ข่าว
โรงงานผลิต'หน้ากากอนามัย'ส่งขาย'สหรัฐ' พบคนงานติดโควิดกว่า 1,000 ราย

8 ตุลาคม 2563 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน โรงงานแบรนดิกซ์ในศรีลังกาตรวจพบแรงงานติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 1,000 ราย ส่งผลให้ยอดติดเชื้อในประเทศเพิ่มพรวดพราดเป็นเกือบ 4,500 คน เผยโรงงานแห่งนี้เพิ่งจัดส่งหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นให้ลูกค้าในสหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคม

จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายในโรงงานของแบรนดิกซ์ หนึ่งในผู้ส่งออกสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดของศรีลังกา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นกว่า 1,000 ราย หลังจากตรวจพบการติดเชื้อรายแรกเมื่อ 3 วันก่อน บริษัทสิ่งทอรายนี้อ้างว่า ความพยายามควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานใกล้กรุงโคลัมโบแห่งนี้มีอุปสรรคจากผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการที่มีจำนวนมาก

ดาธ ซามาราวีรา หัวหน้านักระบาดวิทยาของศรีลังกา เรียกร้องให้ชุมชนท้องถิ่นทั้งหลายให้ความร่วมมือกับทางการ ท่ามกลางความวิตกว่าไวรัสอาจแพร่กระจายไปไกลยิ่งขึ้น

ช่วงไม่นานก่อนหน้านี้ รัฐบาลศรีลังกากล่าวว่าไม่มีการแพร่เชื้อภายในชุมชนของประเทศเลย ศรีลังกามีประชากร 21 ล้านคน การติดเชื้อกลุ่มใหญ่ในโรงงานแห่งนี้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมของศรีลังกาเพิ่มเป็น 4,442 ราย เสียชีวิต 13 คน

โรงงานดังกล่าวมีลูกจ้าง 1,700 คน เจ้าหน้าที่กล่าวว่า พบว่ามีคนงาน 1,026 คนติดไวรัสและถูกส่งเข้าโรงพยาบาลแล้ว พนักงานที่เหลือ รวมถึงครอบครัวของแรงงานทุกคน อยู่ในกระบวนการเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์กักกันของรัฐ คาดว่าทั้งหมดจะถูกตรวจเชื้อไวรัสภายใน 1-2 วันข้างหน้า

ภูมิภาคที่ตั้งของโรงงานแห่งนี้ รวมถึงชุมชนใกล้เคียง ถูกล็อกดาวน์อย่างไม่มีกำหนดแล้ว ทางการสั่งห้ามการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม, โรงเรียนถูกปิดแม้เหลือเพียง 5 วันก็จะปิดภาคเรียน, การแข่งขันคริกเก็ตถูกยกเลิก และกองทัพเลื่อนงานฉลองครบรอบ 71 ปีการสถาปนากองทัพในวันเสาร์นี้

รายงานกล่าวว่า โรงงานของแบรนดิกซ์แห่งนี้เพิ่งส่งหน้ากากอนามัยแบบ 3 ชั้น จำนวน 200 ล้านชิ้น ให้แก่ลูกค้ารายหนึ่งในสหรัฐที่ไม่เปิดเผยเมื่อเดือนสิงหาคม

โรงงานนี้เป็นหนึ่งในโรงงานที่รับผลิตหน้ากากอนามัยตามออเดอร์ของลูกค้า โดยนับแต่เดือนสิงหาคม โรงงานเปลี่ยนไปผลิตชุดกีฬาแล้ว.

‘วิลาศ’แฉ2ไอ้โม่ง‘อ-ป.’คนนอกวิ่งเต้นประสานคนใน‘อคส.’ร่วมเขมือบแสนล้าน

8 ต.ค. 2563 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทุจริตในการจัดซื้อถึงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) มูลค่า 112,500 ล้านบาทว่า ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการเอื้อทุจริตโดยมีคนในองค์กรร่วมรู้เห็น โดยมีตัวละครเป็นคนนอกอีก2 คนคือ นาย อ. ซึ่งเป็นสื่อมวลชนเก่า ที่รู้จักกับผู้บริหาร อคส. และ นาย ป. อดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพม. เป็นคนวิ่งเต้นประสานงาน เหตุไม่ชอบมาพากลคือ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการณ์ผอ.อคส. ที่กล้าลงนามในสัญญาแค่3 หน้าครึ่ง โดยที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) ในวันที่ 31 ส.ค.63 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท โดยต้องจ่ายเงินล่วงหน้า 2,000 ล้านบาท เป็นค่ามัดจำในวันที่ 2 ก.ย. 2563 หลังลงนามในสัญญาสั่งผลิต ทั้งที่บริษัทการ์เดียน โกลฟ์ เพิ่งจดทะเบียนขอจัดตั้งได้ไม่ถึง 2 เดือน และไม่มีเครื่องจักรกล หรือกำลังการผลิตถุงมือยางแต่อย่างใด ที่น่าแปลกใจคือ ในสัญญาซื้อขายถุงมือยางระหว่าง อคส. กับบริษัทดังกล่าว กลับไม่มีการระบุถึงเงื่อนไข หรือการเรียกค่าเสียหาย หากมีการทำผิดสัญญาแต่อย่างใด แม้ทางบอร์ด อคส. ได้สั่งยกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่มีการเจรจากับบริษัทนี้เกี่ยวกับเงินที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้ว 2,000 ล้านบาท

“ขอตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้ ถ้าผู้บริหารอคส.ไม่รู้เห็น คงจะไม่สั่งถอนเงินหมุนเวียนภายในองค์กรที่มีอยู่ 3,230 ล้านบาท ออกไปจ่ายล่วงหน้าให้บริษัทนี้ถึง 2,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่า เงินจำนวนนี้อยู่ในมือใคร บัญชีใคร กี่คน รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดมาตลอดว่าเป็นรัฐบาลปราบทุจริต มีรัฐธรรมนูญปราบโกง. หรือแม้แต่ รมว.พาณิชย์ที่ดูแลกำกับ อคส.โดยตรง กลับไม่เคยพูดถึงการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยาง1.1 แสนล้านเศษ ที่รัฐต้องสูญเงินไปแล้ว 2,000 ล้านบาท ว่าจะเอาคนที่ร่วมทุจริตมาลงโทษตามกฎหมายให้เห็นเป็นตัวอย่าง บอกสื่อแบบปัดๆแค่ว่า ตั้งกรรมการสอบแล้ว แต่ผลความคืบหน้าเป็นอย่างไร ไม่เคยชี้แจง ถามว่ามีความจริงใจในการปราบโกง และใครต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ หรือจะปล่อยเป็นคลื่นกระทบฝั่งต่อไป ยืนยันว่าตนจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและจะกระชากหน้ากากคนโกงให้สังคมได้รับรู้” นายวิลาศ กล่าว


ยอมรื้อบ้านพัก'พัสสาพาฎา รีสอร์ต' 17 หลัง รุกอุทยานฯเขาแหลม-พร้อมฟื้นฟูทันที

วันที่ 8 ตุลาคม 2563 ความคืบหน้ากรณีนายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่3(บ้านโป่ง)นางคณิสรา เชฐบัณฑิตย์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม พร้อมด้วยนายสุภาพ งามทองเหลือง ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ติดป้ายประกาศคำเตือนให้ทายาทโดยธรรม หรือผู้จัดการมรดก ของนางสาวจารุภา เดชจินดา เจ้าของรีสอร์ท ชื่อ "พัสสาพาฎา รีสอร์ท" ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จำนวน 17 หลัง ที่สร้างบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จำนวน 2 ไร่ 3 งาน

ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปให้พ้นจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นแล้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จะนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการรื้อถอนรีสอร์ทดังกล่าวเสียเอง โดยเจ้าของจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนเป็นเงิน จำนวน 200,000 บาทให้กับกรมอุทยานฯ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำป้ายไปติดประกาศเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุด คณะเจ้าหน้าที่ข้างต้น ได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของรีสอร์ตดังกล่าวว่า เนื่องจากครบกำหนดเวลาประกาศคำสั่งให้รื้อถอนออกไปให้พ้นเขตอุทยานฯ ภายใน 7 วัน แล้ว

ทั้งนี้นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่3(บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ดำเนินคดีกับนายทุนผู้บุกรุกป่าอย่างเด็ดขาด เพื่อนำผืนป่าที่ถูกกลุ่มนายทุนทำลายจนเสื่อมสภาพกลับมาฟื้นฟูให้เป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม

ซึ่งคดีนี้ผู้บังคับบัญชา รวมทั้งประชาชน และสื่อมวลชน ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะจากการสืบสวนในเชิงลึกของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ พบผู้กระทำผิดที่อยู่เบื้องหลังเป็นอดีตข้าราชการทหารยศ ระดับ พล.ต.หญิง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถสาวไปถึงตัวได้ โดยนอมินีที่แสดงตัวเป็นเจ้าของ "พัสสาพาฎา รีสอร์ท" แทนอดีตนายทหารหญิงคนดังกล่าวนั้นคือนางสาวจารุภา เดชจินดารี แต่นางสาวจารุภา ได้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งผู้ที่ต้องดำเนินการรื้อถอนแทนก็คือทายาทโดยธรรม ของนางสาวจารุภา

ซึ่งก่อนหน้านี้ทายาทโดยธรรมของนางสาวจารุภา ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯทราบว่าพร้อมและยินยอมที่จะรื้อถอนอาคารบ้านพักของรีสอร์ตทั้ง 17 หลังมูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท เริ่มภายในวันที่ 8 ต.ค.ด้วยการนำรถแบคโฮ เข้ามารื้อถอนทำลาย จึงได้มีการนัดหมายกันเข้าพื้นที่ในวันนี้”นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สบอ.3(บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า จากศักยภาพการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างด้วยการนำรถแบคโฮ เข้ามาดำเนินการ คาดว่าจะใช้เวลาเพียงแค่ 3 วันก็คงจะแล้วเสร็จ โดยหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะนำพื้นที่ที่ถูกยึดคืนมาฟื้นฟูด้วยการนำกล้าไม้ชนิดต่างๆมาปลูกให้กลับมาเป็นผืนป่าดังเดิม โดยจะเปลี่ยนชื่อสถานที่จาก "พัสสาพาฎา รีสอร์ท"เป็นชื่อใหม่ว่า "สวนป่าธรรมชาติเขาแหลม" เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมั่นคงถาวรของผืนป่าในพื้นที่ดังกล่าวตลอดไป

การที่ผู้ประกอบการรีสอร์ตยินยอมดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างด้วยตนเองนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากเลยเวลาประกาศคำสั่งที่กำหนดให้รื้อถอน ผู้ประกอบการยังดื้อแพ่งไม่ยอมรื้อ ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จะต้องเข้าดำเนินการรื้อถอนรีสอร์ทดังกล่าวเสียเอง จากนั้นจะต้องเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีในข้อหา "ฝ่าฝืนประกาศคำสั่งรื้อถอนของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งมีโทษจำคุก 1-3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และจะต้องถูกปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาท จนกว่าจะดำเนินการรื้อถอนแล้วเสร็จอีกด้วย


อุตสาหกรรมร้านอาหาร‘นิวยอร์กซิตี้’30-50% จ่อปิดตัวถาวรปีหน้า

8 ตุลาคม 2563 สำนักข่าวซินหัวรายงาน รายงานจากทางการรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ ซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่าราวร้อยละ 30-50 ของอุตสาหกรรมร้านอาหารในนครนิวยอร์กซิตี จะปิดตัวถาวรในปี 2021 เนื่องด้วยผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่แพร่ระบาดหนักในประเทศ

รายงาน “อุตสาหกรรมร้านอาหารในนิวยอร์กซิตี : หนทางการฟื้นตัว” (The Restaurant Industry in New York City: Tracking the Recovery) ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานตรวจสอบการเงินและการบัญชีรัฐนิวยอร์ก และรับรองโดยราฮุล เจน ผู้อำนวยการสำนักงานฯ และโทมัส พี ดีนาโพลี รองผู้อำนวยการสำนักงานฯ ระบุว่าอัตราส่วนข้างต้นหมายถึงร้านอาหารและบาร์ 12,000 แห่งจะหายไปจากเมือง นำไปสู่การสูญเสียงาน 159,000 อัตรา

“ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 อุตสาหกรรมร้านอาหารได้รับผลกระทบหนักหน่วงจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19” รายงานระบุ “คำสั่งให้กิจการต่างๆ ปิดทำการ ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน และรักษาระยะห่างทางสังคม จุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยขั้นรุนแรง และข้อจำกัดการเดินทาง ล้วนสร้างความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์ต่ออุตสาหกรรมนี้”

“ผลลัพธ์คือร้านอาหารและบาร์จำนวนมากต้องปิดทำการหรือลดการดำเนินงานลงอย่างมาก เนื่องจากกิจการเหล่านี้มักได้กำไรไม่มากนักแม้ช่วงรุ่งเรือง ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าอาจมีร้านอาหารและบาร์จำนวนมากต้องปิดตัวถาวร หากไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินในอนาคตอันใกล้”

นิวยอร์กซิตีกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงเป็นประวัติการณ์ โดยการจ้างงานของร้านอาหารลดเหลือ 91,000 อัตราในเดือนเมษายน เนื่องจากมีการออกข้อจำกัดเข้มงวดที่ควบคุมการดำเนินธุรกิจ ก่อนตัวเลขการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 174,000 อัตราในเดือนสิงหาคม หลังจากมีการผ่อนปรนกฎระเบียบและอนุญาตการรับประทานอาหารกลางแจ้ง

รายงานระบุว่าตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ ร้านอาหารจำนวนมากริเริ่มดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อสร้างรายได้ โดยร้านอาหารบางแห่งเริ่มจำหน่ายอาหารแบบห่อกลับบ้านและบริการส่งอาหาร ส่วนบางแห่งผันตัวเป็นตลาดอาหารพิเศษ มุ่งจำหน่ายอาหารที่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าท้องถิ่นทั่วไป

ร้านอาหารบางแห่งจำหน่ายชุดทำอาหารด้วยตนเอง เช่น พิซซา ทาโก หรือเมนูอื่นที่ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากนัก ขณะที่บางแห่งผันตัวเป็นธนาคารอาหารภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากภายนอกที่ครอบคลุมต้นทุน

รายงานระบุว่า “อีกหนึ่งกลยุทธ์เกี่ยวพันกับใบอนุญาตรับประทานอาหารกลางแจ้ง” โดยเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2020 นครนิวยอร์กเริ่มดำเนินโครงการโอเพน สตรีทส์ (Open Streets) ซึ่งออกใบอนุญาตพิเศษสำหรับการรับประทานอาหารบนทางเท้าและท้องถนน

ช่วงปลายเดือนมิถุนายน นครนิวยอร์กขยายโครงการโอเพน สตรีทส์ ซึ่งปิดถนนหลายสายให้ร้านอาหารวางโต๊ะและเก้าอี้บริการลูกค้า โดยเพิ่มสถานที่และยืดระยะเวลาให้บริการในแต่ละวันตลอดฤดูร้อน

“ขณะที่โครงการโอเพน สตรีทส์ มีกำหนดสิ้นสุดในฤดูใบไม้ร่วง นายกเทศมนตรีวางแผนจะขยายระยะเวลาของโครงการนี้ให้ยาวหนึ่งปี รวมถึงผลักดันเป็นโครงการถาวรด้วย” รายงานระบุ

อนึ่ง รายงานฉบับนี้ยังเผยสถิติประจำปีล่าสุดที่ระบุว่าอุตสาหกรรมร้านอาหารของนครนิวยอร์กในปี 2019 เติบโตเป็นประวัติการณ์ด้วยจำนวนร้านอาหาร 23,650 แห่ง ตำแหน่งงาน 317,800 อัตรา การจ่ายค่าจ้างทั่วเมืองรวม 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.33 แสนล้านบาท) และยอดจำหน่ายที่ต้องเสียภาษีรวมเกือบ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.42 แสนล้านบาท)

'เกาหลีเหนือ'เตรียมจัดพิธีสวนสนาม ขน'ขีปนาวุธ-รถถัง'อวดแสนยานุภาพ

8 ตุลาคม 2563 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน เกาหลีเหนือเตรียมจัดพิธีสวนสนามเนื่องในวาระครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งพรรคแรงงานเกาหลี ในวันเสาร์นี้ บริเวณใจกลางกรุงเปียงยาง พร้อมจัดแสดงอาวุทยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย

ขณะที่เว็บไซต์ 38นอร์ท องค์กรสังเกตการณ์ของสหรัฐอ้างภาพถ่ายจากดาวเทียมว่า พิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นอย่างใหญ่โต ทหารเกาหลีเหนือหลายพันนายจะเข้าร่วมพิธีสวนสนามที่จัตุรัสคิม อิลซุง ซึ่งตั้งมาจากชื่อผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือ โดยจะมีนายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือร่วมชมพิธีด้วย จากนั้นจะเป็นการจัดแสดงขบวนรถหุ้มเกราะและรถถังขนาดใหญ่ และปิดท้ายด้วยขบวนขีปนาวุธต่าง ๆ ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ

การจัดพิธีสวนสนามครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางมาตรการเฝ้าระวังไวรัสดควิด-19 ที่เข้มงวด และมาตรการคว่ำบาตรรุนแรงจากนานาประเทศ