ข่าว
จับตารัฐสภา ‘ชวน’นัด 35 ปธ.กมธ. ถกคุมเข้มไวรัสมรณะ

วันศุกร์ ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563 “ประธานสภาฯ ชวน” เรียกประชุม ปธ.กมธ.35 คณะ ถกยกระดับมาตรการเข้มคุมโควิด-19 ในรัฐสภา เป็นมาตรฐานเดียวกัน ขณะ พปชร.กำชับสส.ลงพื้นที่รับฟังปัญหาปชช.เพื่อสู้ไวรัสไปด้วยกัน “ธนกร” ฝากพรรคการเมืองหยุดเคลื่อนไหวร่วมแก้ให้ดีขึ้นค่อยว่ากัน รัฐบาลยินดีรับฟัง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่รัฐสภา นพ.สุกิจอัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ติดเชื้อโควิด-19 หลังปฏิบัติหน้าที่ในสนามมวยว่า ในฐานะที่เป็นหมอ ได้วิเคราะห์เรื่องดังกล่าวดูแล้วว่าเจ้ากรมฯได้เดินทางมาร่วมประชุมคณะกรรมาธิการทหารในวันที่ 5 มี.ค.ที่รัฐสภา โดยวันนั้นท่านอาจจะยังไม่ติดเชื้อ เพราะท่านไม่เคยมีประวัติในการเดินทางไปต่างประเทศในรอบ 1 ปีอีกทั้ง ไม่ได้เดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงแต่อย่างใด มีเพียงกรณีที่ท่านเดินทางไปยังสนามมวย ในวันที่ 6 มี.ค.จากนั้นจึงตรวจพบเชื้อภายหลัง ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.จนถึงตอนนี้ ได้ครบกำหนดการฟักตัว 14 วันแล้ว ยังไม่พบบุคคลใดที่มาร่วมประชุม มีอาการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นจึงอยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลิกวิตกกังวล และสบายใจได้ในระดับหนึ่ง

นัดกมธ.35คณะคุมเข้มสภา

นพ.สุกิจ กล่าวว่าทางสภาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมยกระดับการควบคุมในเข้มข้นขึ้น โดยในวันศุกร์ที่ 20 มี.ค.ช่วงบ่าย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเรียกประชุมประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญทั้ง 35 คณะ เพื่อวางมาตรการควบคุมโควิด-19 ในสภา ถ่ายทอดไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนให้ใช้มาตรฐานเดียวกันอย่างเข้มงวด ส่วนจะมีข้อเสนอให้มีการยกเลิกการประชุมหรือไม่ ต้องรอฟังพรุ่งนี้ เบื้องต้น นายชวนไม่ได้สั่งห้าม

ส่วนมีเหตุผลอะไรที่ทำให้ ไม่งดประชุมนั้น เราต้องให้เกียรติกันให้เป็นดุลยพินิจของคณะ กมธ.นั้นๆหากไปสั่งงดเลยก็จะเกิดผลเสียได้ ถือว่าเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะแล้ว ส่วนคณะที่ร่วมประชุมเอง ก็ต้องมีวิธีการป้องกันตัวเองเช่นกัน

ปธ.รับผิดชอบเชิญมาชี้แจง

เมื่อถามว่ากรณีที่พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียเวส ยังยืนยันจะจัดการประชุม กมธ.ปปช.อย่างต่อเนื่องนั้นนพ.สุกิจ กล่าวว่าท่านเองก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะก็ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและดุลยพินิจของท่านเอง เพราะเชื่อว่าบางเรื่องมีความสำคัญและไม่สามารถเลื่อนการประชุมได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกมธ.ใดก็ตามประธาน กมธ.ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกลุ่มบุคคลที่เชิญมาให้คำชี้แจงในที่ประชุม และตรวจเข้มงวดให้มาก ไม่ใช่มาพูดท้าทายว่าไม่กลัวตาย เพราะผ่านสมรภูมิมาแล้ว ไม่กลัวเชื้อโรค เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่การรบ แต่เป็นเรื่องไวรัส

พปชร.สั่งสส.ลงฟังปัญหาปชช.

ทางด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า ในส่วนพรรคพลังประชารัฐ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงษ์ เลขาธิการพรรค กำชับให้ส.ส.ของพรรคลงพื้นที่รับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุข ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะส.ส.อยู่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชนมากที่สุด รวมทั้งเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนสู้วิกฤตไปด้วยกัน

นายธนกรในฐานะเลขานุการ รมว.คลังกล่าวถึงในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นนอกจากออกมาตรการชุดที่ 1 แล้วยังเตรียมออกมาตรการชุดที่ 2ไว้อีกด้วยรวมทั้งได้สั่งการให้คลังจังหวัดทั่วประเทศ รับเรื่องปัญหาของพี่น้องประชาชน ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ นายอุตตมยังสั่งการให้กระทรวงการคลัง จัดทำเพจเพื่อรับปัญหาต่างๆ จากประชาชน เพื่อเป็นการสื่อสาร2ทางสำหรับแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ตนอยาก จะฝากไปยังพรรคการเมืองทุกพรรค ขอให้หยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองไว้ก่อน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ก็ค่อยว่ากันใหม่ รัฐบาลยินดีรับฟัง

สหรัฐเพิ่มมาตรการหยุด'โควิด-19' ประกาศระงับ'บริการวีซ่า'ทั่วโลก

19 มีนาคม 2563 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประกาศว่า สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของรัฐบาลวอชิงตันทั่วโลก จะระงับบริการออกวีซ่าชั่วคราวและสำหรับผู้มีถิ่นพำนัก ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. โดยจะกลับมาให้บริการอีกครั้งโดยเร็วที่สุด แต่ยังไม่สามารถระบุวันที่แน่ชัดได้

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศในกรุงวอชิงตันไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่ามีประเทศใดบ้าง และครอบคลุมกระบวนการออกวีซ่าทุกประเภทหรือไม่ แตระบุว่ามาตรการดังกล่าวมีผลกับประเทศที่สหรัฐเตือนภัยการเดินทางในระดับ 2 3 และ 4

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ยังระบาดหนักต่อเนื่อง โดยยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งสูงกว่า 218,631 คน เสียชีวิต 8,805 ราย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาอยู่ในลำดับที่หกจากอันดับทั่วโลก ป่วยสะสมกว่า 9,345 คน เสียชีวิต 150 ราย รักษาหาย 106 คน


สังเวยโควิดพุ่งหมื่นศพ! ติดเชื้อทั่วโลก 244,000 ราย สหรัฐวิกฤต-ป่วยเพิ่มวันเดียวกว่า 6,400 คน

สังเวยโควิดพุ่งหมื่นศพ! - วันที่ 20 มี.ค. เอเอฟพี และ ศูนย์วิศวกรรมและระบบวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอพกินส์ ในสหรัฐอเมริกา รายงานความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโครโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19 ว่ายอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 244,421 คน จาก 160 ประเทศและเขตแดน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตรายแล้ว 10,027 ราย และรักษาหายรวมกว่า 86,025 คน

จีนพบผู้ติดเชื้อรวม 81,189 คน ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,252 คน รักษาหาย 71,256 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในฮ่องกง 208 คน เสียชีวิต 4 คน มาเก๊าป่วย 10 คน

อิตาลีป่วยสะสม 41,035 คน มีผู้เสียชีวิตรายใหม่เพียงวันเดียวมากถึง 425 คน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 3,405 คน และแซงยอดผู้เสียชีวิตในจีนเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยที่หายแล้ว 4,440 คน

อิหร่านป่วยสะสม 18,407 คน เสียชีวิต 1,284 คน หายแล้ว 5,710 คน

สเปนป่วยสะสม 18,077 คน เสียชีวิต 833 คน รักษาหายอย่างน้อย 1,107 คน

เยอรมนีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,993 คน ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 15,320 คน เสียชีวิต 44 คน

สหรัฐเมริกาป่วยเพิ่ม 6,433 คน ยอดป่วยสะสม 14,202 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 205 คน

ฝรั่งเศสพบผู้ป่วยใหม่ 1,834 คน ยอดป่วยสะสมอยู่ที่ 10,886 คน เสียชีวิต 243 คน

เกาหลีใต้ป่วยเพิ่ม 239 คน ยอดป่วยสะสม 8,652 คน เสียชีวิตแล้ว 94 คน

สวิตเซอร์แลนด์ป่วยสะสม 4,164 คน เสียชีวิต 43 คน

สหราชอาณาจักรป่วยสะสมเพิ่มเป็น 2,716 คน เสียชีวิตแล้ว 138 คน

เนเธอร์แลนด์ป่วยสะสม 2,467 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 77 คน

ออสเตรียป่วยสะสม 2,013 คน เสียชีวิต 6 คน

เบลเยียมป่วยสะสม 1,795 คน เสียชีวิตแล้ว 21 คน

นอร์เวย์ป่วยสะสม 1,781 คน พบเสียชีวิต 7 คน

สวีเดนป่วยสะสมเพิ่มเป็น 1,439 คน เสียชีวิต 11 คน

เดนมาร์กป่วยสะสม 1,225 คน เสียชีวิตแล้ว 6 คน

ญี่ปุ่นป่วยสะสม 924 คน เสียชีวิตเพิ่มเป็น 29 คน มาเลเซียติดเชื้อรายใหม่ 110 คน ทำให้ยอดผู้ ป่วยสะสมอยู่ที่ 900 คน เสียชีวิต 2 คน แคนาดาป่วยสะสม 800 คน เสียชีวิตแล้ว 9 คน โปรตุเกสป่วยสะสม 785 คน เสียชีวิต 4 คน ผู้ติดเชื้อบนเรือสำราญเพิ่มเป็น 712 คน เสียชีวิต 7 คน

สาธารณรัฐเช็กป่วยสะสม 694 คน ออสเตรเลีย 681 คน เสียชีวิต 6 คน อิสราเอลป่วยสะสม 677 คน บราซิล 621 คน เสียชีวิต 6 คน ไอร์แลนด์ป่วยสะสม 557 คน เสียชีวิต 3 คน กาตาร์ป่วยสะสม 460 คนปากีสถานป่วยสะสม 454 คน เสียชีวิต 2 คน กรีซป่วยสะสม 418 คน เสียชีวิต 6 คย ฟินแลนด์ป่วยสะสม 400 คน

ตุรกี 359 คน เสียชีวิต 45 คน โปแลนด์ป่วยสะสม 355 คน เสียชีวิต 5 คน สิงคโปร์ป่วยสะสม 313 คน ลักเซมเบิร์ก 335 คน เสียชีวิต 4 คน ไอซ์แลนด์ป่วยสะสม 330 คน เสียชีวิต 1 คน สโลวีเนีย 319 คน เสียชีวิต 1 คน อินโดนีเซียป่วยสะสม 311 คน เสียชีวิตเพิ่มเป็น 25 คน

บาห์เรนป่วยสะสม 278 คน เสียชีวิต 1 คน โรมาเนียป่วยสะสม 277 คน ซาอุดีอาระเบีย 274 คน ประเทศไทยป่วยสะสม 272 คน เสียชีวิต 1 คน เอสโตเนียป่วยสะสม 267 คน อียิปต์ 256 คน เสียชีวิต 7 คน ชิลีป่วยสะสมคงที่ที่ 238 คน เปรู 234 เสียชีวิต 1 คน ฟิลิปปินส์ป่วยสะสม 217 คน เสียชีวิต 17 คน

ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโนาสายพันธุ์ใหม่ต่ำกว่า 200 คน ได้แก่ รัสเซีย เอกวาดอร์ อิรัก อินเดีย คูเวต เลบานอน ซานมาริโน แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ปานามา สโลวาเกีย ไต้หวัน เม็กซิโก อาร์เมเนีย โครเอเชีย เซอร์เบีย โคลอมเบีย

ประเทศที่มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ต่ำกว่า 100 คน ได้แก่ อาร์เจนตินา อุรุกวัย บัลแกเรีย แอลจีเรีย ลัตเวีย เวียดนาม บรูไน ฮังการี คอสตาริกา จอร์แดน ไซปรัส แอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โมรอกโก ศรีลังกา อันดอร์รา มอลตา เบลารุส

ประเทศที่มีผู้ป่วยสะสมต่ำกว่า 50 คน ได้แก่ มอลโดวา โอมาน มาซิโดเนียเหนือ อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน เวเนซุเอลา จอร์เจีย นิวซีแลนด์ ตูนิเซีย กัมพูชา ลิทัวเนีย โดมินิกัน บูร์กินาฟาโซ กัวเดอลุป เซเนกัล ลิกเตนสไตน์ เกาะเรอูนียง ยูเครน อุซเบกิสถาน มาร์ตีนิก อัฟกานิสถาน

ประเทศที่มีผู้ป่วยสะสมต่ำกว่า 20 คน ได้แก่ บังกลาเทศ จาไมกา คองโก-กินชาซา มัลดีฟส์ แคเมอรูน มอนเตเนโกร ปารากวัย โบลิเวีย ไนจีเรีย ฮอนดูรัส คิวบา กานา เฟรนช์เกียนา กัวเตมาลา โกตดิวัวร์ ตรินิแดดและโตเบโก โมนาโก รวันดา เคนยา กายอานา เอธิโอเปีย แทนซาเนีย มองโกเลีย เซเชลส์ อิเควทอเรียลกินี

ประเทศที่มีผู้ป่วยสะสมต่ำกว่า 5 คน ได้แก่ บาร์เบโดส คองโก-บราซาวีล บาฮามาส มอริเชียส นามิเบีย คีร์กีซสถาน มายอต ไลบีเรีย เซนต์ลูเซีย เบนิน โคโซโว ซูดาน แซมเบีย มอริเตเนีย กาบอง เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ฟิจิ โซมาเลีย โตโก แอฟริกากลาง ไนเจอร์ กินี เอลซัลเวดอร์ สาธารณรัฐชาด จิบูตี แอนติกาและบาร์บูดา เอสวาตีนี นิคารากัว ภูฏาน เนปาล ซูรินาเม นครรัฐวาติกัน และแกมเบีย


รับมือไม่ไหว ยอดตายโควิด-19ในอิตาลี พุ่งแซงหน้าจีนไปแล้ว

20 มี.ค. 63 ทางการอิตาลีรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 427 ศพ ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตทั่วประเทศไปอยู่ที่ 3,405 ราย แซงหน้าประเทศจีน ที่มียอดรวม 3,249 ศพ กลายเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 5,322 ราย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งไปอยู่ที่ 41,035 ราย แม้จะมีผู้ที่หายจากอาการป่วยรวมแล้ว 4,440 ราย แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ

โดยจนถึงขณะนี้อิตาลียังคงมาตรการปิดเมือง ปิดย่านธุรกิจ ร้านอาหาร บาร์ ร้านค้า ปิดสถานศึกษา และห้ามประชาชนออกจากที่พักอาศัยมาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา และเพิ่งมีการประกาศขยายเวลาปิดเมืองจากผู้นำอิตาลี ขณะที่ทีมกาชาดของจีนที่ได้เข้าไปสังเกตการณ์และช่วยเหลือทางการอิตาลีพบว่ามาตรการกักตัว รวมทั้งการปิดเมืองของอิตาลียังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถสกัดการแพร่ระบาดได้

ก่อนหน้านี้ GIMBE ซึ่งเป็นหน่วยงานการแพทย์ของอิตาลีระบุว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ในอิตาลีป่วยด้วยโรคโควิด-19 อย่างน้อย 2,629 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.3 ของผู้ป่วยทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ของจีนที่อยู่ที่ ร้อยละ 3.8 ของจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ในจีนเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวน 5 ศพ


วรงค์ เสนอ รบ.รวบรวมความเห็น ปมปิดประเทศ พร้อมคุย ปชช.ถึงข้อดี-ข้อเสีย

20 มี.ค. นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย โพสต์เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ปมข้อเสนอ ปิดประเทศ เพราะโควิด-19 ระบาดหรือไม่ เสนอ รัฐบาลรวบรวมความคิดเห็น มาพูดคุยให้ปชช.ฟัง ถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ปมปิดประเทศ เพราะโควิด-19 ระบาดหรือไม่

การปิดประเทศ??

ช่วงนี้พวกเราได้รับฟังข้อเสนอปิดประเทศบ่อยขึ้น ทั้งจากแพทย์ที่รักษาโรค โดยให้เหตุผลการขาดแคลนบุคลากร และเวชภัณฑ์กรณีถ้าป่วยพร้อมกันจำนวนมาก

บางรายขอให้ปิดประเทศถ้ามีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกินวันละ 100 คน บางรายขอปิดประเทศโดยเอาตามกระแสไม่มีเหตุผล ที่สำคัญบางรายขอปิดประเทศแต่ขอเปิดประชุมสภา จนคิดว่าถ้าปิดประเทศแล้วทุกอย่างจะจบ

ส่วนกลุ่มที่คิดว่ายังไม่จำเป็น มองว่าวันนี้เกณฑ์เข้าออกประเทศเรื่องวีซ่า การตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวด รวมทั้งการต้องมีใบรับรองแพทย์ก่อนผ่านตม. ก็ถือว่ามีประชาชนผ่านเข้าออกจนสนามบินแทบร้าง และไม่มั่นใจว่า สังคมประชาธิปไตยของเรา ถ้าปิดจะปิดยาวแบบจีนได้ไหม ที่สำคัญอาจมีระบาดซ้ำได้ถ้ายังไม่มีวัคซีน

จึงมีแนวคิดแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจาก 80% ของผู้ติดเชื้อนี้แทบไม่ต้องนอนรพ. และเพียง 4% จะมีภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หลังจากนั้นประชาชนที่ติดเชื้อ ตลอดจนผู้ที่ได้รับเชื้อไม่มาก ก็จะมีภูมิต้านทาน และหยุดการระบาดได้

ที่สำคัญมองว่า การปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ยกเลิกกิจกรรมที่รวมคน และให้ประชาชนปฏิบัติตนเองอย่างเข้มงวด งดร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก ใส่หน้ากาก และล้างมือบ่อยๆ จะทำให้ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เรื่องปิดประเทศ รัฐบาลจึงน่าจะรวบรวมความคิดเห็นเหล่านี้ มาพูดคุยให้ประชาชนฟังถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น และสรุปทางเลือก ตลอดจนแผนการของรัฐบาลในแต่ละสถานการณ์ โดยเฉพาะถ้าทุกอย่างเลวร้าย ในแต่ละแผน ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมให้ไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล


"แจ็ค หม่า" บริจาคเครื่องมือแพทย์-หน้ากากอนามัย ช่วยไทยสู้ "โควิด-19"

20 มี.ค. 2563: ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิแจ็ค หม่า และมูลนิธิอาลีบาบา ประกาศโครงการบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับ 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปยังรัฐบาล มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ประเทศไทย และฟิลิปปินส์ เพื่อเสนอโครงการบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์

สำหรับเป้าหมายของการบริจาคของมูลนิธิฯ คือการช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านี้ รับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และขยายความช่วยเหลือไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อีกในอนาคต

ตัวแทนจากมูลนิธิแจ็ค หม่า กล่าวว่า "เราร่วมมือกับประเทศในเอเชียเพื่อรับมือกับภัยจาก COVID-19 โดยเราและมูลนิธิอาลีบาบา จะส่งหน้ากากอนามัยจำนวน 2 ล้านชิ้น, ชุดตรวจโรค 150,000 ชุด, ชุดป้องกันเชื้อโรค 20,000 ตัว และอุปกรณ์ป้องกันใบหน้า 20,000 ชิ้นไปยัง อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย และเรากำลังดำเนินการเพิ่มเติมสำหรับประเทศอื่นในเอเชีย".

ลอสแอนเจลิสปิดบาร์และไนท์คลับเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส

นายเอริก การ์เซตติ นายกเทศมนตรีนครลอสแอนเจลิสได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 จึงต้องขอปิดบาร์ ไนท์คลับ สถานบันเทิง และสถานประกอบการอื่นๆ รวมถึงร้านอาหาร (ยกเว้นซื้อกลับบ้าน / ส่งถึงบ้าน) เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

มาตรการดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่นครนิวยอร์กประกาศปิดในแบบเดียวกันไปเมื่อวานนี้ และหลังจากที่นคร ลาสเวกัสสั่งปิดกาสิโนและโรงแรมในวันเดียวกันกับนิวยอร์ก อย่างไรก็ตาม นายกเทศมนตรีนครลอสแอนเจลิส ยืนยันว่า อาหารจะไม่ขาดแคลน และร้านขายของชำจะยังคงเปิดอยู่

นายกเทศมนตรีนครลอสแอนเจลิสระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเริ่มมีผลตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 14.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย และจะดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม เว้นแต่จะขยายเวลาออกไป ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐได้ออกแนวทางใหม่ทั่วประเทศ โดยขอให้ผู้จัดงานยกเลิก หรือเลื่อนกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ที่มีผู้เข้าร่วม 50 คน ขึ้นไป ยกเว้นกิจกรรมประจำวันด้านการศึกษาหรือธุรกิจ.