ข่าว
‘ไนจีเรีย’กังวลคุณภาพอาหาร หลังทราบข่าว’ไทย’จะส่ง ‘ข้าว10ปี’มาขายในทวีปแอฟริกา

วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 จากกรณีที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เสนอแนวคิดให้นำข้าวที่เก็บอยู่ในโกดังเป็นเวลานาน 10 ปี ซึ่งตกค้างมาจากนโยบายรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่งไปขายในตลาดทวีปแอฟริกา จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้าวนั้นมีคุณภาพหรือไม่? บริโภคแล้วจะเป็นอันตรายหรือเปล่า? ซึ่งอาจกระทบต่อชื่อเสียงของข้าวไทยที่สั่งสมมาหลายสิบปีได้นั้น

ล่าสุดมีรายงานว่า สื่อท้องถิ่นของประเทศไนจีเรีย อย่าง นสพ.Business Day นำเสนอข่าวนี้แล้วเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น โดยพาดหัว “10-year-old stored Thailand rice may find its way to Nigeria, Africa” ระบุว่า นับตั้งแต่ได้ทราบว่าทางการไทยจะส่งข้าวเก่าเก็บ 10 ปี จำนวน 1.5 แสนกระสอบ ด้วยการเปิดประมูลเพื่อส่งมาขายในทวีปแอฟริกา ซึ่งไทยหวังว่าจะมีรายได้ระหว่าง 200 ถึง 400 ล้านบาท (5.4 และ 10.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) ชาวไนจีเรียต่างแสดงความคิดเห็นในเชิงกังวลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของอาหาร

อาทิ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ @NwaOnyekuzi ตั้งคำถามว่า “ข้าวเก็บ 10 ปี แล้วสารอาหารยังอยู่หรือไม่?” ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @Kdenkss แสดงความเห็นว่า “นี่เป็นเรื่องน่าอาย และฉันแน่ใจว่าข้าวบางส่วนจะต้องมาจบลงที่ไนจีเรีย” หรือผู้ใช้ทวิตเตอร์ @labeakai ก็โพสต์ระบายความรู้สึกว่า “ตามปกติแล้ว แอฟริกาก็เป็นเหมือนพื้นที่ทิ้งขยะอย่างสมบูรณ์แบบ" เป็นต้น

สื่อไนจีเรียอ้างอิงข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวของประเทศไทย ที่ระบุว่า ประเทศในทวีปแอฟริกาได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางหลักของข้าวไทย เนื่องจากปริมาณการซื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ Statista ระบุว่า ในฤดูกาลปี 2566-2567 ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ด้วยปริมาณ 8.2 ล้านตัน ผู้นำเข้าข้าวจากไทย 10 อันดับแรกของทวีปแอฟริกา ในปี 2566 ได้แก่ แอฟริกาใต้ เซเนกัล แคเมอรูน โมซัมบิก และโกตดิวัวร์ ซึ่งนำเข้ารวมกัน 2.48 ล้านตันภายในช่วงเวลาดังกล่าว

ถัดจากนั้นมาคือซิมบับเว 55,691 ตัน แอลจีเรีย 76,747 ตัน แองโกลา 135,909 ตัน เบนิน 139,206 ตัน และโตโก ในขณะที่ไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา อาจไม่อยู่ในรายชื่อ เนื่องจากนโยบายก่อนหน้านี้ของธนาคารกลางไนจีเรีย ในการจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสำหรับผู้นำเข้าข้าวเพื่อเพิ่มการผลิตในท้องถิ่น การนำเข้าส่วนใหญ่ที่บันทึกโดยเบนินและโตโกหาทางเข้าสู่ตลาดไนจีเรีย ผ่านการลักลอบผ่านแดนทางบก

เจมส์ มาร์ช (James Marsh) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านอาหารและผู้อำนวยการบริหารจุดวิเคราะห์อันตรายและจุดควบคุมวิกฤต (HACCP) กล่าวว่า ข้าวอายุ 10 ปีจะไม่มีสารอาหาร เนื่องจากส่วนใหญ่จะเสื่อมสลายออกไปจนหมด นอกจากนั้น สารพิษและสารเคมีอันตรายอาจมีอยู่ในข้าวเป็นจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีที่ใช้ในโกดังเพื่อเก็บรักษาตลอด 10 ปี ทั้งนี้ ข้าวไม่ควรถูกเก็บไว้นานเกิน 5 ปี

“น่าเสียดายที่มันจะหาทางเข้าสู่ไนจีเรียได้เพราะพรมแดนของเรามีรูพรุน รัฐบาลไนจีเรียต้องดำเนินการในตอนนี้โดยรับรองว่าข้าวจะไม่เข้าประเทศเมื่อมีการประมูล และนั่นคืองานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งชาติ (NAFDAC) และองค์การมาตรฐานแห่งไนจีเรีย (SON) ซึ่งข้าวมีหมายเลขเรือซึ่งสามารถใช้เพื่อติดตามได้” มาร์ช กล่าว

ศ.ชิตตู อคินเยมี (Prof.Shittu Akinyemi) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรแห่งสหพันธรัฐ (Federal University of Agriculture) กล่าวว่า ความปลอดภัยของอาหารมีปัจจัยกำหนด 2 ประการ ได้แก่ 1.วิธีการจัดการอาหาร และ 2.ชนิดของสารเคมีที่ใช้เพื่อการเก็บรักษา โดยธัญพืชสามารถเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานาน ซึ่งสังเกตว่าผู้คนมักจะไวต่อผลิตภัณฑ์อาหารที่เก็บไว้ในระยะยาว และการแก่ชราเกิดขึ้นในข้าวเช่นกัน ซึ่งเมื่อแก่แล้ว ก็จะไม่ถือเป็นสิ่งพิเศษ

กรมศิลปากร เก็บหลักฐาน หลังเจอสุสานโครงกระดูกยุคหิน กว่า 5,000 ปี

หลังจากเจอชุดกระดูกสภาพสมบูรณ์ในสุสานมนุษย์โบราณ ที่ ถ้ำเขาค้อม จ.สตูล นักโบราณคดี จากสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา พร้อมทีมงานและทีมนักศึกษากว่า 10 คน ลงเก็บร่องรอยและหลักฐานทางโบราณคดีภายในถ้ำเขาค้อม หมู่ที่ 10 ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล ซึ่งมีทางที่ว่าการอำเภอควนกาหลง ประชาชนชาวควนกาหลง ร่วมสังเกตการณ์ สำหรับถ้ำแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหลังของวิทยาลักเกษตรและเทคโนโลยีสตูลติดกับอ่างเก็บน้ำหล่อเลี้ยงชาวบ้าน

หลังได้รับแจ้งว่านายกำพลศักดิ์ สัสดี นักสำรวจถ้ำและอาสากู้ภัยป่าภูเขา และคณะอาจารย์ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูลว่าหลังได้สำรวจร่องรอยภายในถ้ำเขาค้อม ซึ่งห่างจากปากถ้ำไม่มากนัก พบโพรงถ้ำขนาดใหญ่คล้ายหลุมยุบและด้านในชั้นดินยังพบเศษโครงกระดูกมากมายคล้ายสุสาน พบเครื่องมือยุคหิน และกระดูกหน้าแข้ง กระดูกซีโครง และที่สำคัญ กระดูกฟันกรามล่างที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ อยู่ปะปนกับเปลือกหอยทับถมในชั้นดินจำนวนมาก ยิ่งขุดยิ่งเจอนั้น เพื่อให้ทีมนักโบราณคดีเข้าตรวจสอบเพื่อที่จะได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือ สถานที่เรียนรู้ต่อไป หากเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญจริง ๆ

ด้าน น.ส.เพลงเมธา ขาวหนูนา นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา กล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้มาเพื่อเก็บข้อมูลในเบื้องต้นเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าเป็นอย่างไร โดยวันนี้ได้มาเก็บสภาพแหล่งที่พบและหลักฐานทางโบราณคดีที่พบภายในถ้ำว่ามีอะไรบ้าง แล้วนำไปวิเคราะห์ข้อมูลอีกครั้ง การเจอโบราณวัตถุในช่วงสมัยนั้นก็สามารถที่จะบ่งบอกได้ว่าเป็นยุคไหน เช่น ขวานหินหรือเครื่องมือ ที่ใช้ที่เป็นภาชนะดินเผา

สำหรับพื้นที่ตรงนี้เบื้องต้นอยากจะขอให้มีการปิดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเข้ามาทำลาย สำหรับการตรวจสอบใช้เวลากี่วันนั้น วันนี้เป็นเพียงเบื้องต้นในการตรวจสอบ ต้องมีการประเมินว่าต้องทำขั้นตอนอะไรต่อไป โดยวัตถุที่เก็บไปในครั้งนี้จะนำไปวิเคราะห์ที่ศิลปากรที่ 11 จังหวัดสงขลา

สำหรับจังหวัดสตูลนับว่าเป็นแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก ๆ มักจะพบเจอโบราณวัตถุค่อนข้างเยอะพร้อมขอฝากในส่วนของแหล่งโบราณคดี หากพี่น้องประชาชนเจอโบราณวัตถุสามารถแจ้งได้ที่ศิลปากรที่ 11 สงขลายินดีที่จะเข้ามาตรวจสอบ เพราะอยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์รักษาเป็นมรดกของชาติต่อไป


'ภท.'ลั่นไม่ทิ้งสายเขียว วัดใจพรรคร่วมดันออกกม.กัญชา หวั่นดึงกลับ'ยาเสพติด'ส่งผลกระทบ

16 พ.ค.2567 ที่พรรคภูมิใจไทย(ภท.) น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย น.ส.ผกามาศ เจริญพันธ์ สส.สุรินทร์ รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงกรณีรัฐบาลมีแนวคิดจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ว่า เข้าใจในประเด็นของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่พูดในเรื่องดังกล่าว และเป็นเป้าหมายเดียวกันในการดำเนินการ ซึ่งแนวทางของพรรคภูมิใจไทย ในการแก้ปัญหาของการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ สุขภาพ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. .... โดยที่พรรคภูมิใจไทย ได้นำเสนอกฎหมาย ในสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ผ่านมาแล้ว เพื่อยกระดับ และควบคุมการใช้กัญชาให้ถูกวิธี

โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สิ่งที่นายกฯกังวลนั้น ในร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ของพรรคภูมิใจไทย นำเสนอ ได้ควบคุมไว้หมดแล้ว ที่เราเป็นห่วงว่า อยู่ๆ จะเอากัญชากลับเป็นยาเสพติดแล้วจะมีมาตรการใด ที่มารองรับผลกระทบกับประชาชนที่ใช้กัญชาเพื่อสุขภาพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแพทย์แผนไทย ที่ใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน ที่จะได้รับผลกระทบ จึงขอความร่วมมือรัฐบาลให้รีบพิจารณา พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ให้จบกระบวนการ ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวอีกว่า ขอให้มั่นใจว่าเราจะไม่ทอดทิ้ง ประชาชนที่ใช้กัญชาเพื่อสุขภาพ วิสาหกิจชุมชนที่ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ สุขภาพ และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ โดยจะทำให้ถูกต้อง และผลักดัน พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. .... ให้ผ่านสภาให้เร็วที่สุด


'สายน้ำ'คาใจราชทัณฑ์แถลงไม่ตรงกัน กรณีช่วยชีวิต'บุ้ง ทะลุวัง'

วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่ศาลา 7 วัดสุทธาโภชน์ ลาดกระบัง กทม. นายนภสินธุ์ ตรียาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ นักกิจกรรมทางการเมืองในฐานะเพื่อนของ น.ส.เนติพร กล่าวภายหลังกรมราชทัณฑ์ออกมาแถลงเกี่ยวกับการเสียชีวิตโดยบอกว่า คาใจหลายประเด็น และมองว่าก่อนที่ราชทัณฑ์จะแถลงควรเตรียมตัวและมีหลักฐานที่แน่ชัดมากกว่าการที่แถลงแล้วพูดไม่เหมือนกัน ไม่ยอมระบุรายละเอียดใดใดเลย มองว่ายิ่งทำให้เรื่องน่าสงสัยมากขึ้นไปอีก ขณะที่อีกคนบอกว่าปั๊มหัวใจตรงนั้นเลย ด้านอีกคนบอกว่าพาตัวลงไปปั๊ม แล้วพาลงไปอย่างไร มีการประคองหรือไม่ หรือทำถูกหลักการหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสงสัยกันอยู่

เมื่อถามว่าตามหลักการช่วยชีวิตคน ควรปั๊มหัวใจให้ขึ้นก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายหรือไม่ นายนภสินธุ์ ระบุว่า ตนไม่ได้เรียนด้านการแพทย์มา แต่เท่าที่รู้ หากจับสัญญาณชีพไม่ขึ้นควรที่จะ PCR โดยทันที โดยอุปกรณ์ที่เพียบพร้อมทุกอย่างที่ราชทัณฑ์บอก ซึ่งไม่ได้มีการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจในการช่วยชีวิต ซึ่งสิ่งเป็นมาตรฐานโรงพยาบาล และบางสถานที่ เช่น มหาวิทยาลัยฯ และที่สาธารณะอื่นๆก็มีเครื่องนี้แล้ว ซึ่งราชทัณฑ์บอกว่าไม่ได้ใช้เครื่องมือนี้ ตนเองก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมถึงไม่ได้ใช้

นายนภสินธุ์ กล่าวว่า กล้องวงจรปิดจะเป็นตัวตัดสินทุกอย่างว่า ขั้นตอนในการกระทำทำให้คุณหรือไม่ ใครเป็นคนกระทำ ใครเป็นคนปั๊มหัวใจ และปั๊มถูกวิธีหรือไม่ ปั๊มนานเท่าไหร่ต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเหตุจนไปถึง รพ.ธรรมศาสตร์ฯ หรือไม่ รวมทั้งสัญญาณชีพขณะนั้นเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้มองว่าต้องมีข้อมูลและรายละเอียดที่เป็นหลักฐานออกมา เราถึงตรวจสอบและยืนยันกันได้

เมื่อถามถึงกรณีที่ราชทัณฑ์ระบุว่า หลังจากที่ส่งตัว น.ส.เนติพร จาก รพ.ธรรมศาสตร์กลับไปรักษาตัวที่ รพ.ราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 4 เมษายน น.ส.เนติพร ได้กินข้าวตลอด เช่น ข้าวต้ม ไข่เจียว ฯลฯ และอยู่อย่างสุขสบาย ประเด็นนี้ นายนภสินธุ์ กล่าวว่า “ถ้าสุขสบาย เพื่อนผมคงไม่ตาย หากบอกว่าสุขสบาย อยากถามว่าสุขสบายยังไงถึงทำให้ตอนนี้ผมมาอยู่ที่วัดได้” ทั้งนี้ขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะกินหรือไม่กิน สุดท้ายเพื่อนก็ตายในอ้อมอกและการดูแลของราชทัณฑ์

นายนภสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้สงสัยทุกประเด็นและยังไม่ตัดประเด็นใดออกจนกว่าจะมีรายละเอียดออกมา แต่บอกได้ชัดเจนว่าผลการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร ครั้งนี้ มาจากการคุมขังโดยไม่ชอบจนทำให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำและเสียชีวิต

นายนภสินธุ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์นี้ประชาชนคงได้เห็นกับตัวแล้วว่าการที่ราชทัณฑ์ดูแลอดีตนายกรัฐมนตรีแบบ และดูแลเพื่อนของตนอีกแบบหนึ่ง คงเป็นตัวบ่งชัดที่ดีว่ามีการดูแลสองมาตรฐานหรือไม่

นายนภสินธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากฝากให้รัฐบาลบอกกรมราชทัณฑ์ว่าให้เก็บหลักฐานทุกอย่างไว้ และให้ส่งมอบให้ทางครอบครัวหรือทนายความ เพื่อนำมาใช้ในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่าสุดท้ายแล้วเกิดอะไรขึ้น เพราะส่วนตัวกังวลว่าหลักฐานจะถูกทำลาย เนื่องจากว่าหลักฐานส่วนใหญ่เป็นกระดาษ เพราะในอดีตที่ผ่านมาสำหรับคดีใหญ่ๆก็มีการถูกทำลายหลักฐานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเอกสาร หรือกล้องวงจรปิด

เมื่อถามถึงประเด็นที่ราชทัณฑ์ส่งตัว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผู้ต้องขังคดีป่วนขบวนเสด็จ มารักษาตัวที่ รพ.ธรรมศาสตร์ เพราะว่ากลัวเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยหรือไม่เพราะก่อนหน้านี้ที่ผ่านมามีการพยายามขอมารักษา แต่ บางครั้งก็อนุญาตให้มาก่อนจะให้ส่งตัวกลับ นายนภสินธุ์ กล่าวว่า มองว่าราชทัณฑ์เคยมาเสมอว่า รพ.ราชทัณฑ์ เพียบพร้อมในการดูแลแต่ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมนั้นแล้ว

ขณะเดียวกันวันนี้มีนักกิจกรรมหลายคน เช่น รุ้ง ปนัสยา และมายด์ ภัสราวลี เข้ายื่นหนังสื่อที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาให้ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและชี้แจงอย่างโปร่งใสนั้นส่วนตัวยังไม่ได้มีการพูดคุยกับใครเลยเพราะยุ่งกับการจัดงานศพ คิดว่าหลังจากนี้อาจจะมีการพูดคุยกัน


อย่าซ้ำรอยยุค‘ทักษิณ’! ‘กสม.’ย้ำหลัก‘ผู้เสพคือผู้ป่วย’ ติงแนวคิด‘ยาบ้า1เม็ดเป็นผู้ค้า’

วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่จดหมายข่าว ‘กสม. เน้นย้ำนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอให้ใช้มาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดแทนมาตรการทางกฎหมายในส่วนของผู้เสพ’ เนื้อหาดังนี้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ความปลอดภัยของสังคม และเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ แต่การกำหนดนโยบายหรือมาตรการใด ๆ จะต้องคำนึงถึงการลงโทษที่ได้สัดส่วน และต้องมีกรอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยความชอบธรรม

บทเรียนจากนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี พ.ศ.2546-2547 ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง ทั้งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน เกียรติยศชื่อเสียง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวาระพิเศษว่าด้วยสารเสพติดปี 2016 (United Nations General Assembly Special Session on Drugs-UNGASS) ได้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์มาตรการแนวทางต่าง ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ดำเนินการมากว่า 50 ปี ที่ประชุมมีข้อสรุปเปลี่ยนแนวคิดจากการทำให้ยาเสพติดหมดไปจากโลก (Drug free world) มาเป็นสังคมที่ปราศจากผลกระทบจากยาเสพติด (A society free of drug abuse) ยอมรับการมีอยู่ของยาเสพติดในสังคม และมีข้อเสนอต่อมาตรการการแก้ไขปัญหายาเสพติดในส่วนของผู้เสพโดยถือว่าเป็นผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ว่า การนำแนวคิดสิทธิมนุษยชน มาตรการด้านสาธารณสุขและมาตรการทางสังคม รวมทั้งมาตรการการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) มาใช้แทนมาตรการทางกฎหมายหรือการลงโทษทางอาญา จะเกิดประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ยังคงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายในการจับกุมและลงโทษอย่างจริงจังต่อไป ซึ่งประเทศไทยได้นำแนวคิดดังกล่าวมาบรรจุไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564

แต่ในทางปฏิบัติยังเป็นปัญหาอยู่มาก ระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และระบบบริการสำหรับผู้เสพยาเสพติดเป็นครั้งคราว ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน การส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดฟื้นฟูแทนการนำตัวไปบำบัดนอกชุมชนยังเกิดขึ้นน้อยมาก รวมทั้งการปราบปรามผู้ผลิต ผู้ค้ารายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในสังคมยังทำได้น้อยมาก

การที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการปรับปรุงประกาศ/กฎกระทรวงเพื่อกำหนดปริมาณการครอบครองเมทแอมเฟตามีนโดยให้ถือว่าการครอบครอง 1 เม็ด เป็นผู้ค้าและให้ยึดทรัพย์ได้นั้น กสม. เห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎหมายและทิศทางการแก้ปัญหายาเสพติดในระดับสากล และมีข้อห่วงกังวลว่านโยบายดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง

ความผิดฐานเสพยาเสพติด ครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ ครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย กฎหมายปัจจุบันถือเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งการที่จะถูกดำเนินคดีในข้อหาใดต้องพิจารณาจากพฤติการณ์และเจตนาของผู้กระทำประกอบ ไม่ใช่จำนวนยาเสพติดที่ครอบครองเพียงอย่างเดียว ดังนั้น นโยบายของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงอาจส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการประกาศสงครามกับยาเสพติดเมื่อปี 2546

การจับกุมดำเนินคดีกับผู้เสพโดยนำตัวไปขังในเรือนจำ ทั้งที่ควรนำไปรับการบำบัดรักษา จะกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของรัฐ และเป็นตราบาปติดตัวคนเหล่านี้ เพราะจะมีประวัติอาชญากร ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ กลายเป็นคนพิการทางสังคม และเท่ากับผลักให้พวกเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งในประเด็นดังกล่าวมีกรณีร้องเรียนมาที่ กสม. ด้วย

“กสม. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) มาใช้ในการแก้ปัญหาในส่วนของผู้เสพอย่างจริงจัง โดยสนับสนุนให้ชุมชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมดำเนินการ ยึดหลักการผู้เสพคือผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร สนับสนุนให้ชุมชนพัฒนานวัตกรรมการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เพื่อคืนคนเหล่านี้ให้ชุมชนและสังคมต่อไป” จดหมายข่าวของ กสม. ระบุ

'ลอว์เรนซ์ หว่อง'สาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ลอว์เรนซ์ หว่อง เข้าพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนใหม่ ในรอบ 20 ปี และเป็นผู้นำคนที่ 4 ในประวัติศาสตร์สิงคโปร์ ถือเป็นการถ่ายโอนอำนาจอย่างรอบคอบอันมีเป้าหมายในการรักษาความต่อเนื่องในการปกครองของสิงคโปร์

หว่อง วัย 51 ปี ได้รับฉายาว่า “ผู้นำ 4 จี” ที่หมายถึงนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ได้รับการคัดสรรจากพรรครัฐบาลสิงคโปร์ People's Action Party หรือ PAP ให้เข้ามารับช่วงต่อการบริหารประเทศศูนย์กลางการค้าและการเงินรายสำคัญในเอเชียแห่งนี้ อีกทั้งยังเป็นผู้นำสิงคโปร์คนแรกที่เกิดหลังจากสิงคโปร์เป็นเอกราชเมื่อปี 1965

หว่องให้คำมั่นว่าจะปกครองประเทศ “ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและรู้สำนึกถึงบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ” ต่อสิงคโปร์ และประชาชน 5.9 ล้านคน และจะอุทิศ “พลังงานที่มีทั้งหมด” เพื่อประชาชนสิงคโปร์

สำหรับนายหว่องจบการศึกษาในระดับปริญญาโทจากสหรัฐฯ ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการพลเรือนก่อนหันหน้าเข้าสู่เวทีการเมืองในปี พ.ศ.2554 ยังได้รับความสนใจอย่างมากครั้นเมื่อปฏิบัติหน้าที่ในคณะทำงานรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นายหว่องยังเป็น 1 ในกลุ่มผู้นำรุ่นที่ 4 นักการเมืองรุ่นใหม่ที่พรรคพีเอพีไว้วางใจเป็นผู้นำประเทศ

อย่างไรก็ตาม นายพริทาม ซิงห์ หัวหน้าฝ่ายค้านจากพรรคแรงงานระบุว่า นายหว่องขึ้นแท่นผู้นำในช่วงเวลาอันท้าทายของสิงคโปร์ ทั้งสภาพแวดล้อมภายนอกที่ไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประเทศ ส่วนนายโดนัลด์ โลว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกงชี้ว่า นายหว่องค่อนข้างมีความอนุรักษนิยม ชอบการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง