผิดที่ไม่น่าเกิดขึ้น และกล่าวว่า ไอเอ็มอีกำลังเร่งทบทวนและสัญญาที่จะเปลี่ยนภาพต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมสำหรับชาวเวียดนามแล้ว พร้อมยืนยันว่า ทางบริษัทตระหนักดีถึงความสำคัญของการให้ความเคารพต่ออธิปไตยและวัฒนธรรมของประเทศทุกประเทศที่บริษัททำธุรกิจด้วย

รายงานข่าวระบุว่า เว็บไซต์ของบริษัทนี้ยังปิดอยู่ แม้หลังมีแถลงการณ์ออกมาแล้ว ขณะที่ภาพในเว็บดังกล่าวที่มีการบันทึกไว้ในหน่วยความจำแคช ซึ่งผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สังเกตพบเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม แสดงให้เห็นภาพของเส้นประ 9 เส้นบางๆ ที่ลากล้อมรอบพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด

เวียดนามและจีน ต่างอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมานานแล้ว โดยเวียดนามกล่าวหาจีนหลายครั้งว่าส่งเรือมายังน่านน้ำดังกล่าว ซึ่งละเมิดอธิปไตยของตน

ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวงแบล็กพิงก์ครั้งนี้ นับเป็นปัญหาล่าสุดของเวียดนามเกี่ยวกับการแสดงภาพเส้นประ 9 เส้นของจีน ที่มักนำไปสู่ความขัดแย้ง แม้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมีคำพิพากษาปฏิเสธคำกล่าวอ้างของจีน ไปตั้งแต่ปี 2559

กรณีการตรวจสอบผู้จัดงานคอนเสิร์ตครั้งนี้เกิดขึ้น หลังผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในเวียดนามรายหนึ่งสังเกตเห็นภาพเส้นประ 9 เส้นตามแบบจีนบนเว็บไซต์ของไอเอ็มอี

ตู อันห์ ซินห์ ซึ่งระบุตัวว่าเป็นแฟนคลับวงแบล็กพิงก์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของตนเองว่า ได้ซื้อตั๋วคอนเสิร์ตมา 2 ใบและพบว่า มีการใช้ภาพเส้นประ 9 เส้น จึงจะไม่ไปชมคอนเสิร์ตนี้ เพราะตน "เป็นคนรักชาติ"

สาวๆ วงแบล็กพิงก์ทั้ง 4 คน มีกำหนดขึ้นคอนเสิร์ตในกรุงฮานอยของเวียดนาม ระหว่างวันที่ 29-30 กรกฎาคมนี้ หลังได้รับเอกสารอนุญาตจากรัฐบาลเวียดนามเพื่อจัดการแสดงครั้งนี้


ปูตินระส่ำ “ภัยแวกเนอร์” ยังคุกคาม เผยอีก “ปริโกซิน” ได้เงิน-อาวุธที่ถูกยึดคืนแล้ว

เอพี: รายงานวันที่ 7 ก.ค. ถึงสถานการณ์ตึงเครียดใน ประเทศรัสเซีย หลังจากประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า นายเยฟเกนี ปริโกซิน ผู้ก่อตั้งและหัวหน้า กลุ่มแวกเนอร์ กองกำลังทหารรับจ้างสัญชาติรัสเซีย ยังอยู่ในรัสเซีย

ก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างทางการรัสเซียกับกลุ่มแวกเนอร์ ทั้งยังถือเป็นการท้าทายอำนาจการปกครองของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ด้วย

คำกล่าวอ้างของประธานาธิบดีลูคาเชนโกไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจริงเท็จมากน้อยแค่ไหน ขณะที่รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพิกัดของนายปริโกซิน แต่สื่อท้องถิ่นรัสเซียรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่ามีผู้พบเห็นนายปริโกซินที่สำนักงานของแวกเนอร์ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนว่าการปรากฏตัวของนายปริโกซินในรัสเซียจะเข้าข่ายละเมิดข้อตกลงละเว้นการดำเนินคดีฐานพยายามก่อการจลาจลและกบฏหรือไม่ แต่ข้อตกลงอาจทำให้นายปริโกซินสามารถยุติความขัดแย้งในรัสเซียได้

หากเป็นเช่นนั้นจริงภัยคุกคามของนายปริโกซินจะถือว่ายังไม่คลี่คลาย และรัฐบาลรัสเซียต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังจนกว่าจะรู้แน่ชัดว่ากลุ่มแวกเนอร์ยังภักดีต่อนายปูตินหรือไม่ ซึ่งนายปูตินเคยกล่าวว่าทหารแวกเนอร์สามารถเข้าร่วมกองทัพรัสเซีย ปลดประจำการ หรือย้ายไปเบลารุสก็ได้

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อนนายคูคาเชนโก กล่าวว่า นายปริโกซินอยู่ในเบลารุส แย้งกับการแถลงล่าสุดที่นายลูคาเชนโกบอกกับคณะผู้สื่อข่าวข่าวต่างประเทศว่า นายปริโกซินอยู่ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและสามารถเดินทางไปกรุงมอสโกได้หากต้องการ

ส่วนทหารแวกเนอร์อยู่ในค่ายแต่ไม่ได้ระบุที่ตั้งของค่าย นอกจากนี้ยังเปิดเผยด้วยว่านายปริโกซินได้รับเงินสดและอาวุธที่ถูกทางการรัสเซียยึดคืนไปกลับมาแล้ว

เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ ๑๙๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

เมื่อวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๖๖ นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ร่วมกับนาง Esther Coopersmith อดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ ๑๙๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ณ Larz Anderson House กรุงวอชิงตัน โดยมีผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อความเป็นหุ้นส่วนไทย-สหรัฐฯ และเป็นมิตรของไทยและสหรัฐฯ เข้าร่วมงานกว่า ๒๕๐ คน รวมถึง นาย Lloyd Austin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นาย Daniel Kritenbrink ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านเอเชีย-แปซิฟิก นาง Marisa Lago ปลัดการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ด้านการค้าระหว่างประเทศ นาง Erika Moritsugu รองผู้ช่วยประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้ประสานงานอาวุโสด้านชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชาวหมู่เกาะแปซิฟิก และนาย Ted Yoho อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (R-FL)

เอกอัครราชทูตฯ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และกล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนานและใกล้ชิดกว่า ๑๙๐ ปี และมีพลวัตของความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกมิติ ตลอดจนขอบคุณผู้สนับสนุนการจัดงานทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ ชุมชนไทยในสหรัฐฯ

ผู้แทนหน่วยงานสหรัฐฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อโอกาสการครบรอบ ๑๙๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ และความสำคัญของความเป็นพันธมิตรในทุกมิติของประเทศทั้งสองพร้อมแสดงความหวังที่จะขยายตัวต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ มีการเผยแพร่วิดีทัศน์การกล่าวเฉลิมฉลองการครบรอบ ๑๙๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ โดยนาง Tammy Duckworth สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ (D-IL) และนาง Michelle Park Steel สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (R-CA) ต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ และสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ตามลำดับ และในโอกาสนี้ นาย Ben de Guzman ผู้อำนวยการสำนักงานนายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตัน ด้านกิจการชาวเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก ได้มอบประกาศนายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตัน เฉลิมฉลองการครบรอบ ๑๙๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ด้วย

ในงานมีการแสดงวัฒนธรรมผสมผสานไทย-อเมริกัน การสาธิตนวดไทยโดยสมาคมนวดและสปาไทยในอเมริกา การสาธิตมวยไทยโดยแชมป์มวยไทย บัวขาว บัญชาเมฆ การแสดง T-Pop โดยวง 4 Mix วง LGBTQ+ วงแรกของไทย และแอลลี่ นิติพน การบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและเพลงอเมริกันโดย Wendell Brunious และวง the New Orleans Quintet ตลอดจนมีการเผยแพร่ผลไม้ไทยที่นำเข้าจากประเทศไทย รวมถึงส้มโอ ซึ่งเป็นครั้งแรกของการส่งออกส้มโอจากไทยไปสหรัฐฯ โดยความร่วมมือของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

Larz Anderson House สถานที่จัดงาน เคยเป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ จัดถวายให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนกรุงวอชิงตัน ในปี ๒๔๗๔ ซึ่งเป็นการเสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ ของพระมหากษัตริย์ไทยเป็นครั้งแรกด้วย