ข่าว
พระผู้ใหญ่อยุธยาขอสอบ พระสวดเพลงจังหวะแร็พ

กรณีมีคลิปวิดีโอพระสวดมนต์ทำนองลีลาเพลงร็อกและจังหวะแร็พ ในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั่วไปในโลกอินเตอร์เน็ต ความคืบหน้าวันที่ 8 มิ.ย.ที่วัดศาลาปูนวรวิหาร ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พระครูอนุกูลศาสนกิจ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดศาลาปูนวรวิหาร และเจ้าคณะอำเภอ ได้นิมนต์เจ้าอาวาสพระเลขานุการ และพระภิกษุในพื้นที่ประชุมปรึกษาเกี่ยวกับภาพพระสงฆ์สวดมนต์ในสื่อหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ลักษณะที่ไม่สำรวม

พระครูอนุกูลศาสนกิจ เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้มอบหมายให้เจ้าอาวาสทุกวัดในจังหวัดตรวจสอบดูว่า การสวดลักษณะนี้เป็นพระในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือไม่ แต่ไม่น่าจะใช่พระในพระนครศรีอยุธยา บทสวดมนต์บทนี้มีการสวดทั่วๆ ไป เช่นการทำบุญบ้านแต่การสวดจะต้องสวดในหลักไม่เน้นหรือกระแทกเสียง บทสวดนี้เป็นบทหนึ่งที่พระทุกวัดจะสวดกันเป็นประจำระหว่างการทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น หากตรวจสอบพบว่าเป็นพระอยุธยาจะเชิญมาสอบสวนและแนะนำถึงหลักวิธีการสวดให้ถูกต้องตามกฎระเบียบของมหาเถรสมาคม

รายงานว่า พระครูเกษม หรืออาจารย์แดง เจ้าอาวาส วัดป้อมรามัญ ต.สวนพริก จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า บทสวดมนต์ที่เป็นข่าวเป็นคาถาโพธิบาท ใช้ในการสวดเวลาทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และสวดให้ญาติโยมได้มีความสบายใจรวมทั้งประกอบการสวดบทสะเดาะเคราะห์ด้วย การสวดคาถาบทนี้ต้องสวดเนิบๆ ช้าทำนองช้าๆ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดการปีติ เป็นบทสวดที่อยู่ในหนังสือมนต์พิธี พระทุกวัดจะสวดช่วงในการทำวัตรเช้าวัตรเย็นอยู่เป็นประจำ วันนี้ญาติโยมมาที่วัด จึงนำบทสวดดังกล่าวมาสวดให้ญาติโยมฟัง ซึ่งญาติโยมฟังแล้วรู้สึกสบายใจ เมื่อเช้าได้ดูข่าวแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ที่มีพระบางรูปสวดแล้วกระแทกเสียงดังไปคล้ายเข้ากับทำนองจังหวะเพลง แร็พ ดูแล้วพระรูปนั้นยังหนุ่มต้องการเน้นเสียง แต่ภาพที่ออกมาแล้วไม่เหมาะสม

อสส.เมินไม่ส่งคำร้องให้ศาลรธน. ไม่พบเนื้อหาล้มล้างการปกครอง

อัยการสูงสุดไม่ส่งเรื่องแก้ไข รธน.ให้ศาล รธน. เพราะไม่พบเหตุตามคำร้อง และไม่ขอกล่าวล่วงคำวินิจฉัยขององค์กรอื่น...

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 7 มิ.ย.55 นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณียื่นศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ใช้เวลานาน 5 ชั่วโมง ว่า ตามที่บุคคลและคณะบุคคล รวม 6 ราย คือ นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ,นายบวร ยสินทร กับพวกกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน ,นายวรินทร์ เทียมจรัส , พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวก ,นายวิรัตน์ กัลยาศิริ กับพวก , และ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับพวกสมาชิกวุฒิสภา ได้มีหนังสือส่งเอกสารหลักฐานให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กรณีคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานรัฐสภา ได้ร่วมกันเสนอรับพิจารณา และลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช.... ซึ่งกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ

โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 นั้น คณะกรรมการฯ เห็นว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้อัยการสูงสุด เป็นผู้มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวแล้ว ก็ให้อำนาจอัยการสูงสุด ในการที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง และวินิจฉัยถึงการกระทำดังกล่าว ว่าเป็นการกระทำที่ต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ด้วย เพื่อมิให้อัยการสูงสุดใช้อำนาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือพรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง ขณะที่เมื่อพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา แล้วก็เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวด 15 เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย จึงไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 68 และจากการตรวจสอบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช.... ทั้งสามฉบับ ปรากฏว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/11 ทั้งสามฉบับ มีข้อความเหมือนกัน การจัดทำร่าง รธน.ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะกระทำมิได้ จึงเห็นได้ว่าการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้อง ไม่ได้มีเจตนา หรือต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับ ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกมาตรา 291 ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองหลายพรรค เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ตามมาตรา 291 จึงไม่มีเนื้อหาเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งหกข้อเท็จจริง ยังไม่พอฟังว่ามีพฤติการณ์ หรือการกระทำอันเป็นเหตุให้อัยการสูงสุด ต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำการ ตามความในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยอัยการไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัยองค์กรอื่น

สิ้นแล้ว!! "ศ.นพ.ประสพ รัตนากร" พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ 6 มิ.ย.

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 5 มิถุนายน ศ.นพ.ประสพ รัตนากร เสียชีวิตที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต ร่วมด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสพเข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม รวมอายุ 92 ปี โดยในเวลา 13.00 น. ได้เคลื่อนศพออกจากโรงพยาบาลรามาธิบดีไปยังวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ศาลา 7 และจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในเวลา 17.30 น. ของวันที่ 6 มิถุนายน 2555

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสพ รัตนากร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปริญญาโททางจิตเวชศาสตร์และประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาเพิ่มเติมด้านจิตวิทยา ประสาทวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศ ได้รับประกาศนียบัตรแพทย์เฉพาะทางประสาทวิทยาและจิตวิทยาเป็นคนแรกของประเทศ และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน โดยเป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้งโรงพยาบาลประสาททั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศ และเผยแพร่ความรู้ด้านจิตวิทยาสู่สาธารณชนด้วยรายการ "ใจเขาใจเรา" ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ต่อเนื่องกันมากว่า 50 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2493 จนถึงปัจจุบัน เป็นผู้ร่วมบุกเบิกก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และก่อตั้งสมาคมวิชาชีพทางสุขภาพจิต ประสาทวิทยา จิตเวชศาสตร์ และสังคมวิทยา เป็นผู้ริเริ่มงานด้านสุขภาพผู้สูงอายุและชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิวิจัยประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นอกจากนี้ ยังได้รับการยกย่องจากทั่วโลกในผลงานด้านสุขภาพจิต จิตวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย รวมทั้งได้รับการสดุดีจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็นนักสุขภาพจิตชุมชนในรอบ 50 ปีด้วย