ข่าว
ตุรกีคลั่ง!บุกพังกงสุลไทย ส่งชาว‘อุยกูร์’กลับไปให้จีน

ชาวตุรกีคลั่งบุกถล่มสถานกงสุลไทยในนครอิสตันบูล ไม่พอใจส่ง “ชาวอุยกูร์” กลับจีน หอบเอกสารเทเกลื่อนถนน ปลดธงไทย สถานทูตประกาศเตือนคนไทยระวังตัว-ทรัพย์สิน ปิดบริการกงสุลหลังมีข่าวม็อบจ่อบุกสถานทูตไทยกลางกรุงอังการา เตือนนักท่องเที่ยวไทยไปตุรกี แนะไกด์งดใช้ธงชาติไทยหวั่นซ้ำรอยชาวเอเชียถูกทำร้าย กระทรวงการต่างประเทศประสานให้ยกหูสายตรงผู้นำตุรกี สภาอุยกูร์โลกออกแถลงการณ์ จวกไทยละเมิดสิทธิมนุษยชน กล่าวหาไทยบังคับตัวส่งกลับ ยูเอ็นตื่น ไทยส่งอุยกูร์กลับจีน จี้ไทยสืบสวนและยึดหลักช่วยเหลืออย่างสากล ด้าน “บิ๊กตู่” ยันส่งอุยกูร์กลับตามกฎหมายพันธกรณี ชี้ทุกอย่างเป็นเรื่องของตุรกี วอนเห็นใจไทยประเทศเป็นกลาง สถานทูตเปิดฮอตไลน์รับแจ้งเหตุด่วน

ปัญหาผู้อพยพชาวอุยกูร์ ที่เดินทางเข้าประเทศ ไทยอย่างผิดกฎหมายและถูกทางการไทยส่งตัวกลับไปยังประเทศจีนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่พอใจของชาวมุสลิมในตุรกี จนกลายเป็นเหตุระทึกขวัญต่อสถานที่ราชการไทยในต่างแดน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเวลาเที่ยงคืนเศษวันที่ 9 ก.ค. (ประมาณเวลา 05.00 น. ตามเวลาไทย) ได้เกิดเหตุระทึกขวัญขึ้นกับสถานกงสุลไทยในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี กลุ่มผู้ชุมนุมชาวตุรกีกว่า 200 คน ได้บุกเข้าไปภายในอาคารสำนักงานสถานกงสุลไทยนครอิสตันบูล ใช้ไม้และก้อนหินทุบกระจกแตก รื้อทำลายข้าวของเครื่องใช้พังเสียหาย แสดงความโกรธแค้นต่อรายงานข่าวที่ว่า รัฐบาลไทยได้ส่งตัวผู้อพยพชาวมุสลิมอุยกูร์ในไทยกลับประเทศจีน

ต่อมาสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอังการา ประเทศตุรกี ได้โพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์ของสถานทูตฯ ประกาศเตือนคนไทยที่อาศัยอยู่ในตุรกี มีใจความว่า “เรียนพี่น้องชาวไทยในตุรกีทุกท่าน สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับข่าวสารว่า อาจจะมีการแสดงออกถึงความไม่พอใจไทย ในการดำเนินการเรื่องอุยกูร์ที่เข้าไทยโดยผิดกฎ หมาย ขอให้คนไทยในตุรกีระมัดระวังตัว เพิ่มมาตรการดูแลทรัพย์สินและร้านค้าของท่าน ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะให้ข่าวสารเป็นระยะ”

จากนั้น 1 ชั่วโมงถัดมา สถานทูตไทยประจำกรุงอังการา ได้ออกประกาศอีกครั้งว่า “ขอให้คนไทยเพิ่มความระมัดระวังตัว เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2558 ประมาณเที่ยงคืนเศษ (ตามเวลาตุรกี) สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่นครอิสตันบูล ถูกกลุ่มคนจำนวนหนึ่งบุกรุกเข้าไปในสำนักงาน มีการทำลายประตูและสิ่งของ เหตุการณ์นี้เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการดำเนินการของไทยเรื่องชาวอุยกูร์ ที่เข้าไทยโดยผิดกฎหมาย ขอให้คนไทยทุกคนระวังตัว หลีกเลี่ยงการกล่าวถึงหรือโต้เถียงใดๆ ในเรื่องนี้ และติดตามข่าวสารจาก สอท.โดยใกล้ชิด”

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ก.ค. สถานทูตไทยได้เคยออกประกาศ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกระแสต่อต้านจีน ต่อการกระทำของรัฐบาลจีนต่อชาวมุสลิมในจีน จนทำให้ชาวมุสลิมในตุรกีแสดงความไม่พอใจทั้งที่นครอิสตันบูล และกรุงอังการา โดยเตือนคนไทยให้เพิ่มความระมัดระวัง พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการชุมนุมมาครั้งหนึ่งแล้ว

ขณะที่สำนักข่าวโดแกนของตุรกี รายงานว่า การชุมนุมที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นการระบายความแค้นครั้งนี้ จัดขึ้นโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สมาคมการศึกษาชาวเติร์กตะวันออก โดยผู้ชุมนุมกว่า 200 คน ที่บุกเข้าไปภายในสถานกงสุล ได้ทำลายข้าวของ ปลดธงชาติไทย นำเอกสารมาเทเกลื่อนถนน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 9 คน แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นกรณีความวุ่นวายต่อเนื่องตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในตุรกี โดยก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจการกดขี่ชาวมุสลิมอุยกูร์ของรัฐบาลจีน ก็ก่อเหตุรุมทำร้ายกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าเป็นชาวจีน ขณะที่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านตุรกีก็ยังกล่าวสุมเชื้อไฟว่า เหตุรุมทำร้ายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะว่าทั้งชาวจีนและชาวเกาหลีใต้ตาตี่เหมือนกัน

อัยการยุ่นสั่งไม่ฟ้อง'บิ๊กแจ๊ด' เตรียมกลับ'ไทย'สัปดาห์หน้า

10 ก.ค.58 มีรายงานข่าวแจ้งว่า ทางอัยการของประเทศญี่ปุ่น ได้สั่งไม่ฟ้อง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในความผิดฐานพกพาอาวุธปืนที่สนามบินนาริตะ ของญี่ปุ่นแล้ว โดยทางอัยการญี่ปุ่นเตรียมแถลงข่าวชี้แจงลายละเอียด ขณะที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เตรียมได้ปล่อยตัว และเดินทางกลับประเทศไทยสัปดาห์หน้า

ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกระแสข่าวดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำยืนยันอย่างเป็นทางการจากญี่ปุ่น แต่มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะยกฟ้อง

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า สถานเอกอัคราชทูตไทยในกรุงโตเกียว ทราบเพียงว่าวันนี้อัยการญี่ปุ่นจะเบิกตัว พล.ต.ท.คำรณวิทย์ มาสอบปากคำเพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้สั่งคดี โดยอัยการจะต้องมีคำสั่งภายในวันจันทร์ที่ 13 ก.ค. นี้ เนื่องจากครบกำหนดกักตัว 20 วันตามกฎหมายญี่ปุ่น


หลักฐาน DNA คดีเกาะเต่า ตำรวจไทยทำหายหมดแล้ว

บีบีซี สื่อยักษ์ใหญ่อังกฤษ ประโคมข่าวทั่วโลก ตำรวจไทยทำหลักฐานสำคัญ ดีเอ็นเอในคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวอังกฤษ ที่เกาะเต่า ‘หายหมดแล้ว’ เหลือเพียงเอกสารผลการตรวจสอบดีเอ็นเอของ 2 ผู้ต้องหาชาวเมียนมาแสดงต่อศาลเท่านั้น

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 58 สำนักข่าวบีบีซี รายงานข่าวไปทั่วโลกว่า หลักฐานสำคัญ DNA (ดีเอ็นเอ) ในคดี น.ส.ฮานนาห์ วิทเธอร์ริดจ์ และนายเดวิด มิลเลอร์ สองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ถูกฆาตกรรมที่เกาะเต่า อ.พะงัน จ.สุราษฎร์ธานี หายหมดแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเผยกับนักข่าวบีบีซีว่า หลักฐานสำคัญในคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษไม่สามารถมีการตรวจสอบได้อีก เนื่องจากไม่มีหลงเหลืออยู่อีกแล้ว

บีบีซี ระบุว่า ดีเอ็นเอ ถือเป็นหลักฐานสำคัญในการฟ้องร้องดำเนินคดีชาวเมียนมา 2 คน ในข้อหาร่วมกันฆาตกรรม นายเดวิด มิลเลอร์ ชายหนุ่มชาวอังกฤษอายุ 24 ปี จากเมืองเจอร์ซีย์ และ น.ส.ฮานนาห์ วิทเธอร์ริดจ์ วัย 23 ปี จากเมืองนอร์ฟอล์ก

นายซอลิน หนึ่งในสองผู้ต้องหาร่วมกันฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวอังกฤษนั่งอยู่บนรถของเรือนจำอำเภอเกาะสมุย

โดยที่ผ่านมา จำเลยชาวเมียนมาทั้งสองคน คือ นายเวพิว หรือวิน อายุ 21 ปี และนายซอลิน หรือโซเลน อายุ 21 ปี ต้องการให้มีการตรวจสอบผลดีเอ็นเอของพวกเขาใหม่ ขณะที่ผู้ต้องหาชาวเมียนมาทั้งคู่ได้ปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้เป็นฆาตกร ที่ร่วมกันก่อเหตุฆ่า ข่มขืน และปล้นชิงทรัพย์ตามข้อกล่าวหา ในระหว่างการนำตัวขึ้นศาลเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่สอง

บีบีซี รายงานด้วยว่า ผู้พิพากษาในคดีดังกล่าว กำลังมีการตัดสินใจว่า หลักฐานดีเอ็นเอของนายเวพิว และนายซอลินนั้นผ่านการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระหรือไม่ ขณะที่ตำรวจไทยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตรวจสอบและเก็บดีเอ็นเอของสองผู้ต้องหาชาวเมียนมา ที่สถาบันนิติเวชวิทยา ของโรงพยาบาลตำรวจ โดยดีเอ็นเอ ของนายเวพิว และนายซอลิน ตรงกับดีเอ็นเอที่พบในร่างของ น.ส. วิทเธอร์ริดจ์

จากคำเปิดเผยของ พ.ต.ท.สมศักดิ์ ซึ่งนำทีมสอบสวนในตอนแรก กล่าวกับนักข่าวบีบีซีว่า ตัวอย่างดีเอ็นเอบางส่วนได้ถูกใช้ไปแล้ว ขณะที่เส้นผมที่พบในมือของ น.ส.วิทเธอร์ริดจ์ ผู้ตาย ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักฐานในคดีนี้ก็หายไป โดย พ.ต.ท.สมศักดิ์์ยังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยสามารถเสนอหลักฐานต่อศาล เป็นเอกสารผลการตรวจสอบดีเอ็นเอเท่านั้น ‘ไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้ว เมื่อพวกเราได้มีการตรวจสอบดีเอ็นเอในตอนแรก’ พ.ต.ท.สมศักดิ์กล่าว

ด้าน โจนาห์ ฟิเชอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำเมียนมา ซึ่งเดินทางมาติดตามความคืบหน้าของการดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดเกาะสมุย ยังรายงานว่า หลักฐานดีเอ็นเอนั้น ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่สุดในคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและสับสน และตอนนี้ หลักฐานดีเอ็นเอไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างอิสระได้อีกต่อไป

พ่อของ น.ส.ฮานนาห์ วิทเธอร์ริดจ์ (สวมสูทคนซ้ายมือ) มาร่วมรับฟังการสืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดเกาะสมุย เป็นวันที่สอง

นักข่าวบีบีซียังชี้ว่า จากการที่ดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในคดีนี้ได้หายไปถือเป็นการสนับสนุนข้อโต้แย้งของกลุ่มคนที่เชื่อว่า ผู้ต้องหาชาวเมียนมาทั้งสองคนถูกใส่ร้ายโดยเจ้าหน้าที่ทางการไทย

บีบีซี รายงานด้วยว่า นายซอลิน และนายเวพิว ชาวเมียนมา อายุ 22 ปีเท่ากัน ได้ถูกตำรวจไทยจับกุมในอีกหลายสัปดาห์ต่อมา หลัง น.ส.ฮานนา วิทเธอร์ริดจ์ และนายเดวิด มิลเลอร์ ถูกฆาตกรรมจนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 57 โดยตอนแรก ชาวเมียนมาทั้งสองให้การรับสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยว่าได้ร่วมกันฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ก่อนที่ต่อมา จะกลับคำให้การ โดยยืนยันว่าพวกเขาทั้งคู่บริสุทธิ์ ไม่ได้ร่วมกันก่อคดีฆาตกรรมตามข้อกล่าวหา ขณะที่ทนายความของสองจำเลยชาวเมียนมายังระบุว่า ลูกความของตนถูกใส่ความ พร้อมกันนั้น บีบีซียังระบุทิ้งท้ายว่า คำตัดสินในคดีนี้คาดว่าจะไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคมปีนี้


ผบ.ตร.แถลง สาวกุข่าวนายกฯ โอนเงินหมื่นล้านรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ผบ.ตร.แถลง สาวกุข่าวนายกฯ โอนเงินหมื่นล้านบาทไปสิงคโปร์ อ้าง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยัน ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.116 ยัน โยงเครือข่ายของ นายเอนก ซานฟราน ผู้ต้องหากระทำผิด ม.112 ที่หลบหนีอยู่

วันที่ 10 ก.ค. 58 เจ้าหน้าที่ทหารคุมตัว นางรินดา ปฤชาบุตร ผู้ต้องหาคดีโพสต์ข้อความกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมภรรยา โอนเงินไปยังประเทศสิงคโปร์ จำนวนหมื่นล้านบาท ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวน โดยมี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. รับมอบตัวสอบปากคำที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หลังจาก นางรินดา โพสต์ส่งต่อข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ "รินดา พรศิริพิทักษ์" เมื่อวันที่ 6 ก.ค.58 อันเป็นข้อความเท็จ ซึ่งมีความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และผิดตามมาตรา 116 และผิดตามมาตรา 348 ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ โดยนางรินดา ถูกจับกุมได้ตามหมายศาลทหาร ที่บ้านพักย่านคลองหลวง จ.ปทุมธานี

จากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหามีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม นปช. ในพื้นที่ปทุมธานี นอกจากนี้ ยังพบว่ามีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายของ นายเอนก ซานฟราน ผู้ต้องหากระทำผิดมาตรา 112 ที่ยังหลบหนีอยู่

พล.ต.อ.สมยศ ระบุว่า นางรินดา เป็นผู้ที่โพสต์ข้อความมาโดยตลอด ซึ่งนางรินดา ยอมรับว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงฝากไปยังประชาชนให้ระมัดระวังในการโพสต์หรือส่งต่อข้อความที่มีความสุ่มเสี่ยง และให้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพที่ไม่ควรไปละเมิดผู้อื่น ซึ่งถ้าผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดำเนินการอย่างเด็ดขาด

นางรินดา ยอมรับว่า ตนเองนั้นเป็นผู้โพสต์ข้อความจริง โดยได้มาจากการที่มีบุคคลอื่นแชร์ข้อความผ่านไลน์มา ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายชาติบ้านเมือง แต่คิดว่าตนเองในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็น ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลสาธารณะ แต่ยอมรับว่า มีข้อความถ้อยคำที่ทำให้คนอื่นได้รับผลกระทบ ฉะนั้น จึงฝากเตือนไปยังผู้ใช้โซเชียลมีเดียให้ระมัดระวังเนื่องจากมีความละเอียดอ่อน ซึ่งที่ผ่านมาตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญในการเล่นโซเชียลมีเดีย โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวอดีตสามีเป็นผู้ใช้งาน จึงไม่รู้ว่ามีกลุ่มลับหรือเพจต่างๆ ที่สามีไปเป็นสมาชิกไว้ หรือเป็นเครือข่าย.


ศปป.ไม่กดดัน “ปู” ร่วมเวทีปรองดอง “มาร์ค” ตอบรับจ้อระบบราชการไทย

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)กล่าวถึง กรณีที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูป (ศปป.) เชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มาออกรายการเดินหน้าปฎิรูป ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และ เอ็นบีที ว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะทางศูนย์ปรองดองมีตั้งใจเชิญอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายอภิสิทธิ์ มาร่วมแสดงความคิดเห็นและระดมความคิด เพื่อสร้างความปรองดองสู่การปฎิรูปประเทศ แต่เมื่อได้รับการตอบรับที่ดี จากหัวหน้าพรรคการเมือง ที่จะมาให้ความร่วมมือสร้างความปรองดองเป็นเรื่องที่น่ายินดี โดยทางนายอภิสิทธ์ก็ได้ตอบรับ และจะมาร่วมออกรายการเพื่อหาทางทางแก้ไขปัญหาประเทศ ในวันที่ 13 ก.ค. หัวข้อปัญหาในระบบราชการไทย

“เราไม่ได้พุ่งประเด็นว่าต้องเป็นคุณยิ่งลักษณ์และคุณอภิสิทธิ์ แต่เมื่อคุณอภิสิทธ์ มีความพร้อมและตอบรับมาก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะช่วงที่ผ่านมาผมก็เชิญท่านมาให้ข้อคิดเห็น 2 ครั้ง ท่านก็มาตลอด มาให้ข้อคิดที่ดีและเป็นประโยชน์ ในส่วนของคุณยิ่งลักษณ์เอง ขณะนี้เรายังไม่ได้เชิญ เพราะมองว่าเหมือนท่านยังไม่พร้อม แต่หากมีประเด็น หรือเรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกับตัวท่าน ก็จะเชิญก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสมและความพร้อมของท่านด้วย ยืนยันว่าไม่ได้กดดัน หรือบีบให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องมา แต่หากท่านพร้อมทางศปป.ก็พร้อมจะต้อนรับ และในระหว่างนี้ทางศปป. ก็เชิญอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์มาก่อน โดยที่ผ่านมาก็มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาร่วมแสดงความคิดเห็นไปแล้ว” พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าว

พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การพูดคุยในรายการเดินหน้าปฏิรูป 1 ชั่วโมง ถือว่ายังน้อยเกินไป ที่จะให้ทุกท่านได้พูดครบทุกแง่มุม เพราะบางท่านก็มีความคิดเห็นที่ไม่ลงตัว อาจต้องเชิญมาใหม่อีกรอบ เพื่อจะได้ข้อมูลและรายละเอียดที่สมบูรณ์

ผจก.ร้านบอนกาแฟ แจง บิลค่าคุยธุระ 1 พันบาท

โลกออนไลน์แชร์ว่อน บิลร้านกาแฟเรียกเก็บค่านั่งคุยธุระ ชั่วโมงละ 1 พันบาท ขณะที่ผู้จัดการร้านชี้แจง ลูกค้าขอปฏิเสธการจ่าย ทางร้านก็ไม่ได้เรียกเก็บแต่อย่างใด ชี้หากไม่มีมาตรการนี้ทางร้านอาจอยู่ไม่ได้...

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. จากกรณีที่โลกออนไลน์แห่แชร์ภาพใบเสร็จร้านกาแฟ 'บอนกาแฟ' สาขาหนึ่ง โดยผู้โพสต์ระบุว่า "เมื่อวานผมเดินทางเข้ากทม.เพื่อทำธุระ มีเวลาว่างเลยแวะทานกาแฟ (มีคุยธุระเป็นปกติของคนทานกาแฟ) นั่งทานทั้งหมด 4 คน นั่งอยู่ได้ประมาณชั่วโมงกว่าๆ จึงเรียกพนักงานมาเก็บเงิน หลังจากนั้น พนักงานแจ้งว่ามีคุยธุระการงาน ‪‎ขอเรียกเก็บเงินค่าคุยธุระชั่วโมงละ‬ 1,000 บาท รวม 2 ชั่วโมง ‎สรุปคิดค่านั่งในร้านเพิ่ม 2,000 บาท‬ เป็นค่านั่งคุยธุระการงานในร้าน ผมควรทำอย่างไรดี ครับ พี่ๆน้องๆ กินกาแฟยุคนี้มีค่านั่งคุยด้วย ‎เงินส่วนที่เก็บเพิ่มเค้าเรียกว่า‬ "open food" ครับ เค้าไม่ได้ติดไว้ที่หน้าร้านแต่ทำเป็นกระดาษแผ่นเล็กมากๆ วางไว้บนโต๊ะ ซึ่งถ้าไม่สังเกตให้ดีจะมองไม่เห็นเลยครับ เพราะบนโต๊ะมีอุปกรณ์ต่างๆ วางอยู่ จนบังไม่เห็นกระดาษเล็กๆ แผ่นนี้

ล่าสุด สายตรวจโซเชียล ได้ลงพื้นที่ร้านบอนกาแฟวีโน่ ที่เป็นสาขาต้นเรื่อง ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารเมืองไทยภัทร ย่านรัชดาภิเษก ทางคุณภาวิณี เขตพนาสัณฑ์ ผจก.ทั่วไป บริษัทบอนกาแฟ ได้เปิดเผยว่า "เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ก.ค. มีลูกค้าเขามานั่งคุยกันจริง ตั้งแต่เวลา 15.40 - 18.20 น. ซึ่งทางร้านต้องขอเรียนว่าใบเสร็จดังกล่าวเป็นของจริง แต่วันดังกล่าวลูกค้าขอปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งทางร้านก็อนุโลมไม่เรียกเก็บค่าคุยธุระดังกล่าวแต่อย่างใด ก่อนออกใบเสร็จให้ใหม่ ซึ่งเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 260 บาท และทางร้านได้มีป้ายขอความร่วมมือติดไว้อยู่บนโต๊ะ หากฝ่าฝืนใช้ประชุม ทำงาน ขายตรงฯ ทางร้านจะขอเรียกเก็บ 1,000 บาท โดยจุดประสงค์หลักเพื่อสงวนสิทธิ์ ป้องกันลูกค้าท่านอื่นเสียโอกาสการใช้บริการ ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวมีมานานแล้ว เนื่องจากที่ตั้งของทางร้านอยู่ในย่านธุรกิจ มีบริษัทสำนักงานมากมาย หากเจอลูกค้าประเภทใช้พื้นที่ผิดจุดประสงค์จำนวนมาก ถ้าไม่มีมาตรการนี้คงอยู่ไม่ไหว สำหรับหลังจากนี้จะยังคงป้ายดังกล่าวไว้ แต่จะเอาจำนวนเงินออก หากไม่ได้ผล จะเดินไปขอความร่วมมือ ขอยืนยันว่าทางร้านไม่ได้มีจุดประสงค์ตั้งใจจะเก็บเงินการคุยธุระแต่อย่างใด"