สุขภาพและการบำบัด
สดศรี สุริยะฉาย
ตัวบงการชีวิต

ข่าวใหญ่ทะลุดังเปรี้ยงปร้างทั่วโลก ยิ่งกว่าข่าวสร้างแกะจากเซลล์เสียอีก นั่นคือการถอดรหัสสารเคมีของ DNA ในเซลล์ เรียกว่าจีโนมของมนุษย์ (Human Ginome) ก็สมควรจะดังทะลุฟ้า เพราะเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ เป็นงานยากใช้เวลานาน เรียกว่าไปสืบความลับในสิ่งที่พระเจ้าสร้างไว้นั่นเทียว ผู้ประกาศความสำเร็จคนหนึ่งถึงกับปลอบว่า ไม่ใช่เป็นการไขความลับของพระเจ้าหรอกนะ เพียงแต่นับจากนี้ไปมนุษยชาติจะรู้ว่าอะไรเป็นบ่อเกิดของโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ทุพพลภาพ และเราน่าจะรู้ว่าสารอะไรสามารถรักษาโรคนั้นๆ ได้ รวมทั้งการแก้ความแก่ น่าจะยืดอายุคนไปได้อีกสักร้อยสองร้อยปีก็ย่อมเป็นไปได้

ความมหัศจรรย์ของเซลล์มีให้เห็นเสมอ เหมือนสมัยก่อนเราเคยกลัวฟ้าผ่า เพราะไม่รู้สาเหตุ ต่อมามนุษย์ป้องกันฟ้าผ่าได้ เพราะความเข้าใจถึงบ่อเกิดของสายฟ้า เลยสร้างตึกเย้ยฟ้าเสียเลยเป็นว่าเล่น คอยดูกันต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับความรู้เรื่องจีนส์ เราคงเคยได้ยินว่า ประเทศจีนเคยเชิญคนอัจริยะจากต่างประเทศไปเมืองจีน แล้วเตรียมสตรีชั้นเลิศที่พร้อมจะตั้งครรภ์ไว้ต้อนรับ เพื่อการถ่ายทอดจีนส์ของสมองอัจฉริยะไว้กับสายเลือดชาวจีน เรื่องนี้ไม่เปิดเผยว่าได้ไว้กี่คน ต่อแต่นี้ไป ไม่ต้องแยบยลขนาดนั้น ว่ากันซึ่งๆ หน้า เอาจีนส์ที่ต้องการมาได้เลย

เราคงเคยได้ยินเรื่องคู่สมรสที่สามีเป็นชาวคอเคเซี่ยนฝรั่งผิวขาว กับภรรยาผิวดำ มีบุตรฝาแฝดสองครั้ง แต่ละครั้งคู่แฝดไม่เหมือนกัน เป็นเด็กผิวขาวครบชุดหนึ่งคน กับเด็กผิวดำครบชุดหนึ่งคน ทั้งสองครั้งไม่มีลักษณะก้ำกึ่งครึ่งดำครึ่งขาวเหมือนปกติทั่วไป สืบแล้วปรากฏว่าฝ่ายแม่เคยมีบรรพบุรุษเป็นคอเคเซี่ยนสมัยปู่ นี่คือความลับที่สมัยนั้นคนไขไม่ออก ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้นถึง 2 ครั้ง เดี๋ยวนี้รู้แล้วว่า โครโมโซมเป็นตัวบงการนำสารเคมีของเซลล์ใน DNA โดยมี RNA เป็นตัวนำลักษณะมาถ่ายทอดต่อไป

การถอดรหัสของสารเคมีในจีนส์ เรียกว่า decipher นั้น เริ่มเป็นทางการตั้งแต่ปี 1990 ตั้งใจว่าจะทำให้รู้เรื่องภายในปี 2005 คือให้เวลา 15 ปี แต่ได้ผลสำเร็จก่อนกำหนด เนื่องจากมีผู้ร่วมงานด้านเอกชนและภาครัฐบาลทั่วโลก 16 สถาบันใน 6 ประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ปี 1996 ได้ตลลงกันว่าใครรู้อะไร ถอดรหัสอะไรได้ต้องเอาเข้า GenBank ทุกคืน นับว่าเป็นแหล่งเว็บไซต์กลางที่เหมือนธนาคารแห่งข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี่ ที่เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์อื่นๆ ค้นคว้าในระหว่างทำงานกับบริษัทหรือมหาวิทยาลัย จากปี 1993 ถึงปี 1998 ปรากฏว่าใส่รหัสโค้ดจีนส์ได้ 120 ล้านตัว นับว่าเป็นผลงานกะจ้อยร่อย ยังมีอีกเยอะ

ความจริงแล้วการค้นคว้าด้านนี้ ได้ถูกนำออกใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติเป็นระยะๆ ตลอดมา ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่แล้ว เมื่อเริ่มการทำก็อปปี้เซลล์ได้ เราก็สามารถผลิตโกรทฮอร์โมนจาก DNA ของโกรทฮอร์โมนมนุษย์มาอยู่ในขวด ให้เราสเปรย์ใต้ลิ้น แล้วซึมเข้าสู่จุดรับของเซลล์ที่ต่อมพิทุอิทารี เท่ากับว่าร่างกายเริ่มผลิตโกรทฮอร์โมนเองเหมือนสมัยเยาว์วัยอีกครั้ง

ผลอันหลังสุดจากการค้นคว้าที่ได้รับการเปิดตัวมาใช้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติปัจจุบันนี้คือการใช้ปัจจัยแห่งการเจริญเติบโตจากสารที่ผลิตโดยตับ (Liver) เรียกว่า โซมาโตมีตินซี (Somatomedin C) หรือ Insulin-like Growth Factor-1 สามารถสร้างกล้ามเนื้อ เสริมต่อเซลล์ประสาทให้เจริญงอกงาม มีความหวังว่าอาจนำไปสู่การรักษาโรคง่อยหรือรายที่กล้ามเนื้อไม่ทำงานได้ และนอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญในการรักษาอาการเบาหวาน โดยสามารถปรับภาวะกลูโคสในเลือดให้อยู่ในระดับปกติทำหน้าที่เหมือนสารอินซูลินที่ผลิตโดยตับอ่อน (Pancreas) เลยได้รับการขนานนามว่าสารคล้ายอินซูลิน

ต่อจากนี้ไปไม่นาน คงจะนำโมเลกุลของปัจจัยแห่งการเติบโตอื่นๆ ที่ค้นพบแล้วแต่เรียกชื่อต่างกัน และอยู่ในระหว่างการทดลองในฐานะยามาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากขึ้น เช่น ปัจจัยแห่งการส่งเสริมเม็ดเลือดแดง เรียกว่า Erythropointein (EPO) สำหรับรายที่เป็นโลหิตจางเนื่องจากการฉายแสง Chemotherapy ปัจจัยแห่งการเติบโตใช้ในการบำบัดผู้ป่วยโรคเอดส์ เรียกว่า AZT ปัจจัยแห่งการเติบโตสำหรับผู้ที่ไตวาย ปัจจัยแห่งการเติบโตของผิวหนังส่วนบน ในกรณีผิวไหม้ หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เรียกว่า Epidermal growth factor (EGF) ปัจจัยแห่งการเติบโตจากเซลล์ชื่อไฟโบรบลาสต์ที่คอยส่งโปรตีนไปเสริมความแข็งแรงของสายใยคอลลาเจนและอีลาสตินเรียกว่า Fiborblast growth factor จะนำถูกมาใช้ในการเปิดทางเดินเส้นเลือดใหม่ เช่นรายที่ต้องทำการผ่าตัดผิวหนังไปบริจาคให้ผิวหนังส่วนอื่น หรือบำบัดความปวดจากผิวหนังจากแรงกด และที่สำคัญมากได้แก่ปัจจัยแห่งการเติบโตทางระบบประสาท เรียกว่า Neurotropic or nerve growth factor (NGF) ซึ่งจะส่งเสริมให้ระบบประสาทควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อใหม่

ผลดีอเนกอนันต์จากการให้โค้ดสารเคมีของตัวบงการชีวิตของจีโนมของมนุษย์ มาจากผลงานยากลำบากยิ่ง เริ่มต้นตั้งแต่กลางศตวรรษปี 1850 บาดหลวงชาวออสเตรียนที่ศึกษาการปฏิบัติงานของจีนส์ของต้นถั่วที่ท่านปลูกในวัด และคอยติดตามความเติบโตของสีดอกถั่ว ความย่น หรือราบเรียบของเม็ดถั่ว อะไรต่างๆ เหล่านี้เสมอ พระนี้ชื่อเกรกเกอร์ เมนเดล ผลการศึกษาของท่านถูกเก็บไว้บนหิ้งจนต้นปี 1900 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ 3 คนพบกระดาษรายงานการค้นคว้าของท่าน เลยกลายเป็นพลุแห่งความสนใจนับแต่นั้นมา ศึกษากันหมดตั้งแต่พืช แมลงวัน เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส และอื่นๆ แต่ก็ยังมองไม่ออกถึงความสำคัญว่า DNA ทำอะไร ไปคิดกันเสียว่าเจ้าตัวนี้บ่มิไก๊สำหรับงานอันเลิศเลยในการบงการชีวิต จนเริ่มปี 1950 จึงเริ่มเห็นบทบาทที่ไม่ใช่โง่ของ DNA ปี 1953 นักวิทยาศาสตร์ชื่อเจมส์ วัดสัน และฟรานซิส คริค เริ่มมองเห็นรูปร่างของ DNA และต่อมานักวิทยาศาสตร์สามารถถอดโค้ดของมันออกมาได้ 4 ตัว คือ อะดีนีน ซีสโตซิน กัวนีน และไทมีน หรือ A C G T ซึ่งแต่ละช่วงเป็นโปรตีนต่างๆ กัน โปรตีน คือตัวสร้างเซลล์ที่เป็นหน่วยแห่งชีวิต โดย RNA รับคำสั่งมาจาก DNA ภายในของเซลล์เปรียบเทียบได้กับไข่แดง นำออกมาสร้างโปรตีนเพื่อเป็นเซลล์สร้างกระดูก เลือด กล้ามเนื้อ ผม ประสาท และเซลล์อื่นๆ รอบๆ ไข่แดงซึ่งมีตัวเก็บโปรตีนชื่อริโบโซมส์ ความผิดปกติของชีวิตอยู่ที่การให้โค้ดผิวของช่วงจีนส์ที่สร้างโปรตีนนั้นๆ เป็นการนำไปสู่โรคร้าย เช่น ก้อนเนื้อร้ายในเนื้อเยื่อ หรือมะเร็ง การมีความเข้าใจเรื่องของจีนส์จึงมีความหมายอันสำคัญยิ่งยวดต่อชีวิต ต่อความตาย และต่อเชื่อชาติของมนุษย์

ผลดีของการค้นคว้าเรื่องจีนส์เริ่มปรากฏเป็นประโยชน์แล้วตามที่เห็นมา นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้วิธีการโคลนนิ่ง (Cloning) ผลิตแกะมาให้เห็นโดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ หรือการโคลนนิ่ง DNA ของโกรทฮอร์โมน หรือการโคลนนิ่งตัวปัจจัยแห่งการเติบโต IGF-1 จากตับมาช่วยผู้เป็นเบาหวานซึ่งเกิดดื้อต่ออินซูลินที่เคยผลิตในร่างกายมาแสนนานโดยตับอ่อน แต่กว่าจะออกมาใช้ประโยชน์ได้นี้ ก็กินเวลาในการค้นคว้าเป็นสิบปี และต้องศึกษาจีนส์เป็นจำนวนหมื่นๆ จีนส์ เพื่อที่จะวิเคราะห์ตัวจีนส์ที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ เบาหวาน โรคสมอง หรือโรคมะเร็ง

ไหนๆ ก็ฟุ้งเรื่องจีนส์ คุณทึ่งในความมหัศจรรย์ของการค้นคว้าบ้างไหม กว่าจะเอามาให้โค้ดแต่ละตัวได้ โมเลกุลของ DNA ยุ่งยากพันกันซับซ้อนแบบริบบิ้นสามมิติ นักวิทยาศาสตร์ต้องเอามาแจงแยกออก แล้วก็อปปี้ขึ้นมา แล้วแยกอันที่มีความยาวต่างกันไว้เป็นพวกๆ โดยใช้ป้ายชื่อติดไว้เป็นสีต่างกัน สำหรับสารเคมีแต่ละตัวในสี่ตัวที่สร้าง DNA ดังโค้ดที่กล่าวไว้ข้างต้นคือ A C G และ T แล้วก็ใช้กระแสไฟฟ้าดึงอันที่มีความยาวน้อยที่สุดไปหายาวที่สุด ไปตามท่อที่เล็กขนาดเส้นผมตุ๊กตาทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดเพราะใส่เจลไว้ อุปกรณ์สมัยใหม่สามารถทำพร้อมกัน 96 ท่อ สามารถทดลอง 96 DNA พร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน จากนั้นใช้แสงเลเซอร์จัดเรียงตามโค้ดสีที่ติดป้ายไว้ และคอมพิวเตอร์จะให้โค้ดต่อไป โค้ด DNA ของมนุษย์ใช้เนื้อที่มากกว่า DNA ของไวรัส 5 แสนเท่า กว่าจะได้โค้ด DNA และแยกออกถูกว่าตัวไหนก่อให้เกิดความผิดปกติ และจะใช้สารเคมีอะไรไปรักษา คุณก็คงคิดออกว่าทำไมโกรทฮอร์โมนถึงยังแพงอยู่ ต่อไปคงถูกลงเมื่อค่าค้นคว้าถัวเฉลี่ยลง กว่าจะถึงเวลานั้นเราก็แข็งแรงมีกำลังทำเงินมากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตามขอแสดงความยินดีในความสำเร็จทั้งมวลของนักค้นคว้า และขอขอบคุณที่ผลดีได้เจือจานมาทันในช่วงชีวิตของเรา อาจจะทันไปอยู่โลกพระอังคารได้โน่น