สุขภาพและการบำบัด
สดศรี สุริยะฉาย
ยุคแห่งการเสริม

สมัยก่อน อยู่เมืองไทย ได้ยินแต่นักร้องเสริมหน้าผาก และเสริมรูปร่างกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป เมื่อมาได้ยินสมัยนี้ เสริมทุกอย่าง ปาก ตา หน้าอก สะโพก หัวใจ กระดูก ไต แม้แต่อาหารที่กินเข้าไปก็เป็นอาหารเสริม ท้ายที่สุด เสริมสิ่งที่ร่างกายผลิตเสียเลย ไม่เฉพาะเซลล์เท่านั้นนะ เสริมเป็นตัวออกมายังได้แล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อกาลเวลาผ่านไป เทคโนโลยีอำนวยถึงขั้นใครจะรู้ว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ถึงยุคเสริมอะไรอีก ตอนนี้มาพิจารณาคำถามเฉพาะหน้า ควรใช้ฮอร์โมนเสริมหรือไม่

เรื่องนี้เห็นทีผู้หญิงจะฉงนก่อน เพราะผู้หญิงหยุดผลิตฮอร์โมนทันทีเมื่อถึงวัย ไม่ค่อยๆ หยุดเหมือนผู้ชาย แต่กระนั้นก็ตาม มิช้ามินาน ผู้ชายก็จะถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกัน

ผู้หญิงเริ่มใช้ฮอร์โมนเสริมก่อนผู้ชาย เรียกว่า เอสโตรเจนฮอร์โมนเสริม (Estrogen Replacement Therapy ERT) เพราะหมอร้อยทั้งร้อยจะเขียนใบสั่งให้ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ถ้าไม่ยอมเชื่อตามที่หมอสั่ง จะโกรธ ก็หมอเรียนมาอย่างนั้นนี่นา ผู้หญิงใกล้หมดประจำเดือนต้องเสริมฮอร์โมนหญิงเอสโตรเจน ครั้นเอสโตรเจนมีผลข้างเคียงต่างๆ นาๆ ก็ให้เสริมฮอร์โมนชายเข้าไปสมดุลกัน พรีมารินซึ่งเป็นยี่ห้อการค้าของฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงเป็นยาที่มีใบสั่งมากที่สุดในอเมริกา สมัยหลังๆ นี่ทำรวมกันเป็นชุดเลยทั้งเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรน ไม่ต้องถามมาก ไม่ต้องจำมาก ปัญหาอยู่ที่ว่า แต่ละสตรีมีระดับฮอร์โมนไม่เท่ากัน มีการวัดระดับฮอร์โมนก่อนใช้หรือเปล่า และสมดุลหรือไม่ ถ้าไม่สมดุลอธิบายหรือไม่ว่าผลลัพธ์คืออย่างไร แพทย์ชื่อดังคนหนึ่งสูญเสียใบอนุญาตเพราะเรื่องนี้

ระยะหลังผู้ชายใช้ฮอร์โมนเสริมเทสโทสเตอโรน (ผู้หญิงด้วย) เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ เสริมพละกำลัง และเพิ่มอารมณ์โรแมนติค ฮอร์โมนอีก 2 ชนิด คือ DHEA (Dehydroepiandrosterone) กับ เมลาโทนิน เริ่มเป็นที่นิยมว่าสามารถต่อต้านความแก่และต่อต้านเชื้อโรคในร่างกาย ความจริงฮอร์โมนเสริมต่างๆ เหล่านี้น่าจะได้รับการพิจารณาให้เป็นเสมือนหนึ่งยาประจำวัน ต่อต้านความแก่ เพราะฮอร์โมนทำงานกับนาฬิกาแห่งความชราประจำตัว ทำให้นาฬิกาหมุนช้าหน่อย

ฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งที่คนใช้กันมาก แต่ไม่รู้ว่ามันคือฮอร์โมน รู้จักกันดีในนามของอินซูลิน ผลิตจากเซลล์เบต้าบนตับอ่อน ทำหน้าที่กระตุ้นตับให้สลายไกลโคเจนเป็นกลูโคส เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือสั่งให้ตับเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจนเมื่อน้ำตาลในเลือดสูง และหน้าที่ของอินซูลินอีกอย่างหนึ่งก็คือ กระตุ้นเนื้อเยื่อให้รับกลูโคสไปใช้งานซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสลายไขมันกับโปรตีนไปใช้เป็นพลังงาน ถ้าร่างกายผลิตอินซูลินไม่พอ หรือเซลล์ไม่ตอบสนองกับอินซูลิน เพราะเซลล์ก็ชราแล้ว เป็นผลให้กลูโคสไม่ถูกใช้งาน และเดินทางไปสู่ไต เรียกว่าน้ำตาลออกไปกับปัสสาวะมากเบาก็หวาน หรือเรียกว่าเบาหวานประเภทสอง คนที่เป็นเบาหวานจึงต้องออกกำลังเพื่อกระตุ้นการใช้กลูโคส ไม่ส่งความหวานไปกับปัสสาวะโดยเปล่าประโยชน์

ล่าสุด เราใช้ฮอร์โมนเสริมที่ผลิตจากตับ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า สารคล้ายอินซูลิน แพทย์ผู้ค้นคว้าชื่อให้เป็นปัจจัยแห่งการเติบโต ทำหน้าที่ฮอร์โมนและอินซูลิน และยังเดินเท้าเข้าสู่ต่อมต่างๆ และเซลล์ต่างๆ สั่งการให้ต่อมอะดรีนัลอยู่เหนือส่วนบนของไตผลิตสเตอรอยด์ ซึ่งชื่อหอมในหมู่นักสร้างกล้าม แม้แต่กรรมการกีฬาโอลิมปิคก็ปวดหัวที่เอาเรื่องนักกีฬาไม่ได้ เมื่อใช้ฮอร์โมนเสริม เพราะตรวจไม่ได้ว่ามีอะไรเสริม ในเมื่อร่างกายผลิตขึ้นมาเอง แต่มีประโยชน์มหาศาลต่อกล้ามเนื้อและพละกำลังของนักกีฬา

นอกจากการใช้ฮอร์โมนเสริมต่างๆ ข้างต้น ตัวฮอร์โมนนายใหญ่ที่กำลังนิยมเสริมกันอยู่ในปัจจุบัน คือโกรทฮอร์โมนเสริม เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ต้องใช้เงินแพงมาในการเสริมเข้าสู่เส้นเลือด ด้วยการฉีดโดยแพทย์และมีใบสั่งยา แต่ด้วยไฮเทคในการโคลนนิ่งเซลล์สำเร็จ เดี๋ยวนี้เราสามารถเสริมโกรทฮอร์โมนในร่างกาย ด้วยวิธีง่ายๆ คือสเปรย์โกรทฮอร์โมนที่ใต้ลิ้น แล้วให้ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมนขึ้นมาเองจากต่อมพิทุอิทารีใต้สมอง หลังจากนั้น โมเลกุลของโกรทฮอร์โมนจะได้รับการปล่อยเข้าสู่กระแสโลหิต เดินทางไปกระตุ้นต่อมอื่นๆ ให้ผลิตฮอร์โมนอื่นๆ ต่อกันไปเป็นแถว เรียกว่าฮอร์โมนนายใหญ่บงการทุกต่อมทุกเซลล์ในร่างกายให้ทำงานอีก หลังจากที่ไม่ค่อยได้ทำงานเต็มที่ในร่างกายผู้หญิงเมื่ออายุประมาณ 14 ปี ผู้ชายเมื่ออายุประมาณ 18 ปี

ถึงแม้จะไม่เสริมฮอร์โมนโดยตรง ก็ใช้โปรตีนอะมิโนแอซิตเป็นอาหารส่งเสริมการผลิตโกรทฮอร์โมน เช่น ใช้ อาร์จินิน ออร์นิพีน ไลซีน กลูตามีน ไนอาซิน ซึ่งมีขายตามร้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพทั่วไป

ฮอร์โมนเสริมให้ประโยชน์และโทษอย่างไรบ้าง ก็ลองนึกดูว่าสมัยเด็กคนเราเป็นอย่างไรบ้าง มีความแตกต่างกับสมัยแก่อย่างไรบ้าง หักลบกันดูแล้ว ความแตกต่างนั้นคือความแตกต่างที่ฮอร์โมนหายไปจากระบบร่างกาย ก็เติมส่วนที่ขาดหาย ผลลัพธ์จะได้คงเดิมเหมือนตอนสมัยเด็ก แต่ไม่เหมือนทีเดียวนัก เพราะความร่อยหรอคอยบั่นทอนอยู่เป็นสิ่งแน่นอนแห่งวัย แต่ความหวังที่ประสบผลดีจากการค้นคว้าทดลองก็คืออาจคลายจากโรคความจำเสื่อมที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คนแก่ต้องสิ้นชีวิตเร็วขึ้น คือการไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ทำให้กล้ามเนื้อยิ่งทุพพลภาพเร็วขึ้น เกิดเป็นโรคต่างๆ นาๆ เช่นนอนอยู่กับเตียงนานๆ ผิวหนังเป็นแผล เชื้อแบคทีเรียลุกลามจนถึงตายได้ ที่สำคัญคือการมีฮอร์โมนช่วยให้ระบบประสาทดี มีความสุข และต่อต้านฮอร์โมนแห่งความเครียด (Stress Hormone) ได้ เขาถึงว่า Grumpy old man คือแก่แล้วพาลหงุดหงิดขวางไปหมดทั้งคน ทั้งของ เพราะขาดฮอร์โมนไปทั้งระบบ

ผลเสียของการใช้ฮอร์โมนเสริม อยู่ที่การ Abuse โกรทฮอร์โมน โดยการโหมใช้เพื่อให้เกิดผลทันทีทันใดทันตาเห็น อย่างที่นักกีฬาหรือนักกล้ามต้องการผลลัพธ์ การใช้โกรทฮอร์โมนเสริมขนาดหนัก เพื่อให้มีพละกำลังและกล้ามใหญ่มหึมาอาจนำไปสู่อวัยวะโตเกินไป (Acromegaly) ทำให้หัวใจวายถึงกับตายได้ หรือสะสมน้ำในร่างกายมากเกินไป หรือปวด การใช้โกรทฮอร์โมนเสริม หรือการเสริมฮอร์โมนใดๆ จึงมีหลักว่า ใช้น้อยแต่บ่อยครั้ง (Low dose, high frequency) อย่างที่แพทย์ได้ทำการทดลองแล้ว ปรากฏว่าไม่มีผลเสียที่เป็นอันตรายอย่างใด ที่เดนมาร์คได้ทดลองโกรทฮอร์โมนเสริมเป็นเวลา 3 ปี ตามหลักว่าใช้น้อย ไม่มีผลข้างเคียงด้านเสีย เมื่อปี 1995 ด็อกเตอร์โรเซ่น ด็อกเตอร์โจฮันซัน และด็อกเตอร์เบงท์สัน แห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์ เมืองโกเตเบิร์ก ประเทศสวีเดนรายงานว่า “ไม่ปรากฏว่ามีผลเสียที่จะบ่งชี้ว่าเป็นอันตรายในการใช้โกรทฮอร์โมนเสริมระยะยาว” ล่าสุด ด็อกเตอร์จอร์จ เมอเรียม แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่ซีแอทเติ้ล ได้รับการตีพิมพ์รายงานการค้นคว้าของเขาในนิยอร์กไทม์ฉบับวันที่ 18 ก.ค. 1995 ว่า “คณะที่ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับการใช้โกรทฮอร์โมนเสริมเห็นว่าปราศจากผลเสียข้างเคียงโดยสิ้นเชิง” ที่น่าจะเป็นห่วงก็คือ แล้วจะอายุไปถึงกี่ปีกันนี่ แล้วจะอยู่กับใคร ถ้าเพื่อนฝูงไม่ใช้โกรทฮอร์โมนด้วย