ข่าว
ดร.พิจิตต ห่วง 13 รอยเลื่อนแผ่นดินไหว

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี นายพิจิตต รัตตกุล ในฐานะคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) และผู้อำนวยการบริหารศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) กล่าวในประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 6 มีความตอนหนึ่งว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ภัยพิบัติทั่วโลก เชื่อว่าความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจะยิ่งสูงขึ้น

สิ่งที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือเรื่องรอยเลื่อนที่มีอยู่ในประเทศไทย ทั้งหมด 13 รอยเลื่อน รอยเลื่อนที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนแม่เมาะ ที่ในช่วง 2 ถึง 3 เดือนที่ผ่านมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ โดย จังหวัดที่น่าเป็นห่วงที่อยู่ในบริเวณรอยเลื่อนเหล่านี้คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี

นายพิจิตตกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลอีกเรื่อง คือ ภัยอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น ดินถล่ม จนส่งผลให้เกิดน้ำหลากเข้าสู่ชุมชนและอาจจะได้เห็นน้ำป่าที่หลากเข้ามาสูง 4-5 เมตร หรือ ปัญหาเรื่องวินด์เสิร์จ (windsurge) ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นจากลม ซึ่งประสานความรุนแรงกับการกัดเซาะชายฝั่งจากน้ำ จะส่งผลความเสียหายให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ชายฝั่งเป็นจำนวนมาก และปัญหาของโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามมากับปัญหาเหล่านี้ด้วย เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ปริมาณฝนที่หนาแน่น น้ำทะเลจะหนุนสูง เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ จะเกิดปัญหาการกัดเซาะ การยุบตัวของดิน

โดยเฉพาะภาคกลาง สิ่งที่ต้องทำ คือ 1.สร้างภูมิคุ้มกันให้คนในสังคม ประเมินความเสี่ยงเตรียมตัวได้ 2.สร้างระบบการช่วยเหลือ โดยประสานระบบต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาในเรื่องการประสานงานมาก 3.ต้องสร้างองค์ความรู้ในระบบเตือนภัยให้เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่น และ 4.รักษาการคมนาคมไว้ เพื่อการลำเลียงความช่วยเหลือ

"กิตติรัตน์"รับคุมสินค้าไม่อยู่ ปล่อยขึ้น!สะท้อนต้นทุน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง "การสร้างคนในองค์กรแห่งความสุขเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำในประคมเศรษฐกิจอาเซียน" ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่า ประเทศไทยอยู่ในโลกเศรษฐกิจเปิด จึงไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้เหมือนในอดีต และต้องยอมรับว่าหากรัฐบาลไม่แก้ไขเรื่องการตรึงราคาสินค้าบางรายการที่เคยกำหนดราคาไว้อย่างผิดธรรมชาติ สุดท้ายจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยได้ โดยเฉพาะเมื่อไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอย่างเซียน (เออีซี) อย่างเป็นทางการในปี 2558

โดยในเวลานี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการยินยอมให้สินค้าบางชนิดมีราคาที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น แต่จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดำเนินการไปด้วยก็คือ การหาทางให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับประสิทธิภาพการทำงานที่ต้องเพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ.2555 ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้ประชาชนมีรายจ่ายเพิ่ม ไม่สอดคล้องกับรายได้ที่ยังเพิ่มไม่สูงนัก รวมทั้งยังมีความกังวลต่อความผันผวนเศรษฐกิจโลกและภัยธรรมชาติ

"ยงยุทธ" ลั่นรบ.ปูไม่มีนโยบายตั้ง ปัตตานีมหานคร

วันที่ 7 มี.ค. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง ในคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) ที่มีนายประสพ บุษราคัม อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน เตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร เพื่อให้จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขึ้นใน 3 จังหวัด โดยให้ประชาชนเลือกผู้ว่าการนครโดยตรงว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยนั้น พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีนโยบายในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน และขณะนี้ก็ยังไม่มีการเสนอร่างดังกล่าวมาให่รัฐบาลพิจารณา อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ควรมีการแบ่งแยกพื้นที่ออกไปเป็นเขตปกครองพิเศษ แต่ควรจะพิจารณาเรื่องของการกระจายอำนาจการบริหารท้องถิ่นไปสู่ประชาชนให้มากขึ้นจะดีกว่า