ข่าว
ยังไร้วี่แวว 'เรือดำน้ำ' อินโดนีเซีย กองทัพเผยมีออกซิเจนใช้ถึงแค่วันเสาร์

22 เมษายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน กองทัพอินโดนีเซีย แถลงว่า ยังไม่พบสัญญาณของเรือดำน้ำเคอาร์ไอ นังกาลา 402 พร้อมลูกเรือ 53 คนบนเรือที่สูญหายไปเมื่อช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 22 เม.ย. ขณะที่ออกซิเจนในเรือมีเพียงพอให้ใช้ถึงวันเสาร์นี้เท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขเรือจะต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์เท่านั้น ขณะที่ค้นหาก็ยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางสภาพอากาศท้องทะเลคลื่นลมสงบ

ด้าน ยูโด มาร์โกโน หัวหน้าคณะเสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า เรือดำน้ำลำนี้มีออกซิเจนสำหรับหายใจได้เพียงพอสำหรับลูกเรือใช้จนถึงวันเสาร์นี้ เวลาประมาณ 3.00 น. ซึ่งเวลาในการค้นหาก็เริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ เขาหวังว่าจะสามารถพบเรือก่อนถึงเวลานั้น พร้อมกับระบุว่า เรือน้ำผ่านการตรวจสอบแล้วและได้รับการรับรองจากกองทัพเรือว่าพร้อมสำหรับการใช้งาน

เรือดำน้ำอายุ 44 ปี สูญหายไปในระหว่างทำการทดสอบและฝึกซ้อมการยิงตอร์ปิโด ที่บริเวณทางเหนือของเกาะบาหลี เรือ เคอาร์ไอ นังกาลา-402 ขนาด 1,395 ตัน ต่อในเยอรมนีในปี 1977 และเข้าประจำการในกองทัพเรืออินโดนีเซียในปี 1981 เรือเข้ารับการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้นาน 2 ปี เมื่อปี 2012

ข่าวดีอีกแล้ว! 'หมอหนู'เจรจาจัดซื้อวัคซีน'ไฟเซอร์'จัดให้ 10 ล้านโดส

22 เมษายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข โพสต์ผ่านเฟชบุ๊กแจ้งความคืบหน้าในการจัดซื้อวัคซีน ว่า " วันนี้ พบผู้แทนบริษัทไฟเซอร์ เจรจาจัดซื้อวัคซีน ให้ประชาชน ผู้แทนบริษัทฯ แจ้งว่าพร้อมจัดหาวัคซีนให้ประเทศไทย จำนวน 10 ล้านโดส แต่ยังไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่ชัดได้

จึงขอให้บริษัทฯ รีบจัดทำกำหนดการส่งมอบโดยด่วน พร้อมทั้งราคา และเงื่อนไขต่างๆ โดยละเอียด เพื่อประกอบการพิจารณาจัดซื้อของกระทรวงสาธารณสุข

ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าพร้อมจะปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ ให้จัดซื้อได้เร็วขึ้น แม้จะยังไม่มาขึ้นทะเบียน ก็สามารถซื้อได้ด้วยการใช้กฎหมายพิเศษจัดซื้อวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเจรจาครั้งแรกกับผู้แทนบริษัทไฟเซอร์ เป็นไปด้วยดี และคาดว่าบริษัทจะจัดหาวัคซีน ให้ประเทศไทยได้โดยเร็ว"


'บอล เชิญยิ้ม'วอนหมอที่เคยรักษาผู้ว่าฯสมุทรสาคร มาช่วยรักษา'น้าค่อม'ด้วย

วันที่ 22 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "บอล เชิญยิ้ม" ศิลปินตลกชื่อดัง โพสต์คลิปวิดีโอ ความยาว 57 วินาที ลงเฟซบุ๊ก "บอล เชิญยิ้ม" ขณะที่เจ้าตัวยังรักษาอาการป่วยเนื่องจากติดเชื้อโควิด อยู่ในโรงพยาบาล

ซึ่งเจ้าตัวระบุว่า "กราบวิงวอนนะครับ ถ้าใครเห็นคลิปนี้ ขอฝากไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ หรือ ใครก็ได้ที่เคยช่วยเคสท่านผู้ว่าฯสมุทรสาคร ที่โควิดลงปอดแล้วหายได้ อยากให้พ่อค่อมหาย กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ฝากกันด้วยนะครับ สาธุ สาธุ สาธุ แพทย์คนไหนเก่งๆ ติดต่อมาหาน้องไอซ์ (ลูกสาว) หรือ แบงก์ (ลูกเขย) หรือติดต่อมาทางผม ฝากแชร์ไป ขอให้พ่อค่อมด้วยเถอะครับ สาธุ


'เลย'เด็ก 4 เดือนติดโควิด พบมีอาการชาหลังฉีดวัคซีนอีก 5 ราย

22 เมษายน 2564 ที่ห้องประชุมภูเรือ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดเลย นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมด้วย พญ.นภาพร สิงขรเขียว รองผอ.ฝ่ายการแพทย์ และนายอภิชาติ สะบู่แก้ว ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์โควิด – 19 ในพื้นที่จังหวัดเลย พบผู้ติดเชื้อโควิด- 19 เพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นเด็กชาย อายุ 4 เดือน ติดเชื้อจากยาย ไปขายลอตเตอรี่กรุงเทพฯ สถานการณ์ ในภาพรวมพบติดเชื้อในจังหวัดเลยในระลอกใหม่ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 64 ได้มีผู้ติดเชื้อรวมเป็น 24 ราย นอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 22 ราย รักษาหายแล้ว 2 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

นายอภิชาติ สะบู่แก้ว เผยว่า จังหวัดเลยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกหนึ่งราย อายุ 4 เดือน เพศชาย ภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอภูหลวง ตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 21 เมษายน 64 ผลการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จากประวัติพบมีการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคุณยาย ของผู้ป่วย ซึ่งได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านอำเภอภูหลวง ขณะนี้ผู้ป่วยซึ่งเป็นทารก ได้รับการรักษาพร้อมกับแม่ ที่โรงพยาบาลเลย

จากไทม์ไลน์คุณยาย พร้อมน้าสาวและน้าเขย ได้เดินทางไปขายลอตเตอรี่ที่กรุงเทพฯ หลังจากการลอตเตอรี่ก็กลับมาบ้าน แล้วได้สัมผัสกับผู้ป่วยซึ่งอยู่บ้านหลังเดียวกัน หลังจากนั้นคุณยายได้กลับไปขายลอตเตอรี่ที่กรุงเทพฯ พบมีอาการป่วย จึงได้เข้าตรวจโรงพยาบาลศิริราช ผลตรวจพบเชื้อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และได้ทำการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากที่ผู้ปกครองทราบว่า ยายป่วยได้ติดเชื้อโควิด 19 จึงได้พาผู้ป่วยมาตรวจเชื้อที่โรงพยาบาล ผลปรากฏว่า ลูกชายอายุ 4 เดือน ติดเชื้อโควิด-19

ด้าน พญ.นภาพร สิงขรเขียว กล่าวว่า จากเมื่อวานที่มีผู้ป่วยข้างเคียงที่คล้าย อัมพฤกษ์ 1 ราย แต่หลังจากคืนที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนเมื่อวาน รีเฟอร์เข้ามาจากที่โรงพยายบาลเลย ร่วม 5 ราย จาก รพ เชียงคาน และรพ เอราวัณ เข้ามาทำการรักษา โดยบอกว่า อาการนั้น เป็นอาการข้างเคียงขายอัมพฤกษ์หลังจากที่เราฉีดวัคซีนให้คนไข้ไปแล้ว ไม่ได้เป็นอัมพฤกษ์มีอาการชาเป็นเพียงมีอาการชาที่ใบหน้าและมีการชาที่มือทั้งหมดมี 5 รายในพื้นที่จังหวัดเลยส่งมาที่โรงพยาบาล ทุกรายส่งมาที่โรงพยาบาลเลยทุกคนได้รับการทำ Ct scan ปกติทุกคนซึ่งบางคนก็มีอาการชานาน ก็ให้นอนโรงพยาบาลอยู่สองราย

"แต่เมื่อเช้านี้มีการสอบถามไปอาการอาการนี้เหล่านี้ไป ก็หมดไปแล้ว และมีน้องที่มาจากโรงพยาบาลเชียงคานยังมีอาการเหลืออยู่นิดหน่อย หมอก็ให้ยาละลายลิมเลือดแต่หากถามว่ามันเกิดจาก วัคซีนหรือเปล่า รักษาหายไหม มาจากวัคซีนตัวนี้ไหมเรื่องนี้มันยังบอกไม่ได้ต้องติดตามตอนนี้จังหวัดเลยไม่มีอาการรุนแรง มีอาการอื่นๆนอกจากอาการชาที่หน้า ก็จะมีปวดมึนศีรษะวิงเวียนเล็กน้อยมีผื่นบ้างเล็กน้อย เป็นสิ่งที่พบได้ในการฉีดวัคซีนทุกตัวหากให้หมอพูดว่าฉีดวัคซีนดีกว่าหรือไม่ดี หมอแนะนำให้ฉีดวัคซีนดีกว่า"พญ.นภาพรกล่าว


5 นาทีรู้ผล! นักวิจัยญี่ปุ่นพัฒนา ‘วิธีตรวจโควิด-19’ แบบใหม่

22 เมษายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน สื่อท้องถิ่นรายงานว่าคณะนักวิจัยชาวญี่ปุ่นจากสถาบันวิจัยริเกน (Riken) มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) และอื่นๆ กล่าวว่าพวกเขาได้พัฒนาวิธีตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ทราบผลตรวจได้ภายใน 5 นาที

วิธีใหม่นี้ใช้การนำตัวอย่างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) มาวางบนจานแก้วแบบพิเศษที่ถูกสร้างโดยวิธีการขึ้นรูประดับไมโคร และมีรอยบุ๋ม 1 ล้านรอยต่อตารางเซนติเมตร ทำหน้าที่เป็นเสมือนห้องตรวจขนาดเล็ก โดยห้องตรวจจิ๋วแต่ละห้องจะบรรจุน้ำยาตรวจไว้ และจะผลิตแสงออกมาเมื่อตรวจพบว่าตัวอย่างสิ่งส่งตรวจมีอาร์เอ็นเอ (RNA) ของไวรัสฯ

เอ็นเอชเค (NHK) ผู้แพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะของญี่ปุ่นระบุว่าวิธีการตรวจดังกล่าวแตกต่างจากการตรวจแบบพีซีอาร์ (PCR) ตามมาตรฐาน เนื่องจากวิธีการตรวจแบบใหม่ที่รวดเร็วนี้ไม่จำเป็นต้องนำอาร์เอ็นเอของไวรัสฯ มาขยาย เพราะมันสามารถตรวจจับไวรัสที่มีจำนวนน้อยมากได้ในห้องตรวจขนาดเล็กดังกล่าว

คณะนักวิจัยกล่าวว่าการตรวจที่ใช้วิธีการและเทคโนโลยีใหม่นี้ แตกต่างจากการตรวจแบบพีซีอาร์มาตรฐานที่ต้องใช้เวลาตรวจ 1 ชั่วโมงหรือมากกว่า โดยสามารถทราบผลตรวจได้ภายใน 5 นาที

เอ็นเอ็ชเครายงานโดยอ้างคำกล่าวของริกิยะ วาตานาเบ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากสถาบันฯ ว่าวิธีการตรวจโรคโควิด-19 แบบใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการตรวจที่ยุ่งยาก พร้อมเสริมว่าเมื่อวิธีตรวจนี้สามารถผลิตใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะสามารถนำไปใช้เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในสถานพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยระบุว่า เป้าหมายของวิธีการตรวจดังกล่าวคือการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ให้ได้ภายในเวลา 2-3 ปี


มหา’ลัยในสหรัฐฯพบโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ หวั่นติดเชื้อนานขึ้น

22 เมษายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน สื่อท้องถิ่นสหรัฐฯ อ้างคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม (Texas A&M) รายงานการตรวจพบโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์บีวี-1 (BV-1) ในผู้ป่วยรายเดียว ซึ่งมีอาการป่วยเล็กน้อย

ผู้ป่วยเป็นนักศึกษาที่อาศัยอยู่นอกมหาวิทยาลัยฯ มีผลตรวจโรคเป็นบวกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มี.ค. และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ตัวนี้ อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อนานกว่าเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ตัวอื่นๆ โดยต่อมาผลตรวจโรคเป็นลบ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.

รายงานระบุว่าผู้ป่วยมีอาการป่วยเล็กน้อยคล้ายไข้หวัดในช่วงสัปดาห์แรกๆ โดยมีอาการเรื้อรังนานหลายสัปดาห์ก่อนจะหายขาดในวันที่ 2 เม.ย. คณะนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์บีวี-1 เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร และอาจ “มีพันธุกรรมที่น่าวิตกกังวล” ซึ่งอาจไม่ตอบสนองต่อแอนติบอดี

“เรายังไม่ทราบข้อมูลทั้งหมดของเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ตัวนี้ แต่มันมีลักษณะการกลายพันธุ์ที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ตัวอื่นๆ ที่แพร่ระบาดระหว่างประเทศ” เบน นอยมัน หัวหน้านักไวรัสวิทยาประจำสำนักวิจัยสุขภาพโลกของมหาวิทยาลัยฯ กล่าว

“เชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ตัวนี้มีเครื่องหมายทางพันธุกรรมหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โรคร้ายแรง และการต่อต้านแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ในระดับสูง” โดยคณะนักวิทยาศาสตร์จะตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ตัวนี้ต่อไป

ยาน'เพอร์เซเวียแรนซ์'ของนาซา สกัดออกซิเจนบนดาวอังคารได้แล้ว

22 เมษายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือนาซา ประสบความสำเร็จจากการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศบนดาวอังคารให้เป็นออกซิเจนบริสุทธิ์เพื่อใช้หายใจได้เป็นครั้งแรกจากภารกิจสำรวจดาวอังคาร

องค์การนาซาเผยว่า เพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) ยานตระเวนสำรวจหกล้อ สามารถสกัดออกซิเจนจากอากาศที่เบาบางบนดาวอังคารได้ หลังลงจอดบนดาวอังคารเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ โดยใช้เวลาเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคาร 7 เดือน นาซาได้เปิดใช้งานอุปกรณ์ทดสอบผลิตออกซิเจนบนดาวอังคาร หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ม็อกซี (MOXIE) เป็นครั้งแรก และสามารถผลิตออกซิเจนได้ 5 กรัม ซึ่งช่วยให้มนุษย์อวกาศหายใจได้ราว 10 นาที แม้ออกซิเจนที่ได้ในเบื้องต้นมีปริมาณค่อนข้างน้อย แต่นับเป็นความสำเร็จจากการทดลองสกัดทรัพยากรธรรมชาติบนดาวเคราะห์ดวงอื่นเพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์โดยตรง

ขณะที่ผู้อำนวยการฝ่ายสาธิตเทคโนโลยีของนาซาระบุว่า ม็อกซีไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์ผลิตออกซิเจนนอกโลกเครื่องแรก แต่ยังถือเป็นเทคโนโลยีแรกที่จะช่วยให้ภารกิจใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นประสบความสำเร็จในอนาคต ทั้งนี้ นาซาได้ออกแบบม็อกซีให้ผลิตออกซิเจนได้สูงสุดชั่วโมงละ 10 กรัม และนักวิทยาศาสตร์ยังวางแผนที่จะเพิ่มกำลังผลิตของอุปกรณ์ดังกล่าวให้มากขึ้นอย่างน้อย 9 เท่าในอีก 2 ปีข้างหน้าภายใต้เงื่อนไขและความเร็วที่แตกต่างกัน

การประกาศความสำเร็จขององค์การนาซาจากการผลิตออกซิเจนบนดาวอังคารมีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการปล่อยเฮลิคอปเตอร์บินดาวอังคารเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์