สุขภาพและการบำบัด
สดศรี สุริยะฉาย
ยุบหนอพองหนอ (แอนไทออกซิแดนท์)

หัวข้อเรื่องยุบหนอพองหนอ ไม่ได้แผลงเป็นภาษาอังกฤษว่าแอนไทออกซิแดนท์ แต่เรื่องราวของออกซิแดนท์ และปฏิกิริยาการต่อต้านมันเหมือนกับกงกำกงเกวียน เฉกเช่นสุนัขไล่งับหางตัวเอง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน โชคดีที่เหนือฟ้ายังมีฟ้า เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องเล็กไปเสียแล้ว ในการแก้ปัญหาออกซิแดนท์ในร่างกาย ซึ่งเป็นตัวการแห่งปัญหานานัปการ ตั้งแต่ทำให้ผิวย่น ทำให้แก่ ทำให้ป่วย ทำให้เป็นมะเร็ง และอีกสารพัด

มันสมองของคนรัสเซียเลิศในหลายประการ ถ้าไม่พะวงกับการใช้พลังจิตของรัสปูตินทำให้สาวๆ ตกหลุมรักเป็นแถว อย่างน้อยเราต้องยอมรับว่า คนรัสเซียสามารถส่งยานอวกาศได้ก่อนอเมริกา และถ้ารัสเซียเป็นประเทศที่ให้โอกาสคนแสดงความคิดได้อย่างเสรี โลกจะเรียนรู้อะไรอีกมาก ยกตัวอย่างเช่นนักค้นคว้าชาวรัสเซียคนหนึ่งชื่อ วลาดิเมียร์ ดิลแมน มีโอกาสใช้ชีวิตบั้นปลายในอเมริกา ทำให้เราได้รับรู้รายงานการค้นคว้าของเขาว่า ที่แกนเชื่อมไฮโปทาลามิค-ต่อมพิทุอิทาริ มีกลไกนาฬิกาแห่งความแก่ เช่นเดียวกับนาฬิกาของประสาทแห่งต่อมไร้ท่อ ที่กำหนดว่าเซลล์จะมีอัตราในการเกิดกี่ครั้ง ดังเช่นที่ยกตัวอย่างไว้ในก่อนหน้านี้ว่าเซลล์ไฟโบรลลาสต์ที่ส่งโปรตีนไปสร้างสายใยคอลลาเจนและอีลาสตินในผิวให้แข็งแรง มีอัตราการเกิดเพียง 50 ครั้งเท่านั้น แล้วลาชีวิตไปเลย ทิ้งให้ผิวเหี่ยวอย่างไม่แยแส ดิลแมนบอกว่า กลไกควบคุมระหว่างไฮโปทาลามัสกับต่อมพิทุอิทาริ และต่อมไร้ท่ออื่นๆ ภายใต้การควบคุมของมันเข้มงวดมาก เปรียบเทียบได้กับกลไกควบคุมอุณหภูมิเทอร์โมสแตทของบ้าน เมื่อย่างเข้าวัยร่วงโรย กลไกนี้อ่อนแรง ต่อมไร้ท่อก็ตอบสนองร่างกายน้อยลง กลไกควบคุมที่เรียกว่าโฮเมโอสแตลิสก็ทำงานอ่อนลงเรื่อยๆ เซลล์ไม่มีใครสั่งการ ก็ชักล้ากำลัง ก่อให้เกิดความชราจนทำให้ร่างกายสิ้นอายุขัยในที่สุด

ดิลแมนกล่าวว่าถ้าร่างกายไม่มีกลไกนี้ เซลล์ก็ไม่มีวัฎจักรแห่งการเกิด-แก่-ตาย กล้ามเนื้อหรือ กระดูกก็ไม่โตเหมือนกัน ปัญหาเกิดตรงที่หลังจากอายุ 20-25 ปี ที่มีตัวก่อกวนระบบกลไกนี้ เช่นเริ่มต้นเบาหวาน โรคอ้วน โรคประสาท ระบบภูมิต้านทานเสื่อม ความไม่สามารถปรับตัวคลายความกดดันแห่งอารมณ์ และการก่อตัวของมะเร็ง ตัวก่อกวนเหล่านี้เรียกว่าโรคชรา

อีกคนหนึ่งที่ให้ความคิดเห็นน่าคิด เป็นนักวิทยาศาสตร์จุลชีววิทยาที่สถาบันเจเนเทค (Genetech) คือ ดอกเตอร์ เกรซ วอง กล่าวว่า สาเหตุใหญ่ของความแก่อยู่ที่การสลายโปรตีนในเซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสื่อมของ DNA และ RNA ซึ่งเป็นตัวสั่งการสร้างโปรตีนในเซลล์ ผม ผิว กระดูก กล้ามเนื้อ ล้วนสร้างมาจากโปรตีน เมื่อไม่มีโปรตีน เป็นส่วนสำคัญ ก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ผมร่วง แล้วก็ไม่มีผมเส้นใหม่งอกแทน ผิวย่น กระดูกผุ กล้ามเนื้อหย่อน ในสมองยิ่งทรุดโทรมมากกว่า เพราะเซลล์สมองไม่สามารถเกิดใหม่อีก เริ่มต้นที่วัยกลางคน เรารู้สึกว่าแก่เพราะสมองเริ่มเสื่อม ปฏิกิริยาการตอบสนองเชื่องช้า ความจำระยะสั้นเริ่มหายไป เราจะปล่อยให้อุบัติการณ์นี้ดำเนินต่อไปได้อย่างไรกัน

เรารู้ว่ามันเริ่มต้นมาจากการที่โปรตีนในเซลล์เสื่อมลง เกรซ วอง กล่าวว่า ตอนที่เซลล์ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงาน เกิดอนุมูลอิสระของออกซิเจนขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ อนุมูลอิสระออกซิเจนนี้เป็นสารศัตรูอิสระที่มีชีวิตสั้น เราเรียกกันว่า Free Redicals วอง อธิบายว่า ออกซิเจนอิสระนี้เป็นตัวทำลาย โดยการสร้างเอนไซม์อันตรายชนิดหนึ่งเรียกว่าโปรทีส (Protease) ที่คอยทำลายโปรตีนในเซลล์ เมื่อโปรตีนถูกทำลายถึงจุดหนึ่ง เซลล์ก็ตาย

คนไทยรู้วิธีทำลายสารศัตรูอิสระนี้มานานแล้ว โดยการทานไวตามินซี ไวตามินอี มาแต่ไหนแต่ไร เพื่อคอยกีดกันมิให้เอนไซม์โปรทีสแข็งกร้าวขึ้นมา การป้องกันตัวเองของเซลล์นี้เรียกว่า มีตัวกำจัดโปรทีส (Protease Inhibitor) หมายความว่าถึงจะเกิดสารศัตรูอิสระตามกงกำกงเกวียนของวัฎจักรเซลล์ แต่ร่างกายสามารถสร้างตัวจำกัด โปรทีสไม่ให้เกิดอันตรายต่อโปรตีนได้ ตัวกำจัดโปรทีส เช่น ริโทเนเวียร์ และสควิเนเวียร์ (Ritonavir and Saquinavir) กำลังถูกนำมาใช้รักษาโรคเอดส์อยู่ในปัจจุบัน ปรากฏว่าสามารถลดจำนวนไวรัสเอดส์ลงจนคุมอยู่

ร่างกายสามารถสร้างตัวจำกัดโปรทีสได้ ตราบใดที่ยังสร้างโกรทฮอร์โมนในร่างกายอยู่ จากการทดลองที่ใส่ปริมาณออกซิเจนเข้าไปในสัตว์ 98 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นปริมาณที่อาจถึงตายได้ ในขณะเดียวกันก็ให้โกรทฮอร์โมนเข้าไปด้วย ปรากฏว่าสัตว์สามารถรอดชีวิตอยู่ได้ วอง เชื่อว่า การที่ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมนลดลงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณโปรตีนในเซลล์ถูกทำลาย “เมื่อร่างกายแก่ลง ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมนลดลง สารศัตรูอิสระเพิ่มขึ้น” เมื่อโกรทฮอร์โมนไม่มีพอที่จะสร้างตัวจำกัดโปรทีส เซลล์ก็ถูกทำร้ายเรื่อยไป

วอง รายงานว่า โกรทฮอร์โมนยังเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งในการยุติขบวนการหมดอายุของเซลล์ (Apoptosis) ตามวัฎจักรที่เคยเป็นอยู่โดยนาฬิกาเพชฆาต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแบบยุบหนอพองหนอ คือของมันย่อมจะเกิดแบบนี้มันก็ต้องเกิด เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคตามมาเพราะเซลล์ตายในหัวใจ ในสมอง ในโพรงกระดูก และตามที่อื่นๆ ในร่างกาย การหมดอายุของเซลล์ปล้นความจำ พละกำลังและความเยาว์ไปจากเรา

วอง เชื่อว่า โกรทฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญในการนี้ ในการทดลองเอาจีน (Gene) ของโปรทีส เข้าไปสู่ระบบนาฬิกาเพชฆาตที่เซลล์สมอง ปรากฏว่าเซลล์ตาย แต่เมื่อเอาตัวจำกัดโปรทีสเข้าไปสกัดกั้นระบบนาฬิกาเพชฆาต เซลล์ไม่ตาย การกระตุ้นให้เซลล์สร้างตัวจำกัดโปรทีสสามารถหยุดการทำงานของนาฬิกาเพชฆาตให้เลิกตั้งเวลาการหมดอายุของเซลล์ได้

อธิบายได้ว่าโกรทฮอร์โมนทำงานต่อต้านความชราเป็นสองระบบ ระบบหนึ่งคือการยุติการเสื่อมสภาพของเซลล์จากการทำลายของสารศัตรูอิสระ อีกระบบหนึ่งคือการถอดรหัสนาฬิกาเพชฆาตไม่ให้ทำงาน การยุบหนอพองหนอก็ยุติด้วยประการฉะนี้