ข่าว
"แม้ว" ระบุเสียดายรัฐบาลกำลังไปได้ดี กลับถูกม็อบขับไล่ วอนอย่าเผชิญหน้า

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้รับเชิญจากหนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศอินเดีย ในการประชุมลีดเดอร์ชิพซัมมิท 2012 โดยเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณไปพูดเป็นองค์ปาฐกคนแรกเมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกันนี้ที่ประเทศอินเดีย ในหัวข้อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศอินเดีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ โดยการประชุมมีผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางความคิดและธุรกิจประชุมด้วย ซึ่งสามารถรับชมได้ผ่านทางเว็บไซต์ fora.tv ทั้งนี้ งานดังกล่าวจะเป็นโอกาสของอาเซียนและไทย ในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน

นายนพดลกล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พท. ประเมินว่าพรรคไม่ควรประมาทว่าองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) จะมีคนมาชุมนุมพอสมควร ส่วนจะมียอดผู้ชุมนุมถึงแสนหรือล้านคนจะต้องดูในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ แนวทางของพรรคหากอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ไม่มีความวุ่นวายเป็นสิทธิรัฐธรรมนูญทำได้ อีกทั้งการชุมนุมน่าห่วงตรงที่มีการตั้งเป้าจะล้มรัฐบาลให้ได้ในหนึ่งวัน หรือการแช่แข็งประเทศถือว่าผิดพลาด ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่หน้าเดิมขาประจำ การแช่แข็งประเทศ 5 ปี จะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส เพราะประเทศไทยเดินทางมาไกล หลายประเทศจะไม่คบค้าประเทศไทย เฉพาะคิดก็ผิดแล้วที่แช่งแข็งประเทศไทย อยากเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเห็นแก่คนส่วนใหญ่ ปล่อยให้รัฐบาลให้อยู่ครบเทอมแล้วมาตัดสินใจอีกครั้ง

นายนพดลกล่าวว่า ยืนยันพรรคไม่มีวอร์รูมเป็นเรื่องรัฐบาลจะดำเนินการ โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้รับการมอบหมายให้ดูแลและเชื่อว่าจะไม่บานปลาย ถ้าม็อบไม่บานปลายก็จะเป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าวันนั้นเกิดมีการใช้ความรุนแรงยึดสถานที่ราชการ เพื่อมิให้ ส.ส.เข้าไปอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นผลร้ายต่อประชาธิปไตย ดังนั้น ผู้ชุมนุมจะทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอหรือเข้มแข็งอยู่ที่พฤติกรรมผู้ชุมนุม

"ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณคิดว่าการชุมนุมครั้งนี้ รัฐบาลโดยน้องสาวของท่านคงเตรียมความพร้อมอยู่ พ.ต.ท.ทักษิณเสียดายประเทศไทยกำลังไปได้ดีไม่น่าจะมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล ท่านบอกว่าถ้าชุมนุมสงบตามรัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหาเป็นสิทธิทำได้ แต่ไม่อยากให้พี่น้องคนไทยสร้างความรุนแรงสร้างเงื่อนไขการเผชิญหน้ากัน พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ฝากรัฐบาลดูแลอะไรเป็นพิเศษ เพราะ ร.ต.อ.เฉลิมรองนายกฯ ผบช.น. สมช.ในส่วนของการข่าวคงดูแลได้อยู่ และเราไม่ประสงค์ให้คนเสื้อแดงมาเผชิญหน้ากับ อพส." นายนพดลกล่าว

เผยคนไทยตื่นเต้น “โอบามา”เยือนไทย

สวนดุสิตโพลเผยคนไทยส่วนใหญ่ รู้สึกเป็นเกียรติ ตื่นเต้นดีใจ และภาคภูมิใจกับการเดินทางมาเยือนไทยของ โอบามา เชื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจดีขึ้น

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จากกรณีที่นายบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และยังถือเป็นการเยือนครั้งแรกหลังจากที่นายโอบามา ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและแสวงหาฐานข้อมูลด้านความคิดเห็นของประชาชน และจากผลสำรวจผู้ที่สนใจติดตามข่าวการมาเยือนไทยครั้งนี้ จำนวน 1,274 คน ระหว่างวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2555 สรุปผลดังนี้

เมื่อถามว่าคนไทยคิดอย่างไร? กับการมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก ของ “นายบารัค โอบามา” ผู้นำสหรัฐฯ 45.20% คิดว่ารู้สึกเป็นเกียรติ ตื่นเต้นดีใจและภาคภูมิใจที่ผู้นำสหรัฐฯ จะเดินทางมาเยือนไทย 26.55% คิดว่าเป็นการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสหรัฐฯและไทย 14.69% คิดว่าแสดงว่าประเทศไทยมีความปลอดภัยและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น 8.47% คิดว่าเป็นโอกาสดีที่ผู้นำสหรัฐฯและรัฐบาลไทยจะได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และ 5.09% คิดว่าการมาเยือนภูมิภาคเอเซียเป็นภารกิจสำคัญและเป็นข่าวที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ

ส่วนประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการมาเยือน ของ “ผู้นำสหรัฐฯ” ในครั้งนี้ 48.11% เห็นว่าชาวต่างชาติมีความมั่นใจในการลงทุน ช่วยกระตุ้นให้การค้า เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวดีขึ้น 23.78% เห็นว่าสหรัฐฯกับไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น /ความสัมพันธ์ทางการฑูต 16.76% เห็นว่าชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ได้เผยแพร่เอกลักษณ์และความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก 7.03% เห็นว่าบรรยากาศของประเทศในภาพรวมดีขึ้น หน่วยงานองค์กรต่างๆให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และ 4.32% เห็นว่าได้แนวคิดและมุมมองใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

สิ่งที่คนไทยอยากฝากบอก “นายบารัค โอบามา” ผู้นำสหรัฐฯ คือ 33.07% ระบุว่าขอให้เป็นผู้นำที่ดี ให้ความสำคัญกับทุกประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนา 25.20% ระบุว่าการให้ความสำคัญ ส่งเสริม สนับสนุนภูมิภาคอาเซียนให้มีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น 22.04% ระบุว่าขอให้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยต่อไป และอยากให้กลับมาเยือนประเทศไทยอีก 13.39% ระบุว่าไม่แทรกแซงการเมืองและความมั่นคงของต่างประเทศ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ และ 6.30% ระบุว่าเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ พัฒนาเศรษฐกิจโลกให้มั่นคงและดีขึ้น

"แจ๋ว"ร้องเพิ่มอีก4ข้อ นายจ้างชี้ทำจริงยาก

นางสมร พาสมบูรณ์ ประธานเครือข่ายสมาชิกคนทำงานบ้าน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ถึงประกาศกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน มีผลบังคับใช้แล้วภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยจะคุ้มครองแม่บ้าน 7 ข้อ ว่าเครือข่ายมีสมาชิกทั่วประเทศประมาณ 700 คน หลายคนดีใจกับการประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าว ขอขอบคุณรัฐบาลที่เดินหน้าให้การคุ้มครองแม่บ้าน (คนรับใช้) เพราะที่ผ่านมายังไม่มีรัฐบาลใดให้ความสำคัญ

นางสมรกล่าวว่า แม่บ้านยังมีข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป ได้แก่ 1.การเดินหน้าประกันสังคม ให้แม่บ้านเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งปัจจุบันแม่บ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเอง เพราะใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้เพียงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลตามภูมิลำเนาเท่านั้น 2.การรับรองเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ให้เหมือนกันลูกจ้างทั่วไป เพราะปัจจุบันแม่บ้านไม่มีเวลาการทำงานที่แน่นอน บางคนต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ต้องตื่นก่อนและต้องนอนหลังนายจ้าง 3.การคุ้มครองความปลอดภัยระหว่างการทำงาน จากอุบัติเหตุและภัยต่างๆ เพราะแม่บ้านบางคนไม่มีห้องพักส่วนตัว ต้องนอนในที่ที่อาจไม่ปลอดภัย และ 4.ขอให้รัฐบาลชี้ให้ชัดและรับรองว่า นายจ้างทุกคนจะปฏิบัติตามกฎกระทรวง เพราะแม่บ้านยังไม่เชื่อว่านายจ้างจะทำตาม

"วันที่ 9 ธันวาคมนี้ จะมีการจัดงานสมัชชาคนทำงานบ้าน เพื่อเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรง งาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือถึงข้อเรียกร้องที่แม่บ้านต้องการแต่รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการให้" นางสมรกล่าว

น.ส.อารยา มัธยาคม กล่าวว่า มีชาวพม่าทำงานที่บ้าน 1 คน ซึ่งไม่ค่อยรู้ข่าวสารอะไร โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายต่างๆ ในฐานะนายจ้างจะเป็นคนจัดการให้ทั้งหมด เรื่องวันหยุดต่างๆ โดยปกติจะอนุญาตให้แม่บ้านสามารถหยุดงานได้อยู่แล้ว สำหรับวันหยุดตามเทศกาลต่างๆ ก็จะพาไปเที่ยวกับครอบครัวด้วย จึงสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาได้แน่นอน แต่บางบ้านอาจจะบังคับใช้กฎหมายนี้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะคนไทยยังไม่ให้ความเท่าเทียมกับคนต่างด้าวนัก บางบ้านจะใช้งานตลอดเวลา และลูกจ้างที่เป็นคนต่างด้าวส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องกฎหมาย

นายธิมา ไหมแพง กล่าวว่า มีแม่บ้านชาวไทยทำงานบ้าน 1 คน แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว แต่ปกติแล้วแม่บ้านที่ทำงานบ้านสามารถลาหยุดวันไหนอย่างไรก็ได้ เพราะทำงานด้วยกันมานาน เหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

"การปรับกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองและให้สิทธิกับแม่บ้านเพิ่มมากขึ้นเป็นเรื่องดี แต่ต้องดูเงื่อนไขหลายๆ อย่างด้วย เรื่องให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์หรือลาพักร้อนเป็นเรื่องที่เหมาะสม ส่วนเรื่องการห้ามนายจ้าง จ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นคนรับใช้ ก็ขึ้นอยู่กับคนที่มาสมัครงานด้วย บางครั้งคนอายุน้อย เขาก็ต้องการรายได้ ขณะที่การปฏิบัติตามกฎหมายนั้น เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงๆ จะเกิดคำถามว่า ใครจะเป็นคนลงไปกำกับดูแลเรื่องนี้ได้ จะให้มาตรวจนับตามบ้านก็เป็นไปไม่ได้ หรือจะให้แรงงานที่ทำงานในบ้านออกมาเรียกร้องยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะอาจเกิดปัญหากับนายจ้าง ทุกคนยังอยากมีงานทำอยู่" นายธิมากล่าว