ข่าว
'สภารัฐเทนเนสซี'ผ่านร่างกฎหมาย ให้'ครู'พกปืนในโรงเรียนได้

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 สำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา รายงานข่าว Tennessee lawmakers pass bill allowing teachers, school staff to be armed ระบุว่า สภานิติบัญญัติแห่งมลรัฐเทนเนสซี ผ่านร่างกฎหมายที่อนุญาตให้ครูและเจ้าหน้าที่ในสถานศึกษาสามารถพกพาอาวุธปืนได้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา โดยผ่านขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1.เป็นบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืน 2.ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานศึกษา และหัวหน้าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

3.ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรงานตำรวจในสถานศึกษา เป็นเวลา 40 ชั่วโมง และฝึกอบรมมาตรฐานของเจ้าหน้าที่สันติภาพ 40 ชั่วโมง ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ โดยบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย 4.ต้องผ่านการคัดกรองประวัติ และ 5.ผ่านการตรวจคัดกรองด้านสุขภาพจิตที่ดำเนินการโดยผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่ได้รับการรับรองจากรัฐเทนเนสซี หลังจากนี้ ร่างกฎหมายจะถูกส่งไปยัง บิล ลี (Bill Lee) ผู้ว่าการรัฐเทนเนสซี หากผู้ว่าฯ ไม่ใช้อำนาจยับยั้ง ร่างกฎหมายก็จะมีผลบังคับใช้จริงทันที ไม่ว่าจะมีการลงนามจากผู้ว่าฯ หรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ การออกกฎหมายอนุญาตให้บุคลากรทางการศึกษาพกพาอาวุธปืนได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นในสังคมอเมริกัน ท่ามกลางเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นทั่วไปไม่ว่าในสถานศึกษา ขบวนพาเหรดในงานเทศกาลต่างๆ ศาสนาสถานและอื่นๆ อาทิ ในเดือน มี.ค.2566 เด็ก 3 คน และผู้ใหญ่ 3 คน เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมเอกชนแห่งหนึ่งในแนชวิลล์ ส่วนมือปืนซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาวัย 28 ปี ถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม

ตามข้อมูลจาก Gun Violence Archive ความรุนแรงจากอาวุธปืนเป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตเด็กในสหรัฐฯ โดยนับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2567 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกสังหารจากความรุนแรงด้วยอาวุธปืนแล้ว 436 ราย ขณะที่ 34 มลรัฐ มีกฎหมายห้ามบุคลากรทางการศึกษาและบุคคลทั่วไปนำอาวุธปืนเข้าไปในสถานศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

ภายใต้ร่างกฎหมายนี้ ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องรู้หรือได้รับแจ้งหากครูของบุตรหลานติดอาวุธ ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงสำหรับนักการเมืองฝ่ายคัดค้านร่างกฎหมายหลายราย อาทิ เราเมศ อัคบารี (Raumesh Akbari) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) รัฐเทนเนสซี พรรคเดโมแครต กล่าวว่า ที่รัฐนี้ครูไม่ได้รับอนุญาตให้ติดธงสีรุ้งบนโต๊ะ แต่กลับสามารถพกปืนได้ ขณะที่ พอล เบลีย์ (Paul Bailey) สว.รัฐเทนเนสซี พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนกฎหมาย กล่าวว่า มีข้อมูลที่คาดเคลื่อน กฎหมายไม่ได้เรียกร้องให้ครูพกปืนขณะทำงาน แต่เป็นเพียงการให้ทางเลือกกับคนเหล่านั้น

รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่อนุญาตให้พกพาอาวุธปืนในลักษณะเปิดเผยหรือสามารถมองเห็นได้โดยชัดเจน และไม่อนุญาตให้พกพาอาวุธปืนในในสนามกีฬา โรงยิม หรือหอประชุม ในกิจกรรมที่สถานศึกษาให้การสนับสนุนอยู่ระหว่างดำเนินการ และไม่อนุญาตให้พกพาอาวุธปืนเข้าไปในการประชุมที่เกี่ยวข้องกับวาระตำรงตำแหน่งหรือการดำเนินการนทางวินัย

ยึดคืน‘เมียวดี’ ‘ฝ่ายต่อต้าน’ล่าถอย!ยอมทิ้งเมือง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 นสพ. The New York Times สหรัฐอเมริกา รายงานข่าว Myanmar’s Junta Recaptures Town That Was a Significant Gain for Rebels ระบุว่า กองกำลังติดอาวุธกลุ่มกะเหรี่ยง KNU ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ออกมายอมรับว่า พันธมิตรฝ่ายต่อต้านจำเป็นต้องทิ้งเมืองเมียวดี ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจและจุดยุทธศาสตร์สำคัญบริเวณชายแดนเมียนมา-ไทย หลังกองทัพฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาระดมกำลังกลับมายึดเมืองคืนได้ หลังจากที่ฝ่ายต่อต้านได้เข้ายึดเมืองเมียวดีไว้เมื่อเกือบ 2 สัปดาห์ก่อน

ปัจจัยสำคัญมาจากการแปรพักตร์ของกองกำลังติดอาวุธกลุ่ม BGF ซึ่งก่อนหน้านี้เคยร่วมมือกับพันธมิตรฝ่ายต่อต้านเข้าตีเมืองเมียวดีเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2567 แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 มีรายงานว่า กลุ่ม BGF ได้ช่วยเหลือทหารฝ่ายรัฐบาลเมียนมาที่ติดค้างอยู่ ซึ่ง Saw Taw Nee โฆษกกลุ่ม KNU กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการตกหลุมพรางของศัตรู เราต้องถอนกำลังออกจากเมียวดีเป็นการชั่วคราว

นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารรัฐบาลจากการเลือกตั้งในปี 2564 การต่อต้านได้ลุกลามไปทั่วประเทศจากกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ และกองกำลังของชาวเมียนมาที่เรียกร้องประชาธิปไตย ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารได้เข้ายึดเมืองและฐานที่มั่นทางทหารหลายสิบแห่งในพื้นที่ชายแดนของเมียนมา แต่การยึดเมืองเมียวดีได้ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ขอฝ่ายต่อต้าน เนื่องจากเมืองดังกล่าวมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการนำเข้าและส่งออก โดยมีมูลค่าการค้าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 3.6 หมื่นล้านบาท) ในปี 2566 ที่ผ่านมา

โฆษกกลุ่ม KNU เปิดเผยว่า ตลอด 12 วันที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมา พยายามส่งกองทัพเจ้ามาตีเมืองคืน แต่ฝ่ายต่อต้านก็สามารถยันไว้ได้ด้วยยุทธวิธีสงครามกองโจร ขณะที่หลังจากนี้ บรรดานักรบฝ่ายต่อต้านที่ต้องออกจากเมือง ก็จะทำการซุ่มโจมตีฝ่ายรัฐบาลทหารต่อไปตามแนวถนน โดยสงครามกลางเมืองในเมียนมาที่กินเวลามานานหลายทศวรรษ กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างต่อสู้เพื่อเอกราชในพื้นที่ของตนเอง กระทั่งการรัฐประหารครั้งล่าสุด พวกเขาได้ร่วมมือกันต่อสู้โดยหวังให้เมียนมาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ

“ภารกิจของเราขยายออกไปเกินขอบเขตของเมียวดี เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเพื่อแทนที่ผู้ปกครองประเทศในปัจจุบันเท่านั้น เรามุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ เปลี่ยนแปลงระบบทุจริตทั้งหมดในประเทศ” โฆษกกลุ่ม KNU กล่าว

อีกด้านหนึ่ง ผู้สื่อข่าวนิวยอร์กไทมส์ พยายามติดต่อกับ Zaw Min Tun โฆษกฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อสอบถามสถานการณ์ แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ ขณะที่ Ko Zack หัวหน้าทีมกู้ภัยในเมืองเมียวดี กล่าวว่า ในช่วงที่ฝ่ายต่อต้านยังควบคุมเมืองเมียวดี ฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาได้ทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายทางพลเรือนในเมือง ซึ่งรวมถึงถนนและสถานีขนส่ง มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 30 คน


ทัพ'ทุเรียนไทย'เร่งสปีดบุกตลาดจีน ปลุกกระแสผู้บริโภคแห่ซื้อ

"กดเปิดแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนแล้วเลือกทุเรียนพันธุ์ที่ถูกใจ รออยู่ที่บ้านไม่เกินหนึ่งชั่วโมงก็ได้ทุเรียนอร่อยๆ มาแล้ว" คำบอกเล่าจากหวงหรงเซิง ชาวเมืองชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ผู้สั่งซื้อทุเรียนทางออนไลน์เป็นครั้งที่ 3 ในฤดูทุเรียนปีนี้

"ทุเรียนไทยพูสวยและรสชาติหวานมันกลมกล่อม" หวงกล่าว พร้อมเสริมว่าคนขายบางส่วนให้บริการสั่งทางออนไลน์และจัดส่งถึงที่หรือไปรับที่หน้าร้าน ทั้งยังมีการรับประกันการชดเชยหรือเปลี่ยนสินค้าที่เสียหายเพื่อควบคุมคุณภาพ ทำให้เลือกซื้อได้อย่างสบายอกสบายใจ

บ้านของหวงนั้นอยู่ไม่ไกลจากซูเปอร์มาร์เก็ตโลตัส มาร์เก็ต (Lotus Market) ที่ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ได้เปิดบูธวางจำหน่ายทุเรียนหลายพันธุ์นำเข้าจากไทยภายใต้แบรนด์ซีพี เฟรช (CP Fresh) ทั้งพันธุ์หมอนทอง พันธุ์พวงมณี และพันธุ์มูซังคิง โดยกลิ่นหอมเตะจมูกและรูปลักษณ์เตะตาดึงดูดผู้คนเดินเข้าดูและเลือกซื้อ

พนักงานประจำแผนกผลไม้ของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้เผยว่าตอนนี้ทุเรียนสดจากไทยทยอยเข้ามาตลาดจีนแล้ว แม้มีปริมาณจำกัดและราคาสูง แต่ยังคงเป็นที่นิยมชมชอบของเหล่าผู้บริโภคเหมือนเดิม โดยทุเรียนหมอนทองได้รับความนิยมมากที่สุด และมักจำหน่ายทางออนไลน์จนหมดตั้งแต่ช่วงเย็น

ทั้งนี้ ทุเรียนในภาคตะวันออกของไทยจะเริ่มถูกเก็บเกี่ยวขนานใหญ่ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ก่อนทยอยขนส่งสู่ตลาดจีนทางถนน รถไฟ เรือ และเครื่องบินแบบแบ่งล็อตตั้งแต่กลางเดือนเมษายน โดยได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ไทยถือเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดสู่จีนเจ้าแรกและเจ้าใหญ่ที่สุด โดยความนิยมมาเนิ่นนานและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดจีนช่วยอัดฉีดแรงกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ นำพาโอกาสทางธุรกิจมาสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง

โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรแห่งหนึ่งของกว่างซี กล่าวว่าตั้งแต่เข้าเดือนเมษายน บริษัทของเขานำเข้าทุเรียน 50 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ตอนแรกมีแค่พันธุ์กระดุมทองก่อนจะเพิ่มพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก และมองว่าทุเรียนไทยจะยังคงเป็นที่นิยมของตลาดจีนต่อไปในปีนี้

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โม่เพิ่งเดินทางเยือนจังหวัดจันทบุรีเพื่อสั่งซื้อทุเรียน โดยบริษัทของเขาทำธุรกิจนำเข้าผลไม้ปริมาณมากจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจนก่อเกิดห่วงโซ่อุปทานทุเรียน มะพร้าว และผลไม้อื่นๆ ในช่วงหลายปีมานี้ ขณะเดียวกันยังจัดจำหน่ายทุเรียนไทยผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและซูเปอร์มาร์เก็ต นอกเหนือจากการขายส่ง

ยอดจำหน่ายทุเรียนที่เฟื่องฟูช่วยเพิ่มความมั่นใจของผู้ประกอบการในการวางแผนจัดจำหน่ายในปี 2024 ดังเช่นไล่ผิงเซิง ประธานบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรในกว่างซี สังกัดซีพี กรุ๊ป (CP Group) เผยแผนการนำเข้าทุเรียนไทย 3,000 ตู้ โดยส่วนหนึ่งจะถูกจัดจำหน่ายในกว่างซีราว 324 ตัน ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าเป้าหมาย 600 แห่ง

โม่เสริมว่าตอนนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นไม่หยุดเช่นเดียวกับความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่ขยับขยายต่อเนื่อง ส่วนทุเรียนไทยจะยังคงเป็นดาวเด่นในตลาดจีนต่อไป และคาดว่ายอดจำหน่ายทุเรียนไทยในตลาดจีนจะแตะระดับสูงสุดภายในเดือนพฤษภาคมนี้


เผยตัวเลข'นักท่องเที่ยวจีน'ครองแชมป์'เที่ยวไทย'มากสุดในช่วงสงกรานต์

24 เม.ย.67 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยรายงานจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเยือนไทย ช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 1-21 เม.ย.รวมอยู่ที่ 1.92 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.54 จากปีก่อน และรายได้ของช่วงเทศกาลดังกล่าวอยู่ที่ราว 1.4 แสนล้านบาท

รายงานระบุว่า จีนเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวขาเข้าชั้นนำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ รวมอยู่ที่ 395,830 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.16 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามด้วยมาเลเซีย (298,263 คน) อินเดีย (114,330 คน) รัสเซีย (104,538 คน) และเกาหลีใต้ (84,539 คน)

จำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากความพยายามของรัฐบาลในการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ซึ่งรวมถึงมาตรการฟรีวีซ่าและการผ่อนปรนขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง โดยข้อตกลงยกเว้นวีซ่าร่วมกันระหว่างไทยและจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มี.ค. ช่วยกระตุ้นความมั่นใจในการเดินทางระหว่างสองประเทศ

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่าเทศกาลสงกรานต์มีบทบาทสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว และการจัดงานในปีนี้ได้ยกระดับการนำเสนอวัฒนธรรมและประเพณีไทย ซึ่งดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกและเน้นย้ำความสามารถจัดงานระดับโลกของไทย

ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเยือนไทยในปีนี้สูงเกิน 11.29 ล้านคนแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายของทั้งปีที่กำหนดไว้ 35 ล้านคน

การท่องเที่ยวถือเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย และครองสัดส่วนราวร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะนักท่องเที่ยวชาวจีนเคยครองส่วนแบ่งราวร้อยละ 28 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเยือนไทยเกือบ 40 ล้านคนในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ในปี 2019

สุดสะพรึง! พายุทรายพัดถล่ม'กรีซ'ทั้งเมืองกลายเป็นสีส้ม

24 เม.ย.67 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กรีซเผชิญกับพายุทรายที่พัดพามาจากแอฟริกาเหนือ ส่งผลให้ท้องฟ้าทางตอนเหนือของประเทศ โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ปกคลุมไปด้วยสีส้มเข้ม

ลมแรงจากทางใต้ของประเทศกรีซพัดฝุ่นและทรายจากทะเลทรายซาฮาราเข้าปกคลุมกรุงเอเธนส์และเมืองอื่น ๆ ของประเทศเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ทำให้ท้องฟ้าในหลายพื้นที่กลายเป็นสีส้ม ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการระบุว่า เป็นหนึ่งในเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศนับตั้งแต่ปี 2018

เจ้าหน้าที่กรีซเตือนว่า ความเข้มข้นของฝุ่นอาจทำให้แสงแดดและทัศนวิสัยการมองเห็นลดลง ในขณะที่ระดับอนุภาคมลพิษที่เพิ่มขึ้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพด้วย

คอสตาส ลากูวาร์โดส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสภาพอากาศของหอดูดาวเอเธนส์ กล่าวว่า “นี่เป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดเกี่ยวกับความเข้มข้นของฝุ่นและทรายจากทะเลทรายซาฮารา นับตั้งแต่วันที่ 21-22 มี.ค. 2018 เมื่อฝุ่นทรายบุกเกาะครีต”

โดยประเทศกรีซต้องเผชิญกับไฟป่ารุนแรงทุกๆ หน้าร้อน โดยเมื่อปีที่แล้วไฟป่าที่เกิดขึ้น นับเป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปในรอบกว่า 200 ปี โดยสถานการณ์ไฟป่ารุนแรงเกิดจากปัจจัยของความแห้งแล้ง ประกอบกับอุณหภูมิในฤดูใบไม้ผลิที่สูงผิดปกติ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดไฟป่ารุนแรงได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ