สุขภาพและการบำบัด
สดศรี สุริยะฉาย
เมลาโทนิน แอนไทออกซิแดนท์อีกตัวหนึ่ง

มีผู้อ่านถามว่ารู้จักเมลาโทนินไหม เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนมหัศจรรย์อีกชนิดหนึ่งซึ่งคนทั่วไปรู้จักดี แม้แต่คนที่ไม่สนใจเรื่องต่อต้านความแก่ ก็ทานเมลาโทนินเพื่อให้นอนหลับหรือตอนเปลี่ยนเวลาไปเมืองไทยบ่อยๆ เมลาโทนินมีชื่อเสียงด้านอื่นด้วย นักค้นคว้าบอกว่าสร้างภูมิต้านทานต่อสู้มะเร็ง ช่วยหัวใจ และอาจเป็นตัวรักษาโรคเอดส์ได้ นอกจากจะส่งเสริมความสุนทรีย์ของอารมณ์อีกโสดหนึ่ง

ด็อเตอร์เกรก ฟาไฮ Ph.D. แห่งสถาบันค้นคว้าทางแพทย์ของราชนาวีที่เบเทสดา รัฐแมรี่แลนด์ คาดว่าโกรทฮอร์โมนน่าจะเป็นกุญแจไขคำอธิบายต่างๆ ว่าทำไมเมลาโทนินจึงมีผลอย่างกว้างขวางต่อการต่อต้านความชรา “มันยังเป็นทฤษฎีอยู่” เขาว่า “แต่เมื่อเมลาโทนินลดการผลิตลงในสมองเป็นตัวก่อให้เกิด Puberty หรือวัยแตกพาย ในวัยนี้ โกรทฮอร์โมนเริ่มลดการผลิตด้วย เป็นเหตุและผลว่าสองฮอร์โมนนี้น่าจะสัมพันธ์กัน และถ้าเพิ่มเมลาโทนินก็น่าจะกระตุ้นการผลิตโกรทฮอร์โมนด้วย” วัย Puberty ในอเมริกาอยู่ระหว่างอายุ 12-18 ปี จะเห็นได้ว่าเด็กผู้หญิงจะยุติการเติบโตของกระดูกในราวอายุ 14 ปี เด็กผู้ชายราว 18 ปี เพราะโกรทฮอร์โมนลดการผลิตลง ความสัมพันธ์ของฮอร์โมนสองอย่างนี้ใกล้เคียงกันมาก ขนาดที่นักค้นคว้าคนหนึ่งชื่อด็อกเตอร์รัสเซลล์ ไรเดอร์ Ph.D. บอกว่าการทานเมาลาโทนินเป็นวิธีที่ราคาถูกที่สุดที่จะเพิ่มโกรทฮอร์โมน แต่แพทย์หลายคนไม่เห็นด้วย มันไม่สามารถทดแทนโกรทฮอร์โมนได้เหมือนกับที่ DHEA ไม่สามารถทำได้ นอกเสียจากว่าจะฉีดโกรทฮอร์โมนหรือโดยวิธีกระตุ้นการผลิตโกรทฮอร์โมนให้ไปกระตุ้นการผลิต IGF-1 เพื่อกลับไปสู่ความเยาว์วัยอีกทั้งร่างกายและจิตใจ

เมลาโทนินเริ่มทำงานมีชีวิตชีวาเมื่อความมืดย่างกราย และหายไปเมื่อสว่าง ผลิตโดยต่อมไพนีลที่ด้านหลังสมองระหว่างตา บางทีเขาตั้งสมญาว่าตาที่สาม เพราะสามารถมองเห็นลึกกว่าและถูกต้องกว่าตาธรรมดาเสียอีก เป็นต้นว่าลูกแมวและลูกหมาที่เกิดมาตายังปิดสนิท สามารถเคลื่อนไหวไปหาแม่เพื่อดูดนมได้ถูกทิศทางเพราะต่อมไพนีลเป็นสายตาให้ เขาถึงว่าการแขวนวัตถุที่แกว่งไกวเหนือเปล จะทำให้ทารกตาเขเนื่องจากสายตายังไม่พัฒนาดีพอที่จะจับจุดนิ่งได้ นอกจากนี้ต่อมไพนีลยังทำหน้าที่เป็นนาฬิกาประจำตัว รักษาเวลา 24 ชั่วโมง คอยบอกเวลาตื่นและเวลาหลับ และบอกฤดูกาล เช่นการอพยพของนก การผสมพันธ์ของสัตว์ การพักผ่อนเข้าถ้ำของหมีหรือเต่า มีผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิต้านทานชื่อนายแพทย์ วอลเตอร์ เพียร์เพาลี M.D., Ph.D. กับนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อวลาดิเมียร์ เลสนิกอฟ ทดลองเอาต่อมไพนีลของหนูแก่ใส่ให้หนูเด็ก ปรากฏว่าหนูเด็กแก่เร็วขึ้น และเมื่อเอาต่อมไพนีลของหนูหนุ่มให้หนูแก่ ปรากฏว่าหนูแก่กระชุ่มกระชวยมีกำลังวังชาแข็งแรงเหมือนหนูหนุ่ม การปรับปรุงสุขภาพรวมไปถึงสมรรถนะทางเพศ มีความสนใจความกระตือรือร้นแบบวัยเยาว์ อีกทั้งอวัยวะเพศพัฒนาเหมือนกับสัตว์อายุน้อย

เมลาโทนินจากการทดลองกับมนุษย์ ปรากฏว่าเสริมภูมิต้านทานแข็งแรงขึ้น ลดปริมาณโคเลสเตอรอลในคนที่มีโคเลสเตอรอลสูง และส่อเค้าว่าจะป้องกันและบำบัดมะเร็งได้ด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้หลับง่ายและแก้ปัญหาเวลาเปลี่ยน ฮอร์โมนนี้ช่วยเป็นเกราะป้องกันความเครียดโดยปรับสภาวะจิตใจอันเกิดจากฮอร์โมนแห่งความเครียด (Stress Hormone) ที่อิตาลีผลการใช้เมลาโทนินทดลองกับคนเป็นมะเร็งที่ปอด โดยด็อกเตอร์ เปาโล ลิสโซลีกับคณะที่โรงพยาบาลเจอราโดเมืองมอนซา สามารถช่วยให้รอดภัยจากมะเร็งได้ในหนึ่งปี การค้นคว้าอีกกลุ่มหนึ่งทำกับคนไข้ที่มีก้อนทูเมอร์ร้ายแรง แพทย์ให้เวลามีชีวิตอยู่ได้เพียง 6 เดือน ปรากฏว่าเมื่อให้เมลาโทนินกับสารเสริมภูมิต้านทาน ช่วยให้ก้อนทูเมอร์เล็กลงเป็นจำนวน 2 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เข้าทดลอง และอีก 18 เปอร์เซ็นต์ก้อนทูเมอร์บางส่วนลดลง อีก 38 เปอร์เซ็นต์มีอาการคงที่ไม่ขยายขนาดขึ้นเมลาโทนินอาจมีส่วนสำคัญในการป้องกันมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะจากการตรวจพบว่าคนที่มะเร็งเต้านมกับมะเร็งที่ต่อมลูกหมากมีระดับเมลาโทนินต่ำ

ดังที่ทราบกันดีว่า การสังเคราะห์อาหารและออกซิเจนก่อให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (Free Radicals) อันเป็นช่องทางนำโรคต่างๆ มาสู่ร่างกาย ได้แก่ โรคหัวใจ มะเร็ง และภูมิต้านทานเสื่อม เมลาโทนินเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดตัวหนึ่งที่ค้นพบในร่างกาย มีความสามารถเจาะเข้าไปสู่ทุกเซลล์ และสามารถทำงานกับเซลล์ทั้งภายนอกที่เป็นไขมันเข้มข้นหรือภายในเซลล์ที่เป็นของเหลว จากการทดลองของด็อกเตอร์รัสเซลล์ ไรเดอร์และคณะที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เมืองซานแอนโตนิโอ เขาให้เมลาโทนินแก่หนูก่อนให้อาหารที่ประกอบด้วยสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งจากอนุมูลอิสระไปทำลายโปรตีนในเซลล์ปรากฏว่าหนู 41 ใน 99 ตัว ไม่ได้รับอันตรายที่เซลล์ ผิดกับหนูที่ไม่ได้รับฮอร์โมนเมลาโทนิน ยิ่งให้เมลาโทนินมากเท่าใดก็ยิ่งมีการป้องกันอันตรายจากสารอนุมูลอิสระเท่านั้น

การทำงานด้านช่วยให้นอนหลับของเมลาโทนินใกล้เคียงกับยานอนหลับ เมลาโทนินถูกปล่อยออกมาตอนกลางคืน เช่นเดียวกับโกรทฮอร์โมน ปริมาณที่เราผลิตเมลาโทนินมากน้อยแค่ไหนดูได้ที่ว่าหลับดีเพียงใด คนชราที่เป็นโรคนอนไม่หลับมีปริมาณเมลาโทนินเพียงครึ่งเดียวของคนวัยเยาว์ ปัญหาโกรทฮอร์โมนลดน้อยลงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ ด็อกเตอร์สตีฟโนวิล นักค้นคว้าที่สถาบันการค้นคว้าเพื่ออายุยืนของอเมริกา ได้บำบัดการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุด้วยเมลาโทนินมาเป็นเวลา 6 ปี มีคนไข้คนหนึ่งอายุ 86 ปี มีปัญหาเหมือนๆ กับผู้สูงอายุทั่วไป คือไม่สามารถนอนหลับได้หลังจากตื่นเข้าห้องน้ำหลายครั้งตอนกลางคืน หลังจากหนึ่งสัปดาห์ที่ให้เมลาโทนิน 3 มิลลิกรัมหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน คนไข้ตื่นเข้าห้องน้ำน้อยครั้งลง และสามารถหลับต่อทันทีหลังจากนั้น นอกจากนี้ยังฝันดีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเป็นเวลาหลายปี เวลาตื่นขึ้นมาก็สดชื่นกระปรี้กระเปร่า การค้นคว้ายังรายงานอีกว่าการให้เมลาโทนินน้อยๆ ประมาณ 0.3 มิลลิกรัม ถึง 1.0 มิลลิกรัม ย่นระยะเวลาการเข้าสู่ภวังค์ก่อนหลับ เพิ่มเวลานอนหลับให้มากขึ้น ลดการตื่นกลางดึก และเพิ่มคุณภาพของการหลับคือหลับสนิทในคลื่นช้ามากขึ้น โกรทฮอร์โมนจะผลิตสูงสุดในการหลับสนิทแบบ Slow Wave คนเป็นโรคนอนไม่หลับที่ใช้เมลาโทนินอาจกระตุ้นการผลิตโกรทฮอร์โมนได้ เมลาโทนินยังเป็นตัวปรับนาฬิกาประจำตัว ช่วยให้หลับได้ในรายที่ทำงานไม่สม่ำเสมอกับเวลา หรือคนเดินทางมากๆ เมื่อข้ามเส้นเปลี่ยนเวลามักนอนไม่ได้ มีอาการ Jet lag คือเพลีย งุนงง หลับไม่ลง กระสับกระส่าย เมื่อได้รับเมลาโทนินจะช่วยลดอาการต่างๆ เหล่านั้นลง 50 เปอร์เซ็นต์ จากการทดลองกับนักเดินทาง เมื่อให้เมลาโทนิน 30 มิลลิกรัมวันที่เริ่มเดินทาง และติดต่อกัน 3 วันหลังจากนั้น จะนอนหลับได้ดี ไม่มีอาการหงุดหงิด ดีกว่าทานยาไม่ได้เรื่องชนิดอื่น

การใช้เมลาโทนินปริมาณที่ถูกต้องขึ้นอยู่กับการลองจนเหมาะ บางคนใช้เพียง 200 ไมโครกรัมก็พอ บางคนต้องการถึง 60 มิลลิกรัม โดยมากเมลาโทนินใช้เพื่อให้นอนหลับหรือตั้งนาฬิกาประจำตัวใหม่ โดยทั่วไปคุณไม่ต้องการใช้เมลาโทนินเพื่อต่อต้านความแก่นอกเสียจากว่าคุณอายุเกิน 60 ปี ปกติแล้วเรามีวิธีส่งเสริมให้ต่อมไพนีลผลิตเมลาโทนินเอง ด้วยการดึงม่านให้ห้องมืดตอนหลับ และรูดม่านขึ้นเพื่อรับแสงสว่างทันทีที่ตื่น เท่านั้นก็ได้เรื่องตามนาฬิกาประจำตัว

คนสูงอายุเกิน 60 ปี อาจใช้เมลาโทนินก่อนนอน ใช้แต่น้อย เพียง 0.5 ถึง 1.0 มิลลิกรัม ประมาณครึ่งชั่วโมงถึง 2 ชั่วโมงก่อนหลับ ถ้ามีอาการไม่ดีหรือปวดศีรษะ ก็ลดปริมาณลงจนหลับง่ายอย่างสบาย บางคนใช้ถึง 5 หรือ 10 มิลลิกรัม หรือบางคนถึง 20 มิลลิกรัมจึงจะเห็นผล นักค้นคว้าแนะนำให้ใช้วันเว้นวัน หรือห่างกว่านี้ เพื่อจะได้ไม่ตัดการทำงานของต่อมไพนีลให้ผลิตเมลาโทนินด้วยตัวเอง อันเป็นจุดสำคัญในการฝึกร่างกายให้เป็นที่พึ่งแห่งร่างกาย ถ้าจะเลิกใช้ก็ค่อยๆ ทิ้งช่วงห่างออกไป คำอธิบายนี้ เป็นการค้นคว้ามาจากข้อเขียนของนายแพทย์โดแนลด์ แคลทซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโกรทฮอร์โมน ผู้มีบุญคุณต่อมนุษยชาติอย่างอเนกอนันต์ ที่ได้ให้ความกระจ่างเรื่องการต่อต้านความชราด้วยการใช้โกรทฮอร์โมน