สุขภาพและการบำบัด
สดศรี สุริยะฉาย
ร่างกายเป็นที่พึ่งแห่งร่างกาย

เราคงจะเคยเห็นร่างกายของเรารักษาตัวเองอย่างแสนมหัศจรรย์ เช่นเวลาทาอาหารผิดเราต้องวิ่งเอาไปทิ้งที่ห้องน้ำทันที เรียกว่าท้องเดิน หรือถ้าท้องเดินช้าไปก็อาจออกทางปากเร็วกว่า แล้วรู้สึกสบายขึ้นหลังจากนั้น ถ้ากินยากแก้ท้องเดินก็หยุดการทำงานของร่างกายทันทีทันใด คือหมายความว่าไม่ต้องพึ่งร่างกายอีก แต่พึ่งยาภายนอกแทน

เราคงจะเคยได้ยินการบำบัดโดยมอบความรับผิดชอบให้ร่างกายรักษาสุขภาพเอง เรียกว่า Holistic Medicine โดยพิจารณาร่างกายเป็นหน่วยรวมหน่วยหนึ่งที่สัมพันธ์กันระหว่างอวัยวะและจิตใจ เช่นคนที่กระเพาะปัสสาวะทำงานไม่ปกติ จะฝันว่าเดินทางเป็นต้น การบำบัดแบบโฮลลิสติค พิจารณาเหตุแวดล้อมเพื่อหาสาเหตุของโรค แล้วบำบัดโดยการรักษาสุขภาพของบุคคลนั้น การวิเคราะห์สาเหตุของการไม่สบาย อาจมาจากสาเหตุแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในร่างกาย โดยแบ่งระยะตามวัยของชีวิตคนเป็น 3 ระยะ คือ ก่อนเกิด วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่

ระยะก่อนเกิดหมายถึงการพิจารณาที่สุขภาพของบิดามารดา เวลาที่จุติมารดามีสุขภาพดีหรือไม่ ถ้ามารดาอ่อนแอหรืออายุมากก็จะส่งผลสู่สุขภาพของบุคคลที่เกิดนั้น หรือถ้ามารดาทานยามากเกินควร สูบบุหรี่ ดื่มสุรา กินยาเสพติด บุคคลที่เกิดก็จะได้ผลจากเหตุแวดล้อมก่อนเกิดจากผู้ให้กำเนิดทั้งสองฝ่าย ถ้ามารดาได้รับการช็อกตอนตั้งครรภ์ เด็กอาจมีรอยคล้ำที่หน้าผากหรือคาง หรือทำให้หัวใจเด็กเต้นผิดปกติ เช่นหัวใจเต้นเร็ว สุขภาพของมารดาตอนคลอดก็สำคัญอย่างมาก ว่าดูแลร่างกายตอนคลอดเพียงพอหรือไม่ พักผ่อนหลังคลอดไม่พออาจก่อให้เกิดความอ่อนแอของม้ามหรือไต สร้างปัญหาในภายหลังได้

ระยะวัยรุ่น นับแต่แรกเกิดถึงอายุ 18 ปี สุขภาพส่งผลมาจากอาหารการกินหรือสภาวะแวดล้อม เช่นเด็กที่ดื่มนมวัวมากมักมีเสมหะมาก สุขภาพทางร่างกายและจิตใจมาจากอารมณ์ เด็กอายุถึง 6 ขวบมักไม่มีปัญหาเรื่องอารมณ์ เพราะแสดงออกหมด ไม่กดเก็บไว้เป็นผลร้าย เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์จากสภาพระหองระแหงในครอบครัว บิดามารดาเข้มงวด บงการชีวิตลูกเกินขนาด ความกดดันสูงจากโรงเรียน จะส่งผลทางจิตใจของเด็ก ที่เห็นได้จากข่าวร้ายแรง อย่างน้อยก็ก่อให้เกิดปวดศีรษะในรายที่เด็กฉลาดและผู้ปกครองตั้งเป้าหมายไว้สูง ที่ร้ายที่สุดของเด็กวัยรุ่นก็คือการคร่าชีวิตของตนเองและผู้อื่น จะเห็นได้จากข่าวการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มักเป็นกับเด็กวัยรุ่น นอกจากนี้อุบัติเหตุ ความกระทบกระเทือนรุนแรงหรือการตกหกล้ม กระแทกศีรษะก็ส่งผลไปยังชีวิตบั้นปลาย มีอาการปวดศีรษะเป็นต้น การออกกำลังกายหักโหมในวัยรุ่นสตรีอาจส่งผลให้ปวดท้องเมื่อมีรอบเดือน วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่มีผลสำคัญต่อสุขภาพ เพราะร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

วัยผู้ใหญ่ เป็นวัยที่เป็นบ่อเกิดของโรคทั่วไปตามปกติทั้งหลาย เพราะเป็นระยะเวลายาวนาน และมีสาเหตุมากมาย ทั้งด้านอารมณ์และร่างกาย อาจแบ่งสาเหตุของโรคออกเป็น 3 ประเภท

1.สาเหตุจากภายใน มาจากจิตใจและอารมณ์

2.สาเหตุจากภายนอก มาจากดินฟ้าอากาศ

3.สาเหตุอื่น เป็นผลมาจากสรีระร่างกายและภาวะจิตใจ ความเหนื่อยล้า การตรากตรำในชีวิต กิจกรรมทางเพศมากเกินควร อาหารการกิน การกระทบกระเทือนใจอย่างแรง โรคระบาด พยาธิ สารพิษ การบำบัดรักษาที่ผิดพลาด

สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ แพทย์ตะวันออก (Oriental Medicine) จัดว่าอาจเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บได้ แพทย์สมัยใหม่อาจจัดว่ามีสาเหตุอื่นอีกเช่น การฉายแสง สารเคมีเป็นพิษในอาหาร ไวรัสที่ไม่รู้สาเหตุ เป็นต้น

การให้ร่างกายเป็นที่พึ่งของร่างกายตนเอง ได้แก่การวิเคราะห์หาสาเหตุของโรคและความไม่สบาย แล้วรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง เพื่อเป็นประโยชน์ในการบำบัดอาการไม่สบายต่างๆ นั้น นับว่าเป็นความเห็นพ้องต้องกัน ทั้งแพทย์ทางตะวันออกและแพทย์ทางตะวันตก ดังเช่นที่แพทย์ทางตะวันตกชื่อ ด็อกเตอร์ ดาบบ์ (Dr. Daub) กล่าวว่า “เราสามารถป้องกันเชื้อโรคได้แทบทุกชนิด และเราสามารถรักษาโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด เพียงแต่เราป้อนเชื้อเพลิงให้ร่างกายสามารถกระทำสิ่งที่ร่างกายเรารู้ว่าจะทำอย่างไรเท่านั้น”

สาเหตุของโรคอาจวิเคราะห์ได้ง่าย สุขภาพดีมาจากความสมดุลของระบบร่างกายและระบบประสาท ตราบใดที่ร่างกายและจิตใจขาดความปรองดองกัน คุณรู้ได้ถึงอาการผิดปกติ ถ้าคุณเหนื่อยมาก คุณหลับยาก คุณต้องเรียนรู้การพักผ่อนจิตใจให้ได้เสียก่อน จึงจะหลับได้ หรือไม่ก็เรียนการนวดปลายประสาทที่ฝ่ามือฝ่าเท้าเพื่อพักผ่อนศูนย์รวมประสาทของร่างกาย เท่านั้นแหละ คุณหลับทันที คนที่เรียนการทำสมาธิได้ผลดีตรงนี้ ทำให้ความจำดี เรียนเก่ง หลับได้เมื่อต้องการ

คนที่ปวดท้องหลายครั้งมาจากปัญหาทางอารมณ์ ส่งผลกระทบไปที่ตับ คนที่ปวดตามมือหรือข้อมือ อาจมาจากภาวะแวดล้อมที่ทำงานอยู่กับน้ำเย็นเป็นประจำ ไม่ใช่มาจากอารมณ์ บ่อยครั้งที่สุด ถ้าจะวิเคราะห์หาที่มาของโรคให้ดูที่สิ่งที่เป็นกิจวัตรประจำ มักเป็นต้นเหตุเสมอ เช่นการพิมพ์ดีดตลอดเวลา หรือใช้แขนและมือในระดับสูงสุดตลอดเวลา

ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ แพทย์ตะวันออกจัดว่าเป็น “ขุมทรัพย์” ของ Qi คือพลังงาน และจิตใจ (Mind) ที่เป็นพื้นฐานของความสุข ความสมดุลของอารมณ์ เขาแบ่งอารมณ์ไว้ 7 ประเภทคือ ความโกรธ ความปิติ ความกังวล ความซึม ความเศร้า ความกลัว ความตกใจ แต่ละอารมณ์มีผลต่อ Qi และอวัยวะ เช่น ความโกรธทำให้พลังสูง มีผลต่อตับ ความปิติทำให้พลังลดมีผลต่อหัวใจ ความกังวลและความซึมทำให้พลังหยุดนิ่งมีผลต่อม้าม ความกังวลมีผลต่อปอด ความเศร้าทำลายพลังมีผลต่อปอด ความกลัวทำให้พลังลดมีผลต่อตับ การตกใจหรือช็อกทำให้พลังกระจายมีผลต่อไตและหัวใจ

ถ้าสะสมอารมณ์ต่างๆ ไว้นานๆ มันจะรวมกันเป็นพลังความร้อนหรือไฟ เช่นที่แพทย์ตะวันออกกล่าวว่า อารมณ์ 5 อย่างรวมกันอาจลุกเป็นไฟได้ ทั้งนี้เป็นเพราะการรวมพลัง Qi ไว้จะสะสมกลั่นเป็นธาตุไฟ เปรียบดังเช่นการเพิ่มความดันจะทำให้อุณหภูมิของแก๊สสูงขึ้น โดยเหตุนี้เมื่อคนสะสมอารมณ์ไว้มากๆ นานๆ จะมีอาการร้อน เช่นที่ตับ หัวใจ ปอด หรือไต

การรักษาตนที่บ่อเกิดของโรค เริ่มต้นที่การวิเคราะห์สาเหตุให้ได้เสียก่อน เช่นคนเราแก่เพราะเซลล์ถึงจุดเหนื่อยล้า ขาดความจำว่าเคยทำอะไรสมัยเด็ก จึงเก็บกักสารดีๆ ไว้เสียเฉยๆ ไม่ส่งออกให้เป็นประโยชน์ต่อระบบ ระบบก็เลยทำงานไม่เต็มตามกำลังที่ควร คนก็เรียกว่าชักจะแก่ตัวลง การรักษาร่างกายตรงที่จุดสาเหตุของความแก่ คือการช่วยให้เซลล์เกิดความจำขึ้นได้ว่าเคยปฏิบัติอย่างไรสมัยเด็ก ร่างกายก็ค่อยฟื้นคืนสภาพแข็งแรง จิตใจก็ค่อยสมดุลไม่หดหู่ท้อแท้อารมณ์ก็ราบเรียบขึ้น เพราะระบบทำงานถูกต้องตามสภาวะของเด็ก ไม่ใช่คนแก่

การรักษาสุขภาพหลังวัยกลางคนเริ่มต้นที่การบำรุงประสาทจิตใจให้สมดุล ทุกอย่างจะตามมาในด้านดีขึ้น ผลดีอย่างหนึ่งก็คือการทำอารมณ์ให้ราบเรียบ ไม่ฉุนเฉียวโกรธง่าย ไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน และระบบการทำงานทั้งหมดที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน การกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเป็นทางหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดความสุขทางใจ เพราะการหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น นำแร่ธาตุที่จำเป็นไปเลี้ยงเซลล์ประสาท ทำให้ระบบประสาทสมดุล เรียกว่าร่างกายของเราเป็นที่พึ่งของตัวเราเอง เพราะเรามีฮอร์โมนสมดุลเป็นบ่อเกิดของพลังงานสมดุล