Inside Dara
รุมจวก"ใบเตยอาร์สยาม"ใช้เรือนร่างเป็นจุดขายทำภาพลูกทุ่งเสื่อม

รุมจวก"ใบเตย อาร์สยาม" ใช้เรือนร่าง-ท่าเต้น สร้างจุดขายหากินเชิงธุรกิจ ทำภาพลูกทุ่งเสื่อม รองอธิบดี สวธ.ห่วงเยาวชนเลียนแบบ ทำศิลปวัฒนธรรมของชาติผิดเพี้ยน เร่งขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาล้อมคอก ด้านศิลปินแห่งชาติ แฉเจ้าของธุรกิจใช้เงินล่ออัพราคาค่าตัว ห่วงคนดูถูกอาชีพศิลปิน

วันนี้(18 มิ.ย.) ที่โรงเรียนขามแก่นนคร อ.เมือง จ. ขอนแก่น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.)จัดประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2556 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยนายดำรงค์ ทองสม รองอธิบดีสวธ.กล่าวว่า สวธ. ได้คัดเลือกดนตรีและการแสดงพื้นบ้านที่ใกล้จะสูญหายมาทำการแข่งขัน ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ดิเกฮูลู โนรา รองเง็ง สล้อซอซึง มังคละ แตรวง กลองยาว วงปี่พาทย์ไม้แข็ง พิณ แคน โปงลางและกันตรึม เพื่อปกป้องวัฒนธรรม ภูมิปัญญาดั้งเดิมเอาไว้ ไม่ให้สูญหาย นอกจากนี้จะมีการรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อขึ้นทะเบียน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และป้องกันการลอกเลียนแบบทางวัฒนธรรมไปใช้ในทางไม่เหมาะสม ตลอดจนให้เยาวชน ประชาชนทั่วไป ได้ช่วยอนุรักษ์ สืบสาน วัฒนธรรม ก่อนที่จะสูญหายไปในอนาคต ซึ่งผลปรากฏว่า คณะผกาลำดวน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภท เซิ้งไปครอง

นายดำรงค์ กล่าวต่อไปว่า ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ ปัจจุบันมีการนำการแสดงและดนตรีพื้นบ้านไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ในงานเทศกาลท้องถิ่น โดยใช้การประยุกต์เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และท้องถิ่นที่นำการแสดงไปโชว์ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเหมาะสม เพราะ เป็นการพัฒนาทางวัฒนธรรม แต่บางคนอาจจะมองว่าไม่เหมาะสม เห็นได้ชัดเจน จากกรณี นักร้องสาวชื่อดัง ใบเตย อาร์สยาม ที่ได้มีการนำเพลงลูกทุ่งมาสร้างจุดขายให้ตัวเอง เป็นศิลปินที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ตนเองมีชื่อเสียง ตนมองว่า เป็นการหากินในเชิงธุรกิจมากเกินไป โดยไม่สนใจศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของเพลงลูกทุ่ง อีกทั้งมีการสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดีอยู่ตลอดเวลาในขณะออกสื่อ แต่การแสดงออก กลับตรงกันข้าม ใช้ร่างกาย ท่าเต้น ดึงดูดให้คนสนใจเพลง มากกว่าการขายเนื้อหาและไม่รักษาวัฒนธรรมที่ดีของของชาติ

นายดำรงค์ กล่าวอีกว่า ขอฝากไปยัง ผู้ประกอบธุรกิจวงการการแสดง และวงการเพลง ว่า ไม่อยากให้มองแต่ผลประโยชน์ ทางธุรกิจมากเกินไป แต่ควร คำนึงถึงการรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ ที่บรรพบุรุษสั่งสมมาแต่โบราณเอาไว้ และควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม แม้ผู้ประกอบการจะบอกว่า ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ในความเป็นจริง ควรมองภาพรวมของสังคมว่า สังคมบ้านเราไม่ได้เหมือนชาติตะวันตก โดยเฉพาะผู้จัด ต้นสังกัด ไม่เพียงแต่จะคิดหาจุดขายเพื่อเรียกเรตติ้งให้ศิลปินเท่านั้น

"ต้องยอมว่าขณะนี้ การเลียนแบบค่านิยม และพฤติกรรมของ ดารา นักร้องที่ชื่นชอบมีอยู่มาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน มีการซึมซับจากสื่อต่างๆ และนำมาเป็นต้นแบบ เช่น การนุ่งกางเกงขาสั้นมากๆเสมอหู การเลียนแบบท่าเต้นโชว์เรือนร่างแล้วปล่อยคลิปตามยูทูป ตามนักร้องสาวใบเตย จนเกิดเป็นการเสื่อมเสีย และ มีส่วนทำให้เป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามต่อไปเมื่อมีการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เราจะต้องให้คำแนะนำ และเชิญผู้ผลิตเนื้อหาของการแสดงมาทำความเข้าใจ ก่อนที่จะมีการนำเสนอ เพื่อไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม" รองอธิบดีสวธ. กล่าว

ด้านนางฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง(หมอลำ) ปี 2536 กล่าวว่า การนำเสนอเพลงลูกทุ่ง กรณีใบเตย อาร์สยาม คิดว่าไม่อยากให้เจ้าตัวทำตนเองให้เป็นสื่อ บางสิ่งนำเสนอในสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นนักร้อง เช่นการใช้ลีลา สรีระร่างกายมาแลกให้ตนเองดัง ให้สังคมยอมรับ แต่ควรจะรักนวลสงวนตัว ให้คนเขาคิดถึง ให้เขาเสียดาย และควรให้หางเครื่องเป็นผู้แสดงออกในการเต้นมากกว่า สังคมจะได้ไม่ดูถูกศิลปิน ในที่นี้ต้องขอโทษที่พูดแรงๆ ที่ต้องพูดเพราะเราเห็นโลกมานาน และอยากให้นักร้องคนรุ่นใหม่รักนวลสงวนตัว ให้มีคนคิดถึงเสียงเพลง คิดถึงอารมณ์ของเนื้อเพลงมากกว่า

“แม่เคยถามศิลปินรุ่นใหม่หลายคนว่า เหตุใดจะต้องใช้เรือนร่างเป็นจุดขาย ซึ่งได้รับคำตอบที่น่าตกใจว่า ที่ศิลปินต้องทำ เพราะเจ้าของบริษัท เจ้าของธุรกิจ สั่งให้ทำ ถ้าใครทำก็ยิ่งได้เงินเพิ่มเป็นตัวรางวัล และทำตามราคาค่าตัว จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว แต่ไม่ได้มองย้อนหลังไปว่า ภูมิหลังเราคือใคร เรามาเป็นนักร้องลูกทุ่งเพื่ออะไร เพื่อปู้ยี่ปู้ยำตัวเอง หรือประคับประคองหวงแหนศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ อยากขอร้องกลุ่มธุรกิจว่า อย่าทำเกินเหตุและควรสงสารตัวศิลปินด้วย เปิดทางให้พวกเขาได้อยู่นานๆ อย่าให้สังคมต้องตราหน้าว่ากล่าวในทางที่เสียหาย และฝากลูกหลานศิลปินรุ่นใหม่ตระหนักรักษาขนบให้ศิลปวัฒนธรรมทุกแขนงอยู่คู่แผ่นดินต่อไป”

ศิลปินแห่งชาติ กล่าว