ข่าว
คิม จองอึน เผยแนวนโยบาย เล็งขยายความสัมพันธ์กับโลกภายนอก

คิม จองอึน - วันที่ 8 ม.ค. ยอนฮัป รายงานจาก เคซีเอ็นเอ กระบอกเสียงทางการเกาหลีเหนือ รายงานวันที่สามของวาระการประชุมสภานิติบัญญัติครั้งที่แปดโดยพรรคคนงานเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ว่า นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ จะทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้ และให้คำมั่นที่จะขยายความสัมพันธ์โลกภายนอกอย่างครอบคลุมด้วย

นายคิมประกาศแนวนโยบายในรายงานต่อวารการประชุมว่า จะศึกษาประเด็นกิจการกับเกาหลีใต้ตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและเวลาที่เปลี่ยนไป และประกาศการวางแนวทั่วไปและจุดยืนนโยบายพรรคเพื่อขยายและพัฒนาความสัมพันธ์ภายนอกอย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับดังกล่าวไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมและยังไม่มีความชัดเจนว่า การขยายความสัมพันธ์ภายนอกหมายถึงการปรับปรุงความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาด้วยหรือไม่

เคซีเอนเอ รายงานว่า เกาหลีเหนือเน้นความจำเป็นต้องมุ่งเน้นที่การสร้างวิถีชีวิตดีงามและปฏิวัติวงการในทุกด้านของชีวิตทางสังคมและกำจัดองค์ประกอบที่ไม่ใช่สังคมนิยมอย่างทั่วถึง

“ยังกำหนดทิศทางและแนวทางเพื่อเปิดยุคทองใหม่ด้วยการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในวัฒนธรรมสังคมนิยมทุกแขนง รวมถึงการศึกษา สาธารณสุข วรรณกรรม และศิลปะ เพื่อให้ข้อบกพร่องและบทเรียนเหล่านั้นเป็นก้าวสำคัญเพื่อความก้าวหน้าและก้าวกระโดด” เคซีเอนเอระบุ

เกาหลีเหนือเปิดการประชุมสภานิติบัญญัติครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี เมื่อวันที่ 5 ม.ค. โลกภายนอกจับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินแนวนโยบายต่างประเทศใหม่ของเกาหลีเหนือก่อนที่ ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.

เกาหลีเหนือยังไม่แสดงความยินดีกับนายไบเดน และผู้นำคิมยังไม่ได้แถลงการเจรจาประเด็นนิวเคลียร์กับสหรัฐในการประชุมพรรคคนงาน

ผู้นำคิมกล่าวระหว่างวาระการประชุมก่อนหน้านี้ ยอมรับความล้มเหลวต่อเป้าหมายพัฒนาประเทศ 5 ปี และให้คำมั่นจะเสริมสร้างสมรรถนะกองทัพอยู่ในระดับสูงมากขึ้น ส่วนวันที่สี่ของวาระการประชุมจะจัดขึ้นวันนี้ ตรงกับวันเกิดของผู้นำคิม

ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า การประชุมสภานิติบัญญัติครั้งล่าสุดจะกินระยะเวลากี่วัน ซึ่งทางการเกาหลีเหนือยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ

ทรัมป์กลับลำ ประณามม็อบก่อจลาจลบุกสภา ช็อกโลก พร้อมส่งมอบอำนาจปธน.แล้ว

ปธน.ทรัมป์ กลับลำ 180 องศา ประณามม็อบสนับสนุนตนก่อจลาจลบุกรัฐสภา ดับ 4 ศพ ช็อกโลก หลังกล่าวชื่นชมในตอนแรก

เมื่อ 8 มกราคม 64 สื่อต่างประเทศและเว็บไซต์เดอะซัน รายงาน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กลับลำ กล่าวประณามม็อบสนับสนุนตนก่อเหตุจลาจลบุกอาคารรัฐสภา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ 6 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อหวังขัดขวางสภาคองเกรสประชุมรับรองชัยชนะของโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อพฤศจิกายน ที่ผ่านมาแล้ว หลังจากวันเกิดเหตุ ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์ ยกย่องชื่นชมแถมบอกรักม็อบ ถึงแม้จะขอให้กลับบ้าน

จากคลิปวิดิโอที่ถูกเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อเย็นวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ตามเวลาในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เรียกเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาในครั้งนี้ว่า ‘เป็นการโจมตีที่ชั่วร้ายต่อรัฐสภาของชาติ’

พร้อมกันนั้น ทรัมป์ยังกล่าวให้ความมั่นใจว่าเขาจะส่งมอบอำนาจตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ 20 มกราคม ในขณะที่ทรัมป์ ยังคงหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงชื่อโจ ไบเดน ที่จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่อย่างเป็นทางการ

สำหรับความเคลื่อนไหวของทรัมป์ในครั้งนี้ ถือเป็นการกลับลำแบบ 180 องศา หลังจากเขาเป็นคนปลุกระดมฝูงชนที่มาร่วมชุมนุมที่บริเวณใกล้ทำเนียบขาว โดยกล่าวหาโดนโจ ไบเดน ขโมยชัยชนะในการเลือกตั้ง พร้อมกับยุยงให้ม็อบเหล่านี้เคลื่อนขบวนไปยังอาคารรัฐสภา ซึ่งสภาคองเกรสกำลังประชุมกันเพื่อรับรอง โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ และหลังจากนั้นได้เกิดเหตุจลาจลรุนแรง เมื่อมีฝูงชนได้ฝ่าแนวกั้นของตำรวจบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ศพ

เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม เข้ม! แบนประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่มีกำหนด

จากเหตุการณ์จลาจลรัฐสภาสหรัฐอเมริกา จนนำมาสู่การบล็อกและลบวิดีโอการปราศรัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทวิตเตอร์ (Twitter) ก็มีมาตรการเบื้องต้น ด้วยการบล็อกไม่ให้ใช้งานทวิตเตอร์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

แต่มาตรการของเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram) ภายใต้การนำของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เข้มงวดกว่านั้น ด้วยการประกาศแบนบัญชีของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างไม่มีกำหนด (Indefinitely) อย่างเร็วที่สุดที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะกลับสู่โลกออนไลน์ได้นั้น ต้องเป็นหลังวันที่โจ ไบเดน เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก เผยผ่านสเตตัสของตัวเอง โดยข้อความบางส่วนบอกว่า ความเสี่ยงในการอนุญาตให้ท่านประธานาธิบดีใช้บริการของเรา (เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม) ในช่วงเวลานี้ มันมีมากมายเหลือเกิน

ความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊ก รวมถึงทวิตเตอร์ เกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนัก ถึงขั้นกล่าวหาว่า เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เป็นกระบอกเสียงในการก่อความไม่สงบของประธานาธิบดีทรัมป์ และต้องใช้เวลานับชั่วโมงก่อนที่สองแพลตฟอร์มดังกล่าว จะเอาโพสต์สุ่มเสี่ยงทางการเมือง

ผู้นำ 2 สภาสหรัฐ เดินหน้าไล่ปลดทรัมป์ ชี้ไม่ควรอยู่ต่อแม้แต่วันเดียว

ผู้นำ2สภาสหรัฐ - เหตุการณ์ม็อบคลั่งสนับสนุน ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ บุกอาคารรัฐสภา กลางกรุงวอชิงตัน ลงเอยมีผู้เสียชีวิตถึง 5 ราย สร้างความอับอายขายหน้าให้สหรัฐอเมริกาแก่ประชาคมโลก และทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ปลดนายทรัมป์ให้จากผู้นำประเทศทันที แม้จะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันที่จะพ้นวาระ วันที่ 20 ม.ค. นี้

หลังเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลก เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยอาคารรัฐสภา หรือ ยูเอส แคปิตอล ลาออกแล้วอย่างน้อย 3 นาย หลังผลสอบสวนพบว่าตำรวจรัฐสภาปฏิเสธข้อเสนอจากกองกำลังเนชั่นแนลการ์ดที่จะมาช่วยต้านทานม็อบในทีแรก เพราะประเมินว่าจะเป็นเพียงการชุมนุมแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพเท่านั้น

เจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การโจมตีแบบก่อการร้าย”””และยังมีเสียงวิจารณ์อีกมากมายว่า ทรัมป์ทำลายประเทศด้วยน้ำมือตนเอง แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะยอมแถลงว่า

จะส่งผ่านอำนาจให้นายไบเดน

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนฯ สหรัฐกล่าวว่า การปล่อยให้นายทรัมป์อยู่ในอำนาจต่อไป “จะเป็นเรื่องสยองขวัญสำหรับอเมริกา” ส่วนนายชัก ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมเครติกในวุฒิสภา กล่าวว่า “การบุกโจมตีรัฐสภาครั้งนี้คือการก่อกบฏต่อสหรัฐอเมริกา ที่ยุยงโดยประธานาธิบดี ดังนั้น ทรัมป์ไม่ควรอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไปแม้แต่เพียงวันเดียว”

บทบัญญัติที่ 25

ผู้นำทั้งสองสภาจากพรรคเดโมแครต เรียกร้องให้รัฐบาลใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 หรือ The 25th Amendment เปิดทางโอนอำนาจผู้นำให้รองประธานาธิบดี ซึ่งหมายถึง นายไมค์ เพนซ์ เพราะตัวประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เหมาะสมที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีที่ยังอยู่ในตำแหน่งคนใดที่ถูกปลดจากตำแหน่งโดยใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 25 นี้

ล่าสุดนี้มีสมาชิกพรรครีพับลิกันเห็นด้วยแล้วบ้าง ส่วนนางเพโลซีติดต่อขอคุยกับนายเพนซ์แล้วแต่ยังติดต่อไม่ได้ จึงกล่าวว่า หากครม.ไม่ใช้บทบัญญัตินี้ สภาผู้แทนจะเดินหน้าถอดถอนนายทรัมป์ต่อไป

เหตุผลที่ควรปลดทรัมป์

จากบทวิเคราะห์สถานการณ์ของสำนักข่าว เอพี กระแสกดดันให้ปลดนายทรัมป์ มาจากการที่นายทรัมป์เป็นคนราดน้ำมันลงบนกองไฟเอง นายทรัมป์กล่าวกับผู้สนับสนุนให้ลุกฮือขึ้น “ต่อสู้” เพื่อหยุดการปล้นคะแนนเสียงเลือกตั้ง ด้วยการเดินขบวนบุกไปรัฐสภาขณะมีอารมณ์โกรธแค้น

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน นายทรัมป์ทวีตข้อความยุยงให้ผู้สนับสนุนประท้วงในกรุงวอชิงตัน วันที่ 6 มกราคม เพื่อแสดงพลังคัดค้านวาระการประชุมรับรองคะแนนคณะผู้เลือกตั้งที่ให้นายโจ ไบเดน ชนะคะแนนนายทรัมป์ โดยไม่สนใจว่าตนเองได้คะแนนจากประชาชน (ป๊อปปูลาร์โหวต) น้อยกว่านายไบเดนอยู่มาก เพราะคู่แข่งทิ้งห่างถึง 7 ล้านคะแนน

เมื่อถึงวันนัดหมาย กลุ่มผู้สนับสนุนนายทรัมป์บุกโจมตีอาคารรัฐสภา ทำให้ตำรวจต้องใช้แท่นที่นายไบเดนจะต้องยืนทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง และวางมือบนคัมภีร์ไบเบิล เป็นฐานยิงสเปรย์พริกไทยสลายฝูงชน

ขณะที่นายทรัมป์ใช้เวลาเกือบตลอดทั้งบ่ายอยู่ในห้องรับประทานอาหารส่วนตัวในห้องทำงานรูปไข่ ดูโทรทัศน์รายงานข่าวเหตุจลาจล ก่อนที่จะบันทึกเทปโทรทัศน์อย่างไม่เต็มใจนักเพื่อเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนรักษาสันติและกลับบ้าน แต่ก็ยังอ้างว่าถูกโกงเลือกตั้งและชมผู้ก่อจลาจลว่า “ผมรักคุณ พวกคุณพิเศษมากๆ”

หลังจากนั้น นายทรัมป์ทวีตข้อความแก้ต่างให้ม็อบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะชัยชนะอย่างถล่มทลายถูกพรากไปจากผู้จงรักภักดีต่อชาติ แต่กลับถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายและไม่ยุติธรรมมานาน “ขอให้จดจำวันนี้เอาไว้และให้ถือว่าเป็นวันแห่งการฉลองชัยชนะมากกว่าการจลาจล” โพสต์ของนายทรัมป์ถูกลบออกจากทวิตเตอร์ไปในที่สุด

ด้านนายไบเดนกล่าวว่าสิ่งที่ต้องทำในขณะนี้และอีก 4 ปีข้างหน้า คือ การฟื้นฟูประชาธิปไตยและการเคารพกฎหมาย รวมทั้งทำให้การเมืองกลับไปสู่การแก้ปัญหา ไม่ใช่การกระพือความเกลียดชังและความสับสนวุ่นวายให้ลุกโชน

ส่วนนายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีจากพรรคริพับลิกัน พรรคเดียวกับทรัมป์ กล่าวว่าผู้ก่อจลาจลทำลายชาติและชื่อเสียงของประเทศ

สองร้อยปีไม่เคยเจอแบบนี้

ด้าน จูเลียน เซลิเซอร์ ประธานสมาคมประวัติศาสตร์รัฐสภากล่าวว่าสภาคองเกรสเคยถูกโจมตีเมื่อปี 2357 หรือ 207 ปีก่อน โดยกองทัพอังกฤษบุกโจมตีและจุดไฟเผาระหว่างสงครามปี 2355

ครั้งล่าสุดนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นสงครามกลางเมืองที่ประธานาธิบดีเป็นคนเปิดสงครามขึ้นเองและเป็นการโจมตีรัฐบาลที่ประธานาธิบดีจุดไฟแห่งความแตกแยก และเรียกร้องให้ประท้วงและลุกลามเป็นเหตุความวุ่นวายซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐสภามาก่อน

ไมเคิล เบชลอสส์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ประธานาธิบดี กล่าวสรุปเหตุการณ์นี้ว่า “เป็นความพยายามก่อรัฐประหารที่ยุยงปลุกปั่นโดยประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เราอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน ว่าประธานาธิบดีปลุกระดมให้ม็อบโค่นรัฐบาลของตัวเอง และนี่เป็นการต่อต้านอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยที่ประเทศยืนหยัดมาสองร้อยปี”


4 ศพจลาจลสภาสหรัฐฯ สาวกทรัมป์ป่วนรับรองประธานาธิบดี

ช็อกโลกบนดินแดนแม่แบบประชาธิปไตย ฝูงชนฝ่าแนวป้องกันบุกป่วนรัฐสภา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ขัดขวางการลงมติรับรองผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ตาย 4 บาดเจ็บ ถูกจับกว่าครึ่งร้อย เผยนักการเมืองส่วนใหญ่เรียกร้องใช้รัฐธรรมนูญ ม.25 ให้ “โดนัลด์ ทรัมป์” หยุดการปฏิบัติหน้าที่ฐานสติไม่สมประกอบ ด้านทวิตเตอร์-เฟซบุ๊กสั่งระงับบัญชีส่วนตัวของ “ทรัมป์” เพื่อยับยั้งปลุกปั่นประชาชน หลังเข้าสู่ภาวะปกติ สภาคองเกรสลงมติรับรองผลเลือกตั้ง “โจ ไบเดน” เข้าสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ วันที่ 20 ม.ค.

กลายเป็นเรื่องช็อกทั่วโลก การเมืองสหรัฐอเมริกาดำเนินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร หลังกลุ่มผู้สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จัดชุมนุมใหญ่ล้อมรัฐสภา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ต่อต้านการลงมติรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของสภาคองเกรสในวันที่ 6 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนตัดสินใจฝ่าแผงกั้นของเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปภายในตัวอาคารทุบทำลายข้าวของป่วนการประชุม จนเกิดการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตและถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การชุมนุมที่ลุกลามบานปลายและนำไปสู่ความสูญเสีย มีขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 6 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่น หลังผู้ชุมนุมทราบข่าวความพ่ายแพ้ของพรรครีพับลิกัน ในศึกเลือกตั้งซ่อมวุฒิสมาชิกรัฐจอร์เจีย 2 ที่นั่ง ซึ่งส่งผลให้พรรคเดโมแครตครองที่นั่งทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาหลังจากนี้ ตามด้วยการปลุกระดมของนายทรัมป์ที่กล่าวผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเคลื่อนไหวคัดค้านการลงมติรับผลเลือกตั้งเพื่อปกป้องประเทศ และจะไม่ยอมแพ้เป็นอันขาด ในเมื่อสิ่งนี้คือการปล้น ไม่ใช่เวลาที่จะแสดงความอ่อนแอ

ผู้สื่อข่าวในพื้นที่รายงานว่า จากคำประกาศของนายทรัมป์ ทำให้ผู้ชุมนุมยิ่งแสดงความโกรธแค้นมากขึ้น พากันตะโกนว่าเราต้องการทรัมป์ ก่อนบุกฝ่าแผงกั้นของตำรวจบริเวณทิศตะวันออกของรัฐสภาและบุกเข้าไปในตัวอาคาร ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่บางจุดยอมเปิดแผงกั้นให้ผู้ชุมนุม ต่อมาหลังจากผู้ชุมนุมสามารถเข้าไปในตัวอาคารได้แล้ว ต่างพากันทุบทำลายกระจกข้าวของ ปีนป่ายรูปปั้นแขวนธงสนับสนุนนายทรัมป์ รื้อทำลายเอกสารในห้องทำงานและถ่ายรูปที่ระลึกกันอย่างสนุกสนาน

อย่างไรก็ตาม มีรายงานเหตุสลดเกิดขึ้น หลังผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งได้พยายามบุกเข้าไปป่วนการประชุมสภา จนถูกตำรวจนอกเครื่องแบบยิงเข้าที่หน้าอกบาดเจ็บสาหัส 1 คน ก่อนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เบื้องต้นทราบว่าเป็นหญิงอดีตทหารผ่านศึกไม่เปิดเผยชื่อ นอกจากนี้ นักข่าวสภาสหรัฐฯ ยังระบุว่า หลังจากนักการเมืองอยู่ระหว่างอพยพออกจากห้องประชุมนั้น สถานการณ์เกือบจะกลายเป็นการนองเลือด เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่ยอมหยุดง่ายๆ พยายามทุบประตูและกระจก จนทีมรักษาความปลอดภัยในห้องประชุมสภาต่างกรูกันไปที่ทางเข้าออก พร้อมพากันชักปืนพกตั้งท่าพร้อมยิงทันที หากผู้ชุมนุมบุกเข้ามาได้สำเร็จ แต่สุดท้ายได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ถอนตัวออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงเพิ่มเติมและทำให้ผู้ชุมนุมพากันเข้ามาตะโกน ปีนป่าย ถ่ายรูปกันอย่างยินดี

แหล่งข่าวการเมืองสหรัฐฯ เปิดเผยขณะเดียวกันว่า การบุกเข้ามาในอาคารรัฐสภาส่งผลให้เจ้าหน้าที่สั่งหยุดการประชุม และรีบเก็บเอกสารรับรองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของคณะผู้เลือกตั้ง 538 คน ไปซ่อนทันที เนื่องจากกลัวผู้ชุมนุมขโมยเอกสารไปทำลาย ขณะที่นางมูเรียล บาวเซอร์ นายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และหน่วยงานความมั่นคง ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อาคารรัฐสภา ห้ามเข้า-ออก รวมทั้งประกาศมาตรการเคอร์ฟิวทั่วกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น. จนถึงวันที่ 21 ม.ค. หรือ 1 วันหลังนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯสาบานตนรับตำแหน่ง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปฏิบัติการรวบผู้ชุมนุมในอาคารรัฐสภาทั้งหมด มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 57 คน มีรายงานด้วยว่า มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 คน จากอาการป่วย ส่งผลให้เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 4 คน

ภายหลังเจ้าหน้าที่เคลียร์พื้นที่อาคารรัฐสภา สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง โดยมีการเสริมกำลังรักษาความปลอดภัยบริเวณด้านนอกด้วยกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเนชั่นแนล การ์ด ตามคำสั่งของนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่นายทรัมป์ เริ่มเปลี่ยนท่าที ประกาศว่าเข้าใจความเจ็บปวดของประชาชนที่ถูกปล้นชัยชนะการเลือกตั้ง ที่เราชนะอย่างถล่มทลาย พร้อมกล่าวให้ประชาชนสลายการชุมนุมกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม มีรายงานด้วยว่า คำแถลงของนายทรัมป์มีขึ้นหลังนักการเมืองสหรัฐฯ จำนวนมากได้เรียกร้องให้นายเพนซ์ใช้รัฐธรรมนูญมาตราที่ 25 เพื่อให้นายทรัมป์หยุดการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดี ฐานสติไม่สมประกอบ ไม่สามารถบริหารราชการต่อไปได้

ต่อมาบริษัททวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก สั่งระงับบัญชีส่วนตัวของนายทรัมป์ เพื่อยับยั้งการปลุกปั่นประชาชน ขณะที่รัฐสภาได้ดำเนินการประชุมต่อ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น หลัง ส.ส.และ ส.ว.บางส่วนของรีพับลิกันเอาแต่กล่าวหาถ่วงเวลาการลงมติจนเกือบจะวางมวยกัน แต่ในที่สุดสภาคองเกรสก็สามารถลงมติรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 46 ได้ในที่สุด ด้วยคะแนนคณะผู้เลือกตั้งตามเสียงประชาชน ไบเดน 306 เสียงต่อทรัมป์ 232 เสียง เกินเกณฑ์ 270 เสียง ทำให้นายโจ ไบเดน เตรียมขึ้นสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 20 ม.ค.

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า เหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ยังส่งผลให้ผู้นำโลกต่างพากันแสดงความผิดหวังในฐานะที่สหรัฐอเมริกาเป็นแม่แบบของประชาธิปไตย ไม่ว่าแคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน สวีเดน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไปจนถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ขณะที่กระทรวงต่างประเทศจีนกล่าวว่าสถานการณ์ในฮ่องกงแรงกว่านี้ แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต เช่นเดียวกับสื่อรัฐบาลที่โจมตีว่า นักการเมืองเคยพูดว่าการชุมนุมประท้วงเป็นเรื่องที่สวยงาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เรารอที่จะได้ยินคำพูดนี้อีกรอบ นอกจากนี้เหตุการณ์ฝูงชนบุกเข้าไปในรัฐสภายังถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 200 ปี โดยรัฐสภาถูกบุกครั้งหลังสุดคือเหตุการณ์เมื่อปี 2355 ทหารอังกฤษบุกเผารัฐสภาสหรัฐฯ ในช่วงสงครามนโปเลียน


แจ็ค หม่า อยู่ไหน ? ลือหึ่งโดนอุ้ม หรือแค่เก็บตัวหลังกินแหนงรัฐบาลจีน

จู่ๆ ข่าวคราวของ แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีชาวจีน ผู้ก่อตั้ง อาลีบาบา ก็เงียบหายไปกว่า 2 เดือน จนเกิดคำถามมากมายบนโลกออนไลน์ว่า เขาหายไปไหน

ก่อนหน้านี้ แจ็ค หม่า เพิ่งกล่าวโจมตีระบบตรวจสอบของรัฐบาล จนทำให้บริษัทของเขาถูกเพ่งเล็ง นี่เป็นสาเหตุที่ทำเขาหายตัวไปหรือไม่ หรือหม่าเพียงแค่เก็บตัวชั่วคราวเท่านั้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จู่ๆ นักธุรกิจหรือผู้มีชื่อเสียงในจีนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และมีหลายคนที่ปรากฏตัวอีกครั้งพร้อมกับถูกรัฐบาลดำเนินคดี

แจ็ค หม่า เป็นใคร ?

แจ็ค หม่า เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘อาลีบาบา’ บริษัทเทคโนโลยีจีน ที่ให้บริการทั้งตลาดออนไลน์, อินเทอร์เน็ต และเอไอต่างๆ ซึ่งทำให้นายหม่ากลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในแดนมังกร มีทรัพย์สินประมาณ 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.53 ล้านล้านบาท

หม่ายังเป็นผู้ก่อตั้ง ‘แอนต์ กรุ๊ป’ หรือชื่อเดิมคือ แอนต์ ไฟแนนเชียล และ อาลีเพลย์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา และเป็นแพลตฟอร์มการจ่ายเงินดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดในจีนอีกด้วย

แต่สิ่งที่ทำให้ แจ็ค หม่า เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ไม่ใช้ความเป็นเจ้าของบริษัทใหญ่ แต่เป็นภูมิหลังของเขาที่พลิกชีวิตจากคนจนเป็นคนร่ำรวย ในอดีตนายหม่าเป็นเพียงครูสอนภาษาอังกฤษถังแตก กระทั่งมีคคนแนะนำให้เขารู้จักกับอินเทอร์เน็ตระหว่างที่การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ในช่วงปี 1990

ในปี 1999 นายหม่าโน้มน้าวเพื่อนจนได้เงินมา 60,000 ดอลลาร์ เพื่อเริ่มธุรกิจใหม่ในจีน และก่อตั้ง อาลีบาบา จากห้องนอนของเขาในเมืองหังโจว และนี่เป็นจุดเริ่มต้นการปฏิวัติการค้าปลีก จากนั้นนายหม่าก็มีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ และได้รับเชิญไปกล่าวบรรยายประสบการณ์ในงานนับไม่ถ้วน จนเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีอิทธิพลด้านเทคโนโลยีของจีน

ผิดใจรัฐบาลจีน

เมื่อ 24 ต.ค. 2563 นายหม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอด ‘บันด์ ซัมมิต’ (Bund Summit) ในนครเซี่ยงไฮ้ เขาวิพากษ์วิจารณ์สมาชิกสภานิติบัญญัติจีน ที่บังคับใช้ ‘ความตกลงบาเซิล’ (Basel Accords) ซึ่งเป็นเกณฑ์กำกับดูแลเงินกองทุนทั่วโลก โดยระบุว่า ความตกลงนี้เหมือนเป็นสโมสรของเหล่าคนแก่ และเราไม่สามารถนำวิธีการของเมื่อวานมาใช้กับอนาคตได้ มหาเศรษฐีผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า ความตกลงบาเซิลขัดขวางโอกาสของคนหนุ่มสาวและประเทศที่กำลังพัฒนา และเป็นกฎที่จำกัดการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ

ก่อนหน้าการประชุม แอนต์ กรุ๊ป ของนายหม่ากำลังดำเนินการขายหุ้นมูลค่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สู่สาธารณ หรือ ไอพีโอ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นจนเกินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะทำให้ทรัพย์สินสูงขึ้นไปอีก และครองตำแหน่งชายผู้ร่ำรวยที่สุดในจีนอย่างมั่นคง


ศาลอิรักออกหมายจับ “ทรัมป์” สั่งลอบสังหารผู้บัญชาการกองทัพอิรัก

ศาลอิรักออกหมายจับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เพื่อให้มาดำเนินคดี “ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” กรณีสั่งลอบสังหาร ผู้บัญชาการกองกำลังทหาร พร้อมด้วยผู้บัญชาการกองทัพอิหร่าน เมื่อปีที่แล้ว

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. เว็บไซต์ข่าว CBS รายงานว่า ศาลสูงสุดของอิรัก ออกหมายจับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในคดีก่อเหตุฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จากกรณีที่ผู้นำสหรัฐฯ สั่งการให้โดรนไปสังหาร นายพลอาบู มาห์ดี อัลมูฮันดิส ผู้บัญชาการกองทัพกำลังทหารอิรัก เสียชีวิตพร้อมกับพลเอกกัสเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองทัพอิหร่าน ในขบวนรถที่อยู่ใกล้สนามบินกรุงแบกแดด ของอิรัก เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2563 ส่งผลให้กองทัพอิรักตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศถล่มฐานทัพสหรัฐฯ ในเมืองเออร์บิล ทำให้มีทหารอเมริกัน บาดเจ็บ 34 ราย เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ปีที่แล้ว

รายงานข่าวระบุว่า คดีนี้มีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมากที่ผู้นำสหรัฐฯ จะไปขึ้นศาลของอิรัก ในขณะที่ศาลอิหร่านก็ได้มีการสืบสวนและออกหมายจับในคดีเดียวกันนี้เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดยทางการอิรักระบุว่า การสืบสวนดำเนินคดีจะดำเนินต่อไปเพื่อกระชากหน้ากากคนที่อยู่เบื้องหลังการก่ออาชญากรรมร้ายแรงครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นชาวอิรัก หรือชาวต่างชาติก็ตาม

ที่มา CBS

มั่นใจประสิทธิภาพ ผู้นำสิงคโปร์รับวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มแรก

นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง แห่งสิงคโปร์ สร้างความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีน ด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 จากบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค เป็นคนแรกในคณะรัฐบาล

นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เดินทางไปยังโรงพยาบาล สิงคโปร์ เจเนอรัล เพื่อเข้ารับวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มแรก พร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาลซึ่งคาดว่า จะสามารถฉีดให้บุคลากรของโรงพยาบาลได้ราว 90 คนในวันแรก ซึ่งภายหลังจากได้รับวัคซีน นายลีได้เปิดเผยความรู้สึกว่า เขามีความสุขมากที่ได้เห็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานอยู่แนวหน้าได้รับวัคซีนกันแล้ว และหลังจากที่เขาได้รับวัคซีนมาแล้วราว 30 นาที ก็ยังปกติดีไม่มีอาการข้างเคียงแต่อย่างใด โดยตอนฉีดก็ไม่เจ็บ และเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งนายลีมีนัดหมายที่จะมาเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2 ในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า โดยนอกจากนายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง แล้ว นายเคนเนธ มัก ผู้อำนวยการด้านบริการทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ก็เป็นอีกคนหนึ่งในรัฐบาลที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกในวันนี้เช่นกัน

ขณะที่ สถาบันการแพทย์ต่างๆ รวมทั้งโรงพยาบาล และโพลีคลินิก ได้เริ่มการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่ บุคลากร ในวันนี้เป็นวันแรกเช่นเดียวกัน ซึ่งการให้วัคซีนอย่างเป็นทางการ มีขึ้นหลังจากที่ได้มีการทดสอบวัคซีนโดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ และมีการทดลองฉีดให้เจ้าหน้าที่จำนวน 40 คน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา

โดยเมื่อเดือนที่แล้ว นายลี เซียน ลุง ได้แถลงทางโทรทัศน์ ระบุว่าตัวเขา และสมาชิกคณะรัฐมนตรี จะเข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกพร้อมๆ กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อแสดงให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าวัคซีนที่ใช้จะมีความปลอดภัย ก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยทางการสิงคโปร์รับปากจะจัดหาวัคซีนให้แก่พลเมืองสิงคโปร์ฟรีทุกคน

ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย