สุขภาพและการบำบัด
สดศรี สุริยะฉาย



เรื่องของการหายใจ ตอนจบ

วิธีฝึกการหายใจ ผู้เขียนปรับปรุงและสอนเฉพาะแต่วิธีที่ดีที่สุด หลังจากที่รวบรวมมาจาก “ผู้รู้ทางสุขภาพ” ที่ผู้เขียนเรียนมาจากหลายท่าน ดังต่อไปนี้

เพื่อให้ง่ายต่อการฝึกหายใจประจำวันของผู้อ่าน ขอให้จำไว้ว่ามีอยู่ 6 วิธี แต่ละวิธีมี 6 ท่า เพื่อให้จำได้ง่าย ส่งเสริมวิธีสร้างความทรงจำ เป็นการชะลอโรคความจำเสื่อม ซึ่งมีหลักอยู่ว่า ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ และฝึกซ้ำๆ จนชิน กลายเป็นความจำ

1.บู๊ตึ๊ง (สอนโดยอาจารย์ฝึกพละศึกษาที่จีน ถ่ายทอดโดยอาจารย์ศูภกิจ นิมมานรเทพ)

ท่าที่ 1 ยืนกางขา เท้าห่างกันเท่าช่วงไหล่ มือกำหัวแม่มืออยู่ข้างในมือ แขนทอดข้างขา หายใจเข้าถึงช่วงท้อง หายใจออกยาวจนหมดปอด ซ้ำ 3 ครั้ง

ท่าที่ 2 ยกมือทั้งสอง ขึ้นเสมอไหล่ช้าๆ พร้อมกางนิ้วทั้ง 5 ออกห่างกัน หายใจเข้าและหายใจออกช้าๆ ระหว่างที่ยกมือทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ แขนตั้งตรง

ท่าที่ 3 ย่อเข่า กันลดลงต่ำ เสมือนนั่งยองๆ ข้อศอกวางบนขาทั้งสอง หายใจเข้า-ออก อย่างแรงให้ทั่วท้อง จะเป็นการสนับสนุนการขับถ่ายจากช่วงท้อง 3 ครั้ง

ท่าที่ 4 ยืนตัวตรง มือทั้งสองยกตั้งตรงเสมอหน้า หายใจเข้า-ออก 3 ครั้ง

ท่าที่ 5 ดันมือทั้งสองออกห่างกันออกไป หายใจแรงและถี่กระชั้นเร็วๆ ลึกๆ จนเหยียดแขนตรงสุดแขน

ท่าที่ 6 ลดมือทั้งสองลงแนบข้างตัว หายใจเข้า-ออก ช้าๆ 3 ครั้ง

2.เส้าหลิน (จากอาจารย์ศุภกิจ นิมานรเทพ)

ท่าที่ 1 ยืนเท้าทั้งสองห่างกันเสมอไหล่ มือเหยียดทอดข้างขาทั้งสอง แกว่งมือทั้งสองไปมา หายใจเข้า-ออก 3 ครั้ง

ท่าที่ 2 ยกแขนทั้งสองขึ้นตรงเสมอไหล่ พร้อมหายใจเข้า-ออก ช้าๆ 3 ครั้ง

ท่าที่ 3 ยกแขนขึ้นช้าๆ ตรงเหนือศีรษะ จนนิ้วจรดกันเหนือศีรษะ หายใจช้าๆ พร้อมกับการยกแขนขึ้นจนมือจรดกัน 3 ครั้ง

ท่าที่ 4 ลดมือทั้งสองลงสู่กระหม่อม พร้อมหายใจเข้าออกช้าๆ 3 ครั้ง

ท่าที่ 5 หงายมือทั้งสองขึ้น หายใจเข้าออกช้าๆ 3 ครั้ง

ท่าที่ 6 ดันมือขึ้นเหนือศีรษะช้าๆ แรงๆ เสมือนหนึ่งดันของหนัก หายใจแรงเข้า-ออก 3 ครั้ง

3.ไทซี การฝึกหายใจและความจำพร้อมการเคลื่อนไหวของมือและเท้า

ท่าที่ 1 ยืนเท้าห่างกันเสมอไหล่ แขนทอดข้างขา แกว่งแขนทั้งสองไปตามกันเป็นวงกลม จากขวาไปทางซ้าย 3 ครั้ง พร้อมกับหายใจเข้าออก เมื่อมือยกขึ้น หายใจเข้า เมื่อมือลดลง หายใจออก

ท่าที่ 2 กลับการหมุนมือทั้งสองเป็นหมุนจากซ้ายไปขวา 3 ครั้ง พร้อมการหายใจเข้าเมื่อยกมือขึ้น หายใจออกมือลดลง 3 ครั้ง

ท่าที่ 3 หมุนแขนขวาเป็นวงกลมจากขวาไปซ้าย แขนซ้ายจากขวาไปซ้าย ตามกันข้างละหน ไม่พร้อมกัน ซ้ำ 3 ครั้ง พร้อมการหายใจเข้าเมื่อยกขึ้น หายใจออกเมื่อแขนลง

ท่าที่ 4 หมุนแขนขวาเป็นวงกลมจากซ้ายไปขวา แขนซ้ายตรงกันข้าม คือจากขวาไปทางซ้าย ต้องใช้ความจำให้ดี ในการทำไม่เหมือนกัน 3 ครั้ง การหายใจเข้าเมื่อมือยกขึ้น หายใจออกเมื่อมือลง

ท่าที่ 5 หมุนแขนทั้งสองข้างเป็นวงกลมรอบหัวไหล่ หายใจเข้าเมื่อมือยกขึ้น หายใจออกเมื่อมือลงต่ำ ทำเช่นกันทั้งสองแขน ซ้ำ 3 ครั้ง

ท่าที่ 6 หมุนแขนทั้งสองข้างกลับกันกับท่าที่ 5 หายใจเข้า-ออก 3 ที เช่นกัน

4.ออกกำลังจักระ จักระคือศูนย์รวมพลังการทำงานสำคัญ 7 แห่งของร่างกาย

จักระที่ 1 อยู่ที่จุดกลางระหว่างอวัยวะเพศกับทวาร ย่อตัวขึ้นลงที่เข่า ยืนเท้าห่างกันเสมอไหล่ ซ้ำ 3 ครั้ง หายใจแบบผ่อนหายใจ

จักระที่ 2 อยู่ที่สองนิ้วเหนือสะดือ มือเท้าสะเอวสองข้าง บิดตัวไปทางซ้ายหายใจเข้า บิดกลับยืนตรง หายใจออก ซ้ำ 3 ที

จักระที่ 3 อยู่ที่กลางปลายสุดซี่โครง เป็นศูนย์รวมพลังภายในของการทำงานของตับ ไต ม้าม กระเพาะอาหาร มือขวาทาบที่จักระสาม มือซ้ายทับบนมือขวา หมุนตัวไปทางซ้ายและขวา พร้อมการหายใจประกอบกัน 3 ครั้ง

จักระที่ 4 อยู่ที่การทำงานของหัวใจ มือขวาทาบที่กลางอกตรงกับหัวใจ มือซ้ายทับบนมือขวา ยกศอกขวาขึ้น 45 องศา พร้อมดึงศอกซ้ายไปจนสุดด้านหลัง หายใจเข้าออกพร้อมกับการเคลื่อนไหวให้ได้จังหวะกัน แล้วเปลี่ยนเป็นยกศอกซ้ายขึ้น 45 องศา เมื่อดึกศอกขวาไปทางด้านหลัง ประกอบกับการหายใจช้าๆ ทำซ้ำ 3 ครั้ง

จักระที่ 5 อยู่ที่ต่อมไทรอยด์ตรงฐานคอ ทำหน้าที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต ให้หมุนคอไปทางซ้ายที ขวาที พร้อมการหายใจ ทำซ้ำ 3 ครั้ง

จักระที่ 6 อยู่ที่หว่างคิ้ว เป็นการเจริญจิต หรือความสามารถในการหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ให้ก้มหน้าลง ตามองขึ้นสูง เงยหน้าขึ้น ตามองลงต่ำสุด 3 ครั้ง พร้อมการหายใจเข้า-ออก

จักระที่ 7 อยู่กลางกระหม่อม เป็นการรับพลังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนให้ประกบมือไว้ด้วยกัน นิ้วชี้เท่านั้นที่ตั้งขึ้น นอกนั้นโค้งลง หัวแม่มือไขว้กัน ยกมือทั้งสองวางไว้กลางกระหม่อม พร้อมหายใจเข้า ยกมือขึ้นสูงพร้อมหายใจออก ซ้ำ 3 ครั้ง

5.การยกลูกน้ำหนัก เพื่อออกกำลังกล้ามเนื้อแขนและมือ เริ่มตั้งแต่ยกไว้แนบขา แล้วยกขึ้นเสมอไหล่ แล้วยกขึ้นเหนือศีรษะ แล้วลดลงในท่าพัก จากนั้นเปลี่ยนเป็นยกขึ้นไปตรงด้านหน้า แล้วกางมือออกเหยียดจนสุดแขน แล้วลดลงในท่าพัก จากนั้นย่อเข่าลงในท่ายองๆ แล้วยืดตัวขึ้นตรง หรือจะทำในท่าใดอื่นอีกตามชอบ

6.การเดินสมาธิ นับหนึ่งเมื่อยกส้นเท้าขวา นับสองเมื่อยกปลายนิ้วเท้าขวา ยกฝ่าเท้าขึ้นนับสาม ย่างเท้าขวานับสี่ แตะปลายนิ้วเท้าลงนับห้า แตะสันเท้าลงนับหก เปลี่ยนเป็นยกส้นเท้าซ้ายนับหนึ่ง เรื่อยไปตามจังหวะครบหก พร้อมทำจิตสมาธิ ผ่อนหายใจแผ่ว เพื่อสงบจิตเป็นสมาธิ

เป็นอันจบการฝึกหายใจประจำวัน ใช้เวลาทั้งหมดไปเกิน 15 นาที แนะนำให้ทำตอนตื่นนอนเช้า กลางสนามหญ้า อากาศบริสุทธิ์ แดดอ่อน จะช่วยให้มีการถ่ายเทออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย และซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากปอด