บอกข่าวซานฟรานฯ
นายดาบ



บอกข่าวซานฟราน 13 เมษายน 2562

สงกรานต์ เป็นวันปีใหม่มีขนบธรรมเนียมประเพณีเกิดขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับฤดูกาลที่เราใช้เป็นปีใหม่

หลักเกณฑ์วันสงกรานต์นั้นได้อิงอยู่ ๓ เรื่องใหญ่ด้วยกัน แล้วก็กลายมาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยมาจนทุกวันนี้ คือ

๑. ใช้หลักธรรมชาติมาเป็นตัวตั้ง

๒. ใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมมาเป็นตัวตั้ง

๓. ใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้ง


ใช้หลักธรรมชาติมาเป็นตัวตั้ง

ปู่ย่าตาทวดของเราเวลาจะจัดงานอะไรจะอิงธรรมชาติ กล่าวคือในภูมิภาคของเราเป็นเขตร้อน วันสงกรานต์จึงจัดในฤดูร้อน ให้นึกถึงเมืองฝรั่งในยุโรป หรืออเมริกา ภูมิภาคของเขาเป็นเขตหนาว เพราะฉะนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีของเขา จึงจัดในฤดูหนาว เลยมีเรื่องเกี่ยวกับหิมะหรือเรื่องหนาวๆ แต่ปีใหม่ของเราเกิดขึ้นในฤดูร้อน เพราะฉะนั้น ขนบธรรมเนียมต่างๆ จึงอิงฤดูร้อน

ทำไมวันสงกรานต์จึงต้องเอา ฤดูร้อนเป็นตัวตั้ง ไม่เอาฤดูฝนหรือฤดูหนาว ทั้งๆ ที่ในย่านนี้มีถึง ๓ ฤดู?

พวกเราดูแล้วอาจจะเห็นเป็นเรื่องบังเอิญว่า ปู่ย่าตาทวดท่านคงอยากจะตั้งเอาฤดูร้อนเป็นวันปีใหม่ก็เลยตั้งขึ้นมา ถ้ามองอย่างนั้นก็ดูหมิ่นภูมิปัญญาบรรพบุรุษเกินไป

ในย่านนี้มีถึง ๓ ฤดู ฤดูฝนเป็นฤดูทำงาน แล้วฝนในย่านนี้ก็ตกหนัก ดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย การรวมคนจึงเป็นไปไม่ค่อยได้ ฤดูฝนห้ามเด็ดขาดอย่าไปทำอะไร และถ้าว่าไปในภูมิภาคนี้ เดือนจนหรือเดือนที่คนไม่มีเงิน คือเดือนต่างๆ ในฤดูฝน เงินทองทั้งหลายทุ่มลงไปในไร่ในนาหมดแล้ว แสดงว่าปู่ย่าตาทวดมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจดี ท่านจึงไม่เอาปีใหม่มาไว้ที่ฤดูฝน

ฤดูหนาวท่านก็ไม่เอา เพราะถ้าอากาศหนาวคนยังห่มคลุมโปงกันอยู่ เวลาลูกหลานเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งก็ไม่สะดวก อีกประการหนึ่ง ฤดูหนาวในเมืองไทยยังไม่ได้เก็บเกี่ยวพืชผล ยังเป็นฤดูจนของคนไทยอยู่

คนไทยเมื่อก่อนนี้ ปีหนึ่งทำนาเพียงครั้งเดียว จะเกี่ยวข้าวอยู่ประมาณเดือน ๓ พอเข้าเดือน ๔ จึงเกี่ยวข้าวเสร็จ พอขายข้าวแล้ว ใครอยากจะทำอะไรหรือมีงานรื่นเริงอะไรก็ทำไป ปีใหม่ของไทยจึงได้เริ่มที่นี่ ในปีหนึ่งก็มีเดือนจนเดือนรวย ฤดูจนฤดูรวย นี้คือภูมิปัญญาของปู่ย่าตาทวด อย่ามองข้ามเด็ดขาด นี้คือเหตุผลว่า ทำไมเขาเลือกเอา ฤดูร้อนเป็นปีใหม่


ใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมมาเป็นตัวตั้ง

เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน อุปสรรคก็คือความร้อน จึงต้องดับร้อนให้ได้ ถ้าดับร้อนกายไม่ได้แล้วจะร่าเริงได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จึงเกิดขนบธรรมเนียมประเพณีเรื่องดับร้อนขึ้นมา

วิธีดับร้อนก็มีตั้งแต่ดับร้อนกายแล้วก็มาดับร้อนใจ

ส่วนเรื่องของผู้ใหญ่ก็มีวิธีดับร้อนอยู่ ๒ เรื่อง คือ เรื่องการสงเคราะห์ผู้เฒ่า กับเรื่องปิดบัญชีที่กระทบกระทั่งกัน

การสงเคราะห์ผู้เฒ่าก็คือ ปีใหม่แล้วใครจะทำมาหากินที่ไหนก็กลับหมู่บ้านตัวเอง นำผ้าผ่อนท่อนสไบ ข้าวปลาอาหาร ไปเยี่ยมเคารพผู้เฒ่าที่เรานับถือ ด้วยความรักและคิดถึง

จากนั้นก็มาเรื่องของการงาน รดน้ำดำหัว เอาน้ำอบมารดขอขมาผู้ใหญ่ เจ้านาย ครูบาอาจารย์ ที่เคยล่วงเกินกันมา ที่ประมาทพลาดพลั้งไป มารดน้ำขอขมากัน


ใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้ง

คราวนี้พิธีกรรมทางศาสนาก็มา ท่านที่ ละโลกไปแล้ว ประเพณีของชาวพุทธจะทำบุญ อุทิศส่วนกุศลไปให้

แต่ละแห่งก็มีวิธีผูกกับพระรัตนตรัยหลายรูปแบบ ที่เราคุ้นกันมากที่สุดก็คือ ประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย หรือขนทรายเข้าวัด ด้วยเหตุผลอย่างน้อย ๒ ประการ คือ

๑. ให้ทรายกองนี้เอาไว้เป็นวัสดุก่อสร้าง ซ่อมแซมวัดต่อไป

๒. เมืองไทยโดยทั่วๆ ไปแล้ว โดยเฉพาะเขตภาคกลางเป็นดินเหนียว หน้าฝนเดินเข้าไปเขตวัดก็เหยียบโคลนเลอะเทอะ จึงเกิดประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย แล้วเอาทราย ไปเกลี่ยให้ทั่ววัด เวลาที่คนมาทำบุญจะได้ไม่สกปรกเท้า ในเวลาเดียวกันท่านก็อ้างให้ สมเหตุสมผลว่า ก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อบูชาพระจุฬามณี บูชาพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

นอกจากนี้ คนสมัยก่อน ก่อนที่จะออกจากวัดเขาจะถอดรองเท้ามาเคาะๆ กลัวดินจะติดรองเท้าไปเดี๋ยวจะกลายเป็นขโมยของสงฆ์แล้วจะบาป เป็นการฝึกลูกหลานให้ระมัดระวังในเรื่องของการทำบาป

ในการที่จะปลูกฝังศีลธรรมให้กับลูกหลาน ให้ปลูกฝังลงในชีวิตประจำวันนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติในแต่ฤดูกาล สิ่งแวดล้อมต่างๆ ในบ้านของเราหรือเทคโนโลยี ในยุคนี้มีอะไรก็เอามาบวกกับพระรัตนตรัยแล้วแปลสู่กิจวัตรประจำวันของเราให้ได้

แล้วจิตใจลูกหลานของเราจะหยั่งลึกไปในธรรมะของพระพุทธองค์ชนิดไม่ว่าใครจะมาพลิกแปรผันไม่ได้ สัมมาทิฏฐิจะหยั่งรากลึกลงไปในใจลูกหลานเราจนกลายเป็นการปิดนรกได้สนิท เปิดสวรรค์ เปิดพระนิพพานให้ทั้งตัวเราและลูกหลาน ให้กับอนุชนรุ่นหลังที่จะมารับมรดกตกทอดอันสำคัญที่สุดคือพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นแก่น เป็นหัวใจของแผ่นดินไทยสืบต่อไป