สุขภาพและการบำบัด
สดศรี สุริยะฉาย
เนกขัมมะ (ต่อจากเรื่อง จิต-วิญญาณ)

ฮั่นแน่ คอลัมน์สุขภาพและการบำบัดมามุขใหม่ เป็นธรรมะธรรมโมไปเสียโน่นแน่ะ อ้าวลืมไปแล้วหรือว่าปัจจัยของการมีสุขภาพดีประกอบด้วย ปัจจัย 3 อ. คือ 1.อาหาร 2.อารมณ์ 3.ออกกำลังกาย และการบำบัดมี 3 ระดับคือ 1.ระดับร่างกาย 2.ระดับจิต 3.ระดับสมาธิ ทีนี้ก็เริ่มเข้าเรื่องตามหัวข้อได้เลย การบำบัดทางกายก็ไปหาคุณหมอรูปหล่อหรือไม่หล่อก็ได้ ขอให้วินิจฉัยว่าคุณป่วยเป็นอะไร แล้วก็ให้ยามาแก้ บางโรคแก้ไม่หาย อย่างที่ผู้เขียนเป็นอยู่นี้ หมอหลักชัย ภวภูตานนท์ บอกว่าไม่มียาแก้หรอก คือ Vertigo หมายความว่าวิงเวียนวิ่งไม่ได้ ก็เลยต้องมาค้นหาวิธีรักษาทายกาย ทางจิต ทางสมาธิ เพราะไหนๆ ก็มีบุญได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ต้องเป็นมนุษย์ให้คุ้มกับคำแปลว่าผู้มีใจสูง ธรรมะเป็นผู้บัญญัติคำแปล คนที่ยังไม่เป็นไปตามคำแปลก็ต้องขวนขวายให้เป็นมนุษย์ให้ได้ ไม่อย่างนั้นไม่เรียกว่ามนุษย์ แล้วจะเสียใจเพราะเสียชาติเกิด

เนกขัมมะ ท่านพระมหาสุภณอธิบายคำแปลว่าการบวช หรือการรักษาจิตให้ขาวรอบ เช่น เพศชายอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ เปลี่ยนเป็นบรรพชิตเพราะผ่านการบรรพชาแล้ว มีวินัยของสงฆ์ 227 ข้อ ได้ฟังที่ท่านพระมหาสุภณอัดเสียงการสวดปาฏิโมกข์ คือการสวดพระธรรมวินัยทั้งหมดในเวลา 36 นาทีแทบไม่เว้นช่วงหายใจแล้วทำให้เกิดศรัทธาอย่างสูงว่าเพศบรรพชิตนั้นเป็นการบวชที่เป็นบุญอย่างสูงจริงจัง ใช้เวลา 1 ปี กว่าจะสวดได้เร็วและจำได้แม่นขนาดนั้น และต้องผ่านการศึกษาพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ เพื่อสำหรับสอนเราท่านทั้งหลายให้เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ สามัญชนธรรมดาที่ไม่ได้บวชก็สามารถศึกษาได้ มีหนังสือพระไตรปิฎก 23 เล่มอยู่ในตู้ที่ห้องกรรมฐาน หรือถ้าเราๆ ท่านๆ อยากจะบวชก็ได้ ไม่ยุ่งยาก นับถืออุโบสถศึล 8 ข้อวันพระก็เรียกว่าบวช ตอนผู้เขียนไปถือศึล 8 ที่วัดบ้านป่านาบุญ ใกล้พาล์มสปริง ขับรถไปสองชั่วโมงพร้อมกับแบมบูน้องหมาตัวเล็กหนัก 12 ปอนด์ สาเหตุที่ไปไหนต้องไปด้วยกัน เพราะบางครั้งเขามีอาการหอบหือหายใจไม่ออก ผู้เขียนต้อบำบัดด้วยเร็คคี้และจับจักระให้แบมบูทันที บางทีเราไปกันถึงโยเซมิติเขาชอบมาก เพราะได้เดินบนโขดหินและลำธาร แต่ถ้าพาไปบิ๊กแบร์ กลับถึงบ้านถึงรู้ว่าเขาแอบอาเจียนในรถเพราะความคดโค้งของถนน เวลาเขาหายใจไม่ออกขึ้นมาเมื่อไหร่ เกิดหอบถี่ ผู้เขียนต้องทำการบำบัดโดยเร็ว โดยใช้พลังจิตและจักระบำบัด วางมือขวาไว้บนกระหม่อมของแบมบู วางมือซ้ายที่ลำคอ พร้อมกับเพ่งกระแสจิตเป็นสมาธิให้เขาคลายจากอาการหายใจไม่ออก ไม่อย่างนั้นเขาไม่มีชีวิตรอดอยู่จนครบอายุขับถึง 16 ปี ท่านพระอาจารย์ชลินทร์ ปิ่นวัฒนะเป็นผู้มีเมตตาต่อสัตว์อย่างสูง เดินมาตรวจดูเห็นแบมบูนอนเรียบร้อยในฟูกข้างผู้เขียนตลอดเวลาก็โอเค ผู้เขียนชอบไปบวชเนกขัมมะจารินีที่วัดบ้านป่านาบุญ ไปวันศุกร์กลับวันอาทิตย์ เป็นการบวชที่เป็นไปได้สำหรับชีวิตที่ยังปฏิบัติหน้าที่การงาน ช่วยให้เราทุกคนสามารถทำใจให้ขาวรอบสักครั้งในบรรยากาศที่บริสุทธิ์ ผู้เขียนอ่านหนังสือสวดมนต์ เห็นมีคำกล่าวขอบวชชีพราหมณ์ ก็ไม่แน่ใจว่าคงอาจจะเหมือนกันแต่เรียกชื่อต่างกันตามวิถีพราหมณ์ การบวชอีกอย่างที่สตรีบวชได้ก็คืออยู่ในเพศที่สละชีวิตปกติธรรมดามากขึ้นเรียกว่า บวชชี โกนศีรษะนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลแปด ตลอดทุกวัน การบวชอีกอย่างหนึ่งคือบวชเณรถึงอายุ 17 ปี สำหรับเพศชาย

เพราะอะไรเรื่องเนกขัมมะถึงสำคัญในคอลัมน์สุขภาพและการบำบัด เนื่องจากว่าการทำจิตให้ขาวรอบ เป็นตัวบ่งบอกว่าสุขภาพดี ซึ่งเกิดจากมีพื้นฐาน 5 ประการ คือ 1.มีความตรากตรำทางร่างกายน้อย 2. มีความเจ็บป่วยน้อย 3.มีความเครียดทางจิตใจและร่างกายน้อย 4.มีความเป็นอยู่สบาย 5.จิตที่ดีอยู่ในสุขภาพที่ดี อาหารเป็นปัจจัยเบื้องต้น วิญญาณเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของพลังจิต 5 อย่างคือ 1.พลังความตั้งใจ 2.พลังสู่ความสำเร็จ 3. พลังบงการจิตผู้อื่น 4.พลังสมาธิ 5.พลังการบำบัดด้วยเร็คคี้และจักระ

พลังความตั้งใจ คือสิ่งที่ควรจะเป็นไปตามนั้น ไม่ว่าอะไรจะกีดขวาง

พลังสู่ความสำเร็จ คือให้เก็บไว้เป็นความลับ ถ้าแพร่งพรายให้คนอื่นรู้จะไม่สำเร็จ

พลังบงการจิตผู้อื่น คือให้อ่านจิตเขาให้ออกและสั่งให้เขาทำตามที่เราส่งพลังไปให้เขาทำ เราคงเคยปฏิบัติมาแล้ว

พลังสมาธิ คือการทำจิตให้ปลอดจากความไม่สงบ ง่ายๆ คือส่งจิตเข้าไปภายใน โดยสำนึกว่าตัวตนของเรานี้ว่างเปล่า

พลังการบำบัดด้วยเร็คคี้และจักระ คือการส่งหลังจากสมาธิของเราตั้งมั่นไปคลายการเจ็บป่วยลง โดยอาศัยผ่านคลื่นแห่งพลังคอสมิคจากฝ่ามือไปยังศูนย์รวมของอวัยวะภายในที่เป็นแหล่งต้นเหตุของการเจ็บป่วยนั้น ถ้ามีความรู้ทางสรีระวิทยา จะสามารถรู้สาเหตุของโรค แล้วใช้ความรู้ของการบำบัดด้วยจักระผ่านฝ่ามือ ในขณะเดียวกันก็พิจารณาที่อาหาร สภาพจิต กับภาวการณ์เป็นอยู่ประกอบการบำบัดปัญหานั้นๆ และมีการบำบัดเสริมอื่นๆ ประกอบด้วย เช่นปลายประสาท

การทำจิตให้ขาวรอบ ที่เป็นวิวัฒนาการเริ่มต้นสู่เนกขัมมะ ไม่ใช่เรื่องยากหรือใหญ่เกินไปจนไม่สามารถจะทำได้ เริ่มต้นที่การรู้จักมงคลแห่งชีวิต 38 ประการ ที่เรียบเรียงโดยท่านพุทธทาสภิกขุ ประการง่ายๆ เริ่มต้นที่ อย่าไปเป็นพวกกับคนโง่เขลา สนิทสนมกับบัณฑิต คือผู้รู้ อยู่ในที่เหมาะสมกับอุปนิสัยและทำให้เจริญ เป็นผู้ทำความดีไว้มาก ทำความพอใจในการฟัง การดู ประกอบกุศลกรรมสำหรับความรุ่งเรืองในอนาคต มีระเบียบวินัย ฟังธรรมตามโอกาส มีนิพพานเป็นที่มุ่งหมายของจิตอยู่เสมอ เมื่อถูกสิ่งรบกวนจงอย่าหวั่นไหว

ผู้เขียนเลือกมาเฉพาะข้อที่สำคัญซึ่งจะส่งผลดีให้กับประการอื่นๆ บทสรุปของมงคลชีวิต 38 ประการก็คือ ความชั่วร้ายไม่สามารถครอบงำผู้นั้น ได้รับความสุขแห่งจิตที่สมบูรณ์อยู่เนืองนิตย์ อันจะเป็นองค์ประกอบของการทำจิตให้ขาวบริสุทธิ์ พร้อมที่จะตั้งจิตไปสู่นิพพาน คำแปลของคำว่านิพพานหมายถึง ความสุขที่ไม่มีความทุกข์มาเจือปน พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

อย่าลืมว่าความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเกิดอยู่เสมอ จงปรับตัวตามวัย กำจัดความทุกข์ โดยสร้างความแข็งแกร่ง ไม่รุกราน แต่อยู่อย่างมีศิลป์คือสงบ จำไว้ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าจะให้อยู่ดีมีอายุยืน ก็อาศัยหลัก 7 อย่างคือ 1.มีความสบาย 2.มีความเป็นอยู่พอเพียง 3.ทานอาหารย่อยง่าย 4.ออกนอกเคหะสถานในเวลาอันควร 5.มีอิทธิบาทสี่ คือ ความพอใจ พอเพียง พยายาม และหมั่นพิจารณา 6.มีศีลห้า 7.เป็นมิตรกับคนดี

การปฏิบัติเนกขัมมะ คือการทำจิตให้ขาวรอบ ดังกล่าวนี้แล