ข่าว
ป.ป.ช.เล็งฟ้องเอง'ไร่ส้ม' ยันคำสั่งศาลปค.ไม่มีผล

27ก.ย.2556 ที่ห้องฟอร์จูน โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพฯ วันที่ 27 ก.ย.56 นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีกล่าวหาว่า บริษัท ไร่ส้ม จำกัด กล่าวถึงกรณีที่อัยการสูงสุด (อสส.) ตีกลับสำนวนคดีบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง ในฐานะผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท ปมเงินโฆษณาเกินเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมผลิตรายการกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 138 ล้านบาทว่า เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.)ส่งกลับมาก็แสดงว่ามีข้อไม่สมบูรณ์ และ อสส.ก็จะแจ้งรายชื่อกลับมาด้วยว่าจะส่งใครเข้ามาเป็นกรรมการร่วมกับป.ป.ช.ที่จะมีการพิจารณา ว่าจะแต่งตั้งใครเพื่อพิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่าคำสั่งของศาลปกครองจะนำมาประกอบการพิจารณาได้หรือไม่ นายภักดี กล่าวว่า การดำเนินการที่เกี่ยวกับการไต่สวนคดีถือว่าจบไปแล้ว ดังนั้น ป.ป.ช.จะพิจารณาในเรื่องข้อที่ไม่สมบูรณ์ที่ฝ่ายอัยการแจ้งมาว่ามีเรื่องอะไรบ้าง และข้อไม่สมบูรณ์จะทำให้สมบูรณ์ได้หรือไม่ ทั้งนี้ถ้าสามารถทำให้สมบูรณ์ได้โดยความเห็นร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย คือ อัยการ และป.ป.ช. ทางอัยการก็จะดำเนินการต่อไปเพื่อที่จะส่งฟ้องศาล แต่ถ้าคณะทำงานร่วมได้มีการพิจารณาร่วมกันแล้วยังมีประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ป.ป.ช.ก็ต้องส่งฟ้องเองตามหลักการ

เมื่อถามว่าคำตัดสินของศาลปกครองกลางที่ให้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินค่าโฆษณาส่วนเกินในสัญญาแก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด กว่า 55 ล้านบาทมีผลต่อคดีนี้หรือไม่ นายภักดี กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน

‘ถาวร'แฉไฟใต้ดับยาก หวังตั้งเขตปกครองพิเศษ

"ถาวร" จัดหนัก อัดยับรัฐละเลยแก้ปมไฟใต้ ชงข้อสังเกต เจรจาปาหี่เพื่อตั้งเขตปกครองพิเศษจังหวัดชายแดนใต้ ถาม "ทักษิณ" เปิดทางให้น้องจับมือมาเลย์ ยกระดับโจรใต้ เพื่อผลประโยชน์ร่วม ยกเขตเศรษฐกิจพิเศษ เอ็นเซอร์ มาเลย์...

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่สาขาพรรคประชาธิปัตย์ จ.สงขลา นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.)ว่า ปัญหาชายแดนใต้ ที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ การพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มขึ้น ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการสมคบกัน ที่เริ่มจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี เดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อพบกับมหาเธร์ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน โดยมีนายนัจมุดดีน อูมา เป็นผู้ประสานงานให้ โดยนายกฯไทยได้ไปลงนามในวันที่ 28 ก.พ.56 ยกระดับกลุ่มก่อความไม่สงบฯ ว่าน่าจะมีผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งก็เกิดขึ้นจริง

นายถาวร กล่าวต่อว่า ในการลงนามทำความตกลงกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ตนบอกว่านายฮัสซัน ตอยิบ น่าจะไม่ใช่ตัวจริง เพราะหลังจากลงนามแล้ว บ้านของนายนัจมุดดีนถูกยิง 3 ครั้งในฐานะเป็นผู้ประสาน ครั้งนี้ เหตุที่เกิดขึ้นเพราะฝ่ายที่ไม่ได้ร่วมกระบวนการพูดคุยเจรจาไม่พึงพอใจ และตนสงสัยว่า ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเขียนข้อเสนอให้บีอาร์เอ็นทั้ง 5 ข้อเสนอ เพราะมีสิ่งสะท้อนจากคำให้สัมภาษณ์เสียดินแดนของนายกฯมาเลเซีย นาจิป ราซัค จะพูดถึงเขตปกครองพิเศษ หรืออะโตนามี่ เช่นเดียวกับอดีตผู้นำอย่างมหาเธร์ ซึ่งพล.ท.ภราดร เลขาฯสมช.ก็พูดเช่นเดียวกันว่า จุดจบสุดท้ายน่าอยู่ที่การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาตอนเหนือของประเทศมาเลเซียที่เรียกว่า "เอ็นเซอร์" ซึ่งกำลังพัฒนาเป็นโซนอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษ หากมีการผนวกเป็นเขตปกครองตัวเองพิเศษ จะกลายเป็นรัฐกันชนที่มีความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติของมาเลเซีย จึงมีความพยายามที่จะรวม จ.สตูล ด่านสะเดา อ.สะเดา และอีก 5 อำเภอของ จ.สงขลา ให้อยู่ในเขตปกครองพิเศษดังกล่าวใช่หรือไม่ ขณะที่ทางตะวันตกของมาเลย์ก็จะมีเขตอาเจะ ตะวันออกเป็นมินดาเนา ที่มาเลเซียเป็นผู้รับเจรจาทั้งหมด

นายถาวร กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตเหล่านี้ ตนพูดด้วยความหวงแหนแผ่นดินไทยว่าไทยอาจเสียเขตแดนนี้ในช่วงที่รัฐบาลนี้รับผิดชอบและเปิดให้มีการเจรจาต่อรอง เหตุจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐไทยยินยอมตกลงกันอย่างลับๆ แต่ก็ยังสบายใจที่กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบก รวมถึงกองทัพภาค 4 ได้ออกมาปฏิเสธไม่เอาด้วยกับการตั้งเขตปกครองพิเศษ เช่นเดียวกับกับตัวแทนสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาพื้นที่จังหวัด ชายแดนใต้ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน 5 จังหวัด ไปแจ้งกับตัวแทนเจรจาว่าไม่เอาด้วยกับเขตปกครองพิเศษ

นายถาวร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมานายกฯไม่ได้บูรณาการสั่ง 17 กระทรวง 66 หน่วยงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวจริง มีการเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบถึง 4 คน ปัจจุบันเป็น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายมั่นคง โดยเฉพาะรองนายกฯสามคนที่ผ่านมาไม่สามารถสั่งงาน พ.ต.อ.ทวี ได้ เพราะรับคำสั่งสายตรงจากพ.ต.ท.ทักษิณ และนายกฯยิ่งลักษณ์ ตนคาดหวังในตัวพล.ต.อ.ประชา เพราะ พ.ต.อ.ทวี เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาก่อน จึงขอฝากถึงนายกฯว่า ควรสร้างความเป็นเอกภาพระหว่างฝ่ายสั่งการและฝ่ายปฏิบัติ โดยใช้การเมืองนำการทหาร แต่ปัจจุบันยังพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐยังใช้ความรุนแรงและวิธีการพิเศษ จึงทำให้เกิดการโต้ตอบเกิดเหตุรุนแรงต่างๆ

นายถาวร กล่าวว่า ทั้งนี้ ตนมีข้อฝากถึง พล.ต.อ.ประชา ที่ได้รับการแก้ไขปัญหานี้โดยตรง 1.สองปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลนี้ไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีนายกฯเป็นประธาน หากนายกฯไม่ร่วมประชุมก็มอบหมายให้ พล.ต.อ.ประชา เรียก 17 กระทรวง 66 กรม พร้อมทั้งศปก. กปต.ร่วมขับเคลื่อนบูรณาการในกาพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่ฟังปัญหาจากข้าราชการ 2.ให้เปิดสำนักงานรัฐมนตรีส่วนหน้าในสามจังหวัดชายแดนใต้ 3.พล.ต.อ.ประชาต้องลงในพื้นที่ 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้กำลังใจและความมั่นใจแก่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ และขอให้ดันเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นวาระแห่งชาติ และตนและฝ่ายค้านพร้อมจะให้ความร่วมมือเช่นเดียวกับที่เคยให้ความร่วมมือกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง โดยการมอบข้อมูลให้ 4.ขอให้พล.ต.อ.ประชา เชิญตำรวจ ทหารและข้าราชการที่รู้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นที่ปรึกษา โดยห้ามนำคนภาคอื่นที่ไม่ใส่ใจปัญหาแต่ต้องการเอาหน้าและตำแหน่งมาเป็นที่ปรึกษา หากปฏิบัติตามนี้เชื่อว่าเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้จะดีขึ้นกว่านี้.

'เติ้ง'ย้ำถกปฏิรูปฯรอบ2 เชิญบุคคลสำคัญเข้าร่วม

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 56 ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางเข้าพบ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้ประสานงานเวทีปฏิรูปหาทางออกประเทศไทย เพื่อหารือความคืบหน้าตั้งคณะงาน 3 ชุด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงนัดประชุมเวทีปฏิรูปหาทางออกประเทศไทยครั้งที่ 2 โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้น นายบรรหาร กล่าวว่า นายพงศ์เทพและนายวราเทพแจ้งว่า ขณะนี้ ได้รายชื่อคณะทำงานทั้ง 3 ชุดครบหมดแล้ว ส่วนตนกำลังสรุปข้อมูลจากการพบบุคคลต่างๆ เสนอต่อคณะทำงาน ขณะเดียวกัน นายพงศ์เทพและนายวราเทพ จะนำข้อมูลของคณะกรรมการแต่ละชุด อาทิ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดของ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ เสนอให้ที่ประชุมให้รับทราบ โดยเบื้องต้นตกลงกันว่าจะมีการประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 ต.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภาคเช้าจะประชุมเรื่องเศรษฐกิจ และภาคบ่ายจะประชุมเรื่องสังคม ส่วนวันที่ 9 ต.ค. ช่วงบ่ายจะประชุมเรื่องการเมือง แต่การประชุมทั้ง 2 วัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่ได้เข้าร่วมด้วย แต่นายกฯ จะเข้าประชุมด้วยต่อเมื่อเราได้ข้อสรุปทั้ง 3 ด้าน หรือประมาณช่วงกลางทาง ปลายทาง ยืนยันว่าการดำเนินการจะเป็นอิสระเดินทางสายกลาง เพราะนายกฯ เองไม่ได้กำหนด เพียงแต่อยากรู้ข้อมูลว่าทุกฝ่ายต้องการอะไร

นายบรรหาร กล่าวอีกว่า เมื่อประชุมไปสักระยะหนึ่งแล้วตนจะเดินไปเชิญบุคคลต่างๆ รอบสอง แต่จะเป็นคนเดิมที่เคยเชิญมาแล้วหรือไม่ยังไม่ทราบ อาจจะเป็นคนใหม่ก็ได้ เพื่อหาข้อมูลมาให้ครบ เรื่องสภาปฏิรูปไม่ควรเร่งรัด ต้องค่อยๆ เดินไปตามระยะเวลาที่กำหนดให้ เมื่อออกมาคงจะเป็นไปในทางที่ดี หาข้อยุติได้อาจจะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ตนคิดว่าผลตอบรับเรื่องนี้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว แม้นายกฯ จะบอกว่า 1 เปอร์เซ็นต์

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ขณะนี้ มีผู้ที่แสดงความจำนงจะอยู่ในคณะทำงานทั้ง 3 คณะ จำนวนมาก เช่น นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแต่ละคนสามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการได้มากกว่า 1 คณะ เบื้องต้นคณะกรรมการแต่ละชุดมีไม่ต่ำกว่า 40 คน และหลายคน ยังส่งข้อแนะนำเอกสารประกอบเสนอเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการประชุมกลุ่มย่อย เช่น นายโคทม อารียา และนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช.