ข่าว
'ศรีลังกา'ยอมรับ'ข่าวกรอง'บกพร่อง! เหตุโจมตีครั้งใหญ่-ยอดดับพุ่ง 359 ราย

25 เม.ย.62 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นายรูวาน วิเจวาร์เดเน รมช.กระทรวงกลาโหมของศรีลังกา ได้แถลงถึงความคืบหน้าเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่โบสถ์คริสต์และโรงแรมหรู เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น เป็นอย่างน้อย 359 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 500 คน

วิเจวาร์เดเนยังได้ตอบข้อซักถามถึงประเด็นเรื่องความบกพร่องของหน่วยข่าวกรอง เขายอมรับว่า เกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ในการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง โดยสื่อท้องถิ่นหลายแห่งระบุตรงกันว่า หน่วยข่าวกรองของศรีลังกาได้รับข้อมูลแจ้งแนวโน้มการเกิดเหตุไม่ปกติจากหน่วยข่าวกรองอินเดียมาสักระยะ แต่ไม่มีการแจ้งเตือนให้หน่วยงานหรือบุคคลสำคัญทราบ อย่างไรก็ตาม วิเจวาร์เดเนยืนยันว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างสุดความสามารถ

ขณะที่ประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนา ประกาศเตรียมยกเครื่องหน่วยข่าวกรองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติครั้งใหญ่ พร้อมเรียกร้องให้มีการประชุมพรรคการเมือง อีกทั้งเขายังมีกำหนดหารือผู้นำศาสนาด้วย

ส่วนข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมือระเบิดฆ่าตัวตายนั้น พบว่ามี 9 คนหนึ่งในนั้นเป็นหญิง และคนร้าย 8 คน ถือสัญชาติศรีลังกา แทบทุกคนมาจากครอบครัวมีฐานะและจบการศึกษาจากต่างประเทศรวมถึงสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ซึ่งศรีลังกาได้ประสานงานไปยังทั้งสองประเทศให้ช่วยตรวจสอบภูมิหลังของคนร้ายแล้ว

จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าสามารถจับกุมตัวคนร้ายได้แล้ว 58 คน เป็นชาวศรีลังกาทั้งหมด ในเวลาเดียวกันมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่ทุกแห่งในประเทศยังอยู่ในระดับสูงสุดภายใต้คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่หน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด (อีโอดี) ได้ตรวจสอบค้นหาวัตถุต้องสงสัยและจัดการทำลายได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน

'พรรคเพื่อชาติ' หวั่น กกต.รับแรงกดดันไม่ไหวถอดใจชิงลาออกทำเลือกตั้งโมฆะ

25 เม.ย.62 นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงกรณี ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับเรื่องวินิจฉัยชี้ขาดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญขีรายชื่อ ตามที่ คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง(กกต.)ส่งให้วินิจฉัย ว่า ตนคิดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาค่อนข้างชัดเจน แปลออกมาง่ายๆเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า “นี่มันหน้าที่ กกต. จะมาถามศาลฯทำไม” ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่ตนคิด และสงสัยมาตั้งแต่ทราบว่า กกต.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทุกอย่างที่ กกต.ต้องทำ ถูกกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญไว้หมดแล้ว ก็แค่เพียงทำตามเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตีความใด ๆ อีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ กกต.ควรจะทราบตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้งแล้ว การประวิงเวลาเช่นนี้ ทำให้ประชาชนคิดได้ว่า กกต.ตั้งใจหาทางตีความกฎหมายเพื่อเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ในเมื่อ กกต.ที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง เป็นกรรมการไม่เข้าใจกติกา แล้วจะมาเป็นกรรมการได้อย่างไร แล้วประชาชนจะเชื่อใจ เชื่อถือการวินิจฉัย ตัดสินต่าง ๆ จาก กกต.ได้จริงหรือ เนื่องด้วยหลังจากนี้ หน้าที่ กกต.ยังไม่จบ นอกจากทำผลการเลือกตั้งให้ปรากฏแล้ว ยังต้องมีการรับรอง ส.ส. การแจกใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม หาก กกต.ไม่สามารถวินิจฉัยเรื่องหนึ่งได้ แล้วอีกเรื่องจะสามารถทำได้จริงหรือ ก็เป็นข้อสงสัยของประชาชน

นายรยุศด์ กล่าวอีกว่า ผ่านไปแล้วหนึ่งเดือนเต็มหลังจากวันเลือกตั้ง แต่เราก็ยังไม่เห็นความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ ไม่ชัดเจนแม้กระทั่งผลการเลือกตั้ง หรือกระทั่งวิธีนับคะแนน สะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของ กกต. ทำให้ตนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะซ้ำรอย การเลือกตั้งปี 2549และ2557 ที่เกิดการโมฆะ และทำให้ กกต.ต้องติดคุก หนึ่งเดือนที่ผ่านมา กกต.ก็ตกเป็นจำเลยสังคมมามากแล้ว แต่หลังจากนี้ ตนเกรงว่า กกต.จะยิ่งตกเป็นจำเลยสังคมหนักกว่าที่ผ่านมา หากยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเห็นถึงความสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม ได้ ขอแค่เพียง กกต.อดทนให้มาก อย่าถอดใจไปก่อน เพราะตนมีความกังวล และหวั่นใจว่า กกต. อาจชิงลาออกไปก่อนหากทนแรงกดดัน และรับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ไหว ส่งผลทำให้การเลือกตั้งไม่ครบองค์ประกอบ เพราะขาดผู้ที่มาจัดการเลือกตั้ง และอาจจะทำให้การเลือกตั้งเกิดปัญหากลายเป็นโมฆะได้ในที่สุด ซึ่งกรณีนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้


'แบบฟอร์ม'ทำพิษ! ‘ธีระชัย’ชี้ต้นเหตุทำให้ว่าที่ส.ส.จ่อตกม้าตายกันระนาว

25 เม.ย. 62 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยระบุว่า "เหตุที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากหลายพรรคการเมือง ขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะปรากฏว่า เป็นเจ้าของหรือมีหุ้นในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน พบปัญหามาจากการใช้แบบฟอร์มการจดทะเบียนบริษัทแบบสำเร็จรูป ซึ่งผู้ประกอบการมักระบุวัตถุประสงค์การตั้งบริษัทอย่างกว้างขวางไว้ก่อนเพื่อความสะดวกในการปรับเปลี่ยนธุรกิจในอนาคต ดังนี้

ผมขอยกรูปนี้มาจากเพจของอนุวรรตน์ ภูมิมาศ..กรณีที่หนึ่งและสอง เป็นบริษัทที่เคยทำธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวิทยุกระจายเสียง ถ้าจะพิสูจน์ว่า เลิกไปแล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องภายในบริษัท ก็จะหาหลักฐานที่เป็นข้อยุติจนสิ้นสงสัยได้ยาก แต่ที่ผมติดใจคือกรณีที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่ใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูป ที่มีวัตถุประสงค์แบบครอบจักรวาล รวมไปถึงการทำธุรกิจวิทยุกระจายเสียงด้วย แต่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง

เพราะการจดทะเบียนแบบนี้ทำกันแพร่หลาย แม้จะทำร้านอาหาร โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ก็จะนิยมใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูป เพราะปลอดภัยดี ถ้าเกิดวันหนึ่งในอนาคต ธุรกิจจะเปลี่ยนไปใกล้เคียงหรือตีความได้ว่าเข้าข่ายนี้ ก็จะไม่มีปัญหาว่าบริษัทดำเนินการเกินขอบเขตวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนไว้...ผมได้ข้อมูลว่า ขณะนี้ได้มีการร้องเรียนอ้างเหตุนี้เพิ่มเติมอีกจำนวนมาก กระจายหลายพรรค”


ที่แท้โดนซ้อมตาย! ออกหมายจับผู้ต้องหารุมทำร้ายหนุ่มเมาแล้วขับดับคาคุกศรีสะเกษ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ติดตามความคืบหน้าหนุ่มถูกกักขังแทนค่าปรับเสียชีวิต ขณะที่ผู้บังคับการตำรวจรุดเข้าแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย

25 เม.ย. 62 เวลา 09.00 น. ที่เรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เดินทางมาตรวจติดตามความคืบหน้าคดีที่นายพรหมปัญญา เกษหอม อายุ 40 ปี ผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับคดีเมาขับถูกกักขังอยู่ที่สถานกักขังจังหวัดศรีสะเกษ เกิดเจ็บป่วยถูกเจ้าหน้าที่นำส่งโรงพยาบาลศรีสะเกษ แล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา และผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ ได้แจ้งกับทางญาติและสื่อมวลชนว่า นายพรหมปัญญาได้ลื่นล้มในห้องน้ำเมื่อห้าทุ่มคืนวันที่ 17 เมษายน 2562 ต่อมาเวลาตีห้าของวันที่ 18 เม.ย. 62 นายพรหมปัญญาเกิดอาการช็อกมือสั่นตัวสั่น หายใจแผ่วเบา เจ้าหน้าที่สถานกักขังจึงได้ประสานรถกู้ชีพโรงพยาบาลศรีสะเกษมารับตัวไปรักษาพยาบาลและเสียชีวิตเมื่อเวลา 11.00 น.วันเดียวกัน

ขณะที่เวลาเดียวกันนี้ พล.ต.ต. สุรเดช เด่นธรรม ผบก.ภ.จ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อแจ้งข้อกล่าวแก่ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดศรีสะเกษ คือนายสามารถ มีคุณ ซึ่งเป็นผู้ต้องกักขังที่อยู่ระหว่างรอผลการตรวจพิสูจน์ โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า “ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่เรือนจำได้นำผู้ต้องกักขังอีกหนึ่งคน ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยที่จะร่วมกันก่อเหตุทำร้ายร่างกายนายพรหมปัญญาจนเสียชีวิตมาให้ตำรวจสอบปากคำด้วย

พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมทางพนักงานสอบสวนของ สภ.เมืองศรีสะเกษ นำโดย พ.ต.อ.เสรี ภูษาชีวะ ผกก.สภ.เมืองศรีสะเกษ โดยการบัญชาการของ พล.ต.ต. สุรเดช เด่นธรรม ผบก.ภ.จ.ศรีสะเกษ ทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งสืบสวนติดตามคลี่คลายคดีนี้จนกระทั่งหาตัวผู้กระทำความผิดมาได้แล้ว ซึ่งเป็นเพื่อนผู้ร่วมอยู่ในห้องควบคุมเดียวกัน ตอนนี้ มีพยานหลักฐาน พยานบุคคลยืนยันได้ชัดเจนมีเพียงหนึ่งคน แต่คาดว่าน่าจะมีผู้ร่วมก่อเหตุมากกว่าหนึ่งคนซึ่งพนักงานสอบสวนจะได้สืบสวนขยายผลหาผู้ร่วมกระทำความผิดต่อไป

ด้านพล.ต.ต.สุรเดช เด่นธรรม ผบก.ภ.จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การตายของนายพรหมปัญญา เป็นการตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พนักงานสอบสวน ได้ร่วมกับพนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง แพทย์โรงพยาบาลศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และญาติของผู้ตายชันสูตรพลิกศพผู้ตายไว้แล้ว และได้แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคลี่คลายคดี จนกระทั่งรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติออกหมายจับ ผู้ต้องหาที่ร่วมกระทำความผิด 1 คนคือนายสามารถ มีคุณ วันนี้จึงได้มาแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายสามารถ แต่ในเบื้องต้นนายสามารถได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่พนักงานสอบสวนมั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอยู่ว่าจะสามารถส่งฟ้องต่อศาลได้

ขณะที่ นายสุทิน ไชยวัฒน์ ยุติธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำเจ้าหน้าที่เดินทางมาเพื่อรับเรื่องขอรับสิทธิผู้เสียหาย จากสำนักงานยุติธรรมจังหวัดของนางสุรินทร์ เกษหอม มารดาของนายพรหมปัญญา ผู้เสียชีวิต เพื่อนำเรื่องขอรับสิทธิ์ส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณาในการจ่ายเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียหายในคดีอาญาที่ตนไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ตาม พรบ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 กรณีเสียชีวิตจะได้รับค่าตอบแทนรายละหนึ่งแสนบาท


เสรีภาพ'สื่อเมียนมา'มืดมน! หลังศาลไม่ให้อุทธรณ์ คุก'2นักข่าว'แฉกองทัพสังหารโรฮิงญา

24 เม.ย.62 องค์การนิรโทษกรรมสากล “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” (Amnesty International) ออกแถลงการณ์กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาเมียนมาปฏิเสธคำอุทธรณ์ของนายวา โลน (Wa Lone) และนายจอ โซอู (Kyaw Soe Oo) 2 ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งถูกลงโทษจำคุก 7 ปี ฐานเปิดเผยความลับของทางราชการ หลังเผยแพร่หลักฐานที่กองทัพเมียนมาสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา ณ รัฐยะไข่ ทางภาคเหนือของประเทศ ถือเป็นการปฏิเสธความยุติธรรมที่น่าเศร้าใจ และเสรีภาพสื่อมวลชนในเมียนมายังมืดมนต่อไป

นิโคลัส เบเคลัง (Nicholas Bequelin) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ความเห็นว่า คดีนี้แสดงให้เห็นทางการมีเจตนาที่จะกำราบไม่ให้มีการรายงานข่าวอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการปฏิบัติที่โหดร้ายของกองทัพในรัฐยะไข่ แม้จะส่งผลให้เกิดความอัปยศต่อระบบยุติธรรมในประเทศก็ตาม ทั้งนี้จากที่ทั้ง 2 รายงานข่าวดังกล่าว ส่งผลให้มีทหารเมียนมา 7 นาย ถูกลงโทษจำคุกเช่นกัน

“คดีของวา โลนและจอ โซอู ไม่ใช่เป็นเพียงคดีเดียวที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นคนจำนวนมากถูกจับกุมในข้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2563 ประชาคมโลกต้องกดดันรัฐบาลเมียนมามากขึ้น ให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิดโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายเผด็จการที่ถูกใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก” นิโคลัส กล่าว

สำหรับ 2 ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์นั้น ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ประกาศมอบรางวัลเสรีภาพสื่อมวลชนประจำปีให้แก่นักข่าวชาวเมียนมาสองคนของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ถูกคุมขังตั้งแต่เดือน ธ.ค.60 เพราะรายงานข่าวเรื่องการสังหารหมู่ในรัฐยะไข่ โดยการมอบรางวัลจะมีขึ้นที่ประเทศเอธิโอเปีย ในวันที่ 2 พ.ค.62 ก่อนวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกที่ตรงกับวันที่ 3 พ.ค.ของทุกปี

โหดตัวพ่อ! 'ซาอุฯ'ตัดคอนักโทษก่อการร้าย 37 ชีวิต ตรึงไม้กางเขนหลังประหาร

24 เม.ย.62 สำนักข่างต่างประเทศรายงาน ซาอุดีอาระเบียได้ทำการประหารชีวิตพลเมือง 37 คน จากเรือนจำในเมืองเมกกะ เมืองเมดินา จังหวัดกัซซิมที่อยู่ทางตอนกลาง และจังหวัดอีสเทิร์นที่อยู่ทางตะวันออกของประเทศ ในความผิดฐานก่อการร้าย

รายงานระบุด้วยว่ามีนักโทษอยู่คนหนึ่งถูกตรึงบนไม้กางเขนหลังการประหาร เป็นบทลงโทษซึ่งสงวนไว้สำหรับอาชญากรรมร้ายแรงโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ระบุว่านักโทษเหล่านั้นถูกประหารด้วยวิธีใด แต่ในประเทศอนุรักษนิยมสุดขั้วนี้โดยปกติแล้วมักเป็นการลงทัณฑ์ด้วยการตัดคอ

ทั้งนี้ จากข้อมูลอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวเอสพีเอ ระบุว่ามีนักโทษอย่างน้อย 100 รายถูกประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบีย นับตั้งแต่เริ่มต้นปีเป็นต้นมา