ข่าว
'มดดำ'เศร้าศาลไม่ให้ประกัน'แม่' ให้แจงที่มาของเงินนำมาประกันตัว

"มดดำ-คชาภา ตันเจริญ" รับเศร้าใจศาลมะกันไม่ให้ประกันตัวแม่ "ศรีลา ทิพย์ฝัน" หลังเจอคดีจ้างวานทำกรีนการ์ดปลอมที่สหรัฐอเมริกา เผยโดนตรวจสอบที่มาของเงิน เหตุหาเงินประกันตัวมารดาได้เร็วเกินไป

ท่าทางคดีความของศรีลา ทิพย์ฝัน แม่ของ "มดดำ-คชาภา" จะยืดเยื้อซะแล้ว เพราะหลังจากที่พิธีกรฝีปากกล้าได้โอนเงิน และให้น้องชายดำเนินเรื่องประกันตัวแม่ที่อเมริกา ล่าสุดมดดำออกมาแจงถึงความคืบหน้าเรื่องคดีของมารดาในงาน "ZEN Fashion Nite Out 2012" ที่ร้านอาหาร Zense ชั้น 17 ห้างสรรพสินค้าเซน อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ว่าตอนนี้ศาลไม่ให้ประกันตัวมารดาแล้ว

"หลังจากที่เราส่งเงินไปให้แม่ ตอนแรกคิดว่าแม่จะได้ประกันตัวเลยในเวลาต่อมา แต่เวลาล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ ยังไม่ได้ประกันตัว ทางโน้นเขาบอกว่าเราหาเงินประกันได้เร็วเกินไป ตอนนี้เขาจึงให้ทนายฝ่ายของเราเขียนชี้แจงถึงที่มาที่ไปของเงินที่เอามาประกันตัวทั้งหมด ว่าเงินมาจากไหน มาเมื่อไหร่ ได้อย่างไร เรียกว่าเป็นเรื่องเป็นราวมาก บอกตรงๆ ว่าเราไม่รู้จะแจงอย่างไรเหมือนกันเพราะเงินมาจากหลายที่ ตอนนี้คงได้แต่รวบรวมเอกสารให้เร็วที่สุดเท่านั้น" มดดำกล่าว

พิธีกรชื่อดังเผย ต่อว่าด้วยน้ำเสียงสั่นๆ ว่าตอนนี้ได้แต่ทำใจเรื่องคดีความคงยืดยาวกว่าที่ควรจะเป็น และยังคงสรุปวันเวลาที่แน่นอนไม่ได้แล้ว ว่ามารดาของตัวเองจะได้ประกันตัวเมื่อไหร่

"มดดำยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยและให้กำลังใจคุณแม่เลย เพราะยังไม่ได้ไปที่นั่น มีแต่ส่งเงินไปช่วย บอกตรงๆ ว่าเราทำได้แค่นั้น คงไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับท่าน อย่างที่เคยบอกว่าเราบินไปที่นั่น ก็คงไปช่วยอะไรท่านไม่ได้ และไม่ทำให้แม่ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้เร็วขึ้น ปล่อยให้ทนายทำงานของเขาไปดีกว่า แล้วเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ตอนนี้ แต่เรายังยืนยันนะว่าแม่ก็คือแม่ แม้เราจะไม่ได้อยู่ด้วยกันแต่เรื่องช่วยเหลือเราต้องเต็มที่อยู่แล้ว" พิธีกรฝีปากกล้ากล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ

อลังการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน

เมื่อเวลา 15.09 น. วันที่ 9 พ.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ในการนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยเสด็จด้วย

ครั้นเมื่อรถยนต์พระที่นั่งเทียบยังท่าเรือวาสุกรี กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ไปยังสะพานฉนวนประจำท่าเทียบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ภายหลังพลเรือเอกสุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการขบวนเรือพยุหยาตรา กราบบังคมทูลรายงานจำนวนเรือและกำลังพล

ต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินลงประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ พลเรือตรีเจริญศักดิ์ มารัตนะ ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่ง กราบบังคมทูลรายงานฝีพายประจำเรือพระที่นั่งแล้ว นาวาโทเกษม เอี่ยมสุพรรณ นายเรือพระที่นั่ง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตออกเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในการนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ส่งเสด็จแล้วประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังที่รับรองท่าเทียบเรือวัดอรุณราชวราราม พร้อมทอดพระเนตรความงดงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กลางแม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนี้ นับเป็นครั้งที่ 17 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วยเรือพระราชพิธีในขบวนทั้งสิ้น 52 ลำ มีกำลังพลสง่างามในอาภรณ์ถูกต้องตามแบบโบราณราชประเพณี จำนวน 2,311 นาย ทั้งนี้ขบวนเรือเรียงรายจัดเป็น 5 ริ้ว ประกอบด้วย เรือนำหน้า 4 ลำ แบ่งเป็น 2 แถวได้แก่ เรือทองบ้าบิ่น เรือทองขวานฟ้า เรือเสือคำรนสินธุ์ และเรือเสือทยานชล มีเรือดั้งขนาบทั้งซ้ายและขวาของขบวนฝั่งละ 11 ลำ ถัดมาในแถวที่ 2 และ 4 เป็นเรือคุ้มกันชั้นในส่วนใหญ่ติดปืนใหญ่โบราณบริเวณโขนเรือมีลักษณะเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี แลดูสง่างามน่าเกรงขาม จำนวน 8 ลำ ได้แก่ เรืออสุรปักษี, เรือกระบี่ราญรอนราพณ์, เรือสุครีพครองเมือง, เรือครุฑเตร็จไตรจักร, เรืออสุรวายุภักษ์, เรือกระบี่ปราบเมืองมาร, เรือพาลีรั้งทวีป, เรือครุฑเหินเห็จ

ตามด้วยเรือคู่ชัก 2 ลำคือ เรือเอกชัยหลาวทอง และเรือเอกชัยเหินหาว ในแถวที่ 3 เป็นตำแหน่งของเรือพระที่นั่ง หรือ “เรือธง” เป็นจุดสำคัญที่สุดของขบวน นำหน้าด้วยเรืออีเหลือง, เรือตำรวจ 1 และ 2 เรียงต่อด้วยเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ซึ่งใช้เป็นเรืออัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ตามด้วยเรือแตงโม นำเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ์ รัชกาลที่ 9 , เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งรอง นอกจากนี้ยังมีเรือแซง 7 ลำ เรือตำรวจอีก 1 ลำ

จากนั้นเวลา 15.15 น. คณะฝีพายจึงได้รับสัญญาณเคลื่อนขบวนจากท่าวาสุกรี มุ่งหน้าสู่ท่าวัดอรุณราชวราราม ฝีพายในเรือพระที่นั่งใช้วิธีพายเรือในท่านกบิน หรือการยกพายสูงทำมุม 45 องศา ทำให้เกิดจังหวะ มีความพร้อมเพรียงกัน บังเกิดเป็นความวิจิตรตระการตา สอดคล้องกับจังหวะการเห่เรือ โดยครั้งนี้ประพันธ์กาพย์เห่เรือใหม่ชื่อว่า กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค.2554 ประพันธ์โดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญ สังกัดกองทัพเรือ มี 3 บทได้แก่ บทสรรเสริญพระบารมี, บทชมเมือง และบทชมเรือขบวน โดยมี นาวาโทณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ รับหน้าที่เป็นพนักงานเห่

เมื่อขบวนเรือพระราชพิธี ยาตราผ่านโรงพยาบาลศิริราช คณะฝีพายทั้งหมดได้หันหน้าถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เมื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เทียบท่าฉนวนน้ำหน้าวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เวลา 16.21 น. โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือ, พลเอกทรงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ปลัดกระทรวงกลาโหม และนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เฝ้าฯ รับเสด็จ จากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เข้าพระอุโบสถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับผ้าไตรจากเจ้าพนักงานศุภรัต ทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้า ซึ่งตั้งอยู่หน้าอาสนสงฆ์ใกล้เจ้าอาวาส ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงกราบ

ต่อมาทรงหยิบผ้าห่มสำหรับพระประธานที่วางอยู่บนหลังผ้าไตรพระราชทานเจ้าพนักงานภูษามาลา แล้วทรงยืนประทับ ณ ที่นั้น เจ้าหน้าที่กรมการศาสนากราบบังคมทูลรายงานจำนวนพระสงฆ์จบแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงหยิบผ้าไตรที่พานแว่นฟ้านั้นพาดระหว่างพระกร แล้วประนมพระหัตถ์ผินพระพักตร์สู่พระประธาน ทรงว่า “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” จบ 3 หนแล้ว ผินพระพักตร์สู่ที่ชุมนุมสงฆ์ ทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน ถัดมาทรงวางผ้าไตรไว้บนพานแว่นฟ้าที่เดิม ทรงประเคนเทียนปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์รูปที่ 2 ถวายความเคารพพระราชอาสน์แล้วทรงประทับบนเก้าอี้

พระสงฆ์ทำพิธีกฐินกรรม เมื่อพระผู้ครองผ้ากฐินออกไปครองผ้าพระกฐินเสร็จกลับมานั่งยังอาสนะแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปถวายเครื่องบริวารพระกฐินแด่พระผู้ครองผ้าพระกฐิน ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวานอนุโมทนา ถวายอดิเรก กรรมการวัดกราบบังคมทูลเบิกผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินบำรุงพระอารามเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มที่ระลึก จำนวน 130 ราย ถัดมาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ ถวายความเคารพพระราชอาสน์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออกชานหน้าพระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายพระขุนพลชลมารค และทรงเจิมแผ่นทอง เงิน นาก สำหรับจัดสร้างวัตถุมงคลของพระอาราม ทรงจุดธูปเทียนถวายพระพุทธนฤมิตร พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 2 ทรงกราบ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายราชสักการะพระบรมรูป ทรงกราบ ถัดมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายราชสักการะพระบรมรูป ทรงกราบ จากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ประทับรถยนต์พระที่นั่งหน้าวัดอรุณราชวราราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ.

ฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอกแล้ว “ปู-สุกำพล-เฉลิม-ชัจจ์”ติดโผ

เมื่อเวลา 14.55 น. วันที่ 9 พ.ย. ที่รัฐสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้ายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคลจำนวน 3 คน ต่อ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีส.ส.ฝ่ายค้านร่วมลงชื่อทั้งหมด 157 คน ประกอบด้วย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 155 คน และส.ส.พรรครักประเทศไทย จำนวน 2 คน

นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า สำหรับรายชื่อที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีจำนวน 4 คน ได้แก่ 1.น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ทั้งนี้ได้เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ได้แก่ 1.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี 2.พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ 3 .พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย ทั้งนี้การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้เป็นไปตามข้อมูล เอกสาร หลักฐาน ที่ทางฝ่ายค้านมี โดยผ่านคณะกรรมที่พิจารณาร่วมกัน สำหรับส.ส. ที่จะร่วมอภิปรายขณะนี้มีอยู่ 10-20 คน โดยได้เตรียมความพร้อมในการอภิปรายมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ว่าเป็นใครบ้าง เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ ส่วนสาเหตุที่การยื่นญัตติครั้งนี้ไม่มีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นั้น เป็นเพราะลำพังรมว.พาณิชย์ไม่สามารถแยกอภิปรายฯได้

เมื่อถามว่า หากนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายบุญทรง มาชี้แจงแทนหากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายรับจำนำข้าว นายจุรินทร์ กล่าวว่า โดยหลักผู้ถูกอภิปรายควรจะชี้แจงเอง ทั้งนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่ที่ตัวของนายกรัฐมนตรีว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร เมื่อถามต่อถึงความมั่นใจการอภิปรายในครั้งนี้อย่างไร นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนมั่นใจในการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ที่ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชน เพราะหากเป็นเรื่องการทุจริต ทำผิดกฎหมายเรื่องก็คงไม่จบอยู่แค่ในสภาฯ แม้ว่าฝ่ายค้านจะแพ้เสียงข้างมากในการลงมติ เพราะรัฐบาลก็ต้องอุ้มกันไป แต่กระบวนการจะต้องส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการถอดถอน และหากเป็นความผิดในคดีอาญาก็จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนที่ว่าข้อมูลจะสามารถทำให้รัฐบาลสั่นคลอนและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนหรือไม่นั้น อยู่ที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน เราทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จะได้ดำเนินตรวจสอบความถูกต้องของรายมือชื่อผู้ยื่นญัตติ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าคงแล้วเสร็จ จากนั้นจะประสานให้วิปทั้ง 2 ฝ่ายทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลไปหารือร่วมกันเกี่ยวกันวันเวลาที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อถามว่าในการทำหน้าที่ของประธานสภาฯเกรงจะมีเหตุความวุ่นวายเหมือนอย่างเช่นที่ผ่านมาหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อย่างเพิ่งไปคาดเดาตรงนั้น เพราะเหตุการณ์ยังไม่เกิด อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาบรรยากาศการประชุมก็เป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งการประชุมก็มีกติกา ข้อบังคับควบคุมอยู่แล้ว ยืนยันว่าตนทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางมาโดยตลอด โดยจะต้องยึดตามข้อบังคับการประชุม ไม่ยึดตามตัวบุคคล

สำหรับญัตติญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม้ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามมาตรา 159 ซึ่งลงนามโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน นั้นโดยญัตติอภิปรายนายกฯได้กล่าวหาว่ามีพฤติกรรมการบริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ล้มเหลว ผิดพลาด ไร้ความสามารถ ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาและประชาชน มีพฤติการณ์พูดอย่างทำอย่าง นโยบายป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นแค่เครื่องมือ “สร้างภาพ” “เอื้อพวก” มีการ“เลือกปฏิบัติ” “ละเว้น”เป็นหลายมาตรฐาน มีพฤติกรรมปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ใช้จ่ายเงินแผ่นดินกระจายไปในกลุ่มบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ท่ามกลางความเดือดร้อนแสนสาหัสของคนไทยทั้งประเทศ จนมีคำกล่าวว่ารัฐบาลภายใต้การบริหารของน.ส.ยิ่งลักษณ์ นอกจากน้ำท่วม หนี้ท่วม แพงทั้งแผ่นดินแล้ว ยังเกิดการทุจริตเป็นทำนอง“โกงทั้งแผ่นดิน”ด้วย

ในญัตติยังระบุด้วยว่า นายกฯยังบริหารราชการโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม รังแกข้าราชการประจำ ทำลายระบบนิติรัฐ เห็นประเทศเป็นบริษัท ขัดหลักนิติธรรม มีพฤติกรรมลอยตัวเลี่ยงความรับผิดเพื่อตัว เอื้อพวกเอื้อญาติ ปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอำนาจเหนือตัว เหนือรัฐธรรมนูญ ลักลอบควบคุมกำกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยมิชอบ ทั้งยังมีพฤติกรรมการบริหารโดยจงใจไม่รับผิดชอบต่อรัฐสภา ขาดวุฒิภาวะนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตย ปิดหูปิดตาประชาชน ปิดบังข้อมูล หลีกเลี่ยงการตรวจสอบเพื่อประโยชน์พวกพ้องและวงศ์วานว่านเครือ อีกทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายตลอดจนมีพฤติกรรมกระทำการอันไม่บังควร หากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปก็จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 159 พวกตนขอเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

สำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายรัฐมนตรีรายบุคคลได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และพล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย โดยระบุข้อกล่าวหาว่า รัฐมนตรีข้างต้นมีพฤติกรรมบริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ผิดพลาด ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ขาดความรู้ความสามารถ ลุแก่อำนาจ ขาดคุณธรรม จริยธรรม เล่นพรรคเล่นพวก เลือกปฏิบัติ มุ่งสนองผลประโยชน์ผู้มีบุญคุณทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมที่แท้จริงของประชาชน และความสงบสุขของบ้านเมือง ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมและระบบนิติรัฐ รัฐมนตรีบางคนยังมีพฤติกรรมทุจริต จงใจกระทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญหากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดิน ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศและประชาชนไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป