Inside Dara
'วู้ดดี้' เฮลั่น หลังอดทนรอมานาน 20 ปี สมรสเท่าเทียม สู่กฎหมายไทยประเทศที่ 3

ต้องบันทึกไว้ลงในประวัติศาสตร์ไทย สำหรับ วันที่ 27 มีนาคม 2567 เพราะถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทย ที่สภาไทยแก้ไขกฎหมายให้ทุกเพศสมรสกันได้(สมรสเท่าเทียม) หลังจากที่มีการขับเคลื่อยมาอย่างยาวนั้นกว่า 20 ปี

ในขณะที่หากย้อนกลับไปเกือบทศวรรษ ประเด็นเรื่องสมรสเท่าเทียม ความเป็นตัวตนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นที่พูดถึงและถูกจับตามอง ทำความเข้าใจ และแสดงพลังให้เห็นในวงกว้างของเมืองไทยมากขึ้น ผ่านพลังหลากรูปแบบทั้งการสัมนา, เสวนา, คนดังที่แสดงความเป็นตัวตน, สื่อมวลชน, ความบันเทิงซีรีส์ ละครภาพยนตร์ ,การจัดกิจกรรมของกลุ่ม LGBTQ+ เป็นต้น

"วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา" คืออีกหนึ่งคนบันเทิงที่ออกมาเปิดเผยความเป็นตัวเอง และมักจะกล่าวถึง กฎหมายสมรสเท่าเทียมของเมืองไทยมาตลอดอย่างเฝ้ารอ และล่าสุดหลังจากที่ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านการผลักดันของเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิในสภา เจ้าตัวก็ออกมากล่าวสิ่งที่อยู่ในใจมาตลอดผ่านโลกออนไลน์ว่า

"ในที่สุดวันนี้มีคนไทยกลุ่มนึงที่มีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนไทยกลุ่มอื่น ๆ อีกมากมาย ดีใจที่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมนี้ผ่านแล้ว หลังจากที่พวกเรารอคอยกันมานาน 20 กว่าปี และเชื่อมั่นว่า ส.ว. จะโหวตให้ผ่านในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน

ถึงเวลานี้อยากจะส่งข้อความไปถึง ส.ว. ที่เคารพ กฎหมายฉบับนี้คือหนึ่งในกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันประเทศให้เป็นที่ยอมรับระดับสากลได้แบบคาดไม่ถึง จะเป็นสิ่งที่สร้างความเท่าเทียมให้กับพี่น้องชาวไทยอย่างถูกต้อง แต่มากไปกว่านั้น เมื่อกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชียที่ได้สร้างความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งภาพลักษณ์ของประเทศในระดับเวทีโลก หรือทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่เปิดโอกาสในการผลิตบุคลากรที่มากความสามารถจากการที่สังคมยอมรับ และอีกมากมาย

วันนี้ได้เฉลิมฉลองกันแล้ว แต่ยังต้องร่วมมือกันผลักดันไปต่อ วด. เชื่อว่าพวกเราทุกคนรอคอยวันนี้กันอย่างมีหวัง และมันเกิดขึ้นแล้ว เราทุกคนจะได้รับความเสมอภาคทางกฎหมาย และภูมิใจในการเป็น LGBTQIA+ จากประเทศไทยครับ 🙏🏻 #สมรสเท่าเทียม"

ซึ่งตามข้อมูลนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าใน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2 - 3 หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายครบแล้ว 68 มาตรา ภายหลังใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง

สภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 400 เสียง ต่อ 10 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 3 ตามที่คณะกรรมการธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยที่ สส.มุสลิม ขอใช้เอกสิทธิ์ไม่ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักศาสนา

และขั้นตอนหลังจากนี้จะเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และ หากผ่านชั้นของวุฒิสภา แล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป