ข่าว
ทักษิณ แจ้งความดำเนินคดี แกนนำม็อบแช่แข็งภาค 2

เวลา 11.00 น. วันที่ 8 ส.ค. นายวิญญัติ ชาติมนตรี ตัวแทนทนายความของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพ.ต.อ.ไชยา คงทรัพย์ ผกก.สน.ลุมพินี ให้ดำเนินคดีแกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณที่ไปยื่นหนังสือฉบับภาษาอังกฤษพาดพิงถึงอดีตนายกฯทักษิณ ต่อนางคริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดทั้งในตัวพ.ต.ท.ทักษิณ และประเทศชาติ

นายวิญญัติ ตัวแทนทนายความกล่าวว่า จากกรณีกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ ทำหนังสือที่มีข้อความภาษาอังกฤษจำนวน 4 หน้าต่อนางคริสตี้ ใจความที่ตนแปลมาแล้วนั้น พาดพิงไปยังอดีตนายกฯพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งจะทำให้อดีตนายกฯพ.ต.ท.ทักษิณ เสียหายและถูกเข้าใจผิด ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวยังทำให้ต่างชาติเข้าใจประเทศไทยผิดไป และอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติได้ ตนจึงมาแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีกับแกนนำกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบททักษิณ มีจำนวน 6 คน

ประกอบด้วยนาย 1.พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ อดีตแกนนำกลุ่มเครื่อคร่ายคนไทยหัวใจรักชาติรักษาแผ่นดิน 2. พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ ประทานองค์การพิทักษ์สยาม 3.พล.อ.ชูเกียรติ ตันสุวัจน์ 4.นายพล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี อดีตโฆษกองค์การพิทักษ์สยาม 5.นายพิเชษฐ พัฒนโชติ อดีตแกนนำพันธมิตรเพื่อประชาชนประชาธิปไตย รุ่น2 6.นายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำขบวนการอีสานกู้ชาติ

นายวิญญัติ ระบุว่า นายพิเชษฐ พัฒนโชติ นายไทกร พลสุวรรณ อยู่ในระหว่างประกันตัวชั่วคราว ในคดีบุกสนามสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 จากกรณีนี้ตนจะข้อคัดค้านการของปล่อยตัวชั่วคราวในคดีดังกล่าวต่อศาลอาญา

ด้านพ.ต.อ.ไชยา รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้ และจะดำเนินตามขั้นตอนเพื่อตรวจสอบว่าเอกสารดังกล่าวมีต้นตอมาจากที่ใด และใครเป็นคนเขียนขึ้นมา เพื่อดำเนิดคดีตามกฎหมายต่อไป

มติ 300 ต่อ 124 เสียง รับหลักการ'นิรโทษกรรม

วันที่ 8 ส.ค.ที่ รัฐสภา เวลา 15.00 น. การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย โดยมีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ประธานการประชุม ได้เปิดประชุมอีกครั้ง หลังพักการประชุมประมาณ 5 นาที โดยนายเจริญ ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า หลังจากนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ อภิปรายแล้วเสร็จ ก็ได้ขอโหวตปิดประชุมไปแล้ว จึงอยากให้มีการลงมติต่อทันที ซึ่งทำให้ฝ่ายค้าน รีบลุกขึ้น ขอใช้สิทธิ์ถูกพาดพิง 3 คน ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำวิปฝ่ายค้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี และนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กรณีที่ถูกเพื่อนสมาชิกรัฐบาลกล่าวหา ทำให้เสียหาย จนทำให้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า เมื่อมีการขอปิดอภิปรายแล้ว จะใช้สิทธิ์พาดพิงหรือกรณีอื่นใดไม่เคยเกิดขึ้น

ขณะที่ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เห็นว่า รัฐบาลได้ให้สิทธิ์ฝ่ายค้านในการอภิปรายจนถึงเวลา 18.00 น. แต่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย จึงขอให้ปิดการประชุมและลงมติทันที เช่นกัน ทั้งนี้ หลังเปิดประชุมเพียง 20 นาที ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องนี้ สุดท้ายนายเจริญ สั่งพักประชุมอีกครั้งเวลา 5 นาที เพื่อขอหารือเรื่องนี้

ต่อมาเวลา 15.05 น. นายเจริญเปิดประชุมอีกครั้ง และให้โอกาสฝ่ายค้านแสดงเหตุผล กรณีถูกพาดพิง โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มี 3 ประเด็นคือ 1. มีการระบุว่า ในปี 53 มีรัฐบาลอำมหิต สั่งทำร้ายประชาชน 2. การที่พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ไม่ต้องการรับอานิสงส์การนิรโทษกรรม โดยพวกท่านพูดว่า ถึงขอก็ไม่ให้ ซึ่งแสดงถึงเจตนาอย่างไร 3. ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ถูกข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุใด จึงไม่ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย โดยนายเจริญ อนุญาตให้ใช้สิทธิ์พาดพิงแค่ 2 กรณีแรกเท่านั้น เพราะกรณีที่ 3 ไม่ถือว่า ทำให้เสียหาย

ด้านนายศิริโชค อภิปรายว่า นายณัฐวุฒิ ได้พูดไม่เป็นความจริง เรื่องสั่งเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งตนมีคลิปชัดเจนว่า เป็นคำพูดสั่งเผาห้าง ที่บริเวณราชประสงค์ ไม่ใช่ที่เขาสอยดาว และได้ทำให้ตนเสียหาย เนื่องจากเป็นผู้เปิดเผยคลิปนี้เองมาโดยตลอด ทำให้ นายณัฐวุฒิ ลุกขึ้นอภิปรายข้อพาดพิงว่า ยืนยัน ไม่ได้พูดสั่งเผา ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งนายศิริโชค พยายามจงใจนำคลิปคำพูด 2 เหตุการณ์ มาซ้อนกันเพื่อใส่ร้ายด้วย

ขณะที่ นายสุเทพ อภิปรายว่า ตนถูกพาดพิง ใน 5 ประเด็น 1. กล่าวหาว่า ตนเป็นผู้มีอำนาจ เป็นรัฐบาลอำมหิต สั่งทหารฆ่าประชาชน 2. เป็นรัฐบาลแรกของโลก ที่เอาสไนเปอร์จัดการประชาชน 3. ตนและในฐานะอดีตรองนายกฯ พูดโดยไม่รับผิดชอบ ในการเอ่ยชื่อคนเผาห้าง 4. ประชาชนมาร่วมชุมนุมโดยมือเปล่า แต่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธจนประชาชนถูกฆ่า 5. ตนไม่เคยแสดงรับผิดชอบ และไม่เคยแสดงความเสียใจต่อประชาชน โดยขณะที่ นายสุเทพ ยืนยันว่า ในช่วงปี 53 รัฐบาลไม่ได้ใช้อาวุธสไนเปอร์ สั่งสลายการชุมนุมนั้น ซึ่งการชี้แจงของนายสุเทพ ทำให้ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หรือลูกสาว เสธ.แดง ลุกขึ้นขอใช้สิทธิ์อภิปรายพาดพิงทันที ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ และสายตาจิกไปที่ นายสุเทพ ด้วยคำพูดว่า “บอกซิคะ กรุณาพูดความจริง สิ่งที่บอกว่า ไม่มีสไนเปอร์ แล้วพ่อของตนถูกยิงเสียชีวิต ด้วยอาวุธอะไร ขอให้เอาความจริงมาพูดด้วย”

โดยนายสุเทพ ตอบว่า “เจ้าหน้าที่เองก็ยังไม่ทราบว่า ฝ่ายใดเป็นผู้ทำให้ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง เสียชีวิต และยังไม่เคยมีผลสอบสวนออกมา ตนจึงไม่ทราบจริงๆ ว่า ฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ อาจเป็นพวกคุณยิงกันเองก็เป็นได้” ทำให้ น.ส.ขัตติยา ลุกขึ้นอภิปรายต่อว่า ดิฉันบุตรสาว พล.ต.ขัตติยะ ที่พวกท่านน่าจะรู้จักดี ในฐานะ ผอ.ศอฉ. สิ่งที่ตนลุกขึ้นพูด เพราะถูกพาดพิง ไม่ได้ระบุว่า อยากทราบใครเป็นคนทำ แต่ใครทำ ตนก็มีคำตอบในใจอยู่แล้ว”

จากนั้นเวลา 16.30 น. นายเจริญ ได้ขอให้สมาชิกลงมติ ขอปิดการอภิปราย โดยผลออกมาว่า สมาชิกเห็นด้วยให้ปิดการอภิปรายด้วยคะแนน 300 ต่อ 125 งดออกเสียง 6 และให้ลงมติให้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยคะแนนเสียง 300 ต่อ 124 งดออกเสียง 14 ไม่ออกเสียง 2 จากจำนวน ส.ส.เข้าร่วมประชุม 439 ถือว่า ที่ประชุมมีมติรับหลักการ

จากนั้นก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน โดยมีสัดส่วนกรรมาธิการฯ พรรคเพื่อไทย 17 คน พรรคประชาธิปัตย์ 10 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล พรรคละ 1 คน และคณะรัฐมนตรี 3 คน โดยให้แปรญัตติภายใน 7 วัน

จากนั้นนายเจริญ ได้สั่งปิดการประชุมในทันที ในเวลา 16.50 น. ทั้งนี้ ภายหลังปิดประชุม นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความไม่พอใจ การสั่งปิดประชุมพร้อมกับลุกขึ้น ฉีกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมกับโปรยทันที

สัดส่วนคณะกรรมาธิการฯ จากพรรคต่างๆ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นายสามารถ แก้วมีชัย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ นายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานื นายสุนัย จุลพงศธร นายประยุทธ์ ศิริพานิช นายชวลิต วิชยสุทธิ นายพิชิต ชื่นบาน นายเชิดชัย ตันติสิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี นายสุทิน คลังแสง อดีต ส.ส.มหาสารคาม พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. และนายประสิทธิ์ ไชยวิรัตนะ อดีต ส.ส.ชัยภูมิ

สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย 1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม

ขณะที่สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้านสัดส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา ได้แก่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี สัดส่วนพรรคชาติพัฒนา ได้แก่ นายประสาท ตันประเสริฐ ส.ส.นครสวรรค์ สัดส่วนพรรคพลังชล ประกอบด้วย นายรณเทพ อนุวัฒน์ ส.ส.ชลบุรี และสัดส่วนคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายนิพนธ์ ฮะกีมี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมาการกฤษฎีกา นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ.

“ทักษิณ” ปลื้มนิรโทษกรรมวาระแรกฉลุย

วันที่ 9 ส.ค. ที่พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ติดตามการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วมีความรู้สึกดีใจที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาในวาระแรก และการพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้มีการประท้วงถ่วงเวลาของพรรคประชาธิปัตย์บ้าง และเชื่อว่าการผ่านวาระแรกจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ความปรองดองในอนาคต และการลงมติไม่ใช่การหักดิบ แต่รัฐบาลให้เวลามา 2 วัน ถ้าฝ่ายค้านไม่ตีรวนถ่วงเวลาจะมีการอภิปรายได้มากขึ้น เวลา 2 วันถือว่ายาวพอสมควร อย่างไรก็ตามสิ่งที่พรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความเป็นห่วงอยากขอพรรคประชาธิปัตย์เลิกคิดใช้ม็อบมาล้มกฎหมายฉบับนี้ในวาระสาม ขอให้ส่งตัวแทนไปร่วมพิจารณาในชั้นกรรมาธิการอย่างสร้างสรรค์ ไม่เป็นหนึ่งพรรค 2 ระบบ คือ ทั้งระบบรัฐสภาและม็อบบนถนน การใช้ม็อบล้มกฎหมายฉบับนี้ในวาระสาม จะนำไปสู่ความขัดแย้งแบบไม่สิ้นสุด

นายนพดล กล่าวว่า คาดว่าวันที่ 14-16 ส.ค. สภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จากนั้นยังมีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และที่มาของ ส.ว.ที่จะนำมาพิจารณาในสมัยประชุมนี้ ช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลจะเน้นวาระเร่งด่วน 4 เรื่องคือ 1.การสร้างความปรองดองในเรื่องสภาปฏิรูปและกฎหมายนิรโทษกรรม 2.การขับเคลื่อนระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท 3.ระบบการขนส่ง 2 ล้านล้านบาท และ 4.การผลักดันสร้างรายได้เข้าประเทศผ่านการท่องเที่ยว

นายนพดล กล่าวว่า ส่วนกรณี จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมชูรองเท้าระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั้น ผู้ใหญ่ในพรรคคงเรียกมาสอบถามข้อเท็จจริง เพราะเป็นเรื่องที่อาจกระทบความรู้สึกประชาชน อาจเป็นการกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่การเป็นบุคคลสาธารณะต้องระวังทั้งในและนอกสภา เพราะการกระทำของบุคคลหนึ่งบุคคลใด อาจกระทบกับภาพลักษณ์ของพรรคได้

นายนพดล ยังกล่าวถึงสภาปฏิรูปว่า พรรคเพื่อไทยอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์ทบทวนการปฏิเสธไม่ร่วมวงสภาปฏิรูปการเมือง อยากให้ส่งตัวแทนเข้ามาหารือเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ส่วนจะเชิญพ.ต.ท.ทักษิณมาร่วมวงหารือหรือไม่ อยู่ที่รัฐบาล ไม่สามารถบอกได้ว่าควรเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ จะเชิญหรือไม่เชิญก็ได้ เพราะมีตัวแทนของคนที่มีแนวคิดคล้าย ๆ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้แสดงความเห็นว่า อยากมาร่วมด้วยหรือไม่ สิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณอยากเห็นคือ เห็นกระบวนการสภาปฏิรูปการเมืองเดินหน้า.