ข่าว
สื่อนอกเผย ลงทุนตปท.ในไทยปี 58 ร่วง 90 เปอร์เซ็นต์

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียนรีวิวของญี่ปุ่นรายงานว่า มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในไทยในปี 2558 ลดลงอย่างมหาศาลโดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนกฎระเบียบด้านการลงทุนที่บังคับใช้เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว โดยเรื่องดังกล่าวนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซาอยู่แล้ว เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นราว 50 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนทั้งหมดในไทย

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า การยื่นคำขอลงทุนโดยธุรกิจต่างชาติมีมูลค่าลดลง 98 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 12,700 ล้านบาท ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่นับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน แต่หากเทียบทั้งปี 2558 แล้ว มูลค่าการลงทุนของต่างชาติลดลง 90 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 106 ล้านบาท

ข่าวระบุว่า ญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในไทยในแง่มูลค่าการลงทุนเมื่อปี 2558 ตามด้วยสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ขณะที่อันดับ 4 คือจีน

รบ.โต้อย่ามอง ล็อกให้เหล่าทัพนั่งในสภาเหมือนรัฐบาลพม่า ยันยึดประโยชน์ปชช.

เมื่อเวลา 13.10 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอ คสช.ต่อการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญว่า ถ้าถามความเห็นส่วนตัว ต้องไปอ่านหนังสือที่ คสช.ส่งถึงประธาน กรธ.ในหนังสือบอกชัดเจนว่า เห็นถึงความห่วงใยบ้านเมือง ความรับผิดชอบที่แม่น้ำ 4 สาย มีต่อประเทศในอนาคต ซึ่งแม่น้ำ 4 สายเห็นว่ามีหน้าที่ เพราะเป็นห่วงบ้านเมืองจึงได้เสนอไป ข้อเสนอดังกล่าวเรียกว่าเป็นดุลความสัมพันธ์ระหว่างกลไกประชาธิปไตย รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) วุฒิสภา(ส.ว.) ศาล องค์กรอิสระ ซึ่งข้อเสนอเพื่อปรับปรุงบทเฉพาะกาล ไม่ได้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งแม่น้ำ 4 สาย ทำหน้าที่ของตนเอง บนพื้นฐานที่เป็นห่วง และบนพื้นฐานที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงมีการเสนอไปเพราะเชื่อว่ามีหนทางของทางออก

เมื่อถามว่าหากความเชื่อไม่เป็นไปตามเป้าหมายใครจะรับผิดชอบ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่เราเสนอไปตามอำนาจหน้าที่ที่มี ไปถึง กรธ.ที่มีอำนาจพิจารณาว่าจะทำหรือไม่ทำ หากเขาทำแล้วก็เป็นอำนาจของประชาชนอีกที่จะต้องออกเสียงประชามติ ฉะนั้นประชาชนคือคนตัดสิน

เมื่อถามว่าข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย มีแนวโน้มว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.จะรับได้ทั้งหมดหรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า นายกฯเคารพนายมีชัย เคารพการทำงานของ กรธ.เพราะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น ส่วนจะทำได้หรือไม่ ทำมากน้อยขนาดไหน คิดว่าเมื่อได้มีการศึกษาการหารือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นรอบด้านแล้ว สุดท้ายน่าจะได้ข้อยุติที่ดี ส่วนตัวมองโลกในแง่ดี ส่วนจะปรับแก้มากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน หารือกัน ซึ่งมีกระบวนการพูดคุยได้

เมื่อถามว่าการให้มีตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม เข้ามาเป็น ส.ว.นั้นถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ถ้าดูเจตนารมณ์จริงๆ ก็คือการให้ตำแหน่งหลักของฝ่ายความมั่นคงได้เข้าไปมีส่วนอยู่วุฒิสภา(ส.ว.) หัวใจของมันคือตำแหน่งหลัก

เมื่อถามว่าเหมือนรัฐบาลพม่า นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ไม่เหมือนกัน ยืนยันได้ เราอย่าไปมองตรงนั้น เพราะกองทัพก็ส่วนหนึ่ง ส่วนตัวไม่มองเรื่องคานอำนาจ หรือคนละฝั่ง แต่มองแบบคนเห็นหรือประเมินว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เราได้ทำหน้าที่แล้ว เราอยากมีระยะเปลี่ยนผ่าน เราถึงว่าระยะเปลี่ยนผ่านควรมีดุลความสัมพันธ์ในแต่ละเรื่อง ควรจะเป็นอย่างไรเราก็เสนอ เพราะเป็นความรับผิดชอบ

“คสช.รัฐบาล แม่น้ำ 4 สายให้ความสำคัญกับประชาชน ดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้จากกรธ.ไม่แวะไหนเลย แต่ไปที่ประชาชน ดังนั้นเราให้ความสำคัญประชาชนเต็มที่อยู่แล้ว เพราะไปตรงไปหาเลย ไม่ผ่านจุดไหนๆ” นายสุวพันธ์กล่าว


ลั่น"ส.ว.สรรหา"ไร้อำนาจพิเศษ แค่ทำกฎหมาย-ปฏิรูป

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 ดอนเมือง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการให้อำนาจ ส.ว.สรรหา ว่า ส.ว.สรรหาที่ตนเสนอนั้นเป็น ส.ว.ที่มีอำนาจธรรมดาในการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย รวมทั้งจะเน้นหนักเรื่องการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้เป็นไปตามระบบเป็นหลัก ไม่ได้มีอำนาจพิเศษ และจะเลือกนายกรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้ เมื่อถามถึงอำนาจของ ส.ว.ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและลงมติได้นั้น จะเป็นการเพิ่มอำนาจหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร และไม่อยากพูดไปก่อน เพราะไม่ทราบว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะร่างรัฐธรรมนูญออกมาได้ขนาดไหน ตนไม่ทราบ แต่พูดแล้วว่า ส.ว.จะดูเรื่องการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลักเท่านั้น ไม่มีนัยยะอะไร

เมื่อถามต่อว่า ข้อเสนอของ คสช. เหมือนว่า ส.ว.สรรหาจะมีอำนาจควบคุมรัฐบาลได้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี อำนาจการบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติต้องแยกออกจากกันเด็ดขาด แต่ต้องทำให้เกิดความสมดุลกัน ต่างฝ่ายต่างตรวจสอบกัน ส่วนตัวนั้นไม่กังวลว่าข้อเสนอของ คสช.จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ และเชื่อว่าทาง กรธ.จะไม่ถอดใจ เรื่องนี้ไม่ต้องห่วง และอย่าคิดไปไกล.


‘โอเปก’จ่อหารือผู้ผลิตรายใหญ่นอกกลุ่ม พยุงเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบโลก

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นายโมฮัมเหม็ด อัลซาดารัฐมนตรีพลังงานของกาตาร์เปิดเผยว่า สมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) และประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญนอกโอเปก เตรียมที่จะประชุมหารือกันในวันที่ 17 มีนาคมนี้ที่กรุงโดฮา ของกาตาร์ เพื่อหารือถึงวิธีการสร้างเสถียรภาพให้ราคาน้ำมันดิบโลกที่กำลังตกต่ำ

นายซาดาซึ่งดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนของโอเปกในปัจจุบันระบุไว้ในแถลงการณ์ว่า การประชุมนี้ถือเป็นการสานต่อจากการเจรจาหารือระหว่างกาตาร์ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบียและเวเนซุเอลาเมื่อเดือนที่แล้วที่มีข้อเสนอซึ่งเห็นพ้องกันให้คงกำลังการผลิตน้ำมันไว้ที่ระดับเมื่อเดือนมกราคม

ข่าวระบุว่า 15 ประเทศที่จะเข้าร่วมในการประชุมนี้มีกำลังการผลิตน้ำมันรวมกันแล้วคิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์

ก่อนหน้านี้นายอเล็กซานเดอร์ โนวัก รัฐมนตรีพลังงานของรัสเซียเปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ว่า การประชุมนี้คาดว่าน่าจะจัดขึ้นในเดือนเมษายน พร้อมระบุว่า อิหร่านซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกอาจไม่เข้าร่วมในการบรรลุข้อตกลงคงกำลังการผลิต หลังเพิ่งพ้นจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกภายหลังบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์

อ้างอิงจากรายงานประจำเดือนของโอเปกที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมาระบุว่า อิหร่านผลิตน้ำมัน 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นจาก 2.9 ล้านบาร์เรลเมื่อเดือนมกราคม โดยอิหร่านเคยมีกำลังการผลิตน้ำมันที่ 4 ล้านบาร์เรลต่อวันก่อนหน้าที่จะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก

ขณะที่กำลังการผลิตโดยรวมของ 13 ชาติสมาชิกโอเปกในเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 175,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์มาอยู่ที่เฉลี่ย 32.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยราคาน้ำมันดิบเมื่อวันที่ 16 มีนาคมดีดตัวกลับมาเล็กน้อยหลังร่วงลงติดต่อกันมา 2 วัน

ทั้งนี้ น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัญญาส่งมอบเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 59 เซ็นต์ หรือคิดเป็น 1.62 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 36.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์สัญญาส่งมอบเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 47 เซ็นต์ มาอยู่ที่ 39.21 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คิดเป็น 1.21 เปอร์เซ็นต์


เดนมาร์กขึ้นแท่นอันดับ1 ดัชนีความสุขโลกปี 2559

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ว่า เครือข่ายแก้ปัญหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีเอสเอ็น) หน่วยงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยรายงานดัชนีความสุขโลกประจำปี 2559 (World Happiness Report 2016) เมื่อวันพุธ ต้อนรับวันความสุขสากลที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 20 มี.ค. นี้

ประเทศที่พลเมืองมีความสุขมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ เดนมาร์ก ตามมาด้วย สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสวีเดน เป็นอีกครั้งที่เดนมาร์กกลับมาขึ้นอันดับหนึ่ง หลังผลสำรวจในรายงานฉบับที่แล้วเมื่อปี 2558 ถูกช่วงชิงตำแหน่งไปโดยสวิตเซอร์แลนด์

ด้านประเทศที่ถูกจัดอยู่ใน 10 อันดับท้ายสุดของตารางจากทั้งหมด 157 ประเทศ ได้แก่ มาดากัสการ์ แทนซาเนีย ไลบีเรีย กินี รวันดา เบนิน อัฟกานิสถาน โตโก ซีเรีย และบุรุนดี ขณะที่ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 33 ขยับขึ้นหนึ่งตำแหน่งจากอันดับที่ 34 เมื่อปี 2558

รายงานดัชนีความสุขฉบับนี้เป็นฉบับที่ 4 มีการจัดทำครั้งแรกเมื่อปี 2555 ตามด้วยปี 2556 2558 และ 2559 ตามลำดับ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจของแกลลอพ เวิร์ด โพล ในปัจจัย 6 ด้าน ได้แก่ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่อจำนวนประชากร หรือรายได้ต่อหัว การมีที่พึ่งพิงทางสังคม การมีอายุยืนอย่างมีสุขภาพดี เสรีภาพทางสังคม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการปราศจากคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นการประเมินโดยให้คะแนน 0-10

วัตถุประสงค์ของการจัดทำรายงานดังกล่าว เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของ "ความอยู่ดีมีสุข" ของพลเมืองในฐานะตัวชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศ และผลักดันให้ถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์การกำหนดแนวนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศ

แต่เดิมแล้ว รายงานฉบับที่ 4 ถูกกำหนดไว้ที่ปี 2560 แต่มีการปรับเปลี่ยนให้มีฉบับคั่นกลางอัพเดตข้อมูลออกมาในปีนี้ ซึ่งจะถูกต่อยอดไปเป็นรายงานการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลที่สมบูรณ์กว่าในฉบับที่ 5 ปี 2560 ทั้งนี้ รายละเอียดของรายงานฉบับนี้ที่แตกต่างไปจากฉบับก่อนหน้า คือการมุ่งเน้นไปที่การประเมินและผลลัพธ์ของความเหลื่อมล้ำและความทั่วถึงของความอยู่ดีมีสุขของประชากรในประเทศและภูมิภาค ซึ่งพบว่าประชาชนมีความสุขมากกว่าในสังคมที่มีความเสมอภาคมากกว่า

ทั้งนี้ รายงานยังเปรียบเทียบระดับของความสุขใน 2 ช่วงเวลา ระหว่างช่วงปี 2548-2550 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในปี 2552 และช่วงปี 2556-2558 หรือช่วงเวลา 3 ปีล่าสุด ในจำนวน 126 ประเทศที่มีการเปรียบเทียบข้อมูล พบว่า 55 ประเทศมีอัตราความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ 45 ประเทศมีอัตราความสุขที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

20 อันดับประเทศที่มีความสุขเพิ่มขึ้นมากสุด ได้แก่ ไทย จีน บางส่วนของประเทศในเครือรัฐเอกราช ยุโรปตะวันตก ลาตินอเมริกา ซับซาฮารา และประเทศมาซิโดเนีย ส่วนประเทศที่ความสุขลดลงสูงสุด ได้แก่ อียิปต์ อิหร่าน จอร์แดน เยเมน ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น อินเดีย ไซปรัส สเปน อิตาลี และกรีซ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มประเทศที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ไอซ์แลนด์และไอร์แลนด์เป็นกลุ่มที่ดัชนีค่อนข้างคงที่แม้จะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากมีปัจจัยในส่วนของที่พึ่งพิงทางสังคมอยู่ในระดับสูง

ทำเนียบขาวเรียกร้องโสมแดงปล่อย นศ.อเมริกัน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ว่านายจอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงเมื่อวันพุธ เรียกร้องให้เกาหลีเหนือปล่อยตัวนายออตโต วอร์มเบียร์ นักศึกษาชาวอเมริกันซึ่งถูกศาลฎีกาของรัฐบาลเปียงยางพิพากษาให้รับโทษด้วยการใช้แรงงานหนักในค่ายกักกันเป็นเวลา 15 ปี ฐานพยายามขโมยแผ่นป้ายโฆษณาชวนเชื่อจากโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเปียงยาง ซึ่งถือเป็นเจตนาก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อรัฐ

ทั้งนี้ รัฐบาลวอชิงตันมองคำพิพากษาลงโทษวอร์มเบียร์เป็น "คดีการเมือง" อย่างชัดเจน โดยใช้พลเมืองอเมริกันเป็นเครื่องมือในการต่อรอง อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศใช้คำสั่งพิเศษในฐานะผู้นำสหรัฐ เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลเปียงยางขึ้นอีกขึ้น คือการอายัดทรัพย์สินและขึ้นบัญชีดำบุคคลใดก็ตาม ซึ่งรวมถึงผู้ถือสัญชาติอเมริกัน หากตรวจพบมีการทำธุรกรรมร่วมกับธุรกิจภาคสำคัญของเกาหลีเหนือ และการห้ามส่งออกสินค้าทุกรายการไปยังเกาหลีเหนือ ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้กับกรณีพิพาทระหว่างทั้งสองประเทศ

ขณะที่วอร์มเบียร์ นักศึกษาวัย 21 ปี จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ถูกทางการเกาหลีเหนือจับกุมที่สนามบินในกรุงเปียงยาง เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา ระหว่างเตรียมตัวเดินทางกลับประเทศพร้อมคณะนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน และบทลงโทษได้รับการประกาศเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังนายบิล ริชาร์ดสัน นักการทูตอาวุโสของสหรัฐ หารือเรื่องวอร์มเบียร์กับนักการทูตของเกาหลีเหนือ ที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ในนครนิวยอร์ก

ในอดีตรัฐบาลเปียงยางจับกุมชาวอเมริกันมาแล้วหลายคน แต่ส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวหลังรับโทษไปแล้วระยะหนึ่ง ปัจจุบันวอร์มเบียร์ถือเป็นนักโทษชาวอเมริกัน 1 ใน 3 คน ซึ่งกำลังถูกควบคุมตัวอยู่ในเกาหลีเหนือ