เราหายใจกันมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว ทำไมต้องมาฝึกหายใจกันตอนนี้อีก ก็จริงอยู่ แต่เราไม่รู้ว่า การฝึกหายใจตอนนี้ อาจจะช่วยแก้การกรน ผ่อนลมหายใจตอนสมาธิเอาออกซิเจนบริสุทธิ์เข้าสู่เซลล์ได้ผลขึ้น ช่วยให้หัวใจทำงานดีขึ้น ชะลอความจำเสื่อม รู้วิธีทำให้ร่างกายทำงานผ่านทางจักระสำคัญ 7 จุดของร่างกายสมดุลยิ่งขึ้น โชคดีไหมที่เราเกิดเป็นมนุษย์ มีโอกาสฝึกการหายใจที่ได้ผลต่อร่างกายและเซลล์ สุนัขของผู้เขียนตายจากการหายใจติดขัด เพราะทางเดินหายใจแคบ ผู้เขียนไม่รู้จะช่วยเหลือได้อย่างไรน่าเสียดาย
วิธีฝึกการหายใจ ผู้เขียนปรับปรุงและสอนเฉพาะแต่วิธีที่ดีที่สุด หลังจากที่รวบรวมมาจาก “ผู้รู้ทางสุขภาพ” ที่ผู้เขียนเรียนมาจากหลายท่าน ดังต่อไปนี้
เพื่อให้ง่ายต่อการฝึกหายใจประจำวันของผู้อ่าน ขอให้จำไว้ว่ามีอยู่ 6 วิธี แต่ละวิธีมี 6 ท่า เพื่อให้จำได้ง่าย ส่งเสริมวิธีสร้างความทรงจำ เป็นการชะลอโรคความจำเสื่อม ซึ่งมีหลักอยู่ว่า ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ และฝึกซ้ำๆ จนชิน กลายเป็นความจำ
1.บู๊ตึ้ง (สอนโดยอาจารย์ฝึกพละศึกษาที่จีน ถ่ายทอดโดยอาจารย์ศุภกิจ นิมมานรเทพ)
ท่าที่ 1 ยืนกางขา เท้าห่างกันเท่าช่างไหล่ มือกำหัวแม่มืออยู่ข้างในมือ แขนทอดข้างขา หายใจเข้าถึงช่วงท้อง หายใจออกยาวจนหมดปอด ซ้ำ 3 ครั้ง
ท่าที่ 2 ยกมือทั้งสอง ขึ้นเสมอไหล่ช้าๆ พร้อมกางนิ้วทั้ง 5 ออกห่างกัน หายใจเข้าและหายใจออกช้าๆ ระหว่างที่ยกมือทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ แขนตั้งตรง
ท่าที่ 3 ย่อเข่า ก้นลดลงต่ำ เสมือนนั่งยองๆ ข้อศอกวางบนขาทั้งสอง หายใจเข้า-ออก อย่างแรงให้ทั่วท้อง จะเป็นการสนับสนุนการขับถ่ายจากช่วงท้อง 3 ครั้ง
ท่าที่ 4 ยืดตัวขึ้นยืนตรง มือทั้งสองยกตั้งตรงเสมอหน้า หายใจเข้า-ออก 3 ครั้ง
ท่าที่ 5 ดันมือทั้งสองออกห่างกันออกไป หายใจแรงและถี่กระชั้นเร็วๆ ลึกๆ จนเหยียดแขนตรงสุดแขน
ท่าที่ 6 ลดมือทั้งสองลงแนบข้างตัว หายใจเข้า-ออก ช้าๆ 3 ครั้ง
2.เส้าหลิน (จากอาจารย์ศุภกิจ นิมานรเทพ)
ท่าที่ 1 ยืนเท้าทั้งสองห่างกันเสมอไหล่ มือเหยียดทอดข้างขาทั้งสอง แกว่งมือทั้งสองไปมา หายใจเข้า-ออก 3 ครั้ง
ท่าที่ 2 ยกแขนทั้งสองขึ้นตรงเสมอไหล่ พร้อมหายใจเข้า-ออก ช้าๆ 3 ครั้ง
ท่าที่ 3 ยกแขนขึ้นช้าๆ ตรงเหนือศีรษะ จนนิ้วจรดกันเหนือศีรษะ หายใจช้าๆ พร้อมกับยกแขนขึ้นจนมือจรดกัน 3 ครั้ง
ท่าที่ 4 ลดมือทั้งสองลงสู่กระหม่อม พร้อมหายใจเข้าออกช้าๆ 3 ครั้ง
ท่าที่ 5 หงายมือทั้งสองขึ้น หายใจเข้าออกช้าๆ 3 ครั้ง
ท่าที่ 6 ดันมือขึ้นเหนือศีรษะช้าๆ แรงๆ เสมือนหนึ่งดันของหนัก หายใจแรงเข้า-ออก 3 ครั้ง
3.ไทซี การฝึกหายใจและความจำพร้อมการเคลื่อนไหวของมือและเท้า
ท่าที่ 1 ยืนเท้าห่างกันเสมอไหล่ แขนทอดข้างขา แกว่งแขนทั้งสองไปตามกันเป็นวงกลม จากขวาไปทางซ้าย 3 ครั้ง พร้อมกับหายใจเข้าออก เมื่อมือยกขึ้นหายใจเข้า เมื่อมือลดลง หายใจออก
ท่าที่ 2 กลับการหมุนมือทั้งสองเป็นหมุนจากซ้ายไปขวา 3 ครั้ง พร้อมการหายใจเข้าเมื่อยกมือขึ้น หายใจออกมือลดลง 3 ครั้ง
ท่าที่ 3 หมุนแขนขวาเป็นวงกลมจากขวาไปซ้าย แขนซ้ายจากขวาไปซ้าย ตามกันข้างละหน ไม่พร้อมกัน ซ้ำ 3 ครั้ง พร้อมการหายใจเข้าเมื่อยกขึ้น หายใจออกเมื่อแขนลง
ท่าที่ 4 หมุนแขนขวาเป็นวงกลมจากซ้ายไปขวา แขนซ้ายตรงกันข้าม คือจากขวาไปทางซ้าย ต้องใช้ความจำให้ดี ในการทำไม่เหมือนกัน 3 ครั้ง การหายใจเข้าเมื่อมือยกขึ้น หายใจออกเมื่อมือลง
ท่าที่ 5 หมุนแขนทั้งสองข้างเป็นวงกลมรอบหัวไหล่ หายใจเข้าเมื่อมือยกขึ้น หายใจออกเมื่อมือลงต่ำ ทำเช่นกันทั้งสองแขน ซ้ำ 3 ครั้ง
ท่าที่ 6 หมุนแขนทั้งสองข้างกลับกันกับท่าที่ 5 หายใจเข้า-ออก 3 ทีเช่นกัน
4. ออกกำลังจักระ จักระคือศูนย์รวมพลังการทำงานสำคัญ 7 แห่งของร่างกาย
จักระที่ 1 อยู่ที่จุดกลางระหว่างอวัยวะเพศกับทวาร ย่อตัวขึ้นลงที่เข่า ยืนเท้าห่างกันเสมอไหล่ ซ้ำ 3 ครั้ง หายใจแบบผ่อนหายใจ
จักระที่ 2 อยู่ที่สองนิ้วเหนือสะดือ มือเท้าสะเอวสองข้าง บิดตัวไปทางซ้ายหายใจเข้า บิดกลับยืนตรง หายใจออก ซ้ำ 3 ที
จักระที่ 3 อยู่ที่กลางปลายซี่โครง เป็นศูนย์รวมพลังภายในของการทำงานขอบตับ ไต ม้าม กระเพาะอาหาร มือขวาทาบที่จักระสาม มือซ้ายทับบนมือขวา หมุนตัวไปทางซ้ายและขวา พร้อมกับหายใจ ประกอบกัน 3 ครั้ง
จักระที่ 4 อยู่ที่การทำงานของหัวใจ มือขวาทาบที่กลางอกตรงกับหัวใจ มือซ้ายทับบนมือขวา ยกศอกขวาขึ้น 45 องศา พร้อมดึกศอกซ้ายไปจนสุดด้านหลัง หายใจเข้าออกพร้อมกับการเคลื่อนไหวให้ได้จังหวะกัน แล้วเปลี่ยนเป็นยกศอกซ้ายขึ้น 45 องศา เมื่อดึงศอกขวาไปทางด้านหลัง ประกอบกับการหายใจช้าๆ ทำซ้ำ 3 ครั้ง
จักระที่ 5 อยู่ที่ต่อมไทรอยด์ตรงฐานคอ ทำหน้าที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต ให้หมุนคอไปทางซ้ายที ขวาที พร้อมการหายใจ ทำซ้ำ 3 ครั้ง
จักระที่ 6 อยู่ที่หว่างคิ้ว เป็นการเจริญจิต หรือความสามารถในการหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ให้ก้มหน้าลง ตามองขึ้นสูง เงยหน้าขึ้น ตามองต่ำสุด 3 ครั้ง พร้อมการหายใจเข้า-ออก
จักระที่ 7 อยู่กลางกระหม่อม เป็นการรับพลังจิตจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน ให้ประกบมือไว้ด้วยกัน นิ้วชี้เท่านั้นที่ตั้งขึ้น นอกนั้นโค้งลง หัวแม่มือไขว้กัน ยกมือทั้งสองวางไว้กลางกระหม่อม พร้อมหายใจเช้า ยกมือขึ้สูงพร้อมหายใจออก ซ้ำ 3 ครั้ง
5. การยกลูกน้ำหนัก เพื่อออกกำลังกล้ามเนื้อแขนและมือ เริ่มตั้งแต่ยกไว้แนบขา แล้วยกขึ้นเสมอไหล่ แล้วยกขึ้นเหนือศีรษะ แล้วลดลงในท่าพัก จากนั้นเปลี่ยนเป็นยกขึ้นไปตรงด้านหน้า แล้วกางมือออกเหยียดจนสุดแขน แล้วลดลงในท่าพัก จากนั้นย่อเข่าลงในท่ายองๆ แล้วยืดตัวขึ้นตรง หรือจะทำในท่าใดอื่นอีกตามชอบ
6. การเดินสมาธิ นับ 1 เมื่อยกส้นเท้าขวา นับ 2 เมื่อยกปลายนิ้วเท้าขวา ยกเท้าขึ้นนับ 3 ย่างเท้าขวานับ 4 แตะปลายนิ้วเท้าลงนับ 5 แตะส้นเท้าลงนับ 6 เปลี่ยนเป็นยกส้นเท้าซ้ายนับ 1 เรื่อยไปตามจังหวะครบ 6 พร้อมทำจิตสมาธิ ผ่อนหายใจแผ่ว เพื่อสงบจิตเป็นสมาธิ
เป็นอันจบการฝึกหายใจประจำวัน ใช้เวลาทั้งหมดไม่เกิน 15 นาที แนะนำให้ทำตอนตื่นนอนเช้า กลางสนามหญ้า อากาศบริสุทธิ์ แดดอ่อน จะช่วยให้มีการถ่ายเทออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย และขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากปอด