ข่าว
ชุดนักศึกษา ไม่ใส่ได้ป่ะ

จำได้ว่า ตอนอาจารย์นริศ ชัยสูตร เป็นอธิการบดี ช่วงย้ายนักศึกษาระดับปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ จากท่าพระจันทร์ไปเรียนรวมกับสายวิทยาศาสตร์ที่รังสิต

ชาวธรรมศาสตร์โต้เถียงกันอย่างกว้างขวางว่า เมื่อย้ายไปรังสิตแล้ว จิตวิญญาณจะตามไปด้วยหรือไม่

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ออกมาค้านเพราะอยากให้สายสังคมศาสตร์เรียนอยู่ที่ท่าพระจันทร์ต่อไป เพื่อให้นักศึกษาได้ซึมซับประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพในอดีต หากย้ายไปอยู่ที่รังสิตแล้วเกรงเด็กนักศึกษาจะไม่เข้าใจ จิตวิญญาณเสรี

อันที่จริงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกิดขึ้นมาควบคู่กับการปฏิวัติประชาธิปไตย และเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งเพราะเป็นพื้นที่เปิดเสรีทางความคิด จนมีคำกล่าวที่ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

แต่วันนี้กลับถูกท้าทายจากกรณีอาจารย์ผู้สอนวิชาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของคณะวิทยาศาสตร์หรือ TU 103 บังคับให้ทุกคนแต่งชุดนักศึกษา มิฉะนั้นจะตัดสิทธิไม่ให้เข้าสอบ

นักศึกษาเลือกวิธีประท้วงโดยแต่งเครื่องแบบแสดงท่าทางเสพสังวาส ทำเป็นโปสเตอร์เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อเรียกร้องความสนใจ และก็ได้ผล แต่เพียงมีผลทางลบติดมาด้วยเป็นของแถม

แต่เอาเถอะอย่าไปควานหาว่าใครผิดใครถูก เพราะทุกคนพยายามทำตามความเชื่อของตัวเอง

อาจารย์ TU 103 มาจากสายวิทยาศาสตร์ อาจไม่เข้าใจจิตวิญญาณเสรี

ส่วนนักศึกษาก็ไม่เคารพต่อศีลธรรมอันดีและไม่ให้เกียรติสถาบันการศึกษาของตัวเอง จึงแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสมออกไป

ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ ควรจะคิดแบบผู้ที่เป็นบัณฑิต ละทิ้งมิจฉาทิฐิ เอาปัญญามาไตร่ตรอง

ในยุค 14 ตุลา 2516 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่งกายยิ่งกว่าปัจจุบัน เพราะนิยมแฟชั่น 5 ก.ย. นั่นคือ 1.ไว้ผมยาว 2.สวมเสื้อยืด 3.นุ่งกางเกงยีนส์ 4.สะพายย่าม และ 5.คีบรองเท้ายาง หรือรองเท้าแตะ เพื่อแสดงออกถึงการเรียกร้องเสรีภาพจากรัฐบาลเผด็จการ

อีกทั้งหลักการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้กำหนดให้มีเฉพาะในห้องเรียน แต่ยังแฝงอยู่ในกิจกรรมต่าง ๆ ลองหลับตานึกดูว่า ถ้านักศึกษาหญิงไปเขียนโปสเตอร์ ก้ม ๆ เงย ๆ ระหว่างการแต่งเครื่องแบบนุ่งกระโปรงสวมเสื้อเชิร์ตสีขาว กับนุ่งกางเกงยีนส์เสื้อยืด สวมรองเท้าผ้าใบ แบบไหนจะเหมาะกว่ากัน

ที่สำคัญการเปิดเสรีทางความคิดจะทำให้นักศึกษาเติบโตเป็นบัณฑิตอย่างแท้จริง แค่วันนี้คิดจะแต่งชุดอะไร ยังไม่มีสิทธิคิด แล้วบัณฑิตที่จบการศึกษาจะเป็นเสรีชนได้อย่างไร

ท้ายสุดจะไม่ต่างจากเด็กมัธยมที่ถูกตีกรอบไปทุกเรื่อง ต้องเชื่อฟังอาจารย์ผู้สอนเพียงอย่างเดียว ไม่กล้าคิดนอกกรอบ

ส่วนข้ออ้างที่ว่า “การจัดสอนโดยคณะวิทยาศาสตร์ ต้องการปลูกฝังระเบียบวินัยของนักศึกษา เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการทดลอง ซึ่งมีขั้นตอนและต้องมีระเบียบวินัยในการทดลอง และการแต่งชุดนักศึกษาก็จะเป็นดัชนีตัวหนึ่งในการวัดการมีระเบียบวินัยของนักศึกษาที่คณะต้องการปลูกฝัง”

ฟังแล้วไม่เป็นตรรกะ เพราะลองนึกถึงภาพนักศึกษาแต่งเครื่องแบบที่ขึงหน้าอกตึงเปรี๊ยะด้วยกระดุมเพียงเม็ดเดียว คล้ายกับตั้งใจจะโชว์เสื้อชั้นในจนมองเห็นเสื้อชั้นใน

ถามว่า นี่เป็นการแสดงถึงความมีวินัยและให้เกียรติสถาบันหรือไม่

คำตอบก็คือ ไม่เลย

ฉะนั้นการแต่งเครื่องแบบไม่ได้ทำให้นักศึกษาจบมาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีจิตสาธารณะยอมเสียสละเพื่อส่วนรวม

ด้วยเหตุนี้ระเบียบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงกำหนดให้นักศึกษาแต่งกายสุภาพ ส่วนเครื่องแบบให้แต่งเฉพาะวันสอบและวันสำคัญเท่านั้นเอง

มาถึงตรงนี้ หากยังไม่เข้าใจอีกว่า ธรรมศาสตร์สอนอะไร ก็อยากให้อ่าน บทกวี “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ที่วิทยากร เชียงกูล เอาไว้เมื่อ พ.ศ.2511

ดอกหาง นกยูง สีแดงฉาน บานอยู่ เต็มฟาก สวรรค์

คนเดิน ผ่านไป มากัน เขาด้น ดั้นหา สิ่งใด

ปัญญา มีขาย ที่นี่หรือ จะแย่ง ซื้อได้ ที่ไหน

อย่างที่โก้ หรูหรา ราคา เท่าใด จะให้พ่อ ขายนา มาแลกเอา

ฉันมา ฉันเห็น ฉันแพ้ ยินแต่ เสียงด่า ว่าโง่เง่า

เพลงที่นี่ ไม่หวาน เหมือนบ้านเรา ใครไม่เข้า ถึงพอ เขาเยาะเย้ย

นี่จะให้ อะไร กันบ้างไหม มหาวิทยาลัย ใหญ่ โตเหวย

แม้นท่าน มิอาจให้ อะไรเลย วานนิ่งเฉย อย่าบ่น อย่าโวยวาย

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึง มาหา ความหมาย

ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว

มืดจริงหนอ สถาบัน อันกว้างขวาง ปล่อยฉัน อ้างว้าง ขับเคี่ยว

เดินหา ซื้อปัญญา จนหน้าเซียว เทียวมา เทียวไป ไม่รู้วัน

ดอกหางนกยูง สีแดงฉาน บานอยู่ เต็มฟาก สวรรค์

เกินพอ ให้เจ้า แบ่งปัน จงเก็บกัน อย่าเดิน ผ่านเลยไป

เมื่อได้อ่านแล้ว น่าจะตกผลึกนึกคิดเองได้ว่า การบังคับแต่งเครื่องแบบเข้าเรียนเหมือนเด็กมัธยม สอดคล้องวิถีแห่งชาวธรรมศาสตร์หรือไม่..??