ข่าว
โรฮีนจาในบังกลาเทศ ทะลุ 1 ล้านคน-เริ่มส่งกลับสัปดาห์หน้า

ธากา/สหประชาชาติ (เอเอฟพี/รอยเตอร์)-ผู้อำนวยการฝ่ายทะเบียนโรฮีนจาในบังกลาเทศกล่าวว่า บังกลาเทศมีชาวโรฮีนจากว่า 1 ล้านคน แล้วที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพใกล้ชายแดนเมียนมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากเกินคาด ขณะกำลังเตรียมกระบวนการส่งกลับในสัปดาห์หน้า

ผู้อำนวยการฝ่ายทะเบียนโรฮีนจาในบังกลาเทศกล่าวว่า บังกลาเทศมีชาวโรฮีนจากว่า 1 ล้านคน แล้วที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพใกล้ชายแดนเมียนมาซึ่งเป็นตัวเลขที่มากเกินคาด สูงกว่าที่สหประชาชาติประเมินไว้ว่าอยู่ที่ 962,000 คน ซึ่งรวมถึงผู้อพยพจำนวนกว่า 655,000 คนที่เดินทางเข้าบังกลาเทศนับตั้งแต่ 25 สิงหาคมปีก่อน ช่วงกองทัพเมียนมาปราบปรามกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮีนจา กองทัพบังกลาเทศเริ่มลงทะเบียนบันทึกผู้ลี้ภัยเมื่อปีที่แล้วภายหลังการอพยพออกจากเมียนมาครั้งใหญ่ล่าสุดของชาวโรฮีนจา การบันทึกจำนวนผู้อพยพส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการส่งกลับผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการโต้เถียงกันเพราะผู้อพยพส่วนใหญ่ไม่ต้องการเดินทางกลับ เนื่องจากผู้อพยพบางส่วนอาศัยอยู่ในบังกลาเทศมานานหลายปีแล้ว แต่ข้อตกลงในการส่งกลับครอบคลุมเฉพาะผู้อพยพที่เดินทางมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่บังกลาเทศกล่าวว่า ฝ่ายบังกลาเทศต้องการเริ่มกระบวนการส่งกลับในสัปดาห์หน้า หลังจากบรรลุความตกลงในเบื้องต้นกับเมียนมาตามแผนส่งกลับชาวโรฮีนจาให้เสร็จภายใน 2 ปี

ในอีกด้านหนึ่ง นายอันเดร มาเฮซิคโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์แถลงว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์ไม่ได้รับเชิญให้เข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา ทั้งๆ ที่ยูเอ็นเอชซีอาร์และหน่วยงานหุ้นส่วนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องลงพื้นที่ในรัฐยะไข่ โดยไม่ถูกขัดขวางเพื่อเข้าไปประเมินสถานการณ์และให้การช่วยเหลือในเรื่องที่จำเป็น นอกจากนี้ ยูเอ็นเอชซีอาร์ยังคาดหวังด้วยว่าการเดินทางกลับไปรัฐยะไข่ของชาวโรฮีนจาควรเป็นไปโดยความสมัครใจ ขณะที่นายอันโตนิโอกูเตียร์เรซ เลขาธิการสหประชาชาติ เห็นว่ายูเอ็นเอชซีอาร์ควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่เรื่องการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา เพื่อให้ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล

โกหกให้เนียนหน่อย! วัฒนาซัดบิ๊กป้อมอย่าดูถูกสติปัญญาปชช.-เสียชื่อพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์หมด

18 ม.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (17 ม.ค.) นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Watana Muangsook ระบุว่า "โกหกให้เนียนหน่อย"

เช้าวันนี้ผมไปขึ้นศาลทหารในคดีที่ คสช.ส่งคนมาอุ้มผมไปควบคุมที่ พล.ร.9 เนื่องจากผมโพสต์ข้อความเมื่อสงกรานต์ปี 2559 ว่า "ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" การที่ผมยังต้องขึ้นศาลทหารคือการประจานรัฐบาลที่ออกมติ ครม.ให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ เพราะการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารขัดต่อข้อ 10 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

พฤติกรรมของ คสช.และรัฐบาลคือการพูดอย่างทำอย่าง เช่น ขอเวลาอีกไม่นานแต่จนบัดนี้เกือบ 4 ปี ยังไม่มีทีท่าจะคืนอำนาจ หรือสร้างภาพเป็นรัฐบาลปราบโกง ถึงขนาดออกคำสั่ง คสช.ที่ 127/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ จากนั้นออกคำสั่งที่ 1/2558 แต่งตั้งตัวเองเป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนพลเอกประวิตรเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการ ทั้งหมดคือการสร้างภาพเพราะทั้งประธานและที่ปรึกษาไม่สามารถตอบคำถามเรื่องนาฬิกา 25 เรือน (ข้อมูลสิ้นสุดวันนี้) ให้ประชาชนเชื่อถือได้ คำตอบที่ว่านาฬิกาทั้งหมดเป็นของเพื่อนที่ยืมมาใส่ไม่มีใครเชื่อ

พลเอกประวิตรคงคิดว่าประชาชนโง่เหมือน ป.ป.ช.ที่อดีตเลขาของตัวทำหน้าที่เป็นประธาน ตามภาพถ่ายนาฬิกาทั้ง 25 เรือนที่โพสต์มา มีนาฬิกาชนิดที่สายเป็นโลหะซึ่งต้องตัดสายให้พอดีกับขนาดข้อมือเจ้าของถึง 12 เรือน หากนาฬิกาเป็นของเพื่อนพลเอกประวิตรจริง เพื่อนทุกคนจะต้องมีรูปร่างเหมือนกันมีขนาดแขนเท่ากับขาเหมือนพลเอกประวิตร จึงจะมีขนาดข้อมือเท่ากันให้พลเอกประวิตรยืมมาใส่ได้ ที่น่าแปลกคือนาฬิกาทั้ง 25 เรือนมีขนาดสายพอดีกับข้อมือพลเอกประวิตรทั้งหมด อย่าลืมหาเพื่อนที่รูปร่างเท่ากับตัวเองมาแสดงด้วย การพูดว่าถ้า ป.ป.ช.บอกว่าผิดก็พร้อมออกไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไรเลย เพราะประธาน ป.ป.ช.ก็คืออดีตเลขาหน้าห้องของพลเอกประวิตร ทั้งยังมีคุณสมบัติต้องห้ามไม่ให้เป็น ป.ป.ช.ก็ยังแต่งตั้งกันเข้ามา ผมขอเตือนพลเอกประวิตรในฐานะคนเคยคุ้นเคยกันว่า หากรักจะโกหกต้องให้เนียนไม่งั้นจะกลายเป็นการดูถูกสติปัญญาของประชาชน เสียชื่อพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์หมด เพราะพยัคฆ์แปลว่าเสือมันกล้าสู้กล้าเผชิญหน้า ไม่หนีหรือซุกหัวหลุบหาง ประเภทโดนแล้วร้องหรือต้องวิ่งหนีนักข่าวเค้าไม่เรียกพยัคฆ์นะครับ ส่วนจะเรียกว่าบูรพาพยัคฆ์หรือบูรพาอะไรก็ไปถามประชาชนแล้วกัน


เคาะแล้ว! ค่าจ้างขั้นต่ำ 77 จังหวัด ขยับสูงสุด 22 บาท

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 17 มกราคม มีการประชุมคณะกรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 โดย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เปิดเผยหลังการประชุมซึ่งใช้เวลานานกว่า 7 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด โดยมีการปรับค่าแรงต่ำสุด 5 บาท และสูงสุด 22 บาท ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 315.97 บาท แบ่งเป็น 7 อัตรา ดังนี้

1.อัตราขั้นต่ำ 308 บาท ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี

2.อัตราขั้นต่ำ 310 บาท 22 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ลำพูน สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ศรีษะเกศ ตาก ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ระนอง มหาสารคาม ชุมพร สตูลตรัง แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง นครศรีธรรมราช และหนองบัวลำภู

3.อัตราขั้นต่ำ 315 บาท 21 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด นครสวรรค์ พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุ โลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ กาญจนบุรี อ่างทอง สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และน่าน

4.อัตราขั้นต่ำ 318 บาท 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี และจันทบุรี

5.อัตราขั้นต่ำ 320 บาท 14 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ขอนแก่น กระบี่ นครราชสีมา พังงงา เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี และตราด

6.อัตราขั้นต่ำ 325 บาท 7 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ฉะเฉิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี และนครปฐม

7.อัตราขั้นต่ำ 330 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง

ทั้งนี้จะมีการนำข้อสรุปดังกล่าวเสนอให้ รมว.แรงงาน พิจารณาภายในวันที่ 18 มกราคม และคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้มีผลบังคับในวันที่ 1 เมษายน 2561 โดยไม่มีผลย้อนหลัง เนื่องจากไม่ต้องการให้นายจ้างได้รับผลกระทบ ในขณะเดียวกันลูกจ้างก็ปรับขึ้นค่าแรงซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย

นายจรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้สามารถใช้ค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า และในส่วนของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไป ให้มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้ชัดเจนว่าแต่ละปีจะมีการปรับขึ้นท่าไหร่ เป็นการรับประกันว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปี ส่วนกระทรวงก็จะต้องไปแก้กฎหมายรองรับต่อไป


'เกาหลีเหนือ -ใต้'รวมทีม แข่งโอลิมปิก-เดินพาเหรดใช้ธงผืนเดียวกัน

18 ม.ค.61 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะส่งนักกีฬาลงแข่งขันกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งหญิง ในนามทีมเดียวกัน สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ที่เมืองเปียงชาง ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 9-25 ก.พ. นี้ และจะเดินพาเหรดภายใต้ธงเอกภาพผืนเดียวกัน (ธง ฮันบันโดกี) ในช่วงพิธีเปิดการแข่งขัน

โดยเกาหลีเหนือจะส่งคณะผู้แทน ประกอบด้วยสมาชิก 550 คน เชียร์ลีดเดอร์ 230 คน นักดนตรีวงออร์เคสตรา 140 คน และนักกีฬาเทควันโด 30 คน เดินทางมาเกาหลีใต้ 25 ม.ค.นี้ นอกจากนี้เกาหลีเหนือจะส่งเจ้าหน้าที่และนักกีฬา 150 คน เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก ที่เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพในช่วงวันที่ 8-18 มี.ค.เช่นกัน

ทั้งนี้ การทำข้อตกลงนี้ จะทำให้สองเกาหลีรวมทีมกีฬาด้วยกันเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่การแข่งขันเทเบิ้ลเทนนิสชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2534 และการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เยาวชนโลกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า แต่การรวมทีมกีฬาครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก

อย่างไรก็ตาม แม้มีการทำข้อตกลงระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ แต่การตัดสินใจสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกับสองเกาหลี ที่สวิตเซอร์แลนด์ในวันเสาร์นี้ เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการรวมสองเกาหลีให้เป็นทีมกีฬาเดียวกัน


ซ้ำรอยฮาวาย! สื่อดัง'ญี่ปุ่น'แจ้งเตือนผิดพลาด'โสมแดง'เตรียมยิงขีปนาวุธ

17 ม.ค.61 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน สถานีโทรทัศน์ชื่อดังของญี่ปุ่น เอ็นเอชเค ได้ประกาศแจ้งเตือนภัยการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือผิดพลาดเมื่อวานนี้ โดยได้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชันข่าวป้องกันหายนะของเอ็นเอชเคว่า เกาหลีเหนือเตรียมที่จะยิงขีปนาวุธ ขอให้ประชาชนหาที่หลบภัย ก่อนที่อีก 5 นาทีต่อมา สถานีได้ส่งข้อความแจ้งว่าเป็นความผิดพลาด พร้อมข้อความขอโทษ

ต่อมาผู้ประกาศข่าวของเอ็นเอชเครายงานในข่าวภาคค่ำ 21.00 น.ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอุปกรณ์ส่งสัญญาณข่าวด่วนผ่านอินเตอร์เน็ตทำงานผิดพลาด ทางเอ็นเอชเคขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง พร้อมกับโค้งคำนับแสดงการขอโทษ

ก่อนหน้านี้ เคยเกิดเหตุการแจ้งเตือนภัยขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือผิดพลาดมาแล้วที่ฮาวาย สหรัฐฯ โดยเกิดจากเจ้าหน้าที่กดปุ่มผิดพลาดระหว่างการซ้อมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ซึ่งสร้างความแตกตื่นตกใจให้กับประชาชนทั่วเกาะฮาวาย


จับอดีต CIA ต้องสงสัยขายความลับราชการให้จีน

18 ม.ค.61 เว็บไซต์ นสพ. The Guardian ของอังกฤษ รายงานเมื่อ 17 ม.ค.ตามเวลาท้องถิ่น ว่า Jerry Chun Shing Lee วัย 53 ปี อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกา (CIA) ถูกจับกุมในข้อหาลักลอบเก็บข้อมูลความลับทางราชการ อาทิ บันทึกข้อมูลทั้งชื่อจริงของสถานที่ประชุมวางแผนปฏิบัติการ รวมถึงหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ CIA ภาคสนามรายอื่นๆ โดยนาย Lee ถูกกักตัวไว้ที่สนามบิน JFK ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังเดินทางจากฮ่องกงกลับมาเข้ามาในสหรัฐ

ขณะที่สื่อท้องถิ่นของสหรัฐ อย่าง นสพ. The New York Times และ The Washington Post รายงานว่า นาย Lee ตกเป็นผู้ต้องสงสัยกรณีรายชื่อสายลับสหรัฐรั่วไหลไปอยู่ในมือหน่วยข่าวกรองจีน ช่วงปี 2553 - 2555 นำมาซึ่งการฆาตกรรมและจับกุมคุมขังชาวจีนหลายรายในจีน เนื่องจากถูกสงสัยว่าเป็นสายข่าวให้กับทางการสหรัฐ อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดนาย Lee จึงไม่ถูกจับกุมตั้งแต่ปี 2555 ทั้งที่สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) ค้นพบบันทึกของเขาในช่วงที่นาย Lee เดินทางไปมาระหว่างมลรัฐฮาวาย และเวอร์จิเนีย ในช่วงดังกล่าว

สำหรับนาย Lee นั้น เกิดและเติบโตในฐานะพลเมืองอเมริกัน เขาสมัครเข้าเป็นทหารก่อนที่หน่วยข่าวกรองจะชวนมาทำงานในปี 2537 จากนั้นเขาได้ลาออกในปี 2550 โดยหลังจากนั้นมีรายงานว่าเขาไปทำงานในบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการประมูลในฮ่องกง ขณะที่โฆษกของ CIA ปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เช่นเดียวกับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ก็กล่าวในทำนองเดียวกัน

'อินโดนีเซีย'ก็มีเหมือนกัน! หนุ่มถูกจำคุก18เดือน ฐานโพสต์หมิ่นปธน.

17 ม.ค.61 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน วัยรุ่นชาวอินโดนีเซียวัย 18 ปี จากเมืองเมดาน บนเกาะสุมาตรา ถูกพิพากษาให้จำคุก 18 เดือน ปรับเงินเป็นจำนวน 10 รูเปียห์ หรือราว 23,000 บาท แต่หากเขาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ จะถูกจำคุกเพิ่มเติมอีก 1 เดือน ฐานโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประมาทประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย และพล.ต.อ. ติโต คาร์นาเวียน ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยวัยรุ่นคนดังกล่าว มีชื่อย่อว่า MFB เขายอมรับคำตัดสินของศาลและไม่ประสงค์ยื่นอุทธรณ์ โดยเขาถูกจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน หลังสร้างบัญชีปลอมหลายบัญชีมาโพสต์ข้อความยั่วยุ หมิ่นประมาทต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดถือว่าเกิดขึ้นโดยเจตนา

ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศาลในจังหวัดจัมบิ บนเกาะสุมาตรา ได้พิพากษาจำคุกนักการเมืองรายหนึ่งเป็นเวลา 1 ปี หลังเขาโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาหมิ่นศาสนา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซีย ถูกพิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อการจับกุมผู้ที่โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาในเชิงหมิ่นประมาทผู้นำอินโดนีเซียหรือโพสต์ข้อมูลบิดเบือนลงบนสื่อออนไลน์ กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างออกมาประณามมาตรการดังกล่าว