สุขภาพและการบำบัด
สดศรี สุริยะฉาย
น้ำหอม VS. น้ำมันหอมระเหย

น้ำหอมที่เราซื้อมาแตะหลังหูด้วยเงินมากนั้นเป็นเพียงส่วนเจือจางของน้ำมันหอม ปกติเราไม่สามารถใช้น้ำหอมบนผิวหนังได้ ต้องผสมน้ำมันที่ไม่หอมเสียก่อนอย่างน้อย 5 เท่าจึงจะไม่มีปฏิกิริยาแรงเกินไปสำหรับผิวหนัง กว่าจะได้น้ำมันหอมต้องผ่านวิธีการนานโข และต้องใช้วัตถุดิบต้นตอมากมาย เช่นใช้กลีบกุหลาบถึง 360 ปอนด์ กว่าจะได้น้ำมันกุหลาบ 1 ออนซ์ ไม่เหมือนกับสมัยเราเคยดูหนังไทย เขาทำน้ำมันพรายจากการใช้เทียนไขลนคางของคนท้องที่ไม่มีชีวิตแล้ว กว่าจะได้น้ำมันพรายแตะผู้หญิงให้ตามต้อยๆ ก็สยองกันไปทั้งโรงหนัง ต่างกับสมัยนี้โดยสิ้นเชิง น้ำมันหอมระเหยปัจจุบันใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งด้านจิตใจ การบำบัดโรคผิวหนัง และอาการไม่ปกติหรือเจ็บป่วยของร่างกาย

ประวัติของน้ำมันหอม มีมาตั้งแต่ 4,500 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ เมื่อจีนค้นพบคุณภาพทางยาจากพืช ต่อมาชาวอียิปต์ใช้วิทยาศาสตร์สมัยนั้นทำน้ำมันหอมมาเป็นประโยชน์ด้านน้ำหอม และการใช้ทาเพื่อวัตถุประสงค์ทางยา ชาวกรีกและโรมันเริ่มใช้น้ำมันหอมทางพิธีศาสนา ในการอาบน้ำ และการนวด จนกระทั่ง ค.ศ.1000 ประเทศอาหรับเริ่มเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันหอมไปสู่ประเทศต่างๆ โดยการนำวัตถุดิบมาจากจีน อียิปต์ อินเดีย และธิเบต สมัยศตวรรษที่ 12 ใช้น้ำมันหอมส่วนใหญ่เพื่อฆ่าเชื้อโรคตอนมีโรคระบาด และลดอัตราการตายเพราะยังไม่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชีวิตประจำวันสมัยนี้ บางทีก็ใช้น้ำมันหอมจากพืชบางชนิดเพื่อวัตถุประสงค์นี้อยู่ เช่นการต้มในยูคาลิปตัส ให้ระเหยอยู่ในบรรยากาศ สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ หรือเด็กแตะน้ำมันยูคาลิปตัสที่ผ้าเช็ดหน้าพันไว้รอบคอตอนไปโรงเรียนตอนเช้า ช่วยแก้หวัดน้ำมูกไหลเพราะประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อโรคของยูคาลิปตัส เดี๋ยวนี้ก็ยังใช้น้ำยูคาลิปตัสในการนวดมือนวดเท้าเพราะตอนนวดมีสารพิษออกมาตามฝ่าเท้า

สมัยศตวรรษที่ 15 ตั้งแต่น้ำมันหอมระบาดไปสู่ยุโรป จากนั้นเป็นต้นมา คนทั่วโลกต้องเสียเงินซื้อน้ำหอมฝรั่งเศสแพงๆ มาใช้ในการดับกลิ่นตัว การใช้น้ำหอมมีโอกาสและกาลเทศะแล้วแต่กลิ่นและสถานการณ์ บางประเทศถือว่าการใช้น้ำหอมไม่สุภาพ เช่นญี่ปุ่น เช่นเดียวกับการอาบน้ำสาธารณะห้ามใส่อะไร คนไทยหลายคนไม่สามารถใช้น้ำหอมได้ จะเกิดการแพ้ขึ้นต่างๆ นานา

สมัยนี้ น้ำหอมเฟื่องมากในกลุ่มเด็กเริ่มเป็นสาว รู้ไปหมดว่าอะไรฮิต อะไรแพง เป็นต้องสั่งคนซื้อจากเมืองนอกไปฝาก แต่คนที่เห็นโลกมามาก และนานแล้ว กลับไปใช้น้ำหอมระเหยเพื่อการต่างๆ แทน

ปี 1928 น้ำมันหอมระเหยเริ่มเป็นที่นิยมในรูปของ Aromatherapy คือใช้ในการบำบัดอาการต่างๆ ได้รับการขนานนามมาจากชาวฝรั่งเศสชื่อ Rene Maurice Galtefosse สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นายแพทย์ จีน วอลเล่ต์ ใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อการควบคุมเชื้อโรค และช่วยให้ทหารที่ป่วยฟื้นจากโรคเร็วขึ้น

กรรมวิธีการผลิตน้ำมันหอมระเหยมาจากกลั่นไอระเหย (Distillation) แยกน้ำมันหอมจากพืชที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นกลีบ ราก ใบ เปลือก หรือเม็ด หรือการแช่ดอกไม้ในน้ำมัน (Masceration) แล้วให้โมเลกุลน้ำมันออกมา หรืออัดน้ำมันสัตว์เข้าช่วยแยกเอาน้ำมันหอมออกมา (Enfleurage) เช่น น้ำมันดอกมะลิ และการบีบเอาน้ำมันออกมา (Pressing) เช่นน้ำมันส้ม น้ำมันมะนาว

การทำน้ำหอมก็ต้องใช้หัวน้ำหอมผสมกับน้ำมันอื่นที่เป็นตัวเจือจางและสารกันบูด เพื่อมิให้กลิ่นเปลี่ยนไปเป็นไม่หอม จะเห็นจากน้ำหอมราคาถูกที่เราไม่ใช้นานๆ กลับกลายเป็นเหม็นก็มี สมัยก่อนเขาฆ่าปลาวาฬเอาน้ำมันมาเป็นตัวเจือจางและเก็บความหอมของน้ำหอม เรียกว่า Sperm Whale Oil ชื่อปลาวาฬเป็นอย่างนั้น มิใช่เอามาจากสเปิร์มของปลาวาฬ กฎหมายห้ามฆ่าปลาวาฬเพื่อทำน้ำหอมแล้ว อุตสาหกรรมน้ำหอมจึงต้องหันไปใช้น้ำมันจากนัทโฮโฮบา เป็นลูกนัทที่คนอินเดียแดงใช้กินเป็นอาหารก็ได้ กินเป็นยาถ่ายก็ดี ใช้ทำน้ำหอมดีมาก เพราะมันไม่เสียเป็นกลิ่นเหม็น เมื่อเก็บไว้นานๆ เหมือนน้ำมันอื่น ถ้าคุณไม่อยากจ่ายเงินแพงซื้อน้ำหอม ก็ทำน้ำหอมขายเองได้

น้ำมันหอมระเหยที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ตามคุณสมบัติของมันมีมากมายเป็นพันชนิด แล้วแต่ใครชอบอะไร ต้องการผลอะไร และโอกาสการใช้ การใช้น้ำมันหอมระเหย (Aromatherapy) ใช้ในการนวดตัว นวดหน้า นวดเท้า ใส่ในอ่างอาบน้ำ ใส่ในไอร้อนสำหรับอบผิว (Vaporizer) ใส่ในเครื่องสำอาง สบู่ และเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อกระตุ้นความกระปรี้กระเปร่าโดยเฉพาะ เช่นน้ำมันหอมตระไคร้ เพียงแตะใต้จมูกบางเบา หรือแตะข้อมือแผ่วๆ จะหายเพลีย หายง่วง และมีความสดชื่น ดีกว่าการใช้น้ำหอมเสียอีก บริษัทที่ผลิตน้ำมันหอมระเหยเช่น Clarins ทำเงินดี จ้างพนักงานประจำเงินเดือนสูง แสดงว่าอุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหยน่าจะทำรายได้ดีกว่าน้ำหอมเสียแล้ว คนใช้น้ำมันหอมระเหยได้หลายอย่าง มากกว่าการใช้น้ำหอมธรรมดา

น้ำมันหอมระเหยที่น่าสนใจเช่นน้ำมันดอกกุหลาบ เราทำเองได้จากการต้มกลีบกุหลาบเอาน้ำมัน หรือเอาน้ำมาใช้เป็นเครื่องหอมเวลาอาบน้ำ ทาผิว และเอากลีบตากแห้งใส่ไว้ในบรรยากาศห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น สร้างอารมณ์เหมือนนั่งอยู่ในสวนกุหลาบ หน้านี้กุหลาบกำลังบาน น่าจะใช้ประโยชน์หลับจากกลีบโรยแล้ว

น้ำมันกุหลาบมีราคาแพงมาก กุหลาบให้ประโยชน์ทั้งดอก ทั้งหัวที่เกิดจากดอก ให้กรดไวตามินซี กรดไวตามินเอ ซึ่งกลับความชราของผิวไปสู่ความอ่อนวัยได้ดี ส่งเสริมให้ผิวเลื่อนขึ้นสู่ชั้นบนเร็วขึ้น และเสริมสร้างเซลล์ในผิวมากขึ้น และใช้รักษาสิว รอยแผลเป็น รอยเกรียมแดด เพียงใช้น้ำมันกุหลาบสัก 3 อาทิตย์ก็เห็นผลว่าผิวเรียบเนียน นุ่ม รูขุมขนเปิดกว้างก็เรียบขึ้น โดยเฉพาะผิวหลังการผ่าตัดจะเรียบเร็วขึ้นใน 3 เดือน น้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบไม่มีผลข้างเคียง แพทย์ได้ทำการยืนยันแล้ว มิน่าน้ำหอม Tea Rose ถึงได้ดังระเบิดในกลุ่มคนไทย

น้ำมันหอมกุหลาบเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ปลูกที่อเมริกาแถบรัฐมิสซูรี ไวโฮมมิ่ง เนบราสกา และตะวันตกกลางไม่พอเพียง ต้องเอามาจากเปรู ชิลี และอาร์เจนติน่า และแถบเมดิเตอเรเนียน ได้ข่าวว่าบริษัทเยอรมันลงทุนทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรในไทย อีกหน่อยไทยคงทำน้ำมันกุหลาบได้