ข่าว
งานศึกษาเผย อากาศร้อนจัดต่อเนื่อง 2 ปี ทำธารน้ำแข็งสวิสหายไป 10%

รายงานฉบับใหม่แสดงให้เห็นว่า อากาศร้อนจัดที่เกิดขึ้น 2 ปีติดต่อกันในเทือกเขาแอลป์ ทำลายปริมาณธารน้ำแข็งของสวิตเซอร์แลนด์มากถึง 10% ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณน้ำแข็งที่ละลายในช่วง 3 ทศวรรษก่อนปี 2533

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ว่า ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คณะกรรมาธิการหิมะภาค

(ซีซี) ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ เผยให้เห็นถึงธารน้ำแข็งที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และเตือนว่า สถานการณ์ข้างต้นจะเลวร้ายกว่าเดิม

ทั้งนี้ ธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอลป์ละลายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2565 โดยปริมาณน้ำ แข็งหายไปถึง 6% ขณะที่รายงานของซีซี แสดงให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งไม่ฟื้นตัวมากนักในปีนี้ และสวิตเซอร์ แลนด์สูญเสียปริมาณน้ำแข็งเพิ่มอีก 4% นับเป็นการลดลงครั้งใหญ่อันดับสอง นับตั้งแต่มีการเริ่มการตรวจวัด

“ธารน้ำแข็งทั้งหมดละลายไปมาก” นายแมตเธียส ฮัสส์ หัวหน้าหน่วยงานติดตามธารน้ำแข็ง ในสวิตเซอร์แลนด์ (กลามอส) กล่าว “แต่สำหรับธารน้ำแข็งขนาดเล็ก การละลายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ และกำลังจะหายไปแล้ว” อนึ่ง การสูญเสียธารน้ำแข็งปริมาณมากในสวิตเซอร์แลนด์นั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับฤดูหนาวที่มี ปริมาณหิมะต่ำมาก รวมถึงอุณหภูมิในฤดูร้อนที่สูงขึ้น

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเตือนว่า ธารน้ำแข็งสวิตเซอร์แลนด์อาจหายไปทั้งหมดภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากไม่มีการดำเนินการเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งฮัสส์ เน้นย้ำถึงความจำเป็น ในการรักษาเสถียร ภาพของสภาพอากาศ โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ฮัสส์ยอมรับว่า แม้โลกจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส ฉบับปี 2558 ซึ่งจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่สวิตเซอร์แลนด์จะรักษาปริมาณธารน้ำแข็ง ได้เพียงประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น

เครดิตภาพ : AFP

ทีมวิจัยพบองค์ประกอบปริศนาการเกิดเพชรสีชมพู

เพชรสีชมพูกว่า 90% เคยพบในเหมืองอาร์ไกล์ในรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ที่เพิ่งปิดตัวลง อาร์ไกล์ต่างจากเหมืองเพชรอื่นๆ เพราะไม่ได้ตั้งอยู่กลางทวีปแต่ตั้งอยู่ขอบทวีป การผลิตเพชรสีชมพูจำนวนมากจึงเป็นสิ่งปริศนา แม้ว่า 2 ใน 3 ขององค์ประกอบที่ส่งผลต่อการขึ้นรูปเพชรสีชมพูจะรู้กันดี ส่วนแรกคือคาร์บอนที่ต้องอยู่ในพื้นที่ใต้ระดับผิวดินลงไป ส่วนที่ 2 คือแรงดันในปริมาณที่เหมาะสม โดยดันเพียงเล็กน้อยก็จะเปลี่ยนเพชรใสเป็นสีชมพู แต่ส่วนที่ 3 นี่แหละที่นักวิทยาศาสตร์ยังตามหา

ล่าสุดทีมวิจัยนำโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในออสเตรเลีย เผยพบส่วนที่ 3 ของการก่อเกิดเพชรสีชมพูที่มีราคาแพงที่สุดในโลกและหายาก หลังศึกษาเหมืองอาร์ไกล์ โดยระบุว่าส่วนที่ขาดหายก็คือเหตุการณ์ภูเขาไฟที่ทำให้เพชรพุ่งขึ้นสู่พื้นผิวโลก ทีมได้ใช้เลเซอร์สำรวจผลึกเล็กๆ ในตัวอย่างหินจากเหมืองอาร์ไกล์เพื่อวัดอายุขององค์ประกอบในผลึก พบว่าเหมืองนี้มีอายุ 1,300 ล้านปี ชี้ให้เห็นว่าเพชรมาช้ากว่าที่คิดไว้ 100 ล้านปี เพราะในทศวรรษ 1980 ประเมินว่าเพชรเหมืองอาร์ไกล์เกิดขึ้นเมื่อ 1,200 ล้านปีก่อน แต่ไม่มีตัวชักนำให้เพชรหายากเกิดขึ้นในเวลานั้น

การวิจัยสอดคล้องกับช่วงที่แผ่นดินทั่วโลกเชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียวเรียกว่ามหาทวีปนูนา (Nuna) หรือโคลัมเบีย (Columbia) ในนูนา-ทวีปทุกแห่งบนโลกถูกบีบอัดเข้าด้วยกัน แรงดันมหาศาลได้บิดสีให้เกิดเพชร โดยเกิดขึ้นช่วงการบีบอัดของแผ่นดินออสเตรเลียทางตะวันตกและตอนเหนือเมื่อ 1,800 ล้านปีก่อน เมื่อนูนาเริ่มแยกกันในอีก 500 ล้านปีต่อมาเหตุการณ์เก่าก็รุนแรงอีกครั้ง ซึ่งในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา คนมักมองหาเพชรที่ใจกลางทวีป ดังนั้นการรู้ถึงส่วนที่หายไปของเพชรสีชมพูจะช่วยค้นหาเพชรชนิดนี้ในอนาคต เช่นตามแนวภูเขาเก่าใกล้ขอบทวีปต่างๆ ที่มีร่องรอยการล่มสลายของนูนา โดยพื้นที่ที่เป็นไปได้ก็ เช่น ในแคนาดา รัสเซีย แอฟริกาตอนใต้ และออสเตรเลีย


ภัยร้ายล่องหน ! ทีมวิจัยญี่ปุ่นพบ 'ไมโครพลาสติก'อยู่ในก้อนเมฆ เชื่อสิ่งมีชีวิตกิน-สูดดมอย่างไม่รู้ตัว

29 กันยายน 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักวิจัยญี่ปุ่น เปิดเผยผลการวิจัยฉบับใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Chemistry Letters ว่า พบไมโครพลาสติกอยู่ในก้อนเมฆ ซึ่งพวกเขาคาดว่า มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ โดยทางทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ปีนภูเขาไฟฟูจิและภูเขาโอยามะ เพื่อรวบรวมน้ำจากเมฆที่ปกคลุมยอดเขา

จากนั้นจึงใช้เทคนิคการถ่ายภาพขั้นสูงกับตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี โดยทีมวิจัยพบว่า ในน้ำจากเมฆ 1 ลิตร จะมีไมโครพลาสติกประมาณ 6.7-13.9 ชิ้น มีขนาดตั้งแต่ 7.1-94.6 ไมโครเมตร ในบรรดาไมโครพลาสติกที่พบนั้น เป็นพอลิเมอร์ 9 ชนิดและยาง 1 ชนิด

โอโคจิ ฮิโรชิ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า หากปัญหามลพิษพลาสติกในอากาศไม่ได้รับการแก้ไขในเชิงรุก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงทางนิเวศวิทยาก็อาจกลายเป็นความจริง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงและแก้ไขไม่ได้ในอนาคต

“เมื่อไมโครพลาสติกขึ้นไปถึงบรรยากาศชั้นบนและสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด ไมโคร พลาสติกจะสลายตัวและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก กลไกการกระจายไมโครพลาสติกไปยังสถานที่ต่างๆ ผ่านทางอากาศเป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน และการวิจัยเกี่ยวกับการกระจายไมโครพลาสติกทางอากาศยังมีจำกัด เท่าที่ทราบนี่เป็นรายงานฉบับแรกเกี่ยวกับไมโครพลาสติกที่ลอยอยู่ในอากาศในน้ำจากเมฆ” โอโคจิ กล่าว

มหาวิทยาลัยวาเซดะ แถลงการณ์ว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า มนุษย์และสัตว์ต่างๆ อาจกินหรือสูดดมไมโครพลาสติกโดยไม่รู้ตัว นำไปสู่การตรวจพบในร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ เลือด รก และอุจจาระ เศษพลาสติกจำนวนสิบล้านตันจบลงในมหาสมุทร และหาทางขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเมื่อน้ำระเหย นี่หมายความว่า ไมโครพลาส ติกอาจกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมฆ ปนเปื้อนเกือบทุกอย่างที่เรากินและดื่มผ่าน “สายฝนพลาสติก”


ไข้หวัดนกระบาด! 'แมวน้ำ-สิงโตทะเล'อุรุกวัยตายกว่า 400 ตัว

29 ก.ย.66 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อุรุกวัยแจ้งว่า พบซากแมวน้ำและสิงโตทะเลประ มาณ 400 ซากบนชายหาดและริมแม่น้ำในช่วงไม่กี่สัปดาห์ สันนิษฐานว่าเกิดจากการติดโรคไข้หวัดนก

เจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมอุรุกวัยเผยว่า กระทรวงต่างๆ กำลังติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากพบสิงโตทะเลติดโรคไข้หวัดนกเอช 5 (H5) ตัวแรกบนชายหาดในกรุงมอนเตวิเดโอ บริเวณริเวอร์เพลต (River Plate) ซึ่งเป็นชะวากทะเลที่เกิดจากแม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกันแล้วไหลออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก เจ้าหน้าที่ได้ฝังซากไปแล้ว 350 ซากเพื่อหยุดยั้งเชื้อไวรัสแพร่ระบาด โดยสันนิษฐานว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ยอมรับว่า โรคนี้ไม่สามารถควบคุมได้ ทำได้เพียงรอให้สัตว์มีภูมิคุ้มกัน แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และขอให้ผู้ไปเที่ยวชายหาดหลีกเลี่ยงการสัมผัสซากสัตว์ เพราะถึงแม้การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนเกิดขึ้นยากแต่ก็เกิดขึ้นได้

อุรุกวัยเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ มีแมวน้ำและสิงโตทะเลประมาณ 315,000 ตัว

ทางการอุรุกวัยเปิดเผยเมื่อวันที่ 28 กันยายนว่า พบแมวน้ำและสิงโตทะเลขึ้นมาตายตามแนวชายฝั่ง ของประเทศเมื่อเร็วๆ นี้รวมกันแล้วราว 400 ตัว คาดว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนก

ขณะนี้หลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องของอุรุกวัยกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหลังจากตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5 ในสิงโตทะเลตัวหนึ่งเป็นครั้งแรกบนชายหาดของกรุงมอนเตวิเดโอ ซึ่งมีแม่น้ำเพลตไหลผ่าน ลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เสียชีวิตเหล่านี้พบบนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและริมแม่น้ำ ซึ่งถึงตอนนี้ได้มีการฝังซากสิงโตทะเลและแมวน้ำที่พบตายบนหาดไปแล้ว 350 ตัว

คาร์เมน เลซาโกเยน หัวหน้ากรมสัตว์ประจำถิ่น กระทรวงสิ่งแวดล้อมของอุรุกวัย กล่าวว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่มีพัฒนาการอยู่ในขณะนี้และเราเชื่อมาจากเชื้อไข้หวักที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ และว่า เราต้องรอจนกว่าสัตว์เหล่านั้นจะมีภูมิคุ้มกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ทั้งนี้อุรุกวัย เป็นถิ่นอาศัยที่มีสิงโตทะเลและแมวน้ำอยู่ประมาณ 315,000 ตัว หลังเกิดสถานการณ์ข้างต้นขึ้น ทางการอุรุกวัยก็ได้ร้องขอให้ผู้ที่มาเที่ยวชมหาดอยู่ให้ห่างสัตว์เหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ขณะที่การติดเชื้อไข้หวัดนกในมนุษย์ยังเกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้


ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำทิ้งโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะรอบ 2 สัปดาห์หน้า

ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เปิดเผยว่า การปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่าการบำ บัดชุดที่สองจากโรงไฟฟ้าฯ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จะเริ่มในวันที่ 5 ต.ค. นี้

บริษัทไฟฟ้าโตเกียว หรือเทปโก ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เปิดเผยว่า

การปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดชุดที่สองจากโรงไฟฟ้าฯ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จะเริ่มในวันที่ 5 ต.ค. ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสร้างความไม่พอใจให้แก่จีนอีกครั้ง

เทปโก วางแผนที่จะปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วประมาณ 7,800 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับการปล่อยครั้งแรกลงสู่ทะเล ภายในระยะเวลาประมาณ 17 วัน การเตรียมการจะเริ่มในวันอังคารหน้า (3 ต.ค.) เพื่อตรวจสอบระดับไอโซโทปเมื่อน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกเจือจางด้วยน้ำทะเลก่อนปล่อยออกมา

การปล่อยน้ำบำบัดชุดแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ท่ามกลางความกังวลในหมู่ชาวประมงท้องถิ่นและการต่อต้านอย่างรุนแรงจากจีน และแล้วเสร็จในวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมาเป็นน้ำทิ้ง 7,800 ตัน จากทั้งหมด 1.34 ล้านตัน เทียบเท่าน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกมากกว่า 500 สระ ที่สะสมอยู่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เทปโก และรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าการกำจัดน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการรื้อถอนโรงไฟ ฟ้านิวเคลียร์ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิซัดเตาปฏิกรณ์เสียหายเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554

แม้ว่าน้ำจะมีระดับความเข้มข้นของไอโซโทปต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัยทั่วโลก แต่จีนก็ได้ออกคำ สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นแบบครอบคลุม โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องให้จีนยกเลิกการสั่งห้าม และมีส่วนร่วมในการอภิปรายตามหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันก็พยายามช่วยเหลืออุตสาหกรรมประมงในประเทศ ในการขยายจุดหมายปลายทางการส่งออกนอกเหนือจากจีน

จนถึงขณะนี้ยังไม่ตรวจพบระดับไอโซโทปที่ผิดปกติในตัวอย่างน้ำทะเลหรือปลาที่เก็บมาจาก บริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตามข้อมูลของเทปโก ไอโซโทปที่มีอยู่ในน้ำที่ปล่อยออกมานั้นคาดว่าจะมีจำ นวนประมาณ 5 ล้านล้านเบคเคอเรล ซึ่งน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของขีดจำกัดสูงสุดต่อปีที่ 22 ล้านล้านเบคเคอเรล

แม้ว่าจีนจะสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น แต่มีรายงานว่าเรือของจีนยังคงจับปลานอกชายฝั่งญี่ปุ่นในพื้นที่เดียวกับที่เรือของญี่ปุ่นออกหาปลา

ด้านนายราห์ม เอ็มมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น โพสต์ภาพถ่ายที่เขากล่าวว่าเป็นเรือประมงของจีนนอกชายฝั่งญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 ก.ย. นายเอ็มมานูเอล กล่าวบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X ว่า “พวกเขาว่าภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดได้นับพันคำ เรือของจีนที่จับปลานอกชายฝั่งญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 ก.ย. หลังจีนคว่ำบาตรอาหารทะเลจากน่านน้ำเดียวกัน”

คิมจองอึนบรรจุวาระนิวเคลียร์ในรัฐธรรมนูญเปียงยาง

สภานิติบัญญัติของเกาหลีเหนือกำหนดให้สถานะอาวุธนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญเอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566 กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาประชาชนของเกาหลีเหนือที่จัดขึ้นในวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมา มีการกำหนดวาระอาวุธนิวเคลียร์ไว้เป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นพันธสัญญาที่ต้องปฏิบัติไปตลอด

ผู้นำคิมจองอึน กล่าวในที่ประชุมฯว่า “นโยบายการพัฒนาความสามารถด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้รับการกำหนดอย่างถาวรในฐานะกฎหมายพื้นฐานของรัฐ ซึ่งจะไม่มีผู้ใดสามารถละเมิดได้ และนี่จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะแรงผลักดันทางการเมืองที่ทรงพลังในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ”

ทั้งนี้ เกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบอาวุธมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาก็ตึงเครียดมาก ท่ามกลางความกังวลว่ารัฐบาลเปียงยางอาจดำเนินการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

เมื่อปีที่แล้ว ที่ประชุมดังกล่าวได้บัญญัติกฎหมายที่ประกาศให้เกาหลีเหนือเป็นรัฐแห่งอาวุธนิวเคลียร์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้และห้ามการเจรจาใดๆ เพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งมีสิทธิ์ที่จะใช้การชิงโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้

การกำหนดสถานะอาวุธนิวเคลียร์ในรัฐธรรมนูญยิ่งทำให้ความหวังของทั้งโลกที่ต้องการเห็นเกาหลีเหนือปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ลดน้อยลงไปอีก

เกาหลีเหนือทำการทดสอบอาวุธต้องห้ามครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน โดยการยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ 2 ลูก ในช่วงเวลาที่ผู้นำคิมเดินทางไปรัสเซียเพื่อประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ขณะที่เดือนก่อนก็เพิ่งล้มเหลวในความพยายามครั้งที่ 2 ที่จะส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจร

คิมจองอึนยังกล่าวอีกว่าสหรัฐฯ, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้จัดตั้ง “พันธมิตรทางทหารไตรภาคี” ส่งผลให้เกิด “นาโตเวอร์ชันเอเชีย” ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามและต้นตอของสงครามอย่างแท้จริง