ฝ่ามือของเราและฝ่าเท้ามีแต่ต่อมเหงื่อ แต่ไม่มีต่อมน้ำมันเหมือนผิวส่วนอื่นทั่วไป ฉะนั้นมือของเราจึงมักสากและฝ่าเท้ามักแตกด้าน ด้วยไม่มีน้ำมันตามธรรมชาติ ไม่เหมือนหน้าผาก และจมูกที่มักเป็นมันด้วยต่อมน้ำมัน ฝ่ามือตรงกันข้ามกลับเปียกแฉะด้วยเหงื่อ ยิ่งเวลาร้อนใจกระวายกระวาย ยิ่งมีเหงื่อออกมากขึ้น บางคนร้ายไปกว่านั้น ฝ่ามือมีเหงื่อออกมากเกินไปตลอดเวลา จนบางคนหยดเหงื่อจากปลายนิ้วเลย
เราเคยคิดกันว่ามือมีเหงื่อออกมากเป็นอาการของการหมุนเวียนไม่ปกติของหัวใจ แต่บางทีไม่ใช่ กลายเป็นว่าเส้นประสาทที่ทำงานตามธรรมชาติเกิดขยันมากเกินเหตุ กระตุ้นการขับเหงื่อโดยเฉพาะที่ฝ่ามือจนเกินธรรมดา บางคนไปออกที่ได้รักแร้ก็มี ยิ่งเป็นเสื้อผ้าไหม ยิ่งเห็นถนัด และแน่นอนว่า ถ้าอยู่ในที่อับมืดอย่างใต้รักแร้ แบคทีเรียย่อมไปบริโภคเหงื่อและขับถ่ายของเสียออกจากตัวแบคทีเรียเอง เลยเกิดกลิ่นหมักหมมไม่สะอาด ที่เรียกว่า บี.โอ. แปลว่า บอดี้โอเดอร์ (Body Odor) ซึ่งไม่งามสำหรับสาวสวยแน่ๆ
ความจริงคนเราย่อมต้องให้เหงื่อออก และถือว่าเป็นการระบายความร้อนในร่างกายอย่างหนึ่ง นอกจากการขับถ่ายของเสียของร่างกายในรูปของเหลว เหงื่อมีทั้งเกลือ ด่าง น้ำตาล ฟอสเฟต ไวตามินซี ไขมัน กรดไขมัน ของเสีย แลคติคแอซิด โซเดียมแลคเทต เมื่อเหงื่อรวมกับไขมันขับออกจากต่อมน้ำมันธรรมชาติ จะมีสารเรียกว่า Gunk ที่กลายเป็นประโยชน์มหาศาลต่อการป้องกันผิวเรียกว่า Acid Mantle ที่คนเราจำเป็นต้องมีอยู่บนผิว เพื่อป้องกันเชื้อโรค และรักษาความนุ่มของผิว
ต่อมใต้ผิวมี 2 อย่างคือต่อมน้ำมัน กับต่อมเหงื่อ ต่างก็ประสานทำงานกันมิรู้เหนื่อย เพื่อให้ผิวคงสภาพป้องกันอวัยวะชั้นลึกล่างลงไป ปัญหามิได้อยู่ที่ว่าทั้ง 2 ต่อมทำงานตามปกติ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าต่อมใดต่อมหนึ่งไม่ทำงาน หรือขยันทำงานมากเกินเหตุ
ที่น่ารำคาญอย่างหนึ่งก็คือต่อมเหงื่อทำงานมากเกินไป โดยเฉพาะที่ฝ่ามือ ความมากเกินไปหมายถึงว่า เป็นที่น่ารำคาญ และก่อให้เกิดการสูญเสียสารต่างๆ มากเกินควร ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จำเป็นต้องยุติ
นายแพทย์ฟรินซ์ เจ. โบมการ์ทเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ และการผ่าตัดทรวงอก สำเร็จการศึกษาแพทย์จาก UCLA และศึกษาต่อเกี่ยวกับการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจและทรวงอกที่แวนคูเวอร์ แคนาดา จากนั้นศึกษาการผ่าตัดเส้นเลือดใหญ่ออกจากหัวใจที่เยอรมัน และเป็นหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดหัวใจและทรวงอกที่ ศูนย์การแพทย์ Harbor-UCLA การผ่าตัดเส้นเลือดที่บริเวณทรวงอกโดยใช้กล้องขยาย ได้รับความสำเร็จตั้งแต่ปี 1992 เขาได้เขียนหนังสือ “การผ่าตัดเส้นเลือดทรวงอก” ฉบับที่ 1 และ 2 และหนังสืออื่นอีกหลายเรื่อง นิตยสารการแพทย์ได้ตีพิมพ์บทความของนายแพทย์โบมการ์ทเนอร์อย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ และบริเวณทรวงอก ขณะนี้นายแพทย์โบมการ์ทเนอร์ประจำอยู่ที่ศูนย์การผ่าตัดเส้นเลือดที่ลองบีช แคลิฟอร์เนีย และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ผ่าตัดเส้นประสาทซึ่งเกี่ยวข้องกับสาเหตุแห่งการมีมือชุ่มเหงื่อดังกล่าวข้างต้น
การแก้ไขสาเหตุของมือชุ่มเหงื่อจนผิดปกติ พิจารณาที่เส้นประสาท Symphathetic ที่ควบคุมการขับเหงื่อและทำงานขยันเกินเหตุ เรียกว่าเป็นอาการของการมีเหงื่อออกมากที่ฝ่ามือ (Palmar Hyperhidrosis) สมัยก่อนต้องใช้ยาระงับการทำงานผิดปกติของเส้นประสาทนี้ แต่สมัยใหม่ แพทย์ทำการผ่าตัดเส้นประสาทที่ใต้รักแร้ ผ่านรูเล็กโดยใช้กล้องขยายบนจอ ใช้เวลาเพียงประมาณครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ เมื่อคนไข้ฟื้นจากยาสลบ ฝ่ามือก็อยู่ในสภาพปกติแล้ว ไม่มีเหงื่อออกจนชุ่มต่อไป การบำบัดการผ่าตัดนี้เรียกว่า Thoracosopic Symphatectomy เหมือนกับการตัดเส้นประสาทที่ทำงานมากเกินธรรมดาออกไปนั่นเองนับว่าเป็นศาสตร์สมัยใหม่ที่น่ารู้อีกอย่างหนึ่ง ที่คนไข้ไม่ต้องทรมานกับการมีฝ่ามือชุ่มเหงื่ออีกต่อไป หลังการผ่าตัดคนไข้พักฟื้นประมาณ 1 อาทิตย์ก็สามารถทำงานได้ตามปกติ
การบำบัดฝ่ามือชุ่มเหงื่อด้วยวิธีนี้ได้ผลประมาณ 90-99 เปอร์เซ็นต์ และการบำบัดแบบนี้ยังสามารถรักษาใบหน้าแดงได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และทำวิธีเดียวกันเพื่อกำจัดเหงื่อออกที่ฝ่าเท้าได้ผลประมาณ 80-85 เปอร์เซ็นต์ ข้อเสียอาจไปทำให้เหงื่อออกมากที่บริเวณแผ่นหลัง ประมาณ 20-50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็น่าจะลองดู เพราะประเพณีการสัมผัสมือของชาวอเมริกันยังเป็นที่นิยมอยู่ในประเทศนี้